การรับรองปริญญา
การรับรองปริญญา เป็นการรับรองว่าผู้จบปริญญามีมาตรฐานตามที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกำหนดไว้ ผู้มีปริญญาที่ได้รับการรับรองสามารถแสดงเป็นหลักฐานเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเพื่อใช้สมัครในการปฏิบัติงาน ในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนได้
การรับรองปริญญามีความสำคัญในระดับประเทศ และระดับโลก สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นหน่วยงานที่ให้การรับระปริญญาของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน รวมทั้งกำหนดเงินเดือนที่ควรได้รับ และระดับตำแหน่งที่ควรแต่งตั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 8 (12) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
การรับรองปริญญาระหว่างประเทศต่อประเทศโดยรัฐบาล ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน นักศึกษา คณาจารย์ และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ที่จบปริญญาจากประเทศทั้ง 2 มีความสะดวกในการศึกษาต่อ และการทำงานในประเทศที่มีการลงนามรับรองปริญญาร่วมกัน
องค์กรวิชาชีพในประเทศไทยให้การรับรองปริญญาของสถาบันการศึกษาเพื่อให้ผู้จบการศึกษาได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสามารถประกอบวิชาชีพได้ตามที่กำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติของแต่ละวิชาชีพ โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้วิชาชีพควบคุม ประกอบด้วยวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาปฐมวัยขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่นอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา สำหรับบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้มีเพียงวิชาชีพเดียว คือ ศึกษานิเทศก์
การรับรองปริญญาในระดับโลก ยูเนสโกได้รวมวิธีการรับรองเพื่อวัตถุประสงค์ของความร่วมมือและการรับรองด้านอุดมศึกษา โดยยูเนสโกได้แบ่งโลกออกเป็น 5 ภูมิภาค ในแต่ละภูมิภาคมีการทำอนุสัญญาทวิภาคีเรื่องการรับรองการศึกษา ประกาศนียบัตรและปริญญาเกี่ยวกับอุดมศึกษา ข้อกำหนดประกอบด้วย การรับรองคุณวุฒิเพื่อการศึกษาของการเรียนระดับอุดมศึกษา คุณวุฒิที่ใช้ระหว่างการศึกษาแต่ละระดับและคุณวุฒิในแต่ละระดับการศึกษา การรับรองเพื่อการประกอบวิชาชีพของคุณวุฒิ อุดมศึกษา 6 ภูมิภาค ลาตินอเมริกา อาหรับและรัฐต่าง ๆ ของยุโรป ในเมดิเตอร์เรเนียน รัฐอาหรับยุโรป (ยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา) อัฟริกา เอเชีย และแปซิฟิค
ความหมาย
การรับรองตรงกับภาษาอังกฤษว่า accreditation แทนคำว่า เทียบเท่า ซึ่งใช้คำว่า equivalence การรับรองปริญญาเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการของหน่วยงาน หรือองค์กรที่มีอำนาจในการจัดให้เข้าศึกษา หรือการจ้างงานเพื่อกำหนดค่าของคุณวุฒิทางการศึกษา การให้การรับรองถือว่าเป็นการเทียบเท่าซึ่งต้องมีความเหมือนทุกประการในเนื้อหาเป็นเงื่อนไขก่อนการรับรอง แนวคิดของการรับรอง สนับสนุนว่าปริญญาต่างประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ( Identical แต่อาจเพียงพอสำหรับปริญญาต่างประเทศที่สามารถเปรียบเทียบระดับวัตถุประสงค์และชื่อเสียงได้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างในรายละเอียดการรับรองจะเป็นไปได้เมื่อระดับทั่วไปของคุณวุฒิเหมือนกัน
ความหมายของการรับรองปริญญาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติขององค์กรวิชาชีพ เมื่อนำมาวิเคราะห์สามารถสรุปได้ ดังนี้
สภาวิศวกร ( 2542 ) ให้ความหมายของการรับรองปริญญาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ หมายถึงปริญญาที่หลักสูตรจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ( Basic Sciences ) เป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิศวกรกำหนด และมีวิชาพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม ( Basic Engineering ) ไม่น้อยกว่า 18 หน่วยกิตจากจำนวนวิชาไม่น้อยกว่า 5 วิชา และมีวิชาเฉพาะทางวิศวกรรม ( Specific Engineering ) ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิตจากจำนวนวิชาไม่น้อยกว่า 4 วิชา ในการศึกษาจากระบบทวิภาค โดยมีรายวิชาและเนื้อหาวิชา และรายละเอียดอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการสภาวิศวกรกำหนดสภาสถาปนิก ( 2543 ) ให้ความหมายของการรับรองปริญญาวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ว่าหมายถึง ปริญญาที่หลักสูตรจัดการศึกษามีจำนวนหน่วยกิตตามระบบทวิภาคหรือเทียบเท่าตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการรับรองปริญญา อนุปริญญา และประกาศนียบัตรในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2545สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (2549) ให้ความหมายของการรับรองปริญญาว่าเป็นการรับรองมาตรฐานหลักสูตรทางการศึกษา 5 ปี หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่น รวมทั้งรับรองมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานบัณฑิต โดยหลักสูตรที่ให้การรับรองต้องกำหนดให้มีการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ผู้จบปริญญาที่คุรุสภาให้การรับรองสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้โดยสรุป การรับรองปริญญา หมายถึง การรับรองมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิตและมาตรฐานบัณฑิตของสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์ที่องค์กรวิชาชีพแต่ละวิชาชีพกำหนด
พื้นฐานและแนวคิด
การรับรองปริญญา และประกาศนียบัตรขององค์กรวิชาชีพในประเทศไทยที่มีกฎหมายรองรับได้แก่ แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาพยาบาล และคุรุสภา ได้กำหนดให้การรับรองของปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร ของสถาบันต่าง ๆ เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพ โดยในการให้การรับรองจะต้องมีการตรวจสอบหรือประเมินมาตรฐานของหลักสูตร มาตรฐานการผลิต รวมทั้งมาตรฐานบัณฑิต ทั้งนี้ได้กำหนดให้หลักสูตรจะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยหรือสภาสถาบัน และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ควบคุม กำกับดูแล หรือกระทรวงผู้รับผิดชอบของสถาบันการศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับการรับรองปริญญาจากต่างประเทศ ยูเนสโก ( อ้างถึงใน จิรณี ตันติรัตนวงศ์, 2542) ได้กำหนดไว้ 3 วิธี ดังนี้
1. วิธีพหุภาคี ( Multilateral Approach ) เป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน กำหนดวิธีการประเมินคุณวุฒิการศึกษาของประเทศสมาชิกร่วมกัน ข้อดีทำให้แก้ปัญหาของหลายประเทศได้ในคราวเดียวกัน ข้อเสียคือความยุ่งยากในการใช้วิธีที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องลงลึกในข้อกำหนดละเอียดมากขึ้น อาจต้องใช้เวลาทำหลายปี และยากที่จะหาวิธีการประเมินคุณวุฒิร่วมกันที่เป็นที่ยอมรับ2. วิธีทวิภาคี ( Bilateral Approach ) การพิจารณาเปรียบเทียบคุณวุฒิโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 ประเทศ คือ ประเทศที่ผู้สำเร็จการศึกษา และประเทศที่ผู้ต้องการวุฒินั้น3. วิธีพิจารณาฝ่ายเดียว ( Unilateral Approach )
3.1 มหาวิทยาลัยที่จะเริ่มเข้าเรียนพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย3.2 การกำหนดขอบเขตและมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษาของต่างประเทศที่เห็นว่ายอมรับได้โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ
การรับรองปริญญาจากต่างประเทศของคุรุสภา โดยคณะกรรมการคุรุสภาได้อนุมัติหลักเกณฑ์การพิจารณาให้การรับรองคุณวุฒิทางการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ดังนี้
1. เป็นคุณวุฒิที่ผ่านการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. หรือ ก.ค.ศ. หรือมีหลักฐานที่ค้นพบจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น จากหนังสือ The World of ALMANAC หรือ2. เป็นคุณวุฒิที่คุรุสภาพิจารณาเห็นว่า เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา สมควรให้การรับรอง โดยพิจารณาจากรายวิชาที่ศึกษา หรือ3. เป็นคุณวุฒิที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา หรือ4. เป็นคุณวุฒิที่ขาดแคลน จำเป็น หรือ5. เป็นคุณวุฒิที่เป็นความต้องการของผู้ใช้ โดยจะต้องให้เหตุผลประกอบการพิจารณา
การรับรองปริญญาทางการศึกษา
ปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรอง ต้องเป็นปริญญาที่มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบัน บัณฑิตวิทยาลัย คณะหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะจัดขึ้น และได้ยื่นคำร้องพร้อมจัดส่งเอกสาร ตามเกณฑ์การรับรอง ประกอบด้วยมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต มาตรฐานบัณฑิตหรือมาตรฐานผู้สำเร็จการศึกษาต่อเลขาธิการคุรุสภา ในการประเมินเพื่อให้การรับรองปริญญาหรือประกาศนียบัตร มีการประเมินทั้งเอกสารและประเมินตามสภาพจริง หลักสูตรที่คุรุสภาประเมินเพื่อให้การรับรองต้องเป็นหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากสภาสถาบัน และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ควบคุม กำกับดูแล
มาตรฐานหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี)
องค์ประกอบของมาตรฐานที่คุรุสภาให้การรับรองประกอบด้วย โครงสร้างหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่า160 หน่วยกิต โดยกำหนดให้หมวดวิชาศึกษาทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต หมวดวิชาชีพครูไม่น้อยกว่า 50 หน่วยกิต หมวดวิชาเฉพาะด้านไม่น้อยกว่า 74 หน่วยกิต และหมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต ทั้งนี้หมวดวิชาชีพครูซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ หลักสูตรจะต้องมีคำอธิบายรายวิชาครอบคลุมสาระความรู้และสมรรถนะตามมาตรฐานความรู้ครู 9 มาตรฐาน ได้แก่
1) ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู2) การพัฒนาหลักสูตร3) การจัดการเรียนรู้4) จิตวิทยาสำหรับครู5) การวัดและประเมินผลการศึกษา6) การบริหารจัดการในห้องเรียน7) การวิจัยทางการศึกษา8) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา9) ความเป็นครู
ประสบการณ์วิชาชีพครูประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนและการปฏิบัติการสอนในสาขาวิชาเฉพาะในสถานศึกษาที่มีหลักเกณฑ์ คุณสมบัติตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ ใน 7 ด้าน ได้แก่
1) ทักษะการจัดการเรียนรู้2) ทักษะทางภาษาและการสื่อสาร3) ทักษะกระบวนการคิด4) ทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้5) คุณธรรมและจริยธรรม6) การใฝ่รู้ใฝ่เรียน7) การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม
นอกจากนี้หลักสูตรจะต้องมีองค์ประกอบของมาตรฐาน กระบวนการร่างหลักสูตรคุณสมบัติของคณะกรรมการร่างหลักสูตรและการพัฒนาหรือการปรับปรุงหลักสูตร
มาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู
องค์ประกอบของมาตรฐานที่คุรุสภาให้การรับรองประกอบด้วย โครงสร้างหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต หลักสูตรต้องมีคำอธิบายรายวิชาครอบคลุมสาระความรู้และสมรรถนะตามมาตรฐานความรู้ 9 มาตรฐาน รวมทั้งมีองค์ประกอบของมาตรฐาน กระบวนการพัฒนาหลักสูตรเช่นเดียวกับหลักสูตร 5 ปี ทั้งนี้สถาบันสามารถออกแบบหลักสูตรที่รวมหรือไม่รวมการปฏิบัติการสอน ซึ่งเป็นมาตรฐานประสบการณ์ 1 ปี ไว้ในหลักสูตรหรือไม่ก็ได้ การรวมประสบการณ์ 1 ปี ไว้ในหลักสูตรผู้จบการศึกษา จะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่ถ้าไม่รวมประสบการณ์ 1 ปี ไว้ในหลักสูตรผู้จบการศึกษา จะได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน เมื่อได้ปฏิบัติการสอนครบ 1 ปี ผ่านการประเมินประสบการณ์วิชาชีพจากสถานศึกษาสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้
มาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการบริหารการศึกษา
องค์ประกอบของมาตรฐานที่คุรุสภาให้การรับรองประกอบด้วย โครงสร้างหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่า24 หน่วยกิต หลักสูตรต้องมีคำอธิบายรายวิชาครอบคลุมสาระความรู้และสมรรถนะตามมาตรฐานความรู้ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา รวม 15 มาตรฐาน ได้แก่
1) หลักกระบวนการบริหารการศึกษา2) นโยบายและการวางแผนการศึกษา3) การประกันคุณภาพ4) การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ5) คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา6) การบริหารด้านวิชาการ7) การบริหารด้านธุรการ การเงินพัสดุและอาคารสถานที่8) การบริหารงานบุคคล9) การบริหารกิจการนักเรียน10) การบริหารการประชาสัมพันธ์11) การบริหารจัดการศึกษา12) การบริหารทรัพยากร13) การนิเทศการศึกษา14) การพัฒนาหลักสูตร15) การวิจัยทางการศึกษา
และมีองค์ประกอบของมาตรฐานกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเช่นเดียวกับหลักสูตร 5 ปี
มาตรฐานการผลิต
มาตรฐานการผลิตของสถาบันที่คุรุสภาให้การรับรองปริญญา หรือประกาศนียบัตร ประกอบด้วย กระบวนการคัดเลือกนิสิตนักศึกษา คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ผู้สอนวิชาชีพครู อาจารย์นิเทศก์ของสถาบัน ครูพี่เลี้ยง บุคคลเหล่านี้ต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์วิชาชีพครู สถาบันต้องมีห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ที่พร้อมและเพียงพอต่อการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู มีระบบการจัดการเรียนรู้ และการบริหารจัดการตั้งแต่การบริหารหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ การจัดการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา การจัดกิจกรรมเสริมความเป็นครู รวมทั้งการประกันคุณภาพการศึกษา
มาตรฐานบัณฑิต
มาตรฐานบัณฑิตหรือมาตรฐานผู้สำเร็จการศึกษา คุรุสภามอบให้สถาบันที่เสนอรับรองปริญญาเป็นผู้ประเมินโดยกำหนดเกณฑ์การรับรองว่าผู้ศึกษาจะต้องเรียนครบตามหลักสูตร ผ่านเกณฑ์การประเมินของสถาบัน และมีการปฏิบัติการสอนไม่น้อยกว่า 1 ปี มีรายงานผลการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพครูที่คุรุสภากำหนด ได้แก่
1) สามารถจัดการเรียนรู้ ในสาขาวิชาเฉพาะ2) สามารถประเมิน ปรับปรุง และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน3) สามารถทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียน4) สามารถจัดทำรายงานผลการจัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียน และเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนา
คุณลักษณะความเป็นครูครบตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งมีการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับความเป็นครูโดยมีผลการรับรองความประพฤติจากสถาบันการผลิตครู
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา, หน้า 95-99.