การพัฒนาวิชาชีพ
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ได้บัญญัติไว้ว่า “วิชาชีพ” หมายความถึง วิชาชีพครู วิชาชีพการบริหารการศึกษา และวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น การพัฒนาวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติชัดเจนในมาตรา 81 เรื่องการพัฒนาการศึกษาและ การพัฒนาวิชาชีพครูและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 52 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมให้มีระบบกระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งต้องพัฒนาทั้งบุคลากรใหม่และบุคลากรประจำการ อย่างต่อเนื่อง
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 กำหนดให้คุรุสภา เป็นสภาวิชาชีพ มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา 8 คือ กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาต กำกับ ดูแลวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพรวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ ประสาน ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบอาชีพองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กล่าวถึงการพัฒนาวิชาชีพครูด้วยการเพิ่มพูนสถานภาพ กำลังใจ และความเป็นมืออาชีพให้แก่ครู ครูทุกคนควร
1. ได้รับการยกย่องและการตอบแทนที่เหมาะสม2. มีโอกาสรับการอบรมพัฒนาและสนับสนุนในวิชาชีพ3. ร่วมตัดสินใจในเรื่องที่จะกระทบต่อวิชาชีพและการสอน4. เข้าใจความหลากหลายของวิธีการเรียนรู้และพัฒนาการทาง สังคมและสติปัญญาของนักเรียน5. สร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้6. รับผิดชอบต่อวิชาชีพของตน รับผิดชอบต่อผู้เรียนและชุมชน
ดร.เชลดอน เชฟเฟอร์ (Dr. Sheldon Shaeffer) ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกของ UNESCO ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับหลักการสำคัญในการพัฒนาครูให้เกิดความเข้มแข็ง คือ
1. ต้องให้ครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและผูกกับการได้ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ2. ต้องปรับวิธีการพัฒนาครูจากภาพรวมศูนย์พัฒนาทั่วทั้งประเทศมาเป็นการพัฒนาระยะสั้นให้แต่ละโรงเรียน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน3. ต้องให้รางวัลแก่ผู้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ
ประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยกำหนดให้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นแนวทางในการดำเนินการโดยเฉพาะพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาโดยมีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่
1. ครูประจำการ
2. ผู้บริหารสถานศึกษา3. ผู้บริหารการศึกษา และ4. บุคลากรทางการศึกษาอื่น ได้แก่ ศึกษานิเทศก์
กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คุรุสภาจึงกำหนดการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาไว้คือ
1. ระบบมาตรฐานและการควบคุมการประกอบอาชีพ2. ระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ3. ระบบการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และ4. ระบบการยกย่องและผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
คุรุสภาได้กำหนดกรอบการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเพื่อให้หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนานำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา คือ
1. หน่วยวางแผน กำหนดมาตรฐานและรับรองการพัฒนา ประกอบด้วย คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สถาบันพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ) สถาบันผลิตครูและสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น2. หน่วยปฏิบัติเพื่อการพัฒนา ประกอบด้วย คุรุสภา สถาบันผลิตครู สมาคมชมรมวิชาชีพ เครือข่ายการพัฒนา และ3. หน่วยสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนา ประกอบด้วยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สมาคมชมรมวิชาชีพและเครือข่ายการพัฒนา
ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ประกอบด้วย
1. สร้างระบบการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาด้วยวัฒนธรรมแบบสร้างและสั่งสมความรู้ (knowledge accumulation)
2. สร้างระบบการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษาโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม3. สร้างเครือข่ายพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และ4. สร้างเสริมศักยภาพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและเครือข่าย
สถาบันพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ดังนี้
1. การฟื้นฟูศรัทธาวิชาชีพ ประกอบด้วย
1.1 ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพและบุคลากรทางการศึกษา1.2 พัฒนาระบบบริหารจัดการการบริหารงานบุคคลและความก้าวหน้าในวิชาชีพ1.3 สร้างและพัฒนาระบบเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เกื้อกูล
2. การพัฒนาศักยภาพครู ประกอบด้วย
2.1 การสร้างภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง2.2 การพัฒนาประสิทธิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา2.3 การสร้างแนวร่วมและเครือข่ายการพัฒนา2.4 การส่งเสริมการศึกษาต่อ2.5 การสร้างเอกภาพและระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และ2.6 การขับเคลื่อน
ยุทธศาสตร์การพัฒนา
ยุทธศาสตร์การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังได้กำหนดหลักการการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ คือ
1. การพัฒนาต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียน2. การพัฒนาต้องเกิดจากความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษา3. การพัฒนาต้องมุ่งเน้นลักษณะที่ใช้สถานศึกษาหรือแหล่งปฏิบัติงานเป็นฐาน School-Based Development : SBD4. การพัฒนาต้องมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล5. การพัฒนาต้องสอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ ที่ปฏิบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษา6. การพัฒนาต้องดำเนินการในรูปของเครือข่ายกระจายทั่วประเทศ7. การพัฒนาต้องสอดคล้องกับนโยบายและข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ8. การพัฒนาต้องกระทำอย่างทั่วถึง และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ
รูปแบบและวิธีการพัฒนา มีดังนี้
1. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา มุ่งเน้นให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิชาชีพทั้งสมรรถนะหลัก สมรรถนะการปฏิบัติงานในหน้าที่ และสมรรถนะเฉพาะกลุ่มสาระ
2. รูปแบบของการพัฒนามุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษากำหนดให้กระจายอยู่ทั้งประเทศเพื่อความสะดวกในการเข้ารับการพัฒนาของครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งที่เป็นองค์กรเครือข่าย บุคคลเครือข่ายและเครือข่ายทางไกล3. วิธีการพัฒนาต้องมีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการพัฒนาของครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่มุ่งเน้นวิธีการพัฒนาที่ใช้โรงเรียนหรือหน่วยงานเป็นฐานเป็นสำคัญ วิธีการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ แบบเพื่อนช่วยเพื่อน (peer group) การวิจัยในชั้นเรียน การเข้ารับอบรมหรือการเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา การศึกษาต่อ และการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายทางไกล
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, 77-81.