คุณธรรมของครู
ที่มาข้อมูล : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๕๐). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
--------------------------------------------
ความหมายของคำ
คุณธรรม หมายถึง สภาพหรือสิ่งที่เป็นคุณ สิ่งที่มีคุณค่า คุณประโยชน์ คุณงามความดี ธรรม โดยศัพท์ มีความหมายกว้าง หมายถึง ธรรมดา ธรรมชาติ ความจริง ความถูกต้อง หลักการ สิ่งที่ใจนึก คำสอนของพระศาสดาของศาสนาต่างๆ ฯลฯ คุณธรรม โดยความหมายอย่างกว้าง หมายถึง สิ่งต่างๆ ตามความหมายของคำว่า ธรรม ที่มีสภาพหรือลักษณะเป็นคุณเป็นประโยชน์ เป็นความดีงาม ความถูกต้อง ฯลฯ คำว่า คุณธรรม ที่นำมาใช้กันโดยทั่วไป มุ่งเน้นไปในทางความรู้สึกนึกคิดของคนเราที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ เป็นความดีงาม คุณธรรมจึงเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกนึกคิด ที่จะนำไปสู่การประพฤติ ปฏิบัติ ที่เรียกว่า จริยธรรม คุณธรรม เป็นนามธรรมจริยธรรม เป็นรูปธรรม มีความต่อเนื่องกัน เมื่อคนเรามีความรู้สึกนึกคิดไปในทางใดก็จะชักนำให้เกิดการประพฤติ ปฏิบัติไปในทางนั้น คนที่มีความรู้สึกนึกคิดไปในทางดี ที่เป็นประโยชน์ คือ มีคุณธรรม ก็จะประพฤติ ปฏิบัติดี คือ จริยธรรม คนทั่วไปมักจะใช้สองคำนี้ต่อเนื่องกัน คือ คุณธรรม จริยธรรม
แนวความคิดเกี่ยวกับคุณธรรมของครู
คนทั่วโลก ตระหนักดีว่า คนเราเกิดมาต้องได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญงอกงามทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและสังคม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนช่วยสังคมให้มีความสุข ความเจริญ ก้าวหน้า มั่นคง บิดามารดารับหน้าที่พัฒนาเด็กเมื่อยังเยาว์วัย ครั้นเมื่อเด็กโตขึ้นจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น กว้างขวาง ละเอียดอ่อนในหลายๆ ด้านมากขึ้น จึงมีบุคคลกลุ่มหนึ่งในสังคม รับช่วงทำหน้าที่พัฒนาเด็กและเยาวชนต่อจากบิดามารดา ซึ่งได้ยอมมอบลูกหลานให้กลุ่มบุคคลนี้ช่วยพัฒนาสืบต่อไป สังคมโลกเรียกบุคคลกลุ่มที่มีบทบาทหน้าที่พัฒนาเด็กและเยาวชน ในความหมายของคำว่า ครู ครูจึงเป็นบุคคลที่คนทั่วโลกมอบให้มีบทบาทหน้าที่พัฒนาเด็กและเยาวชนในสังคมไทยของเรา คำว่า ครู ใช้เรียกบุคคลที่มีคุณลักษณะเด่นสองประการ คือ เป็นผู้ทรงความรู้ ความสามารถทางวิทยาการ เป็นที่พึ่งของชุมชนสังคมได้ และเป็นผู้มีจริยวัตรการประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและสังคม ในการปฏิบัติงานหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีได้ ผู้ใดก็ตามมีคุณลักษณะเด่นสองประการนี้ สังคมไทยจะยกย่องให้เป็นครู ครูจึงเป็นบุคคลที่สังคมไทยยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคล เป็นที่พึ่งของสังคมทั้งทางวิทยาการและแนวทางประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและสังคมและการกระทำงานหน้าที่
ความมุ่งหวังของสังคมที่มีต่อครู สังคมมุ่งหวัง ปรารถนาจะเห็นครู ประพฤติ ปฏิบัติตนและกระทำหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๑. ทำหน้าที่ด้วยอุดมการณ์ของความเป็นครู๒. มุ่งมั่นปฏิบัติงานหน้าที่ครูให้สมบูรณ์ ด้วยหลักธรรมและหลักวิชาชีพครู๓. เพียรพัฒนาตนเองตลอดชีวิต ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม วิชาการ วิชาชีพครู ประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สมกับการเป็นปูชนียบุคคลของสังคม๔. เป็นพลังสำคัญของชุมชนในการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษา เยาวชน ชุมชน ชาติบ้านเมือง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ สมกับความเป็นครูของสังคม
คุณธรรมที่สำคัญของครู เพื่อกระทำหน้าที่ครู และประพฤติ ปฏิบัติตนตามความมุ่งหวังของสังคมครูจึงมีคุณธรรมที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
๑. มีอุดมการณ์ ตระหนักในคุณค่าของความเป็นครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติ ตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูตระหนักในคุณค่าของความเป็นครู
ตระหนัก คือ เห็นคุณค่า และศรัทธา คือมีจิตวิญญาณของความเป็นครูเชื่อด้วยความเคารพในความสำคัญ ความมีคุณค่าของบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชน มีความผูกพัน ความมุ่งมั่นที่จะกระทำหน้าที่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดครู คือ ผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ไม่มีทรัพยากรใดสำคัญเท่ากับทรัพยากรมนุษย์ สังคมมอบให้ครูทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ พัฒนาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสในพิธีเปิดงานวันครูโลก เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ ว่า ครู เป็นผู้มอบสิทธิพื้นฐานให้แก่มนุษย์ท่านพุทธทาสภิกขุ เทศนาไว้ว่า ครู คือผู้นำทางวิญญาณ ครู คือผู้สร้างโลก โลกจะเป็นอย่างไร ครูมีส่วนช่วยสร้าง แต่ครูบางคนสั่นหัว ไม่ยอมรับหน้าที่นี้ หากครู ไม่รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้จะให้ผู้ใดทำจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เคยมาให้ทรรศนะเกี่ยวกับครูในงานวันครูที่คุรุสภาว่า ครู คือ ผู้พัฒนาคน ครู คือ ผู้ที่สังคมยกย่องเป็นปูชนียบุคคล และให้เกียรติถึงลูกหลาน ครู มีความสงบสุขในชีวิต ครู คือ ผู้ที่สวรรค์ส่งให้มาเกิดเพื่อกระทำความดีในการพัฒนาเยาวชนพระพุทธองค์ คือ พระมหาบรมครูของโลกครู ไม่ใช่ เรือจ้าง ครู ทำหน้าที่พัฒนาเยาวชนด้วยจิตใจ ไม่มีสิ่งใดแทนครูได้อย่างสมบูรณ์ตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติ ตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูครู เป็นผู้ประกอบวิชาชีพระดับสูง ผ่านการกลั่นกรองสรรหาเข้าสู่วิชาชีพครู ได้รับการศึกษามาในระยะเวลายาวนาน ได้รับการฝึกอบรม พัฒนาตลอดเวลาระหว่างการกระทำหน้าที่ครูเพื่อให้ยึดมั่นในหลักวิชาชีพครูและมีคุณธรรมในวิชาชีพครูรวมเรียกว่า จรรยาบรรณวิชาชีพครู คุรุสภาใต้กำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพครูไว้ ๙ ประการ โดยเฉพาะในข้อแรก รักและเมตตาศิษย์ ครูจึงต้องมีสังคหวัตถุธรรม ทาน หมายถึง การให้ ให้ความรัก ความเมตตาศิษย์ ครูจึงให้ความรักก่อนให้ความรู้๒. มุ่งมั่นปฏิบัติงานหน้าที่ครูให้สมบูรณ์ ด้วยหลักธรรมและหลักวิชาชีพครู ครูมีหน้าที่ที่สำคัญ ๕ ประการคือ
๒.๑ สอน ฝึก อบรม จัดกระบวนการเรียนการสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งทางด้านความรู้ ความคิด การปฏิบัติ และคุณธรรม จริยธรรม สอนให้นักเรียนมีความรู้ สอนให้รู้จักคิดแก้ปัญหาและพัฒนาโดยใช้ความรู้เป็นพื้นฐานในการคิด ฝึกให้นำความรู้ไปปฏิบัติเกิดทักษะ มีความสามารถในการกระทำ อบรม พัฒนาทางจิตใจ คุณธรรม จริยธรรมโดยการสอนสอดแทรกบูรณาการไปกับการสอนวิชาการต่างๆ๒.๒ จัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนตามโครงสร้างของหลักสูตร กำหนดให้ครูจัดกิจกรรมทางการศึกษาเพื่อเสริมพัฒนาการของนักเรียน ได้แก่ กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมชมรมต่างๆ ตามความสนใจ ความต้องการของนักเรียน๒.๓ เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เพื่อแก้ปัญหา พัฒนาการศึกษา เยาวชนสิ่งแวดล้อม และชุมชนสังคมมุ่งหวังให้ครูเป็นที่พึ่งของชุมชน ครูจึงต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาเยาวชน สิ่งแวดล้อมของชุมชน๒.๔ สร้างชื่อเสียง เกียรติคุณ ความเจริญก้าวหน้าให้สถานศึกษา ครูทุกคนพึงร่วมมือกันพัฒนางานของสถานศึกษา ให้มีคุณภาพทางการศึกษาสูง มีผลงาน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในด้านต่างๆ เป็นที่ยอมรับ ศรัทธาของประชาชนในชุมชน๒.๕ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนางานวิชาชีพครู ครู มีหน้าที่ที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาแผนการสอน กระบวนการเรียนการสอน งานวิชาชีพครู เพื่อพัฒนาวิชาชีพครูให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนางานหน้าที่ของครูและความเจริญก้าวหน้าส่วนตัวทางวิชาชีพครูของครูเองด้วย
๓. เพียรพัฒนาตนเองตลอดเวลา
ครูต้องเพียรพัฒนาตนเองตลอดเวลาทั้งทางด้านคุณธรรม จริยธรรม วิชาการแขนงต่างๆวิชาชีพครู เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ ครูต้องเพียรพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ดำเนินชีวิตและสังคมด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้มีปัญญา รู้ทางแก้ปัญหาและพัฒนา และเป็นผู้มีความกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นและชุมชนครูพึ่งดำเนินชีวิตและสังคมตามครรลองของวัฒนธรรมอันดีงามของไทยยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนา ประพฤติ ปฏิบัติตนและกระทำงานหน้าที่ให้เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชน และประชาชน สมกับเป็นคนดีศรีสังคม
๔. ตั้งปณิธานที่จะเป็นพลังสำคัญในการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษา เยาวชน เศรษฐกิจ สังคมของชุมชน ชาติบ้านเมือง
๔.๑ ศึกษา วิเคราะห์ปัญหา ความต้องการการพัฒนา การศึกษา เยาวชน เศรษฐกิจ สังคม เสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนา๔.๒ ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การศึกษาเป็นกำลังสำคัญอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชน ชาติบ้านเมือง๔.๓ เป็นผู้นำ ผู้ร่วมงานในการริเริ่มกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้นว่าในด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ การอาชีพ การตลาด เทคโนโลยีที่เหมาะสมนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์๔.๔ เป็นผู้นำเสริมสร้างค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ที่จำเป็นต่อสังคมไทยปัจจุบัน ให้เกิดขึ้นในเยาวชนและประชาชน เป็นต้นว่าในเรื่อง ความรักแผ่นดิน ความรักชาติที่ถูกทาง จิตสำนึกสาธารณะ ความซื่อสัตย์สุจริต ความมุ่งมั่นกระทำความดี สร้างเกียรติคุณ เศรษฐกิจพอเพียง ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ จิตสำนึก อนาคต ฯลฯ ให้สมกับการเป็นครูของสังคม
คุณธรรมของครูดังกล่าวแล้ว เป็นพลังที่สำคัญ นำให้ครูกระทำหน้าที่ครูอย่างสมบูรณ์ ประพฤติ ปฏิบัติตน ดำเนินชีวิตและสังคมเป็นแบบอย่างที่ดี สมตามความมุ่งหวังของสังคมที่มีต่อครู
----------------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ. (๒๕๔๐). ประทีปแห่งการศึกษา พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสด้านการศึกษา. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.คณะกรรมการดำเนินการจัดหนังสือ ๑๐๐ ปี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. (๒๕๔๖). ๑๐๐ ปี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล : นักการศึกษาดีเด่นของโลก. นครสวรรค์: โรงพิมพ์นิวเสรีนคร.ธเนศ ขำเกิด. (๒๕๕๑). "รวมบทความทางวิชาการ". นครปฐม: วัดใหม่ปิ่นเกลียว (อัดสำเนา).บังอร ภูวภิรมย์ขวัญ บรรณาธิการ. (๒๕๓๑). ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล. คณะกรรมการจัดทำหนังสือ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มีอายุครบ ๖ รอบ.พระเทพเวที (ประยุทธ ปยุตฺโต). (๒๕๓๓). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๓). ถึงเวลามารื้อปรับระบบพัฒนาคนกันใหม่. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา.พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (๒๕๔๑). พุทธธรรม. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๔๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์. (๒๕๔๖). สารานุกรมศึกษาศาสตร์ ฉบับที่ ๒๙. กรุงเทพฯ: บริษัทสำนักพิมพ์ พ.ศ. พัฒนา จำกัด.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์. (๒๕๓๙). สารานุกรมศึกษาศาสตร์. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีวริยา ชินวรรโณ. (๒๕๔๑). จริยธรรมในวิชาชีพ. ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.สำนักงาน ก.พ.ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม. (๒๕๔๒). ตัวอย่าง มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม. กรุงเทพฯ: ฝ่ายโรงพิมพ์ กองกลาง สำนักงาน ก.พ.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (๒๕๔๗). ครูดียังมีอยู่. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.