ครูไทยกับ AI ในสนามการศึกษาเพื่อสร้างคนสู่ศตวรรษที่ 21
ครูไทยกับ AI ในสนามการศึกษาเพื่อสร้างคนสู่ศตวรรษที่ 21
เขียนโดย นวรัตน์ รามสูต
ที่มาข้อมูล: นวรัตน์ รามสูต. (2564). ครูไทยกับ AI ในสนามการศึกษาเพื่อสร้างคนสู่ศตวรรษที่ 21. ใน ที่ระลึกงานวันครู พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 65 : พลังครูไทย วิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล. (หน้า 79-82). กรุงเทพฯ: บริษัท ออนป้า จำกัด.

ท่ามกลางกระแสโลกในศตวรรษที่ 21 ที่พลเมืองไทยต้องก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยการมีทักษะดิจิทัล รองรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือ AI ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างให้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรมีความเข้าใจในเหตุและผล มีการเรียนรู้และตอบสนองได้เสมือนกับการคิดของมนุษย์ ซึ่งบ้างก็ว่า AI มีความสามารถระดับเดียวกับมนุษย์บ้างก็ว่าบางเรื่องทำงานได้ดีกว่ามนุษย์และยิ่งไปกว่านั้น บ้างก็ว่า AI มีความสามารถเหนือมนุษย์ในหลายๆ ด้าน
แต่ที่แน่ๆ AI ได้เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลากหลายองค์กรและธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งในระบบการศึกษา แต่ก็ยังมีข้อคำถามเกิดขึ้นว่า หากมีการนำ AI เข้ามาใช้ เข้ามาช่วยสอนหรือจัดการศึกษาเรียนรู้แล้ว ความสำคัญของครูจะลดน้อยถอยลงไปหรือไม่ หรือครูจะต้องปรับตัวปรับใจ หรือใช้เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน สื่อที่ทันสมัยต่างๆ อย่างไร ให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างการเรียนรู้ ออกแบบการถ่ายทอดวิชาความรู้สู่ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด เพื่อไปให้ถึงปลายทางของผลลัพธ์การศึกษาที่สังคมคาดหวัง คือ การพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดีมีคุณลักษณะ ทักษะ และสมรรถนะของประชากรในศตวรรษที่ 21
ในเมื่อโจทย์ใหญ่ของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้วางแนวทางที่มีความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs) ซึ่งประกอบด้วยทักษะและคุณลักษณะ ที่มีความจำเป็นต่อการเผชิญกับความท้าทายและพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุค 4.0 ซึ่งหนึ่งในคุณลักษณะที่จะสามารถต่อยอดสู่ทักษะดิจิทัล ก็คือ ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy) ตลอดจนการสื่อสาร สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy) โดยมีครูเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งความรู้วิชาการ ศาสตร์วิทยาการต่างๆ ตลอดจนอบรมบ่มสอนคุณธรรมจริยธรรม ความดีงามตามบริบทสังคมไทย
ซึ่งต้องยอมรับว่า วิถีหรือแนวทางการสอน และเครื่องมือของครูในยุคดิจิทัล จะต้องมีการปรับให้สอดรับกับบริบทของผู้เรียนยุคใหม่เช่นกัน ทั้งกลุ่มประชากร (Generation) Gen - Z ที่เน้นสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเว็บไซต์ และ Gen - Alpha (เกิดปี 2553 - 2568) ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยียุคใหม่ที่พัฒนาเต็มที่ และแสดงออกผ่านโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการวิเคราะห์ผลศึกษารูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่ม Gen - Z ไว้อย่างน่าสนใจว่า ส่วนใหญ่ชอบเรียนรู้ในรูปแบบร่วมมือ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อภิปรายเพื่อสร้างความเข้าใจ และชอบการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยในบางส่วนก็ชอบการเรียนรู้แบบอิสระด้วยตนเอง และมีเพียงส่วนน้อยที่ต้องการเรียนรู้แบบพึ่งพา โดยมีครูเป็นผู้กำหนดสิ่งที่จะเรียนสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ครูจะต้องนำมาทบทวนและใช้เป็นองค์ประกอบในการออกแบบการเรียนรู้ พร้อมๆ กับการปรับตัวปรับบทบาทตนเองจากครูผู้สอน (Teacher) เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” (Facilitator) ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาสาระ องค์ความรู้ต่างๆ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ส่งเสริมการค้นคว้าหาคำตอบ พร้อมสร้างกระบวนการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ในห้องเรียน ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ตามความสามารถผู้เรียน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานกับความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ เพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานของครูเอง ไม่ว่าจะเป็น ใช้ AI เพื่อช่วยลดเวลาการทำงานของครู อาทิ งานส่งเสริมการศึกษาทั้งงานวัดผล งานทะเบียน งานธุรการ งานจัดตารางเรียน ไปจนถึงการคำนวณเกรด เป็นต้น ใช้ AI เพื่อช่วยลดความผิดพลาดตรวจการบ้านหรือข้อสอบ ผ่านซอฟต์แวร์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ใช้ AI ในการสร้างสรรค์เนื้อหาของการเรียนการสอน ผ่านแอปพลิเคชันที่มีความสามารถในการสืบค้นข้อมูล ประมวลผลการเรียน ตลอดจนจัดทำเอกสารในรูปของ e - Book หรือแม้แต่ใช้ AI สำหรับเป็นติวเตอร์ให้กับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ผ่านรูปแบบแอปพลิเคชันที่เป็นแหล่งรวมรวบความรู้ (Big Data) ที่สามารถตอบสนองความต้องการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ไม่จำกัดเวลา และสถานที่ สามารถประมวลผลการเรียนของผู้เรียนเพื่อให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว พร้อมมีบททดสอบออนไลน์ ทั้งยังใช้เป็นช่องทางสื่อสารพิเศษให้นักเรียนปรึกษากับครูได้อย่างสะดวก และจุดเด่นที่สำคัญของ AI ในเรื่องความแม่นยำและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนห้องเรียนในอนาคต ที่มี AI เข้ามาทำหน้าที่แทนครูในการจัดการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่มีความรู้ตายตัว ส่วนครูเองอาจจะต้องผันตัวไปเป็นผู้ควบคุม AI คอยป้อนข้อมูลที่จำเป็นต่อการเรียนรู้สู่เครื่องมือหรือหุ่นยนต์ AI ที่ทำหน้าที่สอนหรือเป็นผู้ช่วยสอน
ซึ่งไม่ว่า “ครู” หรือ “AI” ใครจะมีบทบาทในระบบการศึกษามากกว่ากันในวันที่การเปลี่ยนแปลงมาเยือนถึงหน้าจออย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดวิวัฒนาการ แต่เชื่อว่า “ครู” ยังคงต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวอย่างหนัก เพื่อเปิดใจต้อนรับ AI ที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งจะเป็น “วิถีการเรียนรู้แบบใหม่” ที่พลิกโฉมห้องเรียนอนาคตอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่ว่าจะพลิกเร็วหรือช้า จะพลิกมากหรือน้อยเพียงใด ระดับนโยบายคงจะไม่ปล่อยให้ AI ทำหน้าที่ในระบบหล่อหลอมเพื่อสร้างกำลังคนของประเทศไปเสียทั้งหมด และถึงอย่างไรข้อมูลและระบบความคิดของ AI ก็มาจากน้ำมือมนุษย์ที่เป็นผู้ป้อนเข้าไปอยู่ดี ดังนั้นการมีระบบควบคุม กลั่นกรอง และดูแลความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่ป้อนให้กับ AI จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และก็คงจะมีครูเป็นกำลังหลักในการออกแบบและสรรค์สร้าง AI ผสานองค์ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะต่างๆ สู่กระบวนการเรียน ที่สอดรับตามความต้องการและความสามารถของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้มากขึ้น เมื่อนั้นจึงจะถือได้ว่า ครูแซงหน้าขึ้นเป็นผู้ควบคุม AI สร้างประโยชน์ต่อการสร้างกำลังคนของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว