POLM : กระบวนทัศน์ใหม่ของการบริหารจัดการศึกษาให้เกิดคุณภาพ
การบริหารจัดการยุคใหม่เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์จำเป็นต้องจูงใจให้บุคลากรมาร่วมกันทำงานด้วยความเต็มใจ โดยมีการปรับปรุงโครงสร้างและมีการประสานงานให้เกิดความชัดเจน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย (Griffn. 1999 : 6) ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรที่สำคัญอันประกอบด้วย คน (Man) เงิน (Money) สื่ออุปกรณ์ (Material) เวลา (Minute) วิธีการ (Method) การบริหารจัดการ (Management) และ คุณธรรมจริยธรรม (Moral) หรือที่นิยมเรียกกันว่า 6M's โดยที่แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการประกอบด้วยกระบวนง่ายๆที่ไม่ซับซ้อน ตั้งแต่การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การนำหรือการสั่งการ (Leading/Directing) ตลอดจนการควบคุม (Controlling) ซึ่งจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับทรัพยากรขององค์การ (6 M's) เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และทำให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลครบถ้วน
กระบวนการบริหารจัดการมีแนวคิดเริ่มจาก Henri Fayol นักอุตสาหกรรมชาวฝรั่งเศส ในต้นศตรรษที่ 19 ได้เสนอหลักของการบริหารจัดการ โดยมีองค์ประกอบย่อว่า POCCC Planning (การวางแผน) Organizing (การจัดองค์การ) Commanding (การสั่งการ) Coordinating (การประสานงาน) Controlling (การควบคุม) (Bennis.& Nanus.1997 : 12-13) มาถึงปัจจุบันที่นิยมใช้ คือ POLC ได้แก่ (Daft. 2000 : 14-15)
การวางแผน (Planning)เป็นการเตรียมการเพื่อกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ต่างๆและจัดทำแผนงานเพื่อประสานกิจกรรมต่างๆ ที่จะกระทำในอนาคตการจัดองค์การ (Organizing)เป็นการปรับปรุงโครงสร้างขององค์การปรับปรุงระบบงานและมอบหมายภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบ กำหนดสายการบังคับบัญชาการนำ (Leading)เป็นการนำและจูงใจ ให้คำปรึกษา การขจัดความขัดแย้งหรือเป็นการกระตุ้นให้บุคลากรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จรวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นการควบคุม (Controlling)เป็นการติดตามตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ที่ได้กระทำไว้เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้รวมทั้งแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องอีกด้วย
ปัจจุบันกระบวนทัศน์ใหม่ได้มีการพัฒนาจากการควบคุม (Controlling) ซึ่งมีความหมายแคบมาสู่การกำกับดูแล (Monitoring) ให้มีความหมายกว้างขึ้นและมีแนวคิดทางบวกมากกว่าการควบคุม (Controlling) เน้นการกำกับดูแล ให้ความเป็นอิสระในการทำงาน จึงพัฒนาจาก POLC มาสู่ POLM โดยมีแนวคิดสำคัญ ดังนี้
PLANNING (การวางแผน)
การวางแผน (Planning) เป็นสิ่งที่องค์การต้องการเปลี่ยนแปลงในอนาคตการวางแผนเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งทำได้โดยการให้บรรลุเป้าหมายผลลัพธ์ที่ต้องการองค์การ โดยกำหนดสภาพการณ์ในอนาคตที่ต้องบรรลุและกำหนดแนวทางในการบรรลุสภาพการณ์ที่กำหนดบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้านอย่างเป็นระบบ ตอบสนองผลและปรับให้ทันกับโลกาภิวัตน์ ส่งเสริมศักยภาพขององค์การให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดเศรษฐกิจระดับโลก กระตุ้นให้เกิดการวางแผนในระยะยาวในองค์การ โดยมีเทคนิคสำคัญ ได้แก่ การวิพากษ์แผนและมองหาจุดอ่อน ค้นหาโอกาส และข้อบกพร่องของแผนให้พบเพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ (Daft.2000 : 34 ).
นอกจากนี้กลยุทธ์ที่สำคัญ เช่น กลยุทธ์ SMART เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของการวางแผน ดังนี้ (Administrative Office 2010 : Online)
S - Specific การวางแผนต้องมีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยมีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ชัดเจนM - Measurable การวางแผนสามารถประเมินและวัดผลได้อย่างชัดเจนA - Attainable การวางแผนสามารถดำเนินไปสู่การบรรลุผลตามเป้าหมายได้R - Relevant การวางแผนต้องเกี่ยวข้องกับบุคลากรทุกคนในองค์การ รับรู้และร่วมมือในการทำงานอย่างเป็นระบบT - Timeframe การวางแผนมีกรอบเวลาอย่างชัดเจน เพื่อการรดำเนินงานเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด การวางแผนกลยุทธ์จะเกี่ยวข้องกับความสามารถของผู้นำการศึกษาในการรวบรวมข้อมูล อุปสรรคและปัญหาได้ชัดเจน มีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของแผน มีการค้นหาทางเลือกในการวางแผน มีการนำแผนไปใช้ตามวัตถุประสงค์ และมีการประเมินผลของแผน รวมถึงมีการปรับปรุงแผนอย่างต่อเนื่อง
FAME : กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ
ในการวางแผนกลยุทธ์ ความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์โดยใช้ยุทธศาสตร์นำพาพันธกิจไปสู่การดำเนินงานในองค์การจนบรรลุเป้าหมายกลยุทธ์ที่ช่วยให้การบริหารจัดการประสบผลสำเร็จ คือ FAME ดังนี้ (Dese,2012: Online)
F = Formulate หมายถึง การกำหนดกฎเกณฑ์และกติกา ก้าวแรกในกระบวนการจัดการวางแผนกลยุทธ์ต้องกำหนดความต้องการของบุคลากรและทิศทางขององค์การว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด วางแผนและสร้างหนทางเดินไปสู่จุดนั้น โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ขององค์การต้องชัดเจน สามารถกระจายสู่บุคลากรทุกคนให้เกิดความเข้าใจ และยอมรับแผนงานที่วางไว้ ไม่เพียงแต่ผู้นำในองค์การสมาชิกทุกคนถือว่ามีส่วนผลักดันแผนไปสู่เป้าหมายปลายทางA = Accomplish หมายถึง การทำให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมายการทำให้วัตถุประสงค์บรรลุนั้นขึ้นอยู่กับศิลปะการใช้แรงจูงใจของผู้นำ พลังของทีมงานในการขับเคลื่อน ซึ่งพลังแห่งการขับเคลื่อน ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ ได้แก่ 1) ความสำนึกแห่งความรับผิดชอบ โดยผู้นำมอบหมายภารกิจที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของบุคลากร ให้ความสำคัญแก่บุคลากรและกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน สร้างความรักความผูกพันในงาน 2) การให้รางวัล นับว่ามีความสำคัญต่อบุคลากรเพื่อรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานให้คงอยู่ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดพลังงานในการทำงานM = Monitor หมายถึง การควบคุมการปฏิบัติงาน การควบคุมเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลให้การปฏิบัติงานเกิดความก้าวหน้า และสามารถพัฒนาผลผลิตและการบริการให้เกิดความชัดเจน จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีแก่บุคลากร รวมทั้งให้ความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงาน ส่วนในกรณีที่เกิดปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีR = Repeat การทบทวนและทำซ้ำ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องช่วยให้เกิดความก้าวหน้า และสร้างความมั่นใจต่อการทำงาน ในกรณีที่ผลงานเป็นไปตามเป้าหมายหรือมีผลเกินคาด ส่วนกรณีที่มีปัญหา สามารถนำกลับไปทบทวนปรับปรุง โดยมีการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้
การใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)
ความคิดเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการเป็นผู้นำในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสภาพปัจจุบันจำเป็นต้องมีการแข่งขันสูง เพื่อให้องค์การได้รับการยอมรับและน่าเชื่อเถือต่อผู้ปกครอง ชุมชนและสังคม ผู้นำจึงจำเป็นต้องใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ในการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป โดยเฉพาะในการวางแผนงานให้มีประสิทธิภาพ ความคิดเชิงกลยุทธ์จะช่วยส่งเสริมในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อไปสู่การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ และเป้าหมายขององค์การที่วางไว้ มีนักการศึกษา ได้กล่าวถึงความคิดเชิงกลยุทธ์ไว้ ดังนี้
ลอเรนซ์ (Lawrence. 2008 : Online) สรุปความคิดเชิงกลยุทธ์มีหลายลักษณะ ดังนี้
1. มีมุมมองหลากหลาย ใช้ทักษะความคิดในระดับต่างๆ อย่างเหมาะสมทั้งการประเมินค่า การสังเคราะห์ การวิเคราะห์ การประยุกต์ ความเข้าใจ และการรับรู้ อีกทั้งตรวจสอบสภาพแวดล้อม การใช้ความคิดเชิงระบบให้สอดคล้องกัน และพัฒนาทักษะความคิดอย่างต่อเนื่อง2. ใช้ขีดความสามารถ ความรู้และทักษะ พัฒนาขีดความสามารถในการคิด รวมถึงความรู้ความสามารถในการใช้ทักษะความคิดเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน3. ตระหนักตนเอง ตระหนักถึงตนเองอยู่เสมอและเชื่อมโยงความคิดสู่การปฏิบัติ4. มีความยืดหยุ่น ผู้นำใช้ความยืดหยุ่นเพื่อให้การดำเนินงานไปอย่างราบรื่น ใช้การยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคลากร เน้นการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดและสร้างสัมพันธภาพที่ดี ผู้นำสามารถยืดหยุ่นวิธีการเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้5. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ช่วยค้นหาทางในการแก้ปัญหา หาแนวทางหลาย ๆ ด้าน ปรับสภาพการดำเนินงานเพื่อไปสู่การแก้ปัญหา ค้นหาวิธีการอย่างหลากหลายเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้6. ใช้ความเสี่ยงหรือนอกกรอบ ผู้นำใช้หลักความคิดที่นอกกรอบหรือหลักแห่งความเสี่ยง เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ มีการให้รางวัลและการลงโทษไปสู่การใช้ความเสี่ยงในการตัดสินใจของผู้นำ โดยเฉพาะทรัพยากรมีจำกัด การใช้ความเสี่ยงอาจจะสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะสภาพแวดล้อมทางกลยุทธ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจจึงต้องเรียนรู้การใช้ความคิดที่ฉลาด สร้างสรรค์เป็นอย่างดี ผู้นำจึงต้องใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา
นอกจากการวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพแล้วผู้นำควรใช้เทคนิคของความคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่เรียกว่า change the rules of the game มีการพัฒนาสมรรถภาพทางความคิดเชิงกลยุทธ์โดยใช้การระดมสมองในการอภิปรายผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ทบทวนการวางแผนกลยุทธ์กับคนอื่นๆ เลือกวัตถุประสงค์ขององค์การและนำมาสร้างแผน วัดความก้าวหน้า เน้นความต้องการของลูกค้า ค้นหาทีมงานและสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติ โดยเฉพาะพัฒนาเครื่องมือเทคนิคความคิดเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง
ORGANIZING (การจัดองค์การ)
องค์การปัจจุบันต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจำต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ แนวคิดเกี่ยวกับองค์การในแบบดั้งเดิมกับองค์การสมัยใหม่จึงมีความแตกต่างกัน ผู้นำจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดองค์การให้สอดคล้องกับโลกาภิวัตน์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนทรัพยากร และกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การให้ไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยที่องค์การสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะให้อิสระกับบุคลากรในการทำงานมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบการจัดองค์การแบบดั้งเดิมกับองค์การสมัยใหม่มีความแตกต่างกัน ดังตารางด้านล่าง
องค์การแบบดั้งเดิม | องค์การสมัยใหม่ |
1. รูปแบบไม่ยืดหยุ่น 2. การเน้นที่ตัวงานกับเน้นทักษะ 3. มีสถานที่ทำงานและเวลาทำงาน 4. การจัดการที่คงเดิม 5. รับผิดชอบหน้าที่เฉพาะ 6. กำกับควบคุม |
1. แบบยืดหยุ่น 2. เน้นทักษะ 3. การทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาที่เฉพาะคงที่ 4. เปลี่ยนแปลงการจัดการและวิธีการ 5. หมุนเวียน 6. อิสระ |
การจัดองค์การเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จขององค์การ เนื่องจากการจัดองค์การเป็นงานที่ผู้บริหารใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดผู้รับผิดชอบงานรวมถึงเป็นกลไกการประสานงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ผู้นำจึงต้องคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของบุคลากร เพื่อวางบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน โดยหลักการจัดองค์การที่ดีจำต้องยึด เทคนิค 5 A ดังนี้
AIM การจัดองค์การที่ดีควรยึดวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินงานABILITY การจัดองค์การที่ดีควรคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ความถนัดและประสบการณ์ในการทำงานของบุคลากรACCOUNTBILITY การจัดองค์การที่ดีควรเน้นความรับผิดชอบ โดยเมื่อผู้ใดได้รับการมอบหมายงานจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างครบถ้วน ชัดเจนเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ร่วมกันรับผิดชอบจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ACHIEVEMTNT การจัดองค์การที่ดีควรเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ADAPT การจัดองค์การที่ดีควรเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการกำกับ ควบคุม การปรับโครงสร้างวิธีการทำงาน กระบวนทัศน์ และความคิดของบุคลากร เพื่อให้องค์การเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
LEADING (การนำองค์การ)
การนำองค์การ (Leading) เป็นการใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจบุคลากรให้ปฏิบัติงานและนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ระบุไว้ หรือเป็นกระบวนการจัดการให้สมาชิกในองค์การทำงานร่วมกันได้ด้วยวิธีการต่างๆ การนำองค์การให้เกิดประสิทธิผล ผู้นำจึงต้องใช้ความสามารถหลายๆเรื่องควบคู่กันไป อาทิ ภาวะผู้นำ การจูงใจมนุษยสัมพันธ์ การติดต่อสื่อสารในองค์การ และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น การนำองค์การ (Leading) เป็นหน้าที่หลักของผู้นำในการใช้ความสามารถโน้มน้าวให้ผู้ตามมีศรัทธาและนำความสามารถของตนออกมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ (Emergent Leadership) การนำองค์การไปสู่ความสำเร็จผู้นำจำต้องใช้เทคนิคในการใช้แรงจูงใจ โดยผู้นำมีบทบาทหน้าที่ดังต่อไปนี้ (Yuki, 2008 : Online)
1. สร้างทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ผู้นำควรมีทัศนคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ2. ทำให้งานประสบความสำเร็จพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมงาน ผู้นำควรมีความพอใจต่อการที่ตัวเองและเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะแข่งขันกันทำงานให้ประสบความสำเร็จ ผู้นำคนใดที่ไม่ยินดีต่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า ทรัพยากรที่ได้มา และการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อน ย่อมไม่สามารถสนองต่อความต้องการของงานได้3. ต้องการที่จะแสดงสิทธิ ผู้นำ คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีสิทธิในการตัดสินใจ ดูแลระเบียบวินัย และปกป้องลูกน้อง หากผู้นำคนใดไม่มีความสบายใจในการปฏิบัติงานต่างๆ ที่กล่าวมา ย่อมไม่สามารถจะทำให้งานประสบความสำเร็จได้4. ปรารถนาจะใช้อิทธิพล ผู้นำต้องใช้อิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การจูงให้ทำสิ่งต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจ ตัดสินให้ความดีความชอบหรือลงโทษที่ไม่ปฏิบัติงาน5. ความต้องการเด่น งานการจัดการนั้นต้องการผู้นำอยู่ในตำแหน่งที่สูงหรือเหนือกว่าบุคคลอื่นๆ และต้องทำในสิ่งที่เรียกร้องความสนใจ อภิปรายรวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ
เทคนิคในการใช้แรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำจะต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบุคลากรและเพื่อนร่วมงาน เพื่อจูงใจให้บุคลากรทำงานด้วยความเต็มใจ
นอกจากนี้การนำองค์การที่มีคุณภาพผู้นำจะต้องมียุทธวิธีการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ เพื่อให้บุคลากรเชื่อถือ ศรัทธา และเป็นมิตรต่อบุคคลอื่น โดยประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สนใจและรักคนอื่น ให้ความเห็นอกเห็นใจแก่บุคลากร พูดน้อยแต่ฟังให้มาก ไม่พูดถึงเรื่องที่ผิดพลาดและให้อภัยในข้อผิดพลาด น้ำเสียงที่พูดต้องสุภาพ อ่อนโยน และควรคิดก่อนพูด (MaxCy. 1991 : 56-67) นอกจากนี้ ควรใช้หลัก 5 ย ได้แก่
ยิ้มแย้ม ฝึกให้เป็นคนมีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มอยู่เสมอยกย่อง ยกย่องและให้เกียรติคนอื่นยินยอม ยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรด้วยความเต็มใจยืนยง มีความมั่นคงทางอารมณ์ อดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบแยกแยะ วิเคราะห์อุปสรรคและปัญหาและหาทางแก้ไขขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
การนำองค์การที่ดี ผู้นำควรมีกลยุทธ์ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดประสิทธิผลดังนี้ (Kouzes.1995 : 23-26).
1. Credibility (ความเชื่อถือ) การสื่อสารควรมีเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ2. Context (บริบท) มีการใช้ถ้อยคำประกอบท่าทางและลีลาในการพูดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่พูดอย่างชัดเจน3. Content (เนื้อหา) เรื่องราวที่พูดควรเป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อบุคลากรส่วนใหญ่4. Continuity (ความต่อเนื่อง) การสื่อสารที่ดี ควรใช้ช่องทางอย่างน้อยสามช่องทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน5. Consistency (ความมั่นคง) ผู้นำต้องรักษาความจริงให้คงอยู่ และไม่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ6. Channels (ช่องทาง) ควรใช้ช่องทางต่างๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระ7. Clarity (ความกระจ่าง) ให้ข่าวสารใช้คำง่ายๆ กะทัดรัด ชัดเจน ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ อย่าใช้คำยุ่งยากซับซ้อน7C ของการสื่อสารที่มีประสิทธิผลจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ในการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาวะผู้นำคุณภาพต่อไป
MONITORING (การกำกับดูแล)
การกำกับดูแลนับว่ามีความสำคัญและเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความก้าวหน้าและปรับแผนไปสู่ความสำเร็จและสร้างความน่าเชื่อถือของแผนงานหรือโครงการ (Reston. 2012 : Online) การกำกับดูแลมีความสำคัญในการบริหารโครงการให้เกิดประสิทธิผล เป็นกระบวนการที่ควบคุมให้เกิดคุณภาพและเกิดความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด เป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้นำให้การดำเนินงานไปสู่แนวทางแห่งความสำเร็จโดยไม่หลงทิศทาง การกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลควรมีแผน และตารางการควบคุมในการทำงาน มีขอบข่ายการดำเนินงานตามตัวบ่งชี้ รวมถึงการรายงานเป็นระยะ (Wise. 2012: 45) การกำกับดูแลช่วยก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการดำเนินโครงการ มีการกำกับติดตามทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างมีระบบในแต่ละระดับว่ามีข้อดีหรือข้อบกพร่องมากน้อยเพียงใด และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ (Training Supervision Center. 1012 : Online)
หลักการของการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประสิทธิผล จะเน้นกระบวนการต่อเนื่องโดยที่บุคคลจะสามารถกำกับดูแลความคืบหน้าของตนเองเพื่อให้สามารถปรับปรุงคุณภาพในการทำงาน สร้างสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแล ใช้ความหลากหลายของวิธีการรวมทั้งตัวบ่งชี้เชิงปริมาณและคุณภาพ การกำกับดูแลให้แน่ใจว่ากระบวนการกำกับดูแลมีการกล่าวถึงข้อมูล การสื่อสาร เทคโนโลยี และด้านการพัฒนาการกำกับดูแลที่ประสบความสำเร็จมีแนวโน้มที่จะเป็นการปฏิบัติโดยผู้มีส่วนร่วม มีความยึดมั่นในวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลที่ชัดเจน มีความสอดคล้องกันกับนโยบายขององค์การ มีแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจน มีการทำงานเป็นขั้นตอน โดยเน้นความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีการจัดการแบบบูรณาการ โดยผสมผสานหลายๆส่วนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้การกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลควรมีการสื่อสารแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ใช้หลักการให้ทุกส่วนมีส่วนร่วมในการกำกับควบคุมดูแล มีการให้ข้อมูลย้อนกลับบ่อยๆ การใช้แรงจูงใจ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และที่สำคัญเน้นการกำกับดูแลที่ยุติธรรม (Camlefa Report. 2012 : Online)
RASI : กลยุทธ์สำคัญในการกำกับดูแลให้เกิดประสิทธิผล
การกำกับดูแลให้เกิดประสิทธิผลมีกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ RASI โดยมีความหมายดังนี้ (Everard, & Morris 1996 : 261-262)
R มาจาก Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจในการกำกับดูแลการบริหารโรงเรียนให้เกิดประสิทธิผลA มาจาก Approval หมายถึง การยอมรับต่อการตัดสินใจในการกำกับดูแลS มาจาก Support หมายถึง การสนับสนุนด้านทรัพยากรต่อการตัดสินใจในการกำกับดูแลI มาจาก Informed หมายถึง การประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรทราบเกี่ยวกับการกำกับดูแล
การบริหารจัดการศึกษาสมัยใหม่จำเป็นที่ผู้นำจะต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับ POLM และนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม แนวคิดดังกล่าว สรุปดังแผนภาพด้านล่าง
ที่มาข้อมูล
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. (2555). หลักบริหารการศึกษา. หน้า 149-159.