ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต (Future Teachers for Future Learners)
ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต
[Future Teachers for Future Learners]
ผู้แต่ง: รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร
ที่มา: มนตรี แย้มกสิกร. (2562). ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต [Future Teachers for Future Learners] ใน การประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2562 เรื่อง “ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต”. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, หน้า 20-29.

บทนำ
นับจากนี้ไปสังคมกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบบชนิดที่คาดเดาได้ยาก เนื่องจากสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีกำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นแรงขับมาจากเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า นำมาซึ่งรายได้และผลตอบแทนมหาศาลแก่บริษัทผู้ผลิต ภาคธุรกิจจึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด แต่ผลของการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น มีผลพวงที่ตามมาก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ หลายกิจกรรมและหลายกิจการเกิดนวัตกรรมการดำเนินงานขึ้นใหม่ ทำให้เกิดการทำลายล้างกิจกรรมและกิจการเดิม ทำให้เกิดแนวทางใหม่ ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหลากหลายช่วงวัย กลุ่มคนที่อาจจะต้องมีการปรับตัวอย่างมาก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือรุ่น Baby Boomer ที่ได้พบได้ประสบกับเหตุการณ์ตั้งแต่ยังไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่ชัดเจน ยังเป็นวิถีชีวิตแบบอิงธรรมชาติ จนเริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนาสู่ความทันสมัยแบบตะวันตก จนมีการพัฒนามาสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดช่วงเวลาของการดำเนินชีวิตตั้งแต่ยังไม่เคยพบสิ่งนั้น จนเริ่มพบและต้องเรียนรู้กับสิ่งนั้นจนต่อมาในเวลาไม่นาน สิ่งนั้นก็หายไป เปลี่ยนไป คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มคนที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างมากมาย หากคนไหนที่ปรับตัวไม่ได้ ก็จะเป็นคน “ตกยุค” “ตกรุ่น” ไป หากคนที่ปรับตัวได้ก็เกาะกระแสใช้ชีวิตกับรุ่นลูก รุ่นหลาน สนทนาภาษาเดียวกันต่อไปได้อย่างเข้าใจ แต่คนรุ่นที่ต้องการการเรียนรู้และปรับตัวบ้าง แต่จะค่อย ๆ คลายความซับซ้อนของกลุ่มคนในสังคมลง แต่สิ่งที่จะเกิดปัญหาต่อไปจากนี้คือ คนรุ่น Gen X และ Gen Y กำลังจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาให้คนรุ่นปัจจุบัน เกิดการเรียนรู้เพื่อที่จะไปใช้ชีวิตในโลกอนาคต ที่คนที่จะเป็นครูสอนเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ของโลกอนาคตเลย คนที่จะเป็นครูในปัจจุบันเพื่อสร้างให้คนในปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตในโลกอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจะต้องเป็นครูแบบไหน ที่จะเป็นครูที่ดีเพื่อโลกอนาคตให้ได้ นี่คือคำถามสำคัญ
ปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาเพื่ออนาคต
ประเด็นที่เป็นปัจจัยส่งผลกระทบที่ทำให้ระบบการศึกษาไทย จำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างยิ่งยวด ประกอบด้วย
1. ปัจจัยด้านเทคโนโลยีเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อระบบการศึกษาไทย จะมีอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในวงวิชาการทั้งโลก จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น และอีกประเด็นหนึ่งของประเทศไทย คือ การยอมรับเทคโนโลยีนั้นเข้ามาสู่ระบบการศึกษาของไทย รวมถึงปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย ดังจะพบได้จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
กรณีศึกษา โครงการโทรทัศน์ครู (Thai Teacher TV)
โทรทัศน์ครู เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แบบอย่างของการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอนสำหรับครู เริ่มต้นเมื่อปี พุทธศักราช 2553 - 2555 ในการดำเนินการตามโครงการโทรทัศน์ครู ณ เวลานั้น ใช้เทคโนโลยีการเผยแพร่รายการวีดิทัศน์ ผ่านระบบแผร่ภาพผ่านดาวเทียม ครูจะต้องคอยรับชมผ่านสถานีโทรทัศน์ตามช่วงวันและเวลาที่กำหนดออกอากาศเท่านั้น ส่วนการเผยแพร่ช่องทางอื่น ใช้การบันทึกลงแผ่นบันทึกข้อมูล (DVD) ส่งทางไปรษณีย์ถึงทุกโรงเรียนทั่วประเทศ จากเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมดังกล่าว มาถึงปัจจุบันเทคโนโลยีแบบที่เคยใช้กับโครงการโทรทัศน์ครูล้าหลังไปมาก ชั่วระยะเวลาผ่านมาเพียงไม่ถึง 10 ปี ปัจจุบันรายการโทรทัศน์ครูสามารถนำมาเผยแพร่ถึงครูได้โดยผ่านระบบสังคมออนไลน์ หรือช่องทางอื่น ๆ ได้ง่าย ประหยัดกว่าเดิมมากกรณีศึกษา การเรียนรู้ผ่าน Education Platformการเรียนรู้แบบดั้งเดิม จะเป็นการเรียนแบบเผชิญหน้า (Face-to-Face Communication) เป็นหลัก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ โรงเรียนกวดวิชา ในระยะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า นักเรียนจำนวนมาก จะแย่งชิงกันเพื่อที่จะเข้าไปเรียนพิเศษกับติวเตอร์ที่มีชื่อเสียง ชนิดแบบจะต้องไปรอจองคิวกันตั้งแต่เช้ามืด ด้วยการนำรองเท้าไปวางเรียงแทนตัวคนจริง ๆ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเข้าเรียน แต่มา ณ ปีพุทธศักราช 2562 โรงเรียนกวดวิชาแบบดั้งเดิม เปลี่ยนรูปไปเป็นการเรียนผ่านมือถือ ผ่าน Tablet เรียนผ่าน Platform ที่ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วคลิ๊ก เลือกเรียนได้ตามช่วงเวลาที่ตนเองสะดวก ระบบสามารถตรวจสอบปริมาณการเข้าเรียนได้ว่าเรียนมากน้อยแค่ไหน ทำกิจกรรมส่งครูได้ทุกรูปแบบโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งงานเป็นแบบเสียงพูด รายงาน หรือการถ่ายทำเป็นวีดิทัศน์ ภาพเคลื่อนไหวส่งให้ครูได้ชม หรือจะส่งเป็นภาพถ่าย หรือจะส่งเป็นงานเขียน ได้ทุกรูปแบบ ตัวอย่างของ Platform ที่พบเห็นได้ชัดเจน เช่น Echo English, ติวฟรี, Self-U, EchoV, TrainFlix, TrainKru, TEPE Online เป็นต้น
นอกจากนั้น ด้วยความกว้างขวาง ครอบคลุมของการเผยแพร่ที่ไปแบบไร้ขีดจำกัด ทำให้การส่งผ่านข้อมูลที่เป็นแนวทางการออกแบบบทเรียนเพื่อการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ออกแบบได้ดีมาก สามารถส่งผ่านไปถึงครูทุกคนทั้งโลกได้โดยง่าย เพียงครูหรือผู้ปกครองสามารถจะสืบค้นและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้อันนั้นให้ได้ ก็จะทำให้รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค
ปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เป็นผลเชื่อมโยงมาจากระบบ Logistic ที่มีความก้าวหน้า รวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงที่เชื่อมโยงกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การค้าขายแบบออนไลน์ที่ไร้พรมแดน การไหลของเงินจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งผ่านระบบ Financial Technology หรือ FinTech การเข้ามามีบทบาทของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการมีนโยบายเชื่อมต่อโยงใย “เส้นทางสายไหม” ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก การกว้านซื้อผลผลิตทางการเกษตรของจีน การผลิตสินค้าของจีนที่ส่งไปขายทั่วโลกด้วยราคาที่ถูกจนไม่น่าเชื่อ ความสำเร็จของกลุ่ม Start Up ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้แบบไร้ขีดจำกัด ขอเพียงมีแนวคิดที่แปลกและแตกต่าง เด็กวัยรุ่นก็สามารถประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของบริษัทได้ตั้งแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม สิ่งเหล่านี้ทำให้พิสูจน์ว่า “ปริญญาไม่ใช่เครื่องประกันความสำเร็จ” อีกต่อไป แต่โอกาสและความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ผสมผสานกับความสามารถในการจัดการ สามารถทำให้วัยรุ่นก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในชั่วข้ามคืนนอกจากนั้น สิ่งที่ยืนยันได้อีกประการหนึ่ง คือ การเรียนรู้แบบรู้รอบไปทุกเรื่อง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนเรื่องนั้นไปเพื่อรอนำไปใช้ในอนาคต ซึ่งความรู้ที่เรียนในวันนี้ อนาคตความรู้นั้นอาจจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย หรือเรียนเพื่อไปสร้างโอกาสและความสำเร็จในอนาคต การศึกษาในแนวทางนี้อาจจะไม่ใช่แนวทางเช่นนั้นอีกต่อไป แต่การเรียนเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงประเด็นที่นำไปสู่การทำงานหารายได้ให้เร็วที่สุดเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างมากในอนาคต นั่นหมายความว่า การเรียนเพียงเฉพาะเรื่อง หรือ เสมือนเรียนรู้แค่ “ใบไม้กำมือเดียว” เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการเท่านั้นเป็นพอ ไม่จำเป็นต้องไปรู้ใบไม้ทั้งหมดในป่า นั่นหมายความว่าการศึกษาที่ใช้เป้าหมายสุดท้ายเป็นตัวตั้งก่อน แล้วจากนั้นก็ออกแบบและกำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้นเป็นพอ แล้วเรียนรู้ให้ตรงประเด็นนั้น ให้สามารถเชื่อมโยงทุกอย่างไปสู่เป้าหมายนั้น จะทำให้การเรียนมีภารกิจที่ชัดเจนและใช้เวลาสั้นลง เช่น การจัดการศึกษาแบบ Career Education นั่นหมายความว่า ผู้เรียนต้องการจะประกอบอาชีพอะไรในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหรืออาจจะภายใน 1 ปีข้างหน้า จากนั้นก็มุ่งเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่จะนำไปสู่อาชีพนั้นเป็นพอ เช่น นักเรียนต้องการจะเป็นผู้ดูแลเด็กก่อนวัยเรียน สิ่งที่นักเรียนจำเป็นต้องรู้ ได้แก่ พัฒนาการของเด็ก ตั้งแต่ 0-3 ขวบ เป็นอย่างไร จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับวัยเด็ก การสังเกตพฤติกรรมเด็ก การดูแลสุขภาพเด็ก เป็นต้น นักเรียนก็จะเรียนเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องที่เขาจะต้องไปทำงานเท่านั้น การศึกษาในลักษณะเช่นนี้จะมีมากขึ้นในอนาคต
ผู้เรียนแห่งอนาคตที่พึงประสงค์
สิ่งที่ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และยังไม่อาจจะรู้ด้วยว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง นับเป็นอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน การจะเตรียมสมรรถนะของคนที่จะต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องเตรียมสิ่งที่จำเป็นและมั่นใจว่า มีประโยชน์ต่อชีวิตอนาคตอย่างแน่นอน สิ่งที่เชื่อว่าจะมีความจำเป็นสำหรับคนในโลกอนาคต ควรจะประกอบด้วย
1. การเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต
เนื่องจากโลกอนาคตกำลังมีการพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลง มีแรงเหวี่ยงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการปรับตัวและปรับเปลี่ยนกิจกรรม โอกาสและวิธีการใหม่ ๆ ที่ทำให้กิจกรรมแบบเดิมมีความประหยัด รวดเร็วมากกว่าเดิมมาก ด้วยวิธีการใหม่ ทำให้เกิดเนื้อหาสาระใหม่ที่มีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกคนในโลกอนาคตจะต้องตื่นตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เป็นการนำตนเอง เป็นความสุขในการที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อที่จะพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิตของตนเองอยู่ตลอดเวลา
2. สมรรถนะการคิดขั้นสูง ได้แก่ การคิดเชิงระบบ การคิดสร้างนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดแก้ปัญหา
สมรรถนะการคิด เป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน ที่จะทำให้คนคนนั้น มีความสามารถในการแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ การสร้างแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาดและลึกซึ้ง การตัดสินใจในสถานการณ์ที่คับขันและมีทรัพยากรจำกัด หากคนที่จะดำรงชีวิตในโลกอนาคตที่มีความพร้อมในสมรรถนะการคิดที่ดีกว่า พร้อมกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า คนอื่นๆ นั่นคือ คนที่ฉลาดและได้โอกาสที่มากกว่าและดีกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน
3. สมรรถนะด้านสังคม
สมรรถนะด้านสังคม หมายถึง การทำงานร่วมมือกับคนอื่น ๆ ได้อย่างมีความสุข การรู้จักแสดงบทบาทของตนเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม รู้ว่าเมื่อไรจะต้องผู้ผู้นำ เมื่อไรจะต้องเป็นผู้ตาม การมีบทบาทในการเป็นสมาชิกที่ดีของชาติ เคารพในความแตกต่าง ความหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ เพราะสังคมอนาคตเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่จะมีลักษณะของเขตแดนของประเทศไม่ชัดเจน เส้นเขตแดนเป็นเพียงสัญลักษณ์แต่การเดินทางการติดต่อสื่อสารเสมือนหนึ่งไร้ข้อจำกัด การเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. สมรรถนะด้านเทคโนโลยี
ปัจจัยที่จะเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนในโลกอนาคต เชื่อว่า เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมาก แต่สิ่งที่เป็นสมรรถนะที่สำคัญของคนในโลกอนาคต จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่บทบาทการเป็นผู้บริโภคเทคโนโลยี หรือใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป หากแต่คนในโลกอนาคต จะต้องมีสมรรถนะในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี จะต้องไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี รู้เท่าทันกับพิษภัยที่จะมากระทบกับสถานภาพของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตของตนเอง เพราะระบบเทคโนโลยีที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีการวางแผนวางหมายกลไว้หลายชั้นที่สลับซับซ้อนเกินกว่าบุคคลทั่วไปจะเข้าใจและตามกลยุทธ์นั้นได้ทัน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีหลายบริษัทที่เป็นฝ่ายการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน หรือฝ่าย HR จะนิยมหันมาซื้อข้อมูลของบุคคลที่มาสมัครเข้าทำงานด้วยการพิจารณาย้อนหลังจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทุกชนิด เพราะสื่อสังคมออนไลน์คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นโลกส่วนตัว เมื่อสื่อสารออกไปแล้ว ก็ควรจะลบเลือนหายไปในเวลาอันไม่ช้า แต่ในความเป็นจริงข้อมูลการแสเงออกถึงความเห็น ความรู้สึก ข้อมูลกิจกรรมส่วนตัว สิ่งที่ชื่นชอบ สถานที่ที่ชอบไป บุคคลที่นิยมชมชอบ อาหารที่ชอบรับประทาน สิ่งค้าที่สั่งซื้อหรือค้นหา พรรคการเมืองที่ชอบ การแสดงความเห็นต่อสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม ความสำเร็จ ความเสียใจ กลุ่มเพื่อน ความสัมพันธ์ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เมื่อย้อนหลังไปประมาณ 5-10 ปี จะสามารถสะท้อนความเป็นตัวตน ลักษณะนิสัย ทัศนคติ ความชอบ พฤติกรรม ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ดังนั้น คนในปัจจุบันและอนาคตจะต้องเข้าใจในจุดอ่อนของการตกเป็นทาสหรือการไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีว่ามันมีผลต่ออนาคตของตนเองแบบชนิดที่ว่า ลบไม่ได้อีกต่อไปแล้วนอกจากนั้น สมรรถนะในการใช้เทคโนโลยีในทุกรูปแบบ จะถือว่าเป็น การรู้เทคโนโลยี เหมือนกับการรู้หนังสืออย่างหนึ่ง นั่นคือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร เทคโนโลยีเพื่อการทำงาน เทคโนโลยีเพื่อชีวิต เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนในโลกอนาคต อย่างแน่นอน
5. สมรรถนะการสื่อสาร ทั้งวิธีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง และสมรรถนะในการใช้ภาษาสากลได้มากกว่า 3 ภาษาหรือมากกว่า
การสื่อสารในโลกอนาคต คนที่มีช่องทางการสื่อสารที่ไร้ข้อจำกัดมากกว่าคนอื่น จะเป็นคนที่มีโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น ๆ นั่นหมายความว่า ช่องทางการสื่อสารในอนาคตจะมีมากมายหลากหลายช่องทาง อนาคตจะมีรูปแบบวิธีการและช่องทางการสื่อสารที่ง่าย ประหยัด รวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น ภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสาร แม้ว่าอนาคตจะมีระบบการเชื่อมต่อภาษาที่แตกต่างเข้าหากันผ่านเครื่องช่วยแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งก็ตาม แต่เชื่อว่า ภาษายังผูกติดกับวัฒนธรรมและวิธีติดของแต่ละชาติ ภาษาอาจจะแปลได้ด้วยเครื่องช่วยแปล แต่อารมณ์และความรู้สึก ยังไม่อาจปฏิเสธการสื่อสารด้วยภาษาผ่านการสื่อสารแบบเผชิญหน้าหรือเป็นการสื่อสารแบบตรงระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือการสื่อสารระหว่างบุคคลกับกลุ่มบุคคล ว่าจะเป็นการสื่อสารที่ได้ทั้งความเข้าใจที่ลึกซึ้งและได้อรรถรสในการสื่อสารมากกว่า คนในโลกอนาคตควรจะต้องเรียนรู้ภาษาให้ได้ไม่น้อยกว่า 3 ภาษาเป็นอย่างน้อย
6. ความมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของความเป็นพลเมืองของประเทศที่มีรากเหง้าร่วมกันเพื่อความภาคภูมิใจร่วมกัน
สังคมอนาคตจะมีลักษณะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของกลุ่มเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การเป็นพลเมืองของชาติ การเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนในชุมชนหนึ่ง การมีที่มาและรากเหง้าของกลุ่ม หมู่ พวก ยังจำเป็นต้องมีมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยังต้องการสังคม ต้องการมีความสันพันธ์กับคนอื่น และสิ่งเหล่านี้จะเป็นความอ่อนโยนที่จะมาสร้างสมดุลระหว่างความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีกับความอ่อนโยนทางจิตใจของมนุษย์ โลกอนาคตจะมีหุ่นยนต์ที่มาในหลากหลายรูปแบบ สิ่งที่หุ่นยนต์ยังขาดหายไป คือ ความอ่อนโยน ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล การเห็นอกเห็นใจ ความรัก ความเมตตา ความกตัญญู ความผูกพันที่ลึกซึ้งแบบเครือญาติคุณลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นของการอยู่ในสังคมร่วมกัน ได้แก่ ความมีวินัย การรู้จักอดทน การรู้จักรอคอยได้ ความมีเหตุมีผล การรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเคารพและยอมรับผู้อื่น
7. สมรรถนะในการดูแลตนเอง ทั้งกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ
ชีวิตของคนในโลกอนาคต มีแนวโน้มว่าจะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นกว่าคนในยุคปัจจุบันก็ตาม แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาในอนาคต คือ มลภาวะที่เป็นปัญหา และความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมที่เชื่อว่าจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น การดูแลตนเองทั้งร่างกาย การพัฒนาการทางอารมณ์ที่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะซึมซับจากการทำงานกับหุ่นยนต์ที่ไม่มีความรู้สึกมากขึ้น ความอ่อนโยนของคนบางกลุ่มอาจจะลดน้อยลง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ทุกคน มีช่องทางที่เป็นโลกของตัวเอง “สังคมก้มหน้า” หากยังไม่มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า เชื่อว่ามันจะกลับกลายเป็นผลกระทบย้อนกลับมาทำลายร้างและสร้างปัญหาใหม่ขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน อาจจะทำให้สภาพจิตใจของมนุษย์เลวร้าย ซึมเศร้า เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นแบบที่คาดคิดไม่ถึงก็เป็นได้ ดังนั้น เชื่อว่าการดูแลตนเองอย่างสมดุลระหว่างร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน จนกว่าอนาคตอีกยาวไกล อาจจะนับหมื่นปี เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายและโครงสร้างอื่น ๆ ที่มนุษย์ได้ผ่านวิวัฒนาการมาแล้วในอดีต แต่ในช่วงอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้าน่าจะยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์ไปจากเดิมได้มากนัก คำกล่าวสันนิษฐานนี้ อาจจะผิดโดยสิ้นเชิงก็เป็นได้ เพราะโลกอนาคตเป็นโลกของความไม่แน่นอน
สมรรถนะของครูอนาคต
คนที่จะเป็นครูเพื่อสร้างสมรรถนะสำหรับคนที่จะดำรงชีวิตในโลกอนาคต ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงระยะเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษจากนี้ไปอย่างน้อย คนที่จะเป็นครูในปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะอย่างน้อยในสิ่งต่อไปนี้ ประกอบด้วย
1. การมีความรู้ดีในองค์ความรู้เฉพาะทาง (Strong subject knowledge)
การมีความรู้ดีในความรู้เฉพาะทาง ไม่ได้หมายความว่า จะให้ครูต้องถ่ายทอดหรือสอนเนื้อหาสาระที่เป็นองค์ความรู้ให้กับลูกศิษย์ หากแต่คนเป็นครูจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถึงแก่นแท้ของเนื้อหาสาระนั้นอย่างเข้มข้น พร้อมที่จะสกัดสิ่งที่เป็นกรอบความคิดหลักออกมาเป็นสาระที่ลูกศิษย์ควรจะได้เรียนรู้เป็นพื้นฐานก่อนหลังตามลำดับ รู้จักการสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์เกิดความกระหายอยากจะเรียนรู้ต่อไปด้วยตนเอง พร้อมชี้แนะเส้นทางการศึกษา ค้นคว้าเรียนรู้ต่อไปของลูกศิษย์ เพราะการสอนไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป แต่การสร้างกระบวนการให้ลูกศิษย์ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อด้วยตนเองอย่างมีความสุข สนุกสนาน เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด ครูที่ดีจะต้องเป็นครูที่มองเนื้อหาสาระอย่างทะลุปรุโปร่ง เมื่อเห็นลูกศิษย์แสดงพฤติกรรม หรือสะท้อนคิดอะไรบางอย่างออกมา จะต้องมีความไวและความเชี่ยวชาญพอที่จะอ่านพฤติกรรมและการสะท้อนคิดนั้น ว่าลูกศิษย์กำลังเรียนรู้ถึงขั้นไหน ยังขาดอะไร ควรจะต้องเสริมเพิ่มเติมอะไร สิ่งไหนที่ควรจะแก้ไขหรือหาชุดคำอธิบายที่เหมาะสมกับลูกศิษย์คนนั้น เพื่อให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การที่คนจะเป็นครูที่ดีเพื่อผู้เรียนอนาคต จะต้องมีความรู้ดีนั้น ความหมายของ ความรู้ดีของคนเป็นครูในอดีต จะแตกต่างไปจากคนที่จะเป็นครูที่มีความรู้ดีสำหรับนักเรียนในอนาคต เพราะคนที่เป็นครูที่มีความรู้ดี จะต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจที่ดีในเนื้อหาสาระ เพื่อสร้างสิ่งที่ยากและซับซ้อน ชี้แนะ สร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ออกแบบการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ได้เป็นจุดตั้งต้นของการเรียนรู้ เพราะในปัจจุบันและอนาคตแหล่งเรียนรู้ที่ดี และมีประสิทธิภาพมีมากมาย แต่คนที่จะชี้แนะได้ดีกว่า คือ ครูที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสาระเนื้อหานั้น ซึ่งแตกต่างจากครูในอดีตที่ผ่านมา ครูที่มีความรู้ดี จะต้องนำเอาความรู้ดีนั้นมาถ่ายทอดโดยตรงให้ลูกศิษย์ได้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง นั่นคือครูเป็นศูนย์กลางของเนื้อหาสาระแต่อนาคตครูไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเนื้อหาสาระอีกต่อไปแล้ว
2. การทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ (Being a facilitator)
ครูที่จะสร้างลูกศิษย์เพื่ออนาคต จะต้องปรับตนเองให้เป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ แทนการสอนโดยตรงแบบดั้งเดิม จะต้องพยายามลดการสอนตรงลง แต่จะต้องหันมาสนใจกระบวนการออกแบบกลยุทธ์ที่จะพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับคนในโลกอนาคต การออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ การออกแบบบทเรียนร่วมกับเพื่อนครูอย่างพิถีพิถัน การปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ผู้เรียนแต่ละกลุ่มอย่างต่อเนื่องจนได้กระบวนการที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่ม นั่นคือภารกิจสำคัญของคนเป็นครูเพื่ออนาคตภารกิจการเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนอนาคตนั้น ครูจะต้องมีความเพียรในการทำงานโต้ตอบและวิเคราะห์นักเรียนทุกคน การดูแลนักเรียนแต่ละคนเพื่อไม่ทิ้งลูกศิษย์ไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียวคือสิ่งที่ครูจะต้องทำ การทำงานกับระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเข้ามามีบทบาทในระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น และผู้เรียนรุ่นใหม่จะเป็นมิตรและมีความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ได้ ครูจะต้องใช้เวลาในการช่วยโต้ตอบกับนักเรียนทีละคน แต่ทีละคนจำนวนมาก ๆ เพื่อการเรียนรู้ในแต่ละเรื่อง นั่นหมายความว่า การเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้บทบาทจะเปลี่ยนไป ภาระงานของครูอาจจะไม่ได้ลดน้อยลง แต่จะเป็นการดูในรายละเอียดของนักเรียนรายบุคคลได้ดีขึ้นมากกว่าเดิมมาก มีร่องรอยของการแสดงออกที่เก็บรวบรวมได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนและง่ายมากขึ้นการทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ จะต้องเป็นการทำหน้าที่ด้วยจิตใจที่เบิกบานและมีความสุข การติดตาม ถามไถ่ ประเมินอย่างเป็นระบบระหว่างทางการเรียนรู้ (Formative evaluation) จะเป็นความจำเป็นมากยิ่งขึ้น การมีแผนการออกแบบภารกิจการเรียนรู้ที่เป็นเสมือน “จุดตรวจสอบ” ว่านักเรียนผ่านแต่ละจุดผ่านแล้วหรือยัง นั่นคือสิ่งที่ครูจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจดีว่า ลำดับความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียนควรจะเป็นอย่างไร แต่ละคนมีเส้นทางการเรียนรู้ก้าวหน้าแตกต่างกันอย่างไร ระบบการช่วยเหลือ ดูแลระหว่างทาง ครูจะต้องมีอย่างเป็นระบบและร่วมมือกับเพื่อนครูได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของลูกศิษย์ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
3. ทักษะทางสังคมเข้มแข็ง
ครูเพื่ออนาคต จะต้องมีทักษะที่ตอบสนองต่อการทำงานที่สอดคล้องกับโลกศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ทักษะที่จำเป็นอย่างน้อย 3 ประการ ที่ครูควรจะต้องมี ประกอบด้วย
3.1 ความสามารถในการทำงานแบบร่วมมือเป็นทีมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีความรับผิดชอบตามที่กลุ่มมอบหมาย การให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลังความสามารถ การมีทักษะการสะท้อนคิดอย่างสร้างสรรค์ การยอมรับฟังคำชี้แนะเพื่อการพัฒนาจากคนอื่น การปรับปรุงตนเองตามข้อชี้แนะเพื่อการค้นหาวิธีการที่ดีกว่ายิ่ง ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ3.2 ความสามารถในการตัดสินและแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ การเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน จะต้องใช้ความสามารถการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ในการวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุของปัญหา เพื่อทำให้เหตุการณ์ (Event) ถูกยกระดับขึ้นเป็นรูปแบบของปัญหา (Pattern) และจะต้องค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่เชื่อมโยง ส่งผลต่อเนื่องกันนั้น แล้วจะต้องหาทางปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เป็นตัวแปรนั้น

(David Peter Stroh, เข้าถึงเมือง 11 สิงหาคม 2562 : http://localgovernmentutopia.com)
3.3 ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาพูดหรือวัจนภาษากับคนในแวดวงเดียวกันหรือคนต่างแวดวงได้อย่างเข้าใจและสร้างสรรค์ สถานการณ์จากนี้ไปการจัดการศึกษา จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ความต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้มามีส่วนร่วมในการอำนวยการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างดีที่สุด
4. มุ่งการเรียนรู้ภายนอกชั้นเรียนมากขึ้น
ครูที่จะสอนผู้เรียนที่จะต้องใช้ชีวิตเผชิญกับสถานการณ์อนาคตที่ไม่แน่นอน จะต้องหันไปมุ่งเรียนรู้บริบททางสังคมนอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะการนำปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนอกชั้นเรียนมาเป็นตัวตั้งต้นการเรียนรู้ จะทำให้การเรียนมีความหมายและทันกับการเปลี่ยนแปลง การศึกษาจะต้องทำให้มีความหมายและทันกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากแนวโน้มที่การศึกษาแบบดั้งเดิมจะเป็นการศึกษาที่ปรับตัวช้า ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและภาคธุรกิจเอกชน การเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped classroom) จึงเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเปิดประตูสู่โลกกว้างได้มากขึ้น และใช้เวลาในห้องเรียนเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดและวิธีคิดร่วมกันมากขึ้น
5. การวิเคราะห์ข้อมูล
ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล จนเกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นมีหลายมิติ คนที่จะเป็นครูเพื่ออนาคตจำเป็นต้องมีความคิด มีความสามารถในการมองข้อมูล มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลในมิติต่าง ๆ และการเชื่อมโยงผลการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่ออธิบายแนวโน้มและค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในการพัฒนาผู้เรียนหรือการแก้ปัญหาผู้เรียนได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตัวอย่างของการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนนั้น ในปัจจุบันจะมีแบบทดสอบที่เป็นแบบทดสอบที่สามารถสะท้อนสมรรถนะผู้เรียนได้อย่างแม่นยำ เที่ยงตรง และมีค่าความเชื่อมั่นสูง สามารถวิเคราะห์ผลเป็นนักเรียนรายคนได้ว่า นักเรียนคนหนึ่ง มีจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง มีจุดแข็งเรื่องใดบ้าง ควรจะต้องพัฒนาในเรื่องใด และเมื่อมีการประมวลผลภาพรวมของห้องเรียน และของโรงเรียนจะสะท้อนระดับคุณภาพของโรงเรียนของห้องเรียนและระดับนักเรียนรายคนได้อย่างชัดเจนมาก ทำให้การจัดการเรียนรู้สามารถปรับประยุกต์ได้อย่างแม่นตรงมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอเพื่อการผลิตและพัฒนาครูสู่การจัดการศึกษาเพื่ออนาคต
ข้อเสนอเพื่อการผลิตและพัฒนาครูสู่การจัดการศึกษาเพื่ออนาคต จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น จริงจัง และเป็นนโยบายที่ต่อเนื่อง มีข้อเสนอ ดังนี้
1. วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการผลิตครูเพื่ออนาคต ประกอบด้วย แนวคิดการเตรียมการเพื่อการคัดเลือกคนเข้ามาเป็นนักศึกษาครู กรอบแนวคิดการคัดเลือก วิธีการคัดเลือก ระบบหลักสูตรการผลิตครู การบริหารหลักสูตร การผลิตครู การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู การสร้างสมรรถนะเพื่ออนาคตทั้งหมดนี้ ระบบการผลิตครูที่จะตอบโจทย์ครูเพื่ออนาคต จะมีอะไรที่แตกต่างไปจากระบบที่มีอยู่เดิมอย่างไร จะมีกระบวนการหรือเงื่อนไขในการจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้อย่างไรบ้าง คณาจารย์ที่จะทำหน้าที่ในการเป็น “ครูของครู” ควรจะมีเงื่อนไข มีคุณสมบัติ มีกรอบแนวคิด ความเชื่อ มีแนวการปฏิบัติตนอย่างไร นับเป็นสิ่งที่ควรจะมีคณะนักวิจัยที่ภาครัฐจำเป็นต้องลงทุนทำอย่างเข้มข้นและจริงจังก่อนจะตัดสินดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน2. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stake Holder) กับระบบการผลิตครูทั้งระบบไม่ว่าผลการศึกษาวิจัยจะมีผลออกมาอย่างไร สิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน คือ การปรับเปลี่ยนบทบาทของคณาจารย์และผู้บริหารระบบการผลิตครูทั้งหมด เนื่องจากสิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมอนาคต แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันอย่างแน่นอน การปรับแนวคิด กระบวนทัศน์ การปฏิบัติตน การจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อ การวัดผล การประเมินผล การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ซึ่งเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงนี้มีปัจจัยมีเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดที่หลากหลาย3. ภาครัฐควรจะต้องทบทวนการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตครูเพื่ออนาคตที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการมุ่งจะเปลี่ยนแปลงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่เพียงอย่างเดียวคงจะเป็นไปได้ยาก แต่ภาครัฐจะต้องทบทวนด้วยว่า สถานภาพของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่เป็นหน่วยผลิตของครู มีจำนวนมากและมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการของประเทศอย่างแน่นอน และสถาบันเหล่านั้น มีเงื่อนไขจากภาครัฐจะต้องหารายได้เลี้ยงตนเองให้ได้ ประกอบกับจำนวนเด็กน้อยลง ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีจำนวนมาก ด้วยสถานการณ์การแข่งขันระหว่างสถาบัน การจะต้องหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยให้เพียงพอต่อการบริหารมหาวิทยาลัยปัจจัยเหล่านี้ แม้โดยหลักการจะปล่อยให้เป็นฝีมือของผู้บริหารคณะ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่โดยลำพังก็คงจะเป็นไปได้ยาก และหากเปรียบเทียบกับบางสาขาวิชาชีพ ภาครัฐมีการลงทุนในอัตราส่วนที่สูงกว่ามากมาย เช่น วิชาชีพแพทย์ วิชาชีพพยาบาล แต่ให้วิชาชีพครู ทั้ง ๆ ที่เป็นวิชาชีพที่จะส่งผลสะท้อนต่อคุณภาพของประชากรของประเทศ ภาครัฐลงทุนในอัตราส่วนที่ต่ำมากหากเปรียบเทียบกับวิชาชีพแพทย์และพยาบาล4. พัฒนาครูในระบบที่มีอยู่เดิมให้เป็นครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนอนาคตด้วย โดยกระบวนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูที่อยู่ในระบบเดิม จะต้องใช้ระบบการสร้างแรงจูงใจในเส้นทางวิชาชีพมาเป็นตัวเสริมแรง และจะต้องมีระบบการสนับสนุนให้ครูสามารถปรับตัวได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก การสนับสนุนให้ครูได้เลือกที่จะพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการเสริมพลังอำนาจในการตัดสินวางแผน การพัฒนาตนเองได้อย่างตรงประเด็นคือเงื่อนไขที่สำคัญมาก การมีระบบพี่เลี้ยง (Mentor) และการมีเพื่อนร่วมวิชาชีพหรือครูรุ่นน้องที่จะมาทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในรูปของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ จะมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ครูกลายเป็นครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนอนาคตได้5. การสร้างระบบและกลไกในการเชื่อมต่อระหว่างฝ่ายผลิตและฝ่ายใช้ครู เนื่องจากระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการขาดการประสานงานหรือเชื่อมต่อกันระหว่างฝ่ายผลิตครู ซึ่งหมายถึง คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กระบวนการผลิตเกิดจากฝ่ายผลิตมีความพร้อมตามที่สถาบันพร้อม ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตที่เกิดจากความต้องการของหน่วยที่จำเป็นต้องใช้ครู โดยการผลิตนั้น ฝ่ายใช้ก็ไม่เคยสื่อสารหรือส่งสัญญาณความต้องการทั้งเชิงคุณภาพของครูที่ต้องการจะให้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมอะไรจากมาตรฐานวิชาชีพครูแบบทั่วไปที่คุรุสภากำหนด หรือแม้แต่ปริมาณความต้องการว่า ในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะต้องใช้ครูในสาขาวิชาใดบ้าง ไม่เคยกำหนดได้อย่างชัดเจน เท่ากับว่าในระยะที่ผ่านมา การผลิตในหลายสาขาจึงล้นเกินความต้องการ บางสาขาขาดแคลนจนหาไม่ได้ เพราะฝ่ายผลิตกับฝ่ายใช้ไม่เคยสื่อสารระหว่างกันและกันเลย ทั้งนี้เกิดจากประเทศไทยขาดหน่วยงานหรือคณะกรรมการเชิงนโยบายที่มีอำนาจเพียงพอจะสั่งการหรือประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู ให้มานั่งโต๊ะเจรจากันได้เลย จึงกลายเป็น “จุดบอด” ทางการผลิตและใช้ครูมาจวบจนทุกวันนี้ และเมื่อถึงปีพุทธศักราช 2562 มีการแยกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยิ่งทำให้การประสานงานความร่วมมือยิ่งห่างไกลออกไปอีก ดังนั้น ในประเด็นนี้ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งแก้ไข ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นเชิงนโยบายระดับชาติที่คต้องการกรตัดสินและออกกฎหมายมาเพื่อกำหนดให้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามและต้องมีความต่อเนื่องยาวนาน การสร้างครูเพื่ออนาคตจึงจะสำเร็จ
บทสรุป
ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับอนาคตของการพัฒนาประเทศ และจะเป็นสิ่งสะท้อนคุณภาพของประชากรไทยในอนาคต แต่ประเด็นปัญหาที่อาจจะมีการเตรียมครูแห่งอนาคต อาจจะเกิดขึ้นล้าหรือไม่เกิดขึ้นเลย ประเด็นปัญหานี้ก็จะไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นผลแบบคอขาดบาดตายในทันทีทันใด แต่จะเป็นผลพวงระยะยาว ที่จะสะท้อนศักยภาพการพัฒนาประเทศ สะท้อนศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และการจะสร้างครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคตได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องสร้างการรับรู้ร่วมกันของคนในสังคมให้เกิดขึ้นให้ได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไขการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้ระบบการผลิตครูแห่งอนาคตเป็นไปได้ และเป็นครูแห่งอนาคตที่มีคุณภาพสูง มีการผลิตแบบจำกัดจำนวน เนื่องจากผู้เรียนในอนาคตก็จะมีจำนวนจำกัดลงยิ่งไปกว่านั้น ครูแห่งอนาคตยังจะต้องมีการพัฒนาให้ครูที่อยู่ในระบบเดิมจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้เรียนอนาคตด้วยเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง : David Peter Stroh, เข้าถึงเมือง 11 สิงหาคม 2562: http://localgovernmentutopia.com
