การฝึกหัดครู
การฝึกหัดครู หรือ ครุศึกษา ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Teacher Education” ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายและกระบวนการออกแบบเพื่อช่วยให้ครูมีความรู้ เจตคติ พฤติกรรมและทักษะที่สำคัญและจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของครูให้มีประสิทธิภาพทั้งในโรงเรียนและชั้นเรียน
ที่มาข้อมูล
ความหมาย
การฝึกหัดครู เป็นการจัดการศึกษาที่ให้หลักการฝึกฝนความสามารถ และสร้างเสริมคุณธรรมของการเป็นครูแก่ผู้มีพื้นฐานทางวิชาการแล้วอย่างน้อยในระดับมัธยมศึกษา มารับการศึกษาฝึกหัดอบรมก่อนที่จะไปเป็นครู หรือมารับการศึกษาฝึกหัดอบรมในระหว่างที่เป็นครูประจำการ สถาบันการฝึกหัดครูจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ปฏิบัติงานอย่างประสานสัมพันธ์กับองค์การต่าง ๆ ในชุมชนและหน่วยงานการศึกษาอื่น ๆ เพื่อทำหน้าที่ผลิตหรือเตรียมครูอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาสร้างเสริมวิทยฐานะของครูทำงานทางด้านวิจัยทางการศึกษาให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 2)
การฝึกหัดครู โดยทั่วไปแบ่งได้ดังนี้
1. การผลิตครูใหม่เพื่อเตรียมเข้าสู่อาชีพครู (A Pre-Service Course before entering the classroom as a fully responsible teacher) คือ การดำเนินการจัดการเรียนการสอนทางครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ในสถาบันผลิตครู ในสถาบันอุดมศึกษา2. กระบวนการฝึกอบรมและสนับสนุนช่วยเหลือครูใหม่ที่เข้าสู่วิชาชีพในช่วงปีแรก ๆ ของการสอนหรือการทำงานในโรงเรียนเฉพาะทาง (The process of providing training and support during the first few years of teaching or the first year in a particular school) คือ การดำเนินการเพื่อฝึกครูใหม่เข้าทำงานที่หวังผลความสำเร็จด้วยการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ของสภาวิชาชีพครู หน่วยงานผู้ใช้ครูและสถาบันผลิตครู3. กระบวนการพัฒนาครูประจำการอย่างต่อเนื่อง(An in-service process for practicing teachers) คือ การดำเนินการเพื่อให้ครูประจำการที่เข้าสู่วิชาชีพครูตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ได้พัฒนาวิชาชีพครูของตนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ครูโดยให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของครูในทุก ๆ 3 - 5 ปี ว่าขาดความรู้ทักษะ สมรรถนะใด ควรจัดพัฒนาในด้านนั้น ๆ โดยความร่วมมืออย่างจริงจังของหน่วยงานผู้ใช้ครูสภาวิชาชีพครู และสถาบันที่ให้การฝึกอบรม และพัฒนา
รูปแบบการฝึกหัดครู
การฝึกหัดครูในหลาย ๆ ประเทศดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ สถาบัน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นองค์การทางการฝึกหัดครูที่สำคัญในปัจจุบัน ในอดีตมีสถาบันผลิตครูและพัฒนาครูเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครู วิทยาลัยวิชาการศึกษา เป็นต้น ต่อมาสถาบันเฉพาะทางดังกล่าวนี้ ได้พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นคณะ สถาบัน หรือวิทยาลัยครูในสถาบันอุดมศึกษา
กระบวนการผลิตครูใหม่เพื่อเตรียมเข้าสู่อาชีพครูที่ดำเนินการในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับ 2 รูปแบบพื้นฐาน ได้แก่
1. รูปแบบ “การศึกษาต่อยอดทางการสอนจากปริญญาแรกที่ได้รับ” (The Consecutive model) โดยครูนั้นได้รับปริญญาแรกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้มีคุณวุฒิหรือคุณสมบัติเบื้องต้น แล้วจึงมาศึกษาต่อเพิ่มเติมในทางการสอน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางแห่งอาจจะจัดเป็นการศึกษาหลังปริญญาตรี ตัวอย่างเช่น หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ปริญญาโททางการสอน เป็นต้น หรือในอีกแนวทางหนึ่ง นักศึกษาได้ศึกษาทั้ง 2 สาขาวิชา คือ รายวิชาที่เป็นวิชาการ (รายวิชาที่เป็นเนื้อหาสาระเฉพาะ) และรายวิชาที่เป็นวิธีการสอนไปพร้อม ๆ ในเวลาเดียวกัน ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นมีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่จะเป็นครูใหม่ในวิชาการนั้น ๆ ได้2. รูปแบบ “การรับรองประสบการณ์ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน” (An accredited experienced practitioner in school model) เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันในบางประเทศแต่อาจใหม่สำหรับประเทศไทยหลักการคือ การสร้างครูใหม่ โดยให้บุคคลนั้น ๆ ได้รับการฝึกอบรม (Training) เพื่อทำหน้าที่ครูภายใต้ความรับผิดชอบของการรับรองประสบการณ์ในการปฏิบัติงานหน้าที่ครูในโรงเรียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันผลิตครูเป็นที่ปรึกษา (Mentors) มีพี่เลี้ยง (Advisor) และมีคณะกรรมการ ซึ่งประกอบขึ้นจากสภาวิชาชีพครู หน่วยงานผู้ใช้ครู และหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานบริหารบุคคล มาร่วมกันประเมินผลเพื่อรับรองประสบการณ์การปฏิบัติงาน
หลักสูตรการฝึกหัดครู
ในสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลายและแตกต่างกันนั้นมีข้อถกเถียงกันอยู่มากกว่าครูผู้สอนในสังคม วัฒนธรรม นั้น ๆ ควรจะมี ความรู้ เจตคติ พฤติกรรม และทักษะอะไรบ้าง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ครู คือผู้ที่ได้รับมอบความไว้วางใจ (Entrusted) ให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือส่งผ่าน (Transmission) ไปสู่เด็กในด้านความเชื่อของสังคม เจตคติและด้านจริยศาสตร์ (Deontology) เท่า ๆ กับด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านคำแนะนำ และด้านปัญญา (Wisdom)
หลักสูตรการฝึกหัดครูสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 : ความรู้และทักษะพื้นฐาน โดยปกติหลักสูตรส่วนนี้เป็นเรื่องทางการศึกษาหรือศึกษาศาสตร์ที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับปรัชญาการศึกษา ประวัติของการศึกษา จิตวิทยาการศึกษาและสังคมวิทยาการศึกษาส่วนที่ 2 : ความรู้ด้านเนื้อหาสาระหรือวิชาเฉพาะและวิธีสอน ในส่วนนี้โดยมากจะรวมถึงแนวทางการสอนและการประเมินผลในวิชาเฉพาะเข้าไว้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้อาจจะมีส่วนที่ซ้ำซ้อนกับ ส่วนที่ 1 (ความรู้และทักษะพื้นฐาน) อยู่บ้าง แต่มีการถกเถียงกันมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะรู้ล่วงหน้าว่าความรู้และทักษะชนิดใดที่เด็กนักเรียนต้องการเมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แต่กลับเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าที่จะรู้ได้ว่าความรู้และทักษะชนิดใดที่ครูควรจะมี ความสำคัญในเรื่องนี้คือจะบรรจุหรือใส่ทักษะตามขวางหรือตามแนวนอน (เช่น “การเรียนรู้เพื่อที่จะเรียนรู้”หรือ “สมรรถนะทางสังคม” ซึ่งมีผลทำให้แตกต่างไปจากขอบเขตของวิชาแบบดั้งเดิม ดังนั้นจึงเกิดความสงสัยขึ้นในแนวทางเดิมของการออกแบบหลักสูตรการฝึกหัดครู และโดยเฉพาะแนวทางเดิมของการทำงานของครูในชั้นเรียนส่วนที่ 3 : การปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนหรือการปฏิบัติการทางการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งรูปแบบการปฏิบัติการสอนสามารถดำเนินการในลักษณะของการไปสังเกตการเรียนการสอนจริงในโรงเรียน นักศึกษาครูออกไปฝึกสอนจริงในโรงเรียน หรือให้นักศึกษาครูไปทำหน้าที่ครูฝึกหัดในโรงเรียน (Internship) เป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพต่อจากการศึกษาด้านเนื้อหาสาระ
การจัดการการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
รูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหลักสูตรการฝึกหัดครู 3 ลักษณะ กล่าวคือ
1. การสังเกตการเรียนการสอนจริงในโรงเรียน ซึ่งรวมถึงการสังเกตและการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจำกัดในชั้นเรียนเฉพาะบางเรื่องภายใต้การควบคุมดูแลใกล้ชิดของครูประจำชั้น2. การฝึกสอนจริงของนักศึกษาครู ซึ่งรวมถึงจำนวนสัปดาห์ของการฝึกสอนจริงในชั้นเรียนที่ได้รับมอบหมายภายใต้การควบคุมดูแลของครูประจำชั้น และอาจารย์นิเทศก์จากสถาบันผลิตครูหรือมหาวิทยาลัย3. การให้นักศึกษาครูไปทำหน้าที่ครูฝึกหัด (Internship) โดยมอบหมายให้นักศึกษาครูไปปฏิบัติหน้าที่ครูเสมือนว่าเป็นครูประจำการคนหนึ่ง โดยให้ทำงานของครูทั้งในชั้นเรียนและ ในโรงเรียนทั้งในงานการสอนและงานอื่น ๆของครู มีการติดตามและประเมินผลโดยคณะกรรมการ ทั้งจากส่วนของโรงเรียน และจากส่วนของสถาบันผลิตครู รวมถึงกรรมการจากสังคม ชุมชนด้วย
การฝึกหัดครูในประเทศไทย
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “การศึกษา” คือ เสาหลักของสังคมที่จะนำไปสู่การมีโอกาสความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นที่เข้าใจกันว่า “การฝึกหัดครู” เป็นฐานที่สำคัญยิ่งของกระบวนการศึกษา ดังนั้นการฝึกหัดครูจึงมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ และเข้าใจวิถีชีวิตของคนในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ ทุกคนทุกหน่วยงานจึงควรต้องมีส่วนร่วมใน การฝึกหัดครู (พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง, 2548)
การศึกษาและการฝึกหัดครูของไทยมีวิวัฒนาการที่ยาวนานโดยเริ่มจากในวัด ในวัง ซึ่งพระสงฆ์ อาลักษณ์ และนักปราชญ์เป็นครูผู้สอน มาเป็นการศึกษาที่รับแนวทางของประเทศตะวันตกวิชาชีพครูในประเทศไทยเป็นวิชาชีพเก่าแก่มากที่สุดอาชีพหนึ่ง แต่การฝึกหัดครูที่เป็นระบบเกิดขึ้นตั้งแต่มีการตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นที่บริเวณโรงเลี้ยงเด็กสะพานดำ พระนคร เมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2535 แล้วมีการพัฒนาการเรื่อยมา อาจแบ่งพัฒนาการของการฝึกหัดครูไทยได้ 3 ร ะยะ คือ
1. ระยะจัดตั้งสถาบันการฝึกหัดครูอย่างเป็นระบบ ช่วง พ.ศ. 2435 - 24962. ระยะการขยายตัวและพัฒนาของสถาบันการฝึกหัดครู ช่วง พ.ศ. 2497 – 25303. ระยะช่วงเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นสถาบันการฝึกหัดครูยุคใหม่ ช่วง พ.ศ. 2531 - ปัจจุบัน
ปัจจุบันสถาบันการฝึกหัดครูในประเทศไทยมีมากว่า 100 สถาบัน ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งผลิตครูใหม่เข้าสู่วิชาชีพครูใน 3 ลักษณะ คือ
1. การผลิตครูหลักสูตร 5 ปี (การผลิตครูแนวใหม่) โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษา 4 ปี ปฏิบัติการหน้าที่ครูฝึกหัดในโรงเรียนที่เปิดสอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1 ปีเต็ม เพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยศึกษารายวิชาและฝึกประสบการณ์วิชาชีพและทำกิจกรรมตามเงื่อนไข มีจำนวนหน่วยกิตไม่ต่ำกว่า 160 หน่วยกิต ใช้รูปแบบ “Clinical Hospital Model” คล้ายการผลิตแพทย์ จบแล้วเข้าสู่วิชาชีพครูได้ตามประกาศของสภาวิชาชีพ (คุรุสภา)2. การผลิตครูหลักสูตรต่อยอด 1 ปี (การผลิตครูเฉพาะกิจ) โดยรับนักศึกษาผู้จบปริญญาตรีแล้วเข้ามาเรียนรายวิชาชีพครู จำนวนไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา จบหลักสูตรแล้วได้รับใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หากได้เข้าสู่กระบวนการปฏิบัติการหน้าที่ครูฝึกหัดในโรงเรียนขั้นพื้นฐานเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ก็จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะมีคุณวุฒิคุณสมบัติเข้าสู่อาชีพครูใหม่ตามประกาศของสภาวิชาชีพได้3. การผลิตครูหลักสูตรปริญญาโทและเอกทางการสอน (การผลิตครูระดับบัณฑิตศึกษา) โดยรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและหรือโท เข้ามาเรียนหลักสูตรทางการสอนใช้เวลา 2 ปี สำหรับปริญญาโท และ 3-5 ปี สำหรับปริญญาเอก หากผู้เรียนยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสภาวิชาชีพครู (คุรุสภา)
แนวคิดในการออกแบบการผลิตครูและพัฒนาครูแนวใหม่ของประเทศไทย
การผลิตครูต้องถือว่าเป็นพันธกิจร่วมกันของสถาบันผลิตครูและพัฒนาครู หน่วยงานผู้ใช้ครู สภาวิชาชีพครู (คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สังคม ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันผลิตครูและพัฒนาครู ครูแนวใหม่ที่ผลิตตามหลักสูตรการฝึกหัดครูแนวใหม่ 5 ปี จะสะท้อนภาพลักษณ์ ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ครูในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้จากหลักการ (Principles) 10 ประการ ต่อไปนี้
หลักการที่ 1 : ครูแนวใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของแนวคิดหลักแห่งวิชาชีพครู มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเครื่องมือที่จะใช้สำหรับการแสวงหาความรู้ การสอบถาม มีความเข้าใจ ในโครงสร้างของสาขาวิชาที่ตนเป็นผู้สอน และสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้เนื้อหาวิชาเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนหลักการที่ 2 : ครูแนวใหม่มีความเข้าใจในเรื่องของการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก รู้จักสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญา สังคม และพัฒนาการส่วนบุคคลหลักการที่ 3 : ครูแนวใหม่มีความเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้ของเด็กและสามารถสร้างโอกาสในการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนที่หลากหลายได้หลักการที่ 4 : ครูแนวใหม่มีความเข้าใจและรู้จักใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายในการสอน เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด อย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาและมีทักษะในเชิงปฏิบัติหลักการที่ 5 : ครูแนวใหม่มีความเข้าใจในตัวเด็กและบุคคล รวมทั้งการใช้ทั้งแรงจูงใจ และพฤติกรรมของกลุ่มมาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์แห่งความร่วมมืออย่างกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และการสร้างแรงจูงใจในตัวของผู้เรียนหลักการที่ 6 : ครูแนวใหม่รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดผล สามารถใช้อากัปกิริยา ท่าที่ รวมทั้งเทคนิควิธีการสื่อความหมายที่ช่วย กระตุ้นให้เด็กรู้จักถาม รู้จักแสวงหาความรู้ ตลอดทั้งรู้จักสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์หลักการที่ 7 : ครูแนวใหม่รู้จักวางแผนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาความต้องการของชุมชนและเป้าหมายของหลักสูตรหลักการที่ 8 : ครูแนวใหม่มีความเข้าใจและใช้ยุทธวิธีการประเมินผลในรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อประเมินสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งทางสติปัญญา สังคม และร่างกาย อย่างต่อเนื่องหลักการที่ 9 : ครูแนวใหม่จะต้องเป็นนักปฏิบัติการที่มีความถี่ถ้วน รู้จักที่จะประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเองและบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง (นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ในชุมชนการเรียนรู้) พร้อมทั้งหาโอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนเองให้เกิดขึ้นหลักการที่ 10 : ครูแนวใหม่จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานในโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชนขนาดใหญ่ (ชุมชนที่มีเครือข่ายมาก) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็ก
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา, หน้า 89-93.