>> Home
> ข่าวประชาสัมพันธ์
จดหมายเหตุคุรุสภา ๑๒๖ ปี (พ.ศ.๒๔๓๘ - พ.ศ.๒๕๖๕)

“จดหมายเหตุคุรุสภา” ๑๒๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๕๖๓)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ ขณะนั้น มีโรงเรียนทั่วราชอาณาจักร ๓๔ แห่ง ครู ๘๑ คน นักเรียน ๑,๙๙๔ คนเมื่อการจัดการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้น ได้มีการแก้ไขระเบียบสอบไล่หนังสือไทย ตามพระราชบัญญัติการสอบวิชา พ.ศ. ๒๔๓๓ ทำให้วิชาที่จะสอบสูงขึ้นและมีหลายวิชา จึงจำเป็นต้องมีการประสิทธิ์ประสาทความรู้ใหม่ ๆ แก่ครู ตลอดจนต้องมีการอบรมครูให้รู้วิชาครูและวิธีสอน สมัยนั้นมีครูที่ไปเรียนวิชาการศึกษา(วิชาครู) จากต่างประเทศเพียงไม่กี่คน จึงให้ครูเหล่านี้มาเผยแพร่ความรู้ให้แก่ครู จึงเปิดการอบรมครูหรือประชุมครูขึ้นเป็นครั้งแรกที่ “วิทยาทานสถาน” ในปี ๒๔๓๘ต่อมาในปี ๒๔๔๓ จึงตั้งสภาสำหรับอบรมและประชุมครูขึ้น ชื่อว่า “สภาไทยาจารย์” เปิดสอนทุกวันพระอันเป็นวันหยุดราชการ และออกหนังสือพิมพ์วิทยาจารย์ เพื่อเป็นการสื่อสารและเผยแพร่วิชาการแก่ครูอีกทางหนึ่งการอบรมและสอนครูเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ในปี ๒๔๔๕ กรมศึกษาธิการจึงจัดตั้งสถานที่ประชุมอบรมและสอนครูขึ้น ให้ชื่อว่า “สามัคยาจารย์สโมสรสถาน” และพัฒนาให้เป็นรูปของสมาคมในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ชื่อ “สามัคยาจารย์สมาคม” และได้รับเกียรติอย่างสูง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับสามัคยาจารย์สมาคมอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘ ตลอดมาเมื่อประเทศไทยต้องประสบภาวะคับขันในมหายุทธสงครามโลกครั้ง ที่ ๒ กรุงเทพมหานครได้รับความกระทบกระเทือนภัยทางอากาศหลายครั้งสามัคยาจารย์สมาคมจึงยุติบทบาทชั่วคราวเมื่อสิ้นภาวะสงคราม ในปี ๒๔๘๘ รัฐบาลในสมัยนั้นเห็นควรให้พัฒนาประเทศโดยเริ่มที่ “ครู” ก่อนอันดับแรก ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของครูผู้เป็นต้นกำเนิดของบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานทางราชการ จึงได้ให้มีพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาของครู เรียกว่า “คุรุสภา” ขึ้น ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาขึ้นในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เพื่อดำเนินงานของคุรุสภาที่ประชุมสามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงมีมติให้รวมกิจการของสามัคยาจารย์สมาคมเข้ากับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตกลงให้รวมกิจการและทรัพย์สินของสามัคยาจารย์สมาคมเป็นของคุรุสภา “สามัคยาจารย์สมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์” จึงสิ้นสภาพในวันนั้นต่อมาในปี ๒๕๔๒ ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษา เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๓ ..ให้มีองค์กรวิชาชีพครู ... คุรุสภาจึงได้พัฒนาองค์กรจนเกิดเป็นพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยคุรุสภาได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมาด้วยดีโดยตลอดสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของคุรุสภาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่แสดงถึงหลักฐานและพัฒนาการด้านวิชาชีพทางการศึกษาของชาติ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีการรวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและใช้อ้างอิงได้อีกทั้ง คุรุสภามีประวัติความเป็นมาและดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดทำ “จดหมายเหตุคุรุสภา” ตั้งแต่ปี ๒๔๓๘ – ๒๕๖๓ รวม ๑๒๖ ปี ขึ้น จำนวน ๔ เล่ม เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยสามารถเข้าชมจดหมายเหตุคุรุสภาผ่านเว็บไซต์หอสมุดคุรุสภา https://elibrary.ksp.or.th/index.php
005 AC001 จดหมายเหตุของคุรุสภา

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

สื่ออิเล็กทรอนิกส์