การยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
คุรุสภาในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพครู มีนโยบายในการที่จะส่งเสริมสนับสนุน และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้อาชีพครูเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เพราะอาชีพครูเป็นอาชีพที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติ คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาเห็นว่าการพิจารณาให้รางวัลคุรุสภาแก่ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ที่มีประวัติและผลการทำงานดีเด่นในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านความประพฤติ การปฏิบัติงาน ตามอุดมการณ์และหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม จะทำให้ครูผู้ได้รับรางวัลเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรี เป็นขวัญกำลังใจ ในการที่จะทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป ดังนั้นคุรุสภาจึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลคุรุสภาแก่ครูที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นครูผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานดีเด่น และมีการยกย่องเชิดชูเกียรติต่างๆ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งนี้คณะกรรมการคุรุสภาได้ให้ความสำคัญต่อการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 โดยได้ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพ ตั้งแต่เริ่มประกอบวิชาชีพเป็นครูผู้ปฏิบัติการสอน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ ไปจนถึงผู้ประกอบอาชีพที่ถึงแก่กรรม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ร่วมพิจารณา ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอเชิงนโยบายการยกย่องเชิดชูครูผู้มีผลงานดีเด่นของสำนักงานปฏิรูปวิชาชีพครู สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2543 : 4) ทั้งนี้เน้นการยกย่องในรูปของ “เงินและงาน” เพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาเพื่อนครูต่อไป และให้สร้างกลไกเชื่อมโยงการยกย่องให้รางวัลครูของหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ให้ต่อเนื่องเป็นบันไดวิชาชีพครู เพื่อให้การยกย่องครูผู้มีผลงานดีเด่นเป็นระบบ และมีเครือข่ายในการยกย่องให้รางวัลครูที่มีการประสานงานและส่งเสริมสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
ความหมาย
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (2546 : 371, 890) ให้ความหมายคำว่า “ยกย่อง” หมายถึง เชิดชู และ “เชิดชู” หมายถึง ยกย่อง, ชมเชย
พื้นฐานแนวคิดของการยกย่องเชิดชูเกียรติ
สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ (2542 : 2-4) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้จัดให้มีโครงการพัฒนานโยบาย เรื่องการยกย่องครูผู้มีผลงานดีเด่นทั้งของไทยและต่างประเทศ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า
1. แนวคิดในการยกย่องให้รางวัลครูและบุคคลในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ผู้มีผลงานดีเด่นและผู้ที่กระทำความดีที่สร้างสมมาในอดีต มีสองแนวคิดหลักคือ
1.1 ประกาศยกย่องครูให้รางวัลแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น และได้กระทำความดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป เพื่อเป็นกำลังใจให้ปฏิบัติงานต่อไป ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่นิยมปฏิบัติมาช้านานแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะสาขาวิชาชีพครู1.2 ประกาศยกย่องให้รางวัลแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น และได้กระทำความดีให้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป และให้การสนับสนุนทางด้าน “เงินและงาน” เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลหรือหน่วยงานนั้นได้ทำประโยชน์ให้แก่วิชาชีพ สังคม และประเทศชาติมากขึ้น ดังตัวอย่างของแนวคิดในเรื่องนี้คือ
1. การให้รางวัลและยกย่องครูผู้มีความเป็นเลิศทางการสอนระดับชาติของประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแสนต์2. การให้รางวัลและยกย่องครูผู้มีความเป็นเลิศของประเทศฮ่องกง3. การให้รางวัลและยกย่องครูแห่งชาติและครูต้นแบบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
2. รูปแบบและวิธีการยกย่องให้รางวัลครูของต่างประเทศ ได้ดำเนินการอย่างมีระบบและปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดยมูลนิธิหรือหน่วยงานอิสระ เนื่องจากนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการยกย่องให้รางวัลครูผู้มีผลงานดีเด่น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อไป อีกทั้งเป็นการจูงใจให้คนดีคนเก่งมาประกอบวิชาชีพครู ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพของการศึกษา คุณภาพของเยาวชน และยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย3. รูปแบบและวิธีการยกย่องให้รางวัลครู และวงการวิชาชีพอื่นของประเทศไทย มีวิวัฒนาการชัดเจนสอดคล้องกัน คือจะมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ เช่น คุรุสภา มูลนิธิ สมาคม และองค์กรต่างๆ สรรหาบุคคลผู้มีผลงานดีเด่น มีความดี มีความเสียสละในแต่ละอาชีพ และประกาศเกียรติคุณให้สังคมได้ประจักษ์อันก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานและทำความดีต่อไป ในระยะหลังได้เริ่มมีการยกย่องให้รางวัลในด้านของ “เงินและงาน” เพื่อให้เกิดการสร้างผลงานที่ดีต่อไป เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ในทุกสาขาวิชาชีพให้มีความมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ลักษณะของการยกย่องเชิดชูเกียรติ
กิจกรรมการยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ได้มีหน่วยงานทางการศึกษาดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติในหลายลักษณะ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้มีการมอบรางวัลครูเกียรติยศ (Teacher Award) รางวัลครูดีในดวงใจ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลให้กับครูต้นแบบ ผู้บริหารต้นแบบ ครูแห่งชาติ และครูภูมิปัญญาไทย เป็นต้น สำหรับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ได้จัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1) การจัดงานวันครู 2) การประกาศเกียรติคุณครูอาวุโส 3) การประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับรางวัลคุรุสภา 4) การประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” 5) การประกาศเกียรติคุณครูภาษาไทยดีเด่น 6) การจัดพิมพ์หนังสือประวัติครู 7) การคัดสรรผลงานนวัตกรรมต้นแบบ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม” และ 8) การคัดสรรผลงานการวิจัยในชั้นเรียน เป็นต้น
การประยุกต์ใช้
เป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่จะต้องช่วยกันยกย่องเทิดทูนวิชาชีพของตนเราจะต้องทำให้สังคมตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพนี้ ถึงแม้สถานะทางเศรษฐกิจสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร จุดหมายของครูเราทุกคนและคุรุสภาในฐานะสถาบันที่เป็นที่รวมผู้ประกอบวิชาชีพนี้ จะหาหนทางให้เกียรติคุณวิชาชีพครูกลับไปสู่ฐานะแห่งปูชนียบุคคลดังที่เคยเป็นมาตั้งแต่โบราณ
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (2549 : 71-73) ได้พยายามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มแรกของการตั้งคุรุสภามาแล้ว ในการยกย่องเกียรติคุณวิชาชีพครู ประกอบกับนับตั้งแต่ได้มีพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 คุรุสภามีความประสงค์จะพัฒนา ยกย่อง ส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพให้มีศักยภาพในการประกอบวิชาชีพ และมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพและพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับสากล จึงมีกิจกรรมการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ของคุรุสภา ดังต่อไปนี้
1. การจัดงานวันครู เพื่อเป็นการยกย่องวิชาชีพทางการศึกษา ให้สังคมเห็นความสำคัญของวิชาชีพครู ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่เยาวชนและประเทศชาติ และระลึกถึงพระคุณครู ผู้อบรมส่งเสริมถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ วันครูได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2500 หลังจาก พระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ประกาศใช้ 12 ปี สถานที่จัดงานวันครูครั้งแรกของจังหวัดพระนครและธนบุรี คือ กรีฑาสถานแห่งชาติ คณะกรรมการคุรุสภาในคราวประชุม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้มีมติรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการและให้กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอรัฐบาล เพื่อกำหนดให้วันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็นวันครู ทั้งนี้คุรุสภาจะเป็นแกนนำในการจัดงานวันครูพร้อมกันทั่วประเทศทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยส่วนกลางจัด ณ หอประชุมคุรุสภา ส่วนภูมิภาคมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นแกนนำในการจัดงานวันครู2. การประกาศเกียรติคุณครูอาวุโส เป็นการยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ปฏิบัติการสอนมาจนมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีตามจารีตครู และเป็นผู้ที่เพรียบพร้อมด้วยคุณธรรม เป็นครูที่ทำการสอนมีระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 30 ปี ส่วนตำแหน่งอื่นต้องเป็นครูที่ทำการสอนในสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 10 ปี และรวมเวลาเป็นครูไม่น้อยกว่า 30 ปี จะได้รับการยกย่องเป็น “ครูอาวุโส” ตามโครงการประกาศเกียรติคุณครูอาวุโส ซึ่งมีมูลนิธิช่วยครูอาวุโสในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับคุรุสภาเป็นผู้ดำเนินการให้ได้เข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา ทั้งนี้ครูอาวุโสจะเข้ารับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติประกาศนียบัตร และเงินช่วยเหลือ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แทนพระองค์เป็นประจำทุกปี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา3. การประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับรางวัลคุรุสภา เป็นการดำเนินการสรรหาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มีมาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณดีเด่น และสร้างคุณประโยชน์ในด้านการศึกษารับรางวัลคุรุสภา จำนวน 9 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลสำหรับครู 5 รางวัล ผู้บริหารสถานศึกษา 2 รางวัล ผู้บริหารการศึกษา 1 รางวัล และบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ศึกษานิเทศก์) 1 รางวัลคุรุสภาได้เริ่มดำเนินการประกาศเกียรติคุณและให้รางวัลมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2524 ผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณจะได้รับการยกย่อง แสดงผลงานต่อสาธารณชนในงานวันครู โดยได้รับประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัลจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งการให้รางวัลคุรุสภาแต่ละปีจะเป็นการส่งเสริมให้ครูบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ เสริมสร้างศรัทธาและความเชื่อถือในวิชาชีพครูให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม เป็นการส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่ผู้ที่เสียสละและบำเพ็ญประโยชน์ต่อการศึกษาและเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ปฏิบัติงานมีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ในด้านการศึกษา4. การประกาศเกียรติคุณผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษารับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ จนสามารถเป็นแบบอย่างและเป็นที่เคารพยกย่องอย่างสูงของศิษย์และบุคคลทั่วไปสมเป็นปูชนียบุคคล และมีความเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่วิชาชีพตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ในวันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาจะมอบให้เขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานที่ไม่ได้สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” เสนอสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อเสนอคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาอนุมัติ5. การประกาศเกียรติคุณครูภาษาไทยดีเด่น เพื่อเป็นการยกย่องครูภาษาไทยดีเด่น ซึ่งเป็นครูผู้ปฏิบัติการสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีความสามารถสูงในการประกอบอาชีพและปฏิบัติงานที่มีผลงานดีเด่น และสามารถจัดการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ คุรุสภาจึงดำเนินการประกาศเกียรติคุณโดยการมอบเข็มพระนามาภิไธยย่อ สธ. ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมโล่เกียรติคุณ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี6. การจัดพิมพ์หนังสือประวัติครู เป็นการยกย่องเกียรติประวัติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ถึงแก่กรรมแล้ว ซึ่งประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบแห่งจรรยามารยาทที่ดี ได้ปฏิบัติหน้าที่สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาปรากฏเด่นชัดในด้านการสอน หรือการบริหารการศึกษา หรือการวิจัยการศึกษา หรือแต่งตำราแบบเรียน เป็นต้น แต่ผลงานของท่านยังมีประโยชน์ต่อวงการศึกษาโดยรวบรวมประวัติจัดพิมพ์เป็นหนังสือประวัติครู เผยแพร่ในวันครู 16 มกราคม ของทุกปี ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ดำเนินการจัดทำหนังสือประวัติครูเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน7. การคัดสรรผลงานนวัตกรรมต้นแบบ “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เริ่มดำเนินการคัดสรรผลงาน “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม" ตั้งแต่ปี 2547 โดยมุ่งหวังจุดประกายให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของแต่ละโรงเรียน ซึ่งเป็นการพัฒนาวิชาชีพโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน การพัฒนาด้วยนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน เกิดจากการมีส่วนร่วมและส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนที่ได้รับการคัดสรรจะได้รับรางวัลตามระดับคุณภาพ คือ ระดับเหรียญทองเหรียญเงิน และเหรียญทองแดง8. การคัดสรรผลงานการวิจัยในชั้นเรียน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เริ่มดำเนินการคัดสรรผลงานการวิจัยในชั้นเรียน ตั้งแต่ปี 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ในการทำวิจัยในชั้นเรียนแก่ครู เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการสร้างและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ครูให้มั่นใจและสามารถพัฒนางานวิจัย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายครูนักวิจัย โดยสำนักงานฯ จะจัดเวทีให้ผู้ได้รับการคัดเลือกนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, 83-89.