การเรียนรู้ร่วมกันของครู เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของ Next Normal ทางการศึกษา
การเรียนรู้ร่วมกันของครู เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของ Next Normal ทางการศึกษา
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มาข้อมูล
เลขาธิการคุรุสภา, สำนักงาน. (2565). ที่ระลึกงานวันครู พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 66 : พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล. กรุงเทพฯ: บริษัท ออนป้า จำกัด.
“พวกเราหลายคนมาเป็นครูด้วยหลายเหตุผล ทั้งความหลงใหลใฝ่รู้ในรายวิชาและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้”
Palmer (2007)
ประชาคมทางการศึกษาทั้งในไทยและนานาชาติต่างก็เผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ตลอดเวลาปีเศษ โรงเรียนในฐานะพื้นที่ปฏิบัติการทางการศึกษาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อคดาวน์และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนสู่รูปแบบการสอนทางไกลฉุกเฉิน (Emergency Remote Teaching) ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ และผสมผสาน เป็นช่วงเวลาที่ครูในฐานะผู้อยู่หน้างานและใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด จำเป็นต้องเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อประคับประคองการเรียนรู้ของผู้เรียนระหว่างสถานการณ์ที่พลิกผันตลอดเวลา
สภาวะดังกล่าวทำให้คุณครูแต่ละคนต้องเผชิญความเครียด ความกดดัน และความคาดหวัง ทั้งจากผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ความคาดหวังของตนเองในการจัดการเรียนการสอนในสภาพแวดล้อมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย คุณครูจำนวนมากจึงพยายามเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองเกี่ยวกับการใช้ช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชั่นในการสอน อย่างไรก็ตาม การสอนทางไกลและการสอนแบบผสมผสานนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องประยุกต์ใช้ศาสตร์การสอน การออกแบบหลักสูตรระดับรายวิชาและหน่วย รวมถึงการประเมินผลเพื่อติดตามพัฒนาการของผู้เรียน ชุดความรู้ดังกล่าวไม่ใช่ความรู้เชิงเทคนิคที่ครูจะฝึกฝนด้วยตนเองลำพังได้ แต่เป็นชุดความรู้ในศาสตร์งานครู (Pedagogy) ที่ต้องนำมาปรับประยุกต์ใช้ในบริบทใหม่ จำเป็นยิ่งที่ต้องมีพื้นที่และโอกาสให้คุณครูได้พูดคุย แลกเปลี่ยน ถอดบทเรียน และนำประสบการณ์ของเพื่อนครูที่เผชิญสถานการณ์และบริบทที่ใกล้เคียงกันมาเป็นคลังของประสบการณ์เพื่อการถกเถียงและเรียนรู้ไปด้วยกัน การเรียนรู้ร่วมกันของครู (Teacher Learning Together) จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนเองเชิงวิชาชีพของครูในห้วงเวลานี้
พื้นฐานประสบการณ์ ความชำนาญ ความตื่นตัวในการเรียนรู้ รวมทั้งอัตลักษณ์ของครูแต่ละคน คือ ต้นทุนสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกัน Buchanan (2015) ได้อภิปรายถึงวิชาชีพครูในแง่มุมนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ครูแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ในวิชาชีพ รวมทั้งความมุ่งมั่นจริงใจในการทำงานวิชาชีพ เมื่ออยู่ร่วมกันจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่มาจากส่วนผสมซึ่งมีความซับซ้อนและหลากหลาย เวลาที่พวกเขาต้องเผชิญกับแนวนโยบาย หรือวาทกรรมในงานวิชาชีพ พวกเขาจึงไม่ใช่ผู้รับฟังคำสั่งที่เหมือนภาชนะว่างเปล่า แต่พวกเขามีต้นทุน มีอัตลักษณ์ติดตัว และใช้มันในการตีความ เรียนรู้ ประเมิน และปรับเปลี่ยนตนเอง เพื่อให้รับมือเงื่อนไขใหม่ ๆ ในการทำงานชั้นเรียนและโรงเรียน ด้วยกระบวนการดังกล่าว อัตลักษณ์ของพวกเราจึงผ่านทั้งการรื้อสร้าง (Remade) และการปฏิรูป (Reform) อยู่ตลอดเวลา” การมีพื้นที่ของเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิด แลกเปลี่ยนถกเถียง จึงไม่ใช่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนหรือโชว์ผลงาน การหยิบยื่นตัวอย่างเพื่อการทำตาม ๆ กัน ฯลฯ แต่เป็นโอกาสของการสะท้อนคิดของครูแต่ละคน ให้ได้ตระหนักถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ประเด็นที่สนใจจะเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตน และรับมือความท้าทายต่าง ๆ
Gu and Day (2007) ได้เสนอถึงแนวคิดของ Teacher’s Resilience หรือ ความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง พวกเขาได้ชี้ประเด็นสำคัญว่า ความสามารถดังกล่าวเชื่อมโยงกับการให้คุณค่าในเชิงวิชาชีพ (Professional Value) ทั้งในเง่เป้าหมาย (Goals) เป้าประสงค์ของชีวิต (Purpose) ความทุ่มเทพยายาม (Persistence) แรงบันดาลใจในวิชาชีพ สัมฤทธิผล และแรงจูงใจ ซึ่งคุณลักษณะและความสามารถดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของปัจเจกที่ผลักเป็นภาระให้ครูพัฒนาด้วยตนเอง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา เครือข่ายครู และแวดวงวิชาชีพ ต้องร่วมกันออกแบบกลไกต่าง ๆ เพื่อให้ครูได้พัฒนาเองผ่านชุมชนเรียนรู้ภายในโรงเรียนหรือสมาคมวิชาชีพกลุ่มต่าง ๆ
ท่ามกลางสถานการณ์ที่พลิกผันตลอดเวลา จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเรียนรู้ร่วมกันของครูเพื่อรับมือต่อโจทย์และเงื่อนไขในการทำงานที่ไม่คุ้นเคย การระดมพลังการเรียนรู้ผ่านการออกแบบบทเรียน การศึกษาบทเรียนและการทบทวนสะท้อนคิดเพื่อพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (ดูเพิ่มเติมหัวเรื่องนี้ได้ที่ Saito and Atencio, 2014) จึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ควรได้รับพิจารณาความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดขึ้น แนวคิดของการเสริมพลังครูและการให้การสนับสนุนพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของครูนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด Deal and Peterson (2009) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ครูได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ความเชื่อ ค่านิยม และเป้าประสงค์ในการทำงานของครู และหากโรงเรียนใดที่ผู้บริหารสามารถดึงศักยภาพในส่วนนี้มาพัฒนาต่อเนื่อง ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนวัฒนธรรมของโรงเรียนและนำมาซึ่งความรู้สึกร่วมรับผิดรับชอบต่อพันธกิจร่วมกันของคุณครูในโรงเรียนเดียวกัน พวกเขาได้ระบุว่า พลังจากการร่วมมือรวมพลัง การเรียนรู้ และมุ่งสู่สัมฤทธิผลนี้ เป็นเหมือน “ขุมพลังจากภายใน (Inner Energy) ของโรงเรียน เป็นปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนเติบโต หากเปรียบเป็นผีเสื้อ พลังดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ฟูมฝักให้โรงเรียนพร้อมจะโบยบิน”
จากวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจนถึงสภาวะ Next Normal ที่รออยู่ในอนาคต การออกแบบระบบในการพัฒนาวิชาชีพครูจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นลำพังในครูแต่ละคน ไปสู่การร่วมมือรวมพลังเรียนรู้ไปด้วยกัน เกื้อกูลกัน สนับสนุนส่งเสริมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถรับมือและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
---------------------------------
บรรณานุกรม
Buchanan, R. (2015). Teacher Identity and Agency in an Era of Accountability. Teachers and Teaching: Theory and Practice. 21(6), 700-719.
Deal, T.E. & Peterson, K.D. (2009). Shaping School Culture (2nd Edition). San Francisco: Jossey-Bass.
Gu, Q., & Day, C. (2007). Teacher Resilience: A Necessary Condition for Effectiveness. Teaching and Teacher Education. 23, 1302-1316.
Palmer, P.J. (2007). The Courage to Teach: Exploring the Inner Landscape of a Teachers’ Life. San Francisco: Jossey-Bass Saito, E., & Atencio, M. (2014). Lesson Study for Learning Community.
(LSLC): Conceptualising Teachers’ Practices within a Social justice Perspective. Discourse: Studies in the Cultural Politics of Education. DOI: 10.1080/01596306.2014.968095.