>>
> องค์ความรู้วิชาชีพ
> ความรู้ทั่วไป
การไหว้ครู
เมื่อกล่าวถึงเรื่องการไหว้ครู มีคำ ๒ คำ ที่เกี่ยวข้อง คือ คำว่า "ครู" และ "การไหว้" เมื่อเด็กเกิดมาครูคนแรกของลูกคือพ่อแม่ และเมื่อถึงคราวที่ต้องศึกษาเล่าเรียนพ่อแม่จะพาลูกไปมอบตัวให้เป็นศิษย์ของครูในสถานศึกษา ซึ่งบางครั้งอาจมอบหน้าที่ความรับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูทั้งหมดให้แก่ครูด้วย ดังนั้นครูจึงทำหน้าที่เสมือนพ่อแม่ที่สองของลูก และมีความรักใคร่ผูกพันระหว่างศิษย์กับครูอย่างลึกซึ้ง ส่วนการไหว้นั้นโดยทั่วไปเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ที่ตนเคารพนับถือ
คำว่า “ครู” มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย ตามความรู้สึก ประสบการณ์ และความคาดหวัง สังคมหวังว่าครูต้องเป็นคนดี เป็นผู้ให้และเสียสละความสุขส่วนตนพระธรรมเทศนาของพระภาวนาวิชัยคุณ วัดพระธรรมกาย (๒๕๒๗) ได้ให้ความหมายของคำว่าครูไว้ ๒ นัย คือ ครูมาจากคำว่าครุ ซึ่งแปลว่าหนัก ที่ต้องค้นคว้าหาความรู้และเตรียมงานที่จะถ่ายทอดแก่ศิษย์ หรือหมายถึงตระหนัก, ซาบซึ้ง คือรู้ได้ด้วยปัญญา…ครูและศิษย์จะมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ คือครูต้องมีปัญญา เมตตา กรุณาและหวังดีต่อศิษย์ในทุกกรณี ส่วนศิษย์ต้องมีความเคารพ เชื่อฟังด้วยเหตุผล มีความกตัญญูกตเวที และประพฤติตนเป็นคนดี ครูในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ เป็นผู้ที่ลำเอียงและเห็นแก่อามิสสินจ้าง ขาดคุณธรรมและเป็นที่พึ่งแก่เด็กอย่างแท้จริงไม่ได้ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๘๑ ได้บัญญัติให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ และพัฒนาวิชาชีพครู จึงทำให้เกิดพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อดำเนินการควบคุม และรักษามาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และดำเนินการส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
คำว่า “การไหว้" เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นการแสดงความเคารพผู้ใหญ่ที่วัยวุฒิหรือคุณวุฒิสูงกว่าตน เด็กๆ มักจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีความกตัญญูรู้คุณคน ซึ่งมักจะแสดงการสำนึกบุญคุณโดยการไหว้ การทักทายต้อนรับ การขอบคุณและลาจาก จะใช้การไหว้เพื่อแสดงวัฒนธรรม นอกจากนั้นการไหว้อาจเกิดจากความกลัว ความสำนึกผิดการขอขมาลาโทษ และผลของการไหว้ทำให้ได้รับความเมตตาและการยอมรับจากผู้ที่ตนไหว้ การไหว้จึงมีแต่ประโยชน์ปราศจากโทษ การไหว้ในหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กล่าวไว้ว่า คือการทำความเคารพโดยยกมือขึ้นประนม ถ้าเป็นผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่หรือผู้ทรงศีลต้องก้มศีรษะลงแต่พองาม ส่วนการไหว้ครู คือการทำพิธีแสดงความเคารพสักการบูชาครูบาอาจารย์ด้วยความสำนึกในพระคุณของท่าน นอกจากนั้นยังมีผู้ให้ความหมายของการไหว้ครูของนักเรียนไว้ว่าคือการที่นักเรียนนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปสักการบูชาครูเพื่อแสดงตนขอเป็นศิษย์ (สามารถ จันทร์สูรย์ และกรรณี อัญชุลี, ๒๕๔๕)
การไหว้ครูมิได้ทำเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีนสมัยโบราณก่อนการรับผู้ใดเป็นศิษย์ ต้องมีการคัดเลือกและต้องให้ผู้นั้นทำการคารวะผู้ที่เป็นครู หรืออาจารย์เสียก่อน สำหรับการไหว้ครูในประเทศไทย ได้มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ มีการทำพิธี เพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้คนเกิดความกลัว ความศรัทธา และปฏิบัติตามไม่อาจฝืนประเพณีได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ปฏิบัติตามจะมีความสุขมีกำลังใจและรู้สึกเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง สิ่งสำคัญที่ทำให้ประเพณีการไหว้ครูคงอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยเพราะสอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมของคนไทยในเรื่องการแสดงความกตัญญูรู้คุณครูผู้ที่เสียสละ อดทน สั่งสอน อบรม จนศิษย์เติบโตขึ้นเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความรู้ ความสามารถในการดำรงตนอยู่ใต้ในสังคม ตัวอย่างของอาชีพที่มีความเคร่งครัดในเรื่องการไหว้ครู เช่นกลุ่มของพวกศิลปะ ดนตรี และการกีฬา ซึ่งจะต้องใช้วิธีการยกครู หรือครอบครู เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพ การระลึกถึงบุญคุณครู การขออนุญาตและขอพรครูซึ่งเป็นผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการต่างๆ ให้ และมีความเชื่อว่าหากมิได้ครอบครู หรือแสดงความกตัญญต่อคุณครูแล้ว วิชาการที่ได้ร่ำเรียนจะเสื่อมสลาย การไหว้ครูตามความเชื่อของคนไทย บางอย่างได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดู ซึ่งทำการเคารพบูชาเทพ เช่นเทพพฤหัสบดี ถือว่าเป็นครูของหมู่เทวดา การประกอบพิธีต่างๆ เกี่ยวกับวันครู จึงมักจะใช้วันพฤหัสบดี พระคเณศเป็นเทพทางด้านศิลปะวิทยาการ พระวิศวกรรมเป็นครูทางช่าง เป็นต้น
ประวัติของการไหว้ครู ส.พลายน้อย (๒๕๔๒) ได้บันทึกไว้ว่ามีการไหว้ครูมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องเกี่ยวกับพระประวัติก่อนการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องเริ่มเรียนวันแรกในวันพฤหัสบดีและต้องทำพิธีไหว้ครูด้วยหนังสือและเครื่องบูชา สำหรับหนังสือในสมัยนั้นไม่มีสิ่งพิมพ์ ต้องจ้างอาลักษณ์เขียนด้วยเส้นหรดาลลงในสมุดดำ ส่วนเครื่องบูชานั้นประกอบด้วยธูปเทียน และดอกไม้ คือ ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก เพื่ออธิษฐานให้ปัญญาแหลมคมเหมือนชื่อ ดอกเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือและมีสติปัญญาแตกฉานเหมือนหญ้าแพรก ซึ่งหญ้าแพรกถือได้ว่า มีคุณสมบัติที่ดีสามารถเจริญงอกงามในทุกพื้นที่ ขึ้นง่าย ตายยาก มีความอดทน และหญ้าแพรก ในศาสนาพราหมณ์ถือว่า เป็นหญ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของพระคเณศ จากความเชื่อและทางปฏิบัติดังกล่าว ได้สืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน จะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างขึ้นอยู่กับความสะดวกของเวลาและโอกาส
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) ได้แต่งคำไหว้ครู ดังนี้
ต่อมา ม.ล. ปิ่น มาลากุล ได้ทำหนดแบบพิธีไหว้ครูให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติเป็นแบบเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ภาคต้นปีการศึกษา ๒๔๘๖ และกำหนดวันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายนเป็นวันไหว้ครู นอกจากนั้นท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ได้ประพันธ์ บทไหว้ครูเสียใหม่ ดังนี้“ข้าพเจ้าขอประณตน้อมศิระวันทนาการ แด่พระอาจารย์ผู้ทรงปกติการุญภาพ ให้ศิษยานุศิษย์ทั้งปวง ว่าโดยย่อเป็น ๓ ประการคือเมตตาคุณ มีจิตปรารถนาและพยายามเพื่อชักนำให้ศิษย์ประพฤติดีมีสันดานมั่นอยู่ในทางที่ชอบ และประกอบแต่ล้วนคุณประโยชน์ประการ ๑กรุณาคุณ มีจิตปรารถนาและพยายามเพื่อขัดเกลาสันดานศิษย์คิดกำจัดความชั่วอันมัวหมอง และเป็นมูลแห่งทุกข์โทษภัยทั้งปวงให้ล่วงเสียประการ ๑อนุสิฏฐิคุณ มีจิตปรารถนาและพยายามพร่ำชี้แจงแสดงเวทขจัดเหตุสงสัยให้ได้ความสว่าง ประดุจนำไปด้วยดวงประทีป เพื่อจะปลูกฝังความรู้ไว้ในสันดานแห่งศิษย์ ให้เป็นผู้ฉลาดแหลมคมด้วยปัญญาประการ ๑ขอพระคุณจงรับเครื่องสักการะอันข้าพเจ้าน้อมนำมาและจงสำแดงซึ่งปกติคุณูปการแก่ข้าพเจ้า ประดุจนายช่างหม้อผู้พยายามกล่อมเกลา เพื่อให้หม้อมีรูปอันดีงามฉันนั้นข้าพเจ้าขอแสดงแก่พระคุณ พร้อมทั้งกาย วาจา และใจว่า ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ตั้งอยู่ในความสดับ เพื่อได้รับสาสโนวาทด้วยความเคารพอยู่ทุกเมื่อขอเดชะปูชนียธิษฐานอันนี้ จงบันดาลให้สติปัญญาของข้าพเจ้าแยกประดุจหญ้าแพรก ดอกมะเขือ แล้วให้งอกงามเจริญขึ้นโดยเร็วพลันนับแต่กาลวันนี้ ให้การศึกษาของข้าพเจ้า เป็นผลสำเร็จอันดีดุจคำอธิษฐานฉะนี้เทอญ”
“ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตฺตรานุสาสกาข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์
ผู้กอปรประโยขน์ศึกษา
ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา
แก่ข้าในกาลปัจจุบัน
ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์
ด้วยใจนิยมบูชา
ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา
ปัญญาให้เกิดแตกฉาน
ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน
อยู่ในศีลธรรมอันดี
ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี
แก่ชาติและประเทศไทยเทอญฯ
ปญฺญาวุฑฺฒิกเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหํ”
และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้ทำหนังสือเพิ่มคำปฏิญาณตนต่อท้ายคำไหว้ครู คือ “เราคนไทย ใจกตัญญู รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เรานักเรียน จักต้องประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น เรานักเรียน จักต้องไม่ทำตนให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและคนอื่น”
การไหว้ครูในโรงเรียนมีประเพณีปฏิบัติ (ปกิณกะประเพณีไทย : ส. พลายน้อย,๒๕๔๒) ดังตัวอย่างดังนี้
อ้างอิง: สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี, ๑๑๕-๑๑๙.๑. จัดสถานที่ ได้แก่ ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธ จัดหาหนังสือสำหรับประธานเจิม จัดที่นั่งประธานและครู อาจารย์ และที่นั่งของนักเรียน๒. สิ่งที่นักเรียนควรเตรียมมาล่วงหน้า คือ เตรียมพานดอกไม้ ประกอบด้วย หญ้าแพรก ดอกมะเขือ ดอกไม้หรืออาจจะมีการตกแต่งพานธูปเทียน ๑ พาน พานดอกไม้ ๑ พาน ถือเป็น ๑ ชุด จัดตัวแทนนักเรียน สำหรับถือพานชั้นละ ๑ คน มักจะเป็นชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ถ้าโรงเรียนชายล้วน หรือหญิงล้วน ที่ใช้ชายล้วนหรือหญิงล้วนก็ได้ ให้นักเรียนทุกคนฝึกท่องจำ คำไหว้ครูให้ได้จนขึ้นใจและนักเรียน ๑ คน เป็นผู้กล่าวนำคำไหว้ครู๓. พิธีเริ่มเมื่อประธานมายังที่ประชุม (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์ใหญ่ หรือครูใหญ่) นักเรียนทั้งหมดทำความเคารพ๔. ประธานในพิธี จุดธูปเทียน นมัสการพระพุทธรูป๕. หัวหน้านักเรียนกล่าวคำสวดมนต์ไหว้พระ ทุกคนสวดมนต์พร้อมกัน๖. เมื่อสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว ประธานนักเรียนเป็นผู้กล่าวนำคำไหว้ครู นักเรียนทุกคนกล่าวตาม๗. ตัวแทนนักเรียนผู้ถือพานดอกไม้พานธูปเทียน นำพานออกมาไหว้ ทำความเคารพประธานและคณะครูอาจารย์ที่นั่งอยู่หน้าพิธี จนครบจำนวนนักเรียนที่ถือพานทั้งหมด๘. ขณะนักเรียนนำพานไปไหว้แสดงความเคารพ จะมีเพลงสาธุการบรรเลงคลอตามไปด้วย๙. ประธานเจิมหนังสือ แล้วให้โอวาท ให้ข้อคิดแก่นักเรียน๑๐. ในปัจจุบันจะมีพิธีอื่นๆ ที่จะทำต่อหลังจากเสร็จพิธีไหว้ครูแล้ว เช่น พิธีมอบทุนการศึกษา พิธีมอบรางวัลแก่นักเรียนที่เรียนดี โรงเรียนบางโรงอาจจะมีพิธีสงฆ์ร่วมด้วยก็ได้