การเลื่อนวิทยฐานะ
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะมีความก้าวหน้าในตำแหน่งที่ตนเองดำรงตำแหน่งอยู่ได้ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 เป็นระบบวิทยฐานะได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ลักษณะที่ 2 เป็นระบบของการเลื่อนตำแหน่ง ได้แก่ บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มิได้กำหนดให้มีวิทยฐานะ การที่จะมีความก้าวหน้าจึงกำหนดให้นำกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญ มาบังคับใช้โดยอนุโลม ในที่นี้จึงขอกล่าวเฉพาะตำแหน่ง ที่มีวิทยฐานะ ซึ่งความก้าวหน้าของผู้ดำรงตำแหน่งต้องใช้ระบบของการมีวิทยฐานะหรือการเลื่อนวิทยฐานะเท่านั้น
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ เป็นตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ ซึ่งวิทยฐานะของ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้กำหนดไว้ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ดังนี้
ก. ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะ ดังนี้
(1) ครูชำนาญการ(2) ครูชำนาญการพิเศษ(3) ครูเชี่ยวชาญ(4) ครูเชี่ยวชาญพิเศษ
ข. ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มีวิทยฐานะ ดังนี้
(1) รองผู้อำนวยการชำนาญการ(2) รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ(3) รองผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ(4) ผู้อำนวยการชำนาญการ(5) ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ(6) ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ(7) ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญพิเศษ
ค. ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะดังนี้
(1) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ(2) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ(3) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ(4) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ
ง. ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ มีวิทยฐานะดังนี้
(1) ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ(2) ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ(3) ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ(4) ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญพิเศษ
ในการกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะดังกล่าว ต้องดำเนินการตามมาตรา 54 ซึ่งบัญญัติว่า “การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะใด และการเลื่อนเป็นวิทยฐานะใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิทยฐานะ ตามมาตรา 42 ซึ่งผ่านการประเมิน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความประพฤติด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณภาพการปฏิบัติงานความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในด้านการเรียนการสอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด
ความหมายของคำ
ในการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะใดที่กำหนดไว้ตามมาตรา 39 ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วและเมื่อพิจารณาตามมาตรา 54 กำหนดคำสำคัญเกี่ยวกับคำว่า การให้มีวิทยฐานะและการเลื่อนวิทยฐานะ ไว้ จึงขออธิบายความหมายของทั้ง 2 คำ นี้ก่อน
คำว่า ให้มีวิทยฐานะ หมายถึง การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะในตำแหน่งนั้นเป็นครั้งแรก เช่น การให้ครู มีวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการ การให้ผู้อำนวยการสถานศึกษามีวิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการ การให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีวิทยฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ และการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีวิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ เป็นต้น หรืออีกลักษณะหนึ่งเป็นการให้มีวิทยฐานะเนื่องจากมีการเปลี่ยน ตำแหน่งจากการดำรงตำแหน่งหนึ่งไปดำรงอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยที่ผู้นั้นมีวิทยฐานะอยู่แล้วเช่น ผู้ดำรงตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ ผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เมื่อได้รับการแต่งตั้งจึงต้องเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา กรณีเช่นนี้ ผู้นั้นจะได้รับการเปลี่ยนวิทยฐานะโดย ให้มีวิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการ ด้วย
ส่วนคำว่า เลื่อนวิทยฐานะ หมายถึง การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะสูงขึ้นจากวิทยฐานะเดิมที่มีอยู่ เช่น เลื่อนวิทยฐานะจากครูชำนาญการ เป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ เลื่อนวิทยฐานะจากผู้อำนวยการชำนาญการ เป็นวิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ เลื่อนวิทยฐานะ จากผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษเป็นวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ หรือเลื่อนวิทยฐานะจากศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยฐานะศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ เป็นต้น
การนำไปใช้
ในการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะที่สูงขึ้น หรือที่เรียกว่าการเลื่อนวิทยฐานะนั้นจะต้องดำเนินการตามมาตรา 54 โดยกำหนดให้ ก.ค.ศ. จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้น ซึ่งต้องคำนึงถึงความประพฤติด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณภาพปฏิบัติงาน ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ รวม 2 หลักเกณฑ์ คือหลักเกณฑ์และวิธีการตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 25 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ซึ่งมีสาระสำคัญคือได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะขอกำหนดว่าผู้ขอต้องผ่านการประเมินทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านคุณภาพการปฏิบัติงาน และด้านผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสิน กำหนดวันอนุมัติ กำหนดวิธีการยื่นคำขอ การตรวจสอบคุณสมบัติ การตั้งคณะกรรมการประเมิน สิทธิในการส่งคำขอครั้งใหม่ และอีกหลักเกณฑ์หนึ่งคือ หลักเกณฑ์และวิธีการตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ว 26 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการขอให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะชำนาญการหรือชำนาญการพิเศษ ไว้ 4 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ผู้นั้นเคยดำรงตำแหน่งซึ่งผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดไว้เพิ่ม เช่น อาจารย์ 2 รับเงินเดือนในระดับ 7 ศึกษานิเทศก์ 7 อาจารย์ใหญ่ หรือ หัวหน้าศูนย์ 2 รับเงินเดือนในระดับ 7 เพื่อขอให้มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษกรณีที่ 2 ผู้เคยขอให้ได้รับเงินเดือนในระดับ 4 แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเพื่อขอให้มี วิทยฐานะชำนาญการกรณีที่ 3 ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นครูดีเด่นตามโครงการต่าง ๆ เช่น ครูต้นแบบ ครูแกนนำ ครูเกียรติยศ เป็นต้น เพื่อขอให้มีวิทยฐานะชำนาญการกรณีที่ 4 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งและผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการเพื่อให้ได้รับเงินเดือนในระดับ 8 เช่น อาจารย์ใหญ่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน รับเงินเดือนในระดับ 8 เป็นต้น เพื่อขอให้มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
นอกจากนี้แล้วผู้ที่ผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญจะต้องได้รับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งด้วย
อนึ่ง ก.ค.ศ. ได้มีมติที่จะใช้หลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะที่สูงขึ้นใหม่ โดยได้ประกาศใช้ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.3/ ว 2 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป เนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้พิจารณาเห็นว่าการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านมา โดยมีการพิจารณาผลงานทางวิชาการและงานวิจัย ยังไม่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของการเรียนการสอนในระดับที่ต่ำกว่าปริญญา ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใหม่นี้ กำหนดให้มีการประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านความประพฤติ ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ (2) ด้านคุณภาพและการพัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบและ (3) ด้านผลการพัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบ สำหรับวิธีการประเมินนั้น เป็นการประเมินเพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมุ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยประเมินผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างแท้จริง นับเป็นการเดินทางที่ตรงจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศต่อไป
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา, หน้า 111-114.