ปรัชญาการศึกษาไทย
ที่มาข้อมูล : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๕๒). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
-------------------------------------------------------------
ปรัชญากลุ่มอุดมคตินิยม
จุดมุ่งหมายของปรัชญาการศึกษาในกลุ่มนี้มุ่งศึกษา อบรมผู้เรียนให้เป็นผู้ที่ยึดมั่นในคุณธรรมความดีตามหลักของพระพุทธศาสนา ( หรือศาสนาอื่นที่ตนนับถือ ) ดำเนินชีวิตตามประเพณีอันดีงามของสังคมไทยนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่เป็นอุดมคติจากจุดมุ่งหมายจะเห็นได้ชัดเจนว่ารากฐานของปรัชญากลุ่มนี้คือ รากฐานของพระพุทธศาสนาที่เป็นรากฐานหลักของสังคมไทยมาเป็นเวลาอันยาวนาน ซึ่งรากฐานดังกล่าวได้รับ ผลกระทบด้านแนวคิดความเชื่อที่เข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นวัตถุ ทุน และการพัฒนาตามแนวทางของ อุตสาหกรรมที่ทำให้วิถีชีวิตตามรากฐานของศาสนาได้ลดความสำคัญลงไป ทำให้ผู้เรียนและคนในสังคมละเลยอุดมคติของ สังคมหันไปเน้น “ ผลิตคนให้สำเร็จวิชาชีพด้านนั้น ๆ มาใช้ " ผลิตคนมาเป็นกำลังคนสำหรับสนองความต้องการทาง เศรษฐกิจและสังคม (พระธรรมปิฎก, ๒๕๔๒ , หน้า ๑๑) เป็นการศึกษาเพื่อรับใช้ทุนนิยมเป็นหลัก ซึ่งถูกครอบงำโดย อำนาจเงินและอำนาจทุนเพื่อผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน (พระไพศาล วิสาโล , ๒๕๔๕ , หน้า ๔) สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ ก่อให้บัณฑิตในสังคมขึ้นอย่างมากดังที่ สุมน อมรวิวัฒน์ ได้กล่าวไว้ว่า “ หากแต่วิถีชีวิตไทยที่มีครอบครัวอันอบอุ่น ชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างสันติก็กลับกลายเป็นความแตกแยกแก่งแย่งแข่งขัน ชีวิตคนเริ่มเครียด ชุมชนอ่อนแอ สังคมขาดความสงบสุข (สุมน อมรวิวัฒน์, ๒๕๔๙, หน้า ๑)การที่รากฐานในเชิงอุดมคติของไทยแปรเปลี่ยนไปมากนี้เองทำให้เห็นความจำเป็นของปรัชญาอุดมคตินิยม ที่เป็นรากฐานของสังคมไทยมายาวนาน แม้จะมีปรับเปลี่ยน ประยุกต์ และเลือกใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อ ของแต่ละคนก็ตาม (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, ๒๕๒๖ , หน้า ๔๒-๕๓) แต่ก็ยังคงพื้นฐานหลักไว้ที่รากฐานทางศาสนาและวัฒนธรรม เป็นหลักสำคัญดังที่ได้กล่าวว่าปรัชญานี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธ เป้าหมายสำคัญจึงต้องการให้ผู้เรียนเป็นคนดีตามหลักของศาสนาเป็นสำคัญ ในกระบวนการของการเรียนการสอน จึงต้องสอนหลักของศาสนาเป็นพื้นฐาน อบรมคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนศีลธรรมตามหลักของศาสนา ท้ายที่สุดในเชิงอุดมคติต้องการให้ผู้เรียนสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา คือ บรมธรรม หรือโลกุตรธรรมได้ ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการศึกษา (เอกวิทย์ ณ ถลาง, ๒๕๑๒, ส. ศิวรักษ์ , ๒๕๑๔ , ๒๕๔๕) ดังที่พุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของการศึกษาคือ การยกระดับของจิตใจมนุษย์ให้มุ่งสู่บรมธรรม มิใช่เป็นเพียงการให้ความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ หรือเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น (พุทธทาสภิกขุ. ๒๕๒๔)ในกระบวนการของการศึกษาและฝึกอบรม นอกจากกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายตามแนวทางของพุทธศาสตร์ (สุมน อมรวิวัฒน์ , ๒๕๒๘) ปรัชญาของอุดมคตินิยมยังเป็นการอบรมดูแลตามค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมของไทยอีกส่วนหนึ่งด้วยนอกจากการอบรมในเชิงอุดมคติทางศาสนาแล้วการเรียนการสอนยังเน้นการอบรมดูแลในเชิงระเบียบวินัย การฝึกและอบรมตนเองให้รู้จักควบคุมอารมณ์ ควบคุมจิตใจให้เข้าสู่สิ่งที่ดีงามทางศาสนาและในระบบของสังคมด้วย เนื้อหาสาระที่เรียนจึงนอกจากเน้นสาระทางศาสนาแล้ว ยังครอบคลุมวิชาทางด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี และคุณค่าความดีงามของไทยที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ด้วย
ปรัชญากลุ่มปัญญานิยม
จุดมุ่งหมายของปรัชญาในกลุ่มนี้ต้องการสร้างคนให้มีความสามารถทางปัญญา คิดเป็น สามารถนำความคิดและปัญญาไปใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมต่อตนเอง และต่อส่วนรวมแนวคิดพื้นฐานของปรัชญากลุ่มนี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความรวดเร็ว ซับซ้อน และแตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาอย่างมาก คนในสังคมจึงต้องมีความรู้ความคิดตามทันและรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือเป็นเหยื่อของสังคม โดยเฉพาะสังคมสมัยใหม่ที่มีผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เน้นกำไรขาดทุน การมีความสามารถทางความคิดหรือความสามารถทางปัญญาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสภาพที่เป็นจริงการศึกษาของไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างความคิด และไม่ได้สร้างปัญญาให้แก่ผู้เรียนอย่างมากพอ สร้างแต่ความรู้และการท่องจำความรู้ที่ครูบอกให้เป็นหลักใหญ่ ทำให้ผู้เรียนต้องจด ท่อง และจำตามที่อาจารย์บอกเป็นหลัก การพัฒนาปัญญาจึงไม่เกิดขึ้นดับที่ ประเวศ วะสี ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบให้แก่สังคม “ เราไม่มีคำตอบสำหรับวิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อมหรือวิกฤตทางสังคมหรือวิกฤตทางศีลธรรมหรือวิกฤตทางวัฒนธรรมแต่อย่างใดเลย เพราะมีปัญญาไม่พอ มหาวิทยาลัยมีปัญญาไม่พอ และไม่สามารถสร้างปัญญาให้ผลที่จะทำให้สังคมเผชิญวิกฤติการณ์ได้” (ประเวศ วะสี, ๒๕๓๗, หน้า ๓) ในขณะที่ อมเรศ ศิลาอ่อน , ๒๕๔๗, หน้า ๒) เน้นว่า “การศึกษาไทยมีจุดเด่นคือ ไม่สอนให้คิด แต่สอนให้ท่องจำ ถือว่าความรู้สำคัญที่สุด ฉะนั้นเด็กยิ่งรู้มากยิ่งดี”ปัญหาเดียวกันนี้ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และคณะ (๒๕๔๙) ในการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “ สัตตศิลา หลักเจ็ดประการ สำหรับการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้” ได้พูดถึงปัญหาคุณลักษณะของคนไทยในปัจจุบัน ที่ไม่เพียงพอต่อการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ว่าเป็นผู้ที่คิดอยู่ในกรอบยึดแต่ความรู้เดิม คอยแต่รับข้อมูล เป็นผู้ตาม และเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แทนที่จะคิดให้แจ้งแทงตลอด คิดสร้างสรรค์ หาข้อมูลใหม่ เป็นผู้นำและเป็นผู้ผลิตบ้าง (หน้า ๒) ในงานวิจัยจึงเสนอให้มุ่งสร้างผู้เรียนรุ่นใหม่ให้รู้ทันรู้นำโลก (Smart Consumer) เรียนรู้ ชำนาญ เชี่ยวชาญ ปฏิบัติ (break through thinker) รวมพลังสร้างสรรค์สังคม (social concerned) และรักษ์วัฒนธรรมไทยใฝ่สันติ (Thai pride)การสอนให้ผู้เรียนมีปัญญาและใช้ปัญญาได้นั้น จรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า “การศึกษาต้องไม่เป็นการให้กับการรับ ต้องเน้นการวิเคราะห์ มีการอภิปรายซักถามและตอบด้วยเหตุผล แยกแยะ ตรรกจริงจากตรรกลวง” (จรัส สุวรรณเวลา, ๒๕๓๘ , หน้า ๓๘) ขณะเดียวกัน ประเวศ วะสี ก็ได้อธิบายคุณลักษณะของสมองที่ทำหน้าที่ทางปัญญาไว้ ๔ ประการ คือ การรับรู้ความจริง เอาความจริงมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เอาสิ่งที่วิเคราะห์สังเคราะห์ไปคิดแปลงให้ใช้ได้ เมื่อใช้แล้ว ประเมินว่าได้ผลหรือไม่เพื่อให้เกิดปัญญาที่สูงขึ้นไป” (ประเวศ วะสี, ๒๕๔๕) เช่นกัน ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (๒๕๔๙ ก) ได้เสนอรูปแบบการสอนให้เกิดความคิดวิจารณญาณในกลุ่มผู้เรียน ในวิชาชีพครูว่าควรประกอบไปด้วย ๓ ขั้นตอนหลักคือ การให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดคนเดียวก่อน หลังจากนั้นให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันในกลุ่มย่อย แล้วให้ผู้เรียนสรุปประเด็น ของกลุ่มย่อยมาเสนอในกลุ่มใหญ่อีกทีหนึ่งเพื่อให้เกิดการประเมิน สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ (หน้า ๖๙-๗๐)เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้นในตัวของผู้เรียนตามเป้าหมายที่กล่าวไว้ในตอนแรกแล้วนั้น ระบบการศึกษาต้องให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ ในเชิงที่มาและเหตุผลของสิ่งที่ศึกษา ให้เรียนสภาพแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของ สังคมโดยการวิเคราะห์วิจารณ์เป็นหลักกระบวนการสอน ต้องเน้นกระบวนการคิด การวิเคราะห์สังเคราะห์ และการแก้ ปัญหาของตัวผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้เรียนได้คิดแล้วต้องมีกระบวนการให้ได้ทดสอบความคิดของผู้เรียนอยู่ตลอดด้วย
ปรัชญากลุ่มชุมชนนิยม
ปรัชญากลุ่มนี้เน้นการสร้างผู้เรียนให้รู้จักและเข้าใจชุมชนของตนเอง เข้าใจสภาพการณ์และปัญหาที่ตนเอง อาศัยอยู่ รู้ว่าชุมชนต้องการอะไร เติบโต และมีพัฒนาการมาอย่างไร มีจิตสำนึกที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเองให้ดีขึ้นด้วยปรัชญากลุ่มนี้มีที่มาจากสภาพการณ์ของไทยในปัจจุบันที่จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจสังคมที่ ผู้เรียนอยู่และเติบโตมามีน้อย ส่วนใหญ่จะสอนสิ่งที่นอกสังคมหรือสอนสิ่งที่เป็นความรู้ส่วนกลางของประเทศหรือสอน ของต่างประเทศทำให้เด็กรู้จักสังคมที่เด็กอยู่น้อยลงไปโดยเฉพาะการจัดการศึกษาเพื่อที่จะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ ที่โยงการศึกษาเข้ากับส่วนกลาง โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐในการสร้างรัฐแบบใหม่ขึ้น “รัฐได้สร้างการศึกษาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นเพื่อฝึกคนมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจของรัฐ โดยถ่ายทอดความรู้ความชำนาญที่จำเป็นนับตั้งแต่การอ่านออกเขียนได้ไปจนถึงความรู้ ความชำนาญของเทคโนโลยีสมัยใหม่อื่น ๆ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๓๑, หน้า ๓๗)นอกจากความต้องการในการจัดการศึกษาเพื่อสนองความจำเป็นของการพัฒนาประเทศตามความต้องการของส่วนกลางดังกล่าวมาแล้วปรัชญาของการศึกษาในแนวนี้ยังได้รับการเน้นจากการพัฒนาประเทศในยุคหลังที่ให้ตอบสนองต่อความต้องการของต่างประเทศหรือโลกภายนอกอีกด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในยุคโลกาภิวัตน์ ดังที่ เสน่ห์ จามริก (๒๕๔๕, หน้า ๖) ได้กล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้หรือการศึกษาวิจัย ที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของสังคมไทย แต่วิจัยสนองปัญหาและความต้องการของโลกภายนอก อันนี้คือ วัฒนธรรมของการจำนนต่อกระแสของโลกภายนอกและเป็นความจำนนโดยสมัครใจด้วย”นอกจากจุดมุ่งหมายที่กล่าวในตอนต้นแล้วกระบวนการจัดการศึกษาในแนวชุมชนนิยม ยังเน้นที่การเรียนรู้ในเรื่องของชุมชนด้วยโดยการเน้นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับชุมชนไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ วิถีชีวิต กิจกรรม ตลอดจนการดำเนินชีวิตในชุมชนการทำมาหาเลี้ยงชีพ ความสัมพันธ์ ของหมู่บ้าน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในตามสิทธิตามประเพณีของกันและกัน (นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๓๑ , หน้า ๒๗) การเคารพต่อธรรมชาติ การผลิตเพื่อยังชีพ เป็นต้น ที่ควบคู่ไปกับเนื้อหาสาระคือ กระบวนการเรียนรู้ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่การศึกษาจะเกิดขึ้นได้ในชุมชน ในท้องถิ่น ในหมู่บ้านที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงจากการฟังครูบอก ครูเล่า แต่เป็นการเรียนจากชีวิตจริงสภาพจริงของสังคมของไทย ครูผู้สอนเป็นผู้ปฏิบัติจริงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนนอกจากจะเรียนจากของจริง จากการปฏิบัติจริง แล้วยังสามารถสรุป “ความจริง” จากสิ่งที่เห็นได้ด้วยตนเองอีกด้วยแท้ที่จริงแล้วการเรียนรู้จากชุมชนโดยชุมชนและเพื่อประโยชน์ของคนในชุมชนเองนั้นไม่ใช่ปรัชญาการศึกษาใหม่ของไทย แต่เป็นการเรียนรู้ของชุมชนไทยแต่เดิมก่อนที่จะรับเอาหลักการเรียนรู้จากตะวันตกเข้ามาทดแทนความรู้และวิธีการเดิมของไทยซึ่งครูเป็นคนของชุมชนสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน การศึกษาในแนวปรัชญานี้จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของชุมชน ทำให้ชุมชนมีศักดิ์ศรีนำไปสู่ “วิธีการสร้างสรรค์ชุมชนของตนเองให้เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้” (เสรี พงศ์พิศ, ๒๕๓๑ , หน้า ๓๗o) อย่างที่สังคมไทยได้เป็นมาอันยาวนานนับร้อยปีก่อนที่ระบบการพัฒนาเข้าสู่ส่วนกลางจะมามีบทบาทอย่างมากในเวลาต่อมากระบวนการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาชุมชนนิยมนอกจากเนื้อหาสอนจะเป็นเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องสอดคล้อง และส่งเสริมชุมชนแล้ว กระบวนการเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นจากการได้ไปสัมผัสชุมชนโดยตรง เรียนรู้จากชุมชน โดยตรง ผู้สอนอาจจะเป็นคนในชุมชนหรือผู้รู้ในชุมชนนั้นเป็นผู้สอนด้วย
ปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยม
ปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยมเน้นการสร้างผู้เรียนให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป โดยมีความรู้และทักษะพร้อมทั้งค่านิยมที่จะปรับให้ทำงานได้เป็นหลักสำคัญแนวคิดของปรัชญากลุ่มนี้เชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะการพัฒนา ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าการศึกษาที่สอดคล้องกับระบบต่าง ๆ ของสังคมก็จะทำให้สังคมดีตามไปด้วย การศึกษาจึงเป็น ระบบย่อยหรืออนุระบบของสังคมที่จะต้องเดินตามระบบอื่น ๆ ไป โดยนัยนี้ การศึกษา “จึงถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือ ในการเพิ่มพูนความรู้ความความชำนาญ และทักษะบางประการที่สอดคล้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและ สังคม” ( ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน ศักดิ์ชัย นิรัญทวี, ๒๕๔๑, หน้า ๒๓)ในแนวทางนี้รัฐจัดการศึกษาไม่ใช่เพื่อการพัฒนาคนโดยตรงแต่จัดการศึกษาเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ มองผลผลิตของการศึกษาคือ คนเป็นทรัพยากรมนุษย์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นหลักสำคัญเมื่อเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนไปในทางใด การศึกษาก็จะต้องปรับเปลี่ยนตามไปดังที่ โอฬาร ไชยประวัติ (๒๕๔๗) สะท้อนประเด็นนี้ไว้ชัดเจนว่า “คุณภาพการศึกษาของประเทศทุกระดับมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการผู้จบ การศึกษาที่มีคุณภาพเข้าไปทำงานทั้งในหน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรธุรกิจ และยิ่งภาคเศรษฐกิจมีการเติบโตเท่าใด ยิ่งต้องการคนที่มีคุณภาพเท่านั้น การปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็น”การจัดการศึกษาในแนวปรัชญานี้อาจกล่าวได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคของการมีระบบโรงเรียนตามแนวทางของ ตะวันตกซึ่งเป็นรูปแบบของโรงงานอุตสาหกรรม ( Factory Model ) ที่โรงเรียนมุ่งสร้างคนให้สนองตอบต่อระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้ความรู้ วิธีคิด ทักษะ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถทำงานในระบบธุรกิจสมัยใหม่ได้การสร้างคนก็จะออกมาเป็นแบบเดียวกันเหมือนสินค้าจากโรงงาน ครั้นเมื่อระบบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทักษะ และความชำนาญที่การศึกษาจะต้องสร้างขึ้นก็จะต้องเปลี่ยนไปจนมาถึงยุคของโลกาภิวัตน์ ความรู้ความเข้าใจและการเรียนรู้ให้ทันกับโลกเพื่อสนองตอบต่อโลกสมัยใหม่ยิ่งมีความจำเป็นต่อการศึกษาไทยมากขึ้น การเรียนรู้และตามให้ทันกับแนวคิดของโลกสมัยใหม่จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยเหตุนี้การจัดการศึกษาจึงต้องดำเนินไปตามความต้องการของตลาด ตามความต้องการของนักธุรกิจ และตามความต้องการของนักอุตสาหกรรมที่มุ่งจะนำพาประเทศไปในทิศทางการแข่งขันของสังคมและของโลก แล้วสร้างคน ให้ปรับตัวตาม ดังที่ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ชี้ให้เห็นการเรียนรู้ในแนวใหม่ว่า “ขณะนี้การตลาดกลายเป็นตัวนำมากกว่าที่ผ่านมา การแข่งขันจึงสูงขึ้นและความรู้ที่ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว เมื่อการตลาดมีผู้ตัดสินใจรับบริการคือ ลูกค้าผู้ที่จะแข่งขันได้ดี จึงเป็นผู้ให้บริการที่ดีที่ตรงต่อเวลา และเป็นที่พอใจของลูกค้า ดังนั้นในสภาวะของการแข่งขันจึงต้องมีเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ” (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ๒๕๔๗)ในแนวทางดังกล่าวการศึกษาจึงสร้างเนื้อหาสาระที่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงให้ทำงานในตลาดแรงงานได้ ปรับเปลี่ยนตามความต้องการของตลาด โดยเน้นการเรียนการสอนที่ให้ฝึกงาน ปฏิบัติงานในสภาพการณ์จริงเพื่อให้ทำงานเป็น และมีทักษะสมัยใหม่โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และทักษะคอมพิวเตอร์ และหากจะรู้ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานนานาชาติด้วยก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น
ปรัชญาการศึกษาในทางปฏิบัติ
แม้ปรัชญาการศึกษาไทยจะมีหลายแบบ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การจัดการศึกษาของไทยหรือของประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ได้เน้นที่ปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งแต่เพียงโดด ๆ แต่จะเน้นปรัชญาหนึ่งเป็นตัวนำแล้วเสริมด้วยปรัชญาอื่น ๆในทางปฏิบัติของการศึกษาไทยปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่าเป้าหมายจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ตามการศึกษาไทยเน้นไปที่ปรัชญาปฏิบัตินิยมค่อนข้างมาก คือเน้นย้ำให้การศึกษาเป็นไปเพื่อสนองตอบ ต่อตลาดเป็นหลักใหญ่ โดยเฉพาะถ้าผู้นำประเทศให้น้ำหนักของการพัฒนาไปในทางเศรษฐกิจสูง ก็จะ กระตุ้น ผลักดัน และเรียกร้องให้การศึกษาสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว โดยที่ปรัชญาการศึกษา แนวอื่น ๆ ลดความสำคัญลงไป ดังนั้นการนำปรัชญาไปใช้ในทางปฏิบัติจึงควรจะมองให้กว้างกว่า การใช้ประโยชน์จากปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเป็นการมองภาพรวมของประเทศ ทิศทางที่ ควรจะเน้นคุณสมบัติของคนไทยที่เหมาะสมสำหรับอนาคต จากนั้นจึงกำหนดทิศทางหรือปรัชญาการศึกษา ให้สอดคล้องและสมดุล
--------------------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
จรัส สุวรรณเวลา. (๒๕๓๘). คิดแล้วทำแล้วคิด. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (๒๕๔๗). "ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ชี้หนทางสร้างสังคมแห่งฐานความรู้" ใน ผู้จัดการรายสัปดาห์ ๑๙-๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (๒๕๓๑). "การศึกษาเพื่อฟื้นฟูศักยภาพของชุมชน" ใน เสรี พงศ์พิศ บรรณาธิการ ทิศทางหมู่บ้านไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมู่บ้าน.ประเวศ วะสี. (๒๕๓๗). วิกฤติการณ์อุดมศึกษาและการยกเครื่องมหาวิทยาลัย คำบรรยายในการประชุมวิชาการ เรื่อง มหาวิทยาลัยในช่วงเปลี่ยนยุคสมัย ๑๖-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗.ประเวศ วะสี. (๒๕๔๕). ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท คำบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จังหวัดเชียงใหม่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๕.พระธรรมปิฎก. (๒๕๔๒). การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตหรือการศึกษาเพื่อสร้างผลผลิต. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.พระไพศาล วิสาโล. (๒๕๔๕). มหาวิทยาลัยภายใต้กระแสทุนนิยม คำบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จังหวัดเชียงใหม่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕.ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (๒๕๒๖). รายงานการวิจัยเรื่อง "ระบบการศึกษาไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๒๐)" กรุงเทพฯ: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (๒๕๔๙). การศึกษาเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ และคณะ. (๒๕๔๙). สัตตศิลา : หลักเจ็ดประการสำหรับการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ.ศักดิ์ชัย นิรัญทวี. (๒๕๔๑). ปรัญชาการศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.ส.ศิวรักษ์. (๒๕๑๔). "อุดมคติทางการศึกษาของไทย" ใน วรรณไวทยากร เล่ม ๑ กรุงเทพฯ: โครงการตำราสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.สุมน อมรวิวัฒน์. (๒๕๒๘). การสอนโดยสร้างศรัทธาและโยนิโสมนสิการ. กรุงเทพฯ: ตีรณสาร.สุมน อมรวิวัฒน์. (๒๕๔๙). บทบาทของสถาบันการศึกษาต่อการพัฒนาจิตใจ. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.เสน่ห์ จามริก. (๒๕๔๕). มหาวิทยาลัยตายแล้ว ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทย คำบรรยาย ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จังหวัดเชียงใหม่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๕.เสรี พงศ์พิศ. (๒๕๓๑). "บทนำ" ใน เสรี พงศ์พิศ บรรณาธิการ ทิศทางหมู่บ้านไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมู่บ้าน.อมเรศ ศิลาอ่อน. (๒๕๔๗). "ฟังอมเรศ ศิลาอ่อน พูดเรื่องการศึกษาของไทย : สัมภาษณ์" ใน กรุงเทพธุรกิจ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ หน้า ๒.เอกวิทย์ ณ ถลาง. (๒๕๑๒). "อันอาจนำไปสู่ปรัญชาการศึกษาของเราเอง" สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๒ ก.ย.-พ.ย.โอฬาร ไชยประวัติ. (๒๕๔๗). "ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธาน สมศ. คนใหม่" ใน มติชน ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๗.