>>
> องค์ความรู้วิชาชีพ
> การแนะแนว
การให้การปรึกษาและแนะแนว
การให้การปรึกษาและแนะแนว (Counseling and Suidance) เป็นวิชาชีพหนึ่งที่เน้นสัมพันธภาพของการช่วยเหลือและพัฒนาบุคคลอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้บุคคลเกิดการเจริญเติบโต เปลี่ยนแปลงชีวิตในเชิงสร้างสรรค์และมีความหมาย รวมทั้งเป็นเรื่องของชีวิต ที่ชีวิตหนึ่งพยายามเอื้ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลืออีกชีวิตหนึ่งให้มีอิสรภาพหลุดพ้นจากทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางความคิด ทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ มีภาวะที่เป็นไทแก่ตัว มีสติ พร้อมที่จะใช้ปัญญาในการคิดวินิจฉัยและพัฒนาตนเอง เพื่อให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก
เอกสารอ้างอิง
ความหมาย
การให้การปรึกษาและการแนะแนว มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ
การให้การปรึกษา (Counseling) นับได้ว่าเป็นหัวใจของการแนะแนว และเป็นกระบวนการที่แสดงถึงมนุษยสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนระหว่างบุคคล โดยบุคคลหนึ่ง คือ ผู้ให้การปรึกษา (Counselor) ทำหน้าที่ให้การปรึกษา(Counseling) และเป็นผู้ที่เอื้ออำนวยความสะดวก (Facilitator) แก่ผู้รับการปรึกษา (Client) ให้ได้สำรวจตนเองทั้งด้านความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การรู้จักตนเองตามความเป็นจริงภายใต้บริบทแวดล้อมต่าง ๆสามารถรับรู้ ตระหนักรู้ ถึงขอบเขตพลังความสามารถและศักยภาพของตนเอง ยอมรับความจริงเกี่ยวกับตนเอง พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเอง ศึกษาแนวทางในการเผชิญปัญหา และตัดสินใจเลือกทางเลือกหรือแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาตนเองอย่างมีสติ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดในชีวิต รวมทั้งมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ทั้ง muuazla (Nelson - Jones, 2005; Corey, 2005)การแนะแนว (Guidance) เป็นกระบวนการของการผูกพันเพื่อพัฒนาชีวิต โดยการให้การช่วยเหลือบุคคล เพื่อให้บุคคลนั้นสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในที่สุด การแนะแนวส่วนใหญ่เป็นการแนะแนวในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้เรียนในด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัว และสังคม อีกทั้ง กิจกรรมและบริการแนะแนวต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เกี่ยวข้องกับแทบทุกเรื่องของชีวิต จึงสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการแนะแนวชีวิต เพราะเป็นการช่วยเหลือ บุคคลรวมทั้งผู้เรียนให้รู้จักและเข้าใจตนเองได้ค้นพบความต้องการต่าง ๆ ของตนเองประเมินศักยภาพของตนเอง กำหนดเป้าหมายในชีวิต เพื่อวางแผนชีวิตของตนเอง นอกจากนี้ ได้มีการขยายขอบข่ายของการแนะแนวโดยให้ ความสำคัญกับการแนะแนวการปรับตัว (Adjustive Guidance) ที่มุ่งเน้น ให้บุคคลสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทแวดล้อมเรียนรู้กลยุทธ์ในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และการพัฒนาชีวิตของตนเองให้เจริญงอกงามและเต็มตามศักยภาพของตน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว การศึกษา อาชีพ สังคม และชีวิตการทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Hudson, 1968 ; Bozarth, Zimring and Tausch, 2002)
พื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
การให้การปรึกษาและแนะแนว เริ่มต้นราวศตวรรษที่ 19 โดยการแนะแนว เริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในซีกโลกตะวันตก ผลของการเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาว่างงานและเศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนบุคคลที่ริเริ่มบุกเบิกการแนะแนวอาชีพ คือ Frank Parsons โดยเขาได้ตั้งสำนักงานอาชีพ (Vocational Bereau) ขึ้นที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสสาชูเสทซ์ ในปี ค.ศ. 1904 เพื่อให้บริการแนะแนวอาชีพ ซึ่งเป็นรากฐานของงานแนะแนวในยุคต่อ ๆ มา และในปี ค.ศ. 1917 ได้มีการขยายงานแนะแนวให้ครอบคลุมงานแนะแนวด้านการศึกษาส่วนตัว และสังคม รวมทั้งได้ขยายขอบข่ายงานแนะแนวให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับในประเทศไทยนั้น เริ่มมีการแนะแนวในระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 และได้มีประกาศให้การแนะแนวเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในปี พ.ศ. 2521 และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปี พ.ศ. 2524 จนกระทั่งปัจจุบัน ได้จัดให้กิจกรรมแนะแนวเป็นส่วนหนึ่ง ของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2545
ทฤษฎีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแนะแนว คือ ทฤษฎีลักษณะบุคคลและองค์ประกอบ (Trait and Factor Theory) ซึ่งพัฒนาจากแนวคิดของ E.G. Williamson ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 มีเป้าหมาย ที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้รับบริการมีพัฒนาการที่เป็นเลิศในทุกด้าน ทุกช่วงชีวิต และทุกสภาพแวดล้อม โดยช่วยให้ผู้รับบริการเกิดการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบตนเองและเข้าใจตนเองอย่างถูกต้อง ให้ผู้รับบริการ ตระหนักถึงลักษณะ (Traits) และองค์ประกอบต่าง ๆ (Factors) ของตนเอง รู้จักแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งข้อมูลการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวหรือสังคม เรียนรู้กระบวนการตัดสินใจแก้ปัญหา หรือวางแผนอนาคตอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ทักษะในการตัดสินใจ ตลอดทั้งสามารถใช้ศักยภาพของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Biland, James and Bowกาan, 1994)
ส่วนการให้การปรึกษานั้น เริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่มีการบุกเบิกงานแนะแนวโดยมีการให้การปรึกษาอาชีพ การให้การปรึกษาบุคคลที่มีปัญหาทางอารมณ์ที่รุนแรง บุคคลที่มีจิตสรีระแปรปรวน บุคคลที่กลัวความตาย บุคคลที่มีอาการกลัวโดยไม่มีสาเหตุ รวมทั้งบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับพื้นฐานแนวคิดของทฤษฎีต่าง ๆของการให้การปรึกษาจะทำให้ทราบถึงประเด็นที่แตกต่างกันและคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งความเชื่อและทรรศนะของผู้ให้การปรึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์เป้าหมายของการให้การปรึกษา แนวปฏิบัติการให้การปรึกษาและบทบาทของผู้ให้การปรึกษา จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินการให้การปรึกษา
ทฤษฎีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการให้การปรึกษา มีหลายทฤษฎี เช่น (Corey, 2005)1. ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นการวิเคราะห์จิต (Psychoanalytic Counseling Theory)
Sigmund Freud จิตแพทย์ชาวเวียนนา เป็นผู้วางรากฐานจิตวิเคราะห์ (The originator of Psychoanalysis) และทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นการวิเคราะห์จิต โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับแก้ไขบุคลิกภาพพื้นฐานที่เป็นต้นตอของปัญหาของผู้รับบริการ เพื่อให้ปัญหานั้นคลี่คลายลง โดยนำสิ่งที่ถูกเก็บกดไว้ในระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งได้แก่ ความคิด ความรู้สึก ความทรงจำที่ฝังใจที่เก็บกดเอาไว้นั้น ให้ขึ้นมาปรากฏในระดับจิตสำนึก การเปิดเผยสิ่งที่เก็บกดจะทำให้พลังของการเก็บกดและความพยายามในการเก็บกดได้รับการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง สร้างความกลมกลืนกันเสียใหม่ในเรื่องที่เก็บกดกับบุคลิกภาพโดยส่วนรวม ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับบริการมีการตระหนักรู้มากขึ้น มีการเก็บกดน้อยลง ลดการพึ่งพาคนอื่น พึ่งพาตนเองมากขึ้น รับรู้พลังของสิ่งที่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึกมากขึ้น พร้อมที่จะเผชิญความจริงและเพิ่มระดับความสามารถที่จะรับผิดชอบตนเอง รวมทั้งสามารถเผชิญความทุกข์และความสุขได้
2. ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง (Person Centered Counseling Theory)
Carl Rogers นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน เป็นผู้วางรากฐานทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับบริการได้พัฒนาตนเองเต็มตามความสามารถ เข้าใจและยอมรับตนเองตามความเป็นจริง เปิดตนเองให้กับประสบการณ์ พร้อมที่จะนำตนเอง เปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะและสรรค์สร้างชีวิตให้มีคุณค่า
3. ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เห็นเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม (Rational Emotive Behavior Counseling Theory)
Albert Elis นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้วางรากฐานทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถขจัดความวิตกกังวล ความกลัว ลดการตำหนิตนเอง ลดพฤติกรรมที่คิดทำลายตนเอง ลดความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่แท้จริง หาทางแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ตรงจุด ไม่คิดตอกย้ำด้วยประโยคที่ไม่สมเหตุสมผล รู้จักใช้วิจารณญาณ และพิจารณาเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่าง ๆ อย่างรอบคอบ สามารถหลุดพ้นจากบ่วงของปัญหาโดยใช้สติปัญญา และกำลังใจของตนเอง
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีการให้การปรึกษาอีกหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นการวิเคราะห์สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ทฤษฎีการให้การปรึกษาแบบภวนิยม ทฤษฎีการให้การปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นความคิดและพฤติกรรม ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่มุ่งเน้นคำตอบ ทฤษฎีการให้การปรึกษาที่เน้นเรื่องราว ทฤษฎีการให้การปรึกษาเป็นกลุ่ม และทฤษฎีการให้การปรึกษาครอบครัว (Corey, 2005 ; Corey, 2008 ; Goldenberg and Boldenberg, 2008)
การประยุกต์
การให้การปรึกษาและแนะแนวจะก่อให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่า หากผู้ที่นำไปใช้ได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องฝึกฝนตนเองเพื่อเพิ่ม ประสบการณ์ ความชำนาญและความเชี่ยวชาญก่อนนำไปประยุกต์ใช้
แนวปฏิบัติที่สำคัญในการให้การปรึกษาและแนะแนว ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ดังนี้
1. ขั้นเริ่มต้นการให้การปรึกษาและแนะแนว เป็นขั้นของการสร้างสัมพันธภาพของการให้การปรึกษาและแนะแนว พร้อมทั้งชี้แจงวัตถุประสงค์และวัน เวลา สถานที่ ในการให้การปรึกษาและแนะแนว
2. ขั้นดำเนินการให้การปรึกษาและแนะแนว ภายหลังที่ผู้ให้การปรึกษาและแนะแนวทราบเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของผู้รับบริการแล้ว ผู้ให้การปรึกษาและแนะแนวจะทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือและเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการโดยประยุกต์ใช้เทคนิคต่าง ๆ ตามแนวคิดหรือทฤษฎีการให้การปรึกษาและแนะแนวที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหาของผู้รับบริการ
3. ขั้นยุติการให้การปรึกษาและแนะแนว ในขั้นนี้ผู้ให้การปรึกษาและแนะแนวเปิดโอกาส ให้ผู้รับบริการสรุปสิ่งที่ได้รับบริการ ซักถามข้อสงสัยและผู้ให้การปรึกษาและแนะแนวสรุปเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้กำลังใจและนัดหมายครั้งต่อไป (ถ้ามี)
4. ขั้นติดตามผล เพื่อประเมินผลและตรวจสอบความก้าวหน้าของผู้รับบริการ เพื่อจะได้ทราบว่า ภายหลังการให้การปรึกษาและแนะแนวแล้วผู้รับบริการมีปัญหาอุปสรรคอะไร หรือบรรลุเป้าหมายเพียงใด เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือต่อไป
ที่มาข้อมูลBozarth, J.D., Zimring, F.M., and Tausch, R. (2002). Cilent - centered Therapy. Washington, DC: American Psychological Association.Corey, Geraid. (2005). Theories and Practice of Counseling and Psychotherapy. California: Brooks/Cole - 'Thomson Learning.Corey, Geraid. (2008). Theories and Practice of Counseling and Psychotherapy. California: Brooks/Cole - 'Thomson Learning.Gilliland, Burl E., James, Richard K., and Bowman, James T. (1994). Theories and Strategies in Counseling and Psychotherapy. Needham Heights, MA: Allyn and Bacon.Goldenberg, Herbert and Goldenberg, Irene. (2008). Family Therapy. California: Thomson Higher Education.Hudson, Percival W. (1968). The Guidance Function in Education. New York: Appleton - Century - Crofts.Neison - Jones, Richard. (2005). Practical Counseling and Helping Skills. California: SAGE Publications Ltd.
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา, หน้า 135-140.