จรรยาบรรณของวิชาชีพ
ที่มาข้อมูล : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๕๐). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
--------------------------------------------
ความสำคัญ
จรรยาบรรณวิชาชีพสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมหรือการประพฤติปฏิบัติและการตัดสินใจในการประกอบการวิชาชีพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร นักการศึกษา ผู้จัดการธุรกิจ ผู้มีอาชีพให้คำปรึกษา นักวิจัย ผู้มีอาชีพทางการสอน นักเขียน และอื่นๆ จรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นได้ทั้งที่เป็นจรรยาบรรณเพื่อการประพฤติปฏิบัติเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มบุคคล รวมทั้งที่เป็นพฤติกรรมในรูปแบบขององค์กรอีกด้วย ซึ่งจรรยาบรรณมีความสำคัญที่เป็นเสมือนไฟส่องสว่างที่นำทางให้กับผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพปัจจุบัน และรวมทั้งผู้ที่กำลังจะเข้าทำงานในวิชาชีพด้วยเพราะการยึดมั่นและปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ย่อมก่อให้เกิดความก้าวหน้า ความมั่นคง และความสุขในการประกอบอาชีพนั้นจรรยาบรรณวิชาชีพมีความสำคัญต่อการกำหนดอุดมคติและความรับผิดชอบที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในวิชาชีพ เพราะจะมีผลต่อการปกป้องวิชาชีพของผู้ประกอบการอาชีพ และเพื่อให้ผู้เป็นลูกค้าหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพได้มีความเชื่อมั่นในการให้บริการ ซึ่งเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของวิชาชีพเป็นที่ยอมรับและทำให้ผู้ประกอบอาชีพมีความก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพ มีแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการและสังคม ตลอดจนทำให้ผู้ปฏิบัติการวิชาชีพได้มีความตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพ มีมโนธรรมที่จะพัฒนาและรักษาคุณภาพของการปฏิบัติงานอาชีพอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นจรรยาบรรณวิชาชีพยังช่วยเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งช่วยการตัดสิน หรือพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ผู้ปฏิบัติการอาชีพไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของวิชาชีพอีกด้วยสำหรับจรรยาบรรณวิชาชีพการศึกษา ย่อมมีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ จึงต้องมีกำหนดไว้ เช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศไทย คุรุสภาได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับมีการกำหนดไว้ชัดเจนในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๕ ข้อ (๒) และ (๓) ว่าคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมทั้งส่งเสริม พัฒนา และเสนอแนะคณะกรรมการคุรุสภากำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ, พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ๒๕๔๖ : ๑๘)
ความหมาย
จรรยาบรรณวิชาชีพ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่มีการควบคุมดูแลเมื่อประกอบอาชีพ ซึ่งจรรยาบรรณวิชาชีพ จะถูกสร้างขึ้นมาเป็นแนวบรรทัดฐานจากประสบการณ์ และเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ เป็นเบื้องต้น เพื่อต่อไปจะได้ถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างเข้มงวดของแต่ละวิชาชีพ เช่น การควบคุมวิชาชีพทางการแพทย์ ทนายความ หรือวิศวกรรม เป็นต้น ซึ่งแต่ละวิชาชีพจะมีลักษณะพิเศษหรือมีเอกลักษณ์ของวิชาชีพของตน ดังนั้นจรรยาบรรณของแต่และวิชาชีพสามารถมีรายละเอียดของจรรยาบรรณวิชาชีพต่างกัน แต่ที่มักมีลักษณะคล้ายคลึงกันก็คือมักมีข้อกำหนดที่เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัดกับข้อปฏิบัติที่ถือเป็นวินัยของวิชาชีพ ซึ่งทั้งสองประการนี้จะต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักสากลที่มีอยู่และถือปฏิบัติกันอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามในบางวัฒนธรรมและบางประเทศอาจไม่เห็นด้วยกับจรรยาบรรณหรือวินัยของการอาชีพเดียวกันของประเทศอื่นก็ได้ ดังตัวอย่างเช่น การฉวยโอกาสใช้ไปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์นั้น ในบางสังคมอาจเห็นเป็นโอกาสที่ใช้ความฉลาดเหนือกว่า ที่ไม่ถือเป็นการผิดจรรยาบรรณ ขณะที่ในอีกสังคมหรือวัฒนธรรมอื่นเห็นว่า มีความผิดที่ยอมรับไม่ได้ เช่นนี้เป็นต้น ดังนั้น มาตรฐานวิชาชีพก็ดี เจตคติต่อวิชาชีพก็ดี และการประพฤติปฏิบัติก็ตาม ย่อมขึ้นกับการมองไปข้างหน้าตามแนวความคิดความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรมด้วยสำหรับจรรยาบรรณวิชาชีพทางการศึกษานั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า วิชาชีพทางการศึกษาเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูงไม่ยิ่งหย่อนกว่าอาชีพอื่น ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะมีผลกระทบต่อผู้รับบริการและสาธารณชนมาก จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา ได้รับการศึกษา อบรมมาอย่างเพียงพอ มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพและมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพ เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์จรรโลงวิชาชีพ
พื้นฐานและแนวคิด
จรรยาบรรณวิชาชีพเกี่ยวข้องกับความหลากหลายของปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติการทางวิชาชีพ เช่น การปฏิบัติที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อการอาชีพ การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นความลับของวิชาชีพ การละเมิดโดยเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ความไม่เป็นกลางในการวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำปรึกษาในการวิชาชีพ การให้เหตุผลหรือชี้แจงเหตุผลในการวิชาชีพไม่ถูกต้องและไม่โปร่งใส การแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งเชิงของผลประโยชน์ที่ก่อให้เกิดภาพลบต่อวิชาชีพ การละเมิดเอกสิทธิ์หรือขโมยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เป็นต้น ปัญหาต่างๆ ดังยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ย่อมก่อให้เกิดแนวคิดว่า วิชาชีพใดที่ต้องบริการต่อสังคมที่ถือเป็นวิชาชีพชั้นสูงนั้น จำเป็นต้องมีจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ เพื่อเป็นแสงสว่างนำทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้ประพฤติปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อตนและต่อวิชาชีพ ให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับได้ ทั้งที่เคยเป็นมาในอดีต ที่เป็นอยู่ปัจจุบันและที่ควรจะเป็นในอนาคตสำหรับวิชาชีพทางการศึกษานั้น นอกจากจะเป็นวิชาชีพชั้นสูงประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ ดังกล่าว เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ พยาบาล สัตวแพทย์ และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการประกอบวิชาชีพเพื่อบริการต่อสาธารณชนตามบริบทของวิชาชีพนั้นๆ แล้ว ยังต้องมีบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศดังต่อไปนี้ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา, ๒๕๔๔ : ๑)
- สร้างพลเมืองดีของประเทศ โดยการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีตามที่ประเทศต้องการ
- พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และของประเทศ
- สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อการรักษาความเป็นชาติไว้อย่างมั่นคงยาวนาน
การนำไปประยุกต์ใช้
เนื่องจากวิชาชีพชั้นสูงมีความคิดความเชื่อสอดคล้องกันในการที่จะต้องมีจรรยาบรรณของวิชาชีพเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ และเพื่อคงไว้ซึ่งวิชาชีพที่มีมาตรฐานสูงของการอาชีพ จึงมีการกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพของตนตามแต่ละสาขาวิชาชีพ และตามแต่ละสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างที่สมาคมวิชาชีพวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของสหรัฐอเมริกา (Association for Computing Machinery. ACM) ได้กำหนดวิชาชีพของตนประกอบด้วยหลักใหญ่ๆ ๔ ประการดังต่อไปนี้ (ACM : Software Engineering Code of Ethics and Professional Practice, available at file://G:\EngineeringCodeofEthics6.htm)๑. จรรยาบรรณต่อสาธารณชน๒. จรรยาบรรณต่อลูกค้าและนายจ้าง๓. จรรยาบรรณต่อผลผลิต๔. จรรยาบรรณในการใช้ดุลพินิจในวิชาชีพวิศวกรรมคอมพิวเตอร์๕. จรรยาบรรณในการบริหารจัดการ6. จรรยาบรรณต่อวิชาชีพวิศวกรรมคอมพิวเตอร์๗. จรรยาบรรณต่อเพื่อนร่วมงาน๘. จรรยาบรรณของตนเองส่วนพื้นฐานและแนวคิดด้านจรรยาบรรณวิชาชีพทางการศึกษา ก็มีความหลากหลายไปตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศแต่ละสังคม และท้องถิ่นเช่นกัน ดังเช่น คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาของรัฐ Kentucky กำหนดจรรยาบรรณของตนไว้ด้วยหลักจรรยาบรรณใหญ่ ๓ ประการคือ (KY: Education Professional Standards Board-Code of Ethics, available at file://L:\Prof CoEthics4.htm)๑. จรรยาบรรณต่อนักเรียน๒. จรรยาบรรณต่อผู้ปกครองนักเรียน๓. จรรยาบรรณต่อวิชาชีพการศึกษา
จรรยาบรรณต่อนักเรียน จรรยาบรรณต่อนักเรียนมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ให้บริการการเรียนการสอนนักเรียนโดยไม่มีอคติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือแบ่งแยก
- เคารพในสิทธิของนักเรียนทุกคนตามกฎหมาย
- ต้องดูแลและปกป้องสุขภาพอนามัยให้กับนักเรียน และฝึกสอนการควบคุมการใช้อารมณ์ให้เป็นนักเรียนที่มีความสมบูรณ์ทางอารมณ์และจิตใจไม่ใช้อำนาจของวิชาชีพครูเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
- ต้องรักษาข้อมูลและความลับของนักเรียน
- ต้องไม่ปฏิบัติตนต่อนักเรียนและเพื่อนครูอย่างมีเจตนาร้ายแอบแฝง ต้องมีความอดกลั้นต่อพฤติกรรมของนักเรียนและไม่ดูถูกเหยียดหยามนักเรียน
- ต้องไม่ถือโอกาสมีเพศสัมพันธ์กับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นการยินยอมหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งพฤติกรรมทางเพศอื่นๆ เช่น ด้วยคำพูด ด้วยกิริยาท่าทางการหยอกล้อ การสัมผัส และอื่นๆ
จรรยาบรรณต่อผู้ปกครอง แนวทางปฏิบัติด้านจรรยาบรรณต่อผู้ปกครองมีดังต่อไปนี้
- ใช้ความพยายามและทุ่มเทเวลาที่จะติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองนักเรียนให้ประจักษ์ว่า มีความสนใจ ต่อนักเรียนจริง
- ใช้ความพยายามที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชนและสภาพแวดล้อมทางบ้านของนักเรียน
- ต้องมีข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนที่เป็นปัญหา
- ต้องแยกแยะความคิดเห็นส่วนตัวกับข้อปฏิบัติของสถานศึกษาที่ต้องการให้ปฏิบัติเพื่องานวิชาชีพ
- ต้องไม่ขัดขวางการปฏิบัติการเรื่องการเมืองและสิทธิของประชาชนและความรับผิดชอบของผู้อื่น
- ต้องไม่ใช้ประโยชน์ของสถานศึกษาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือส่งเสริมนักการเมืองคนใดคนหนึ่งเฉพาะ
- ต้องไม่มุ่งหวังที่จะได้รับของขวัญ หรือความนิยมใดจากนักเรียน ซึ่งได้จากอำนาจตามหน้าที่ปฏิบัติ
จรรยาบรรณต่อวิชาชีพการศึกษา แนวปฏิบัติตามจรรยาบรรณต่อวิชาชีพการศึกษา มีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของวิชาชีพ
- ต้องประพฤติปฏิบัติต่อผู้ร่วมอาชีพตามความรับผิดชอบและสิทธิของเขา
- ต้องรักษาข้อมูลของบุคคลเพื่อประโยชน์ของการอาชีพและตามกฎหมาย
- ต้องไม่ใช้วิธีการบังคับ หรือปฏิบัติการให้ประโยชน์แก่บุคคลเพื่อได้อิทธิพลมาใช้ในการตัดสินใจของตน จะต้องให้การยอมรับ หรือมอบหมายงานโดยยึดหลักของความรู้ความสามารถและคุณสมบัติทางวิชาชีพ
สำหรับจรรยาบรรณวิชาชีพทางการศึกษาในประเทศไทยนั้น ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๕๐ ชัดเจน คือ มาตรฐานการปฏิบัติตน ให้กำหนดเป็นข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ ประกอบด้วย (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ๒๕๔๖ : ๒๗)
- จรรยาบรรณต่อตนเอง
- จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
- จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
- จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
- จรรยาบรรณต่อสังคม
จรรยาบรรณทั้ง ๕ ประการนี้ คุรุสภาได้มีแผนพฤติกรรมของจรรยาบรรณแต่ละข้อไว้ชัดเจนแล้วในมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ในเรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ซึ่งหมายถึง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ดังต่อไปนี้ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา ๒๕๔๘ : ๑๕)
๑. จรรยาบรรณต่อตนเอง
ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองตามแนวทางวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ที่ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
๒. จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ
๓. จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
- ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า- ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้มีทักษะ และมีอุปนิสัยที่ถูกต้องดีงามในฐานะผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ- ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ- ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ- ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาค โดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
๔. จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
๕. จรรยาบรรณต่อสังคม
ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วุฒิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
----------------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๔๙). พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๔๘). มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.ACM Code of Ethics and Professional Conduct, available at, file://L:\ProfCoEthics5.htm.ACM : Software Engineering Code of Ethics and Professional Practice, available at, file://G:\Engineering CodeofEthics6.htm.AHA: Publications: Statement on Standards of Professional Conduct, available at, file : //L : \ProfEthics.htm.Davison, Robert and Ned Kock. Professional Ethics, available at, file://L:\ProfEthics.htm.KY: Education Professional Standards Board-Code of Ethics, available at, file : //L:\ProfCoEthics4.htm.KY: Education Professional Standards Board-Character and Fitness & Educator, available at, file ://L : \ProfEhics3htm.