พลังครูเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมพหุภาษา – พหุวัฒนธรรม
พลังครูเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมพหุภาษา – พหุวัฒนธรรม
ผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร. วัชรพล วิบูลยศรินรองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริการวิชาการ และสื่อสารองค์กรสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความตีพิมพ์ใน
“พลังครูคือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา”
Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality

ในปี 2558 ที่ผ่านมา สมัชชาแห่งสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือโดยทั่วไปรู้จักกันในชื่อย่อว่า เอสดีจี (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาโลกในอนาคตที่ตั้งใจให้บรรลุภายในปี 2573 หนึ่งในเป้าหมายสำคัญ 17 ข้อ คือ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduce Inequalities) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งพบปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่งคั่ง และอื่นๆ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มคนในสังคม
สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมพหุภาษา – พหุวัฒนธรรม ประกอบด้วย กลุ่มคนที่มีความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ภาษา เชื้อชาติ การแต่งกาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ เช่น ในชุมชนบนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ ทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธ ชาวไทยจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยใหม่ (ชาวเล) หรือในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอัตลักษณ์พิเศษ ด้านภาษาและวัฒนธรรมในพื้นที่แตกต่างจากภาษาราชการและวัฒนธรรมส่วนกลาง เช่น ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการประกาศใช้กฎหมายทางการศึกษาให้เยาวชนในประเทศ รวมถึงเยาวชนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองเข้าเรียนในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาไทยใช้สื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาษาไทย และผลิตองค์ความรู้จากส่วนกลาง ซึ่งอาจมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรม และความต้องการของคนในพื้นที่ เป็นเหตุให้ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีความสุขในการเรียน ไม่มีความมั่นคงในอัตลักษณ์ของตนเอง ตลอดจนไม่มั่นใจในระบบโรงเรียนของรัฐ (ยูเนียนลาสมีต้า สาเมาะ, 2561) ด้วยปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้ พลังของครูจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผู้เรียนกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียนเหล่านี้แตกต่างกับภาษาและวัฒนธรรมส่วนกลางก่อนเข้าเรียนในระบบโรงเรียน ผู้เรียนมีต้นทุนทางภาษาและวัฒนธรรมเดิมสะสมอยู่ก่อนแล้ว ครูจึงไม่ควรละเลยต้นทุนทางภาษาและความรู้ท้องถิ่นที่ผู้เรียนมีอยู่ แต่ควรพิจารณาการจัดการศึกษาแบบสองภาษาควบคู่กันระหว่างภาษาไทยและภาษาแม่ของผู้เรียนในพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคัมมินส์ (Cummins, 2021) นักการศึกษาด้านการใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่ในระบบการศึกษาที่ว่าการใช้ภาษาแม่ในโรงเรียน นอกจากจะพัฒนาภาษาแม่เองแล้วยังช่วยให้ภาษาที่สองมีพัฒนาการที่ดีขึ้นด้วย และเมื่อพัฒนาการทางภาษาเกิดการถ่ายโอนระหว่างกันก็ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ด้วย
เมื่อคำนึงถึงพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญครูควรเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางภาษาด้วยการจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงภาษาแม่ไปสู่ภาษาราชการ ซึ่งก็คือ ภาษาไทย โดยให้ความรู้แก่ผู้เรียนเป็นภาษาแม่ก่อนเพื่อให้เด็กเรียนรู้ วิธีการรู้หนังสืออย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนจะรับเอาความรู้ใหม่ของครูอย่างเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลในระดับต้นด้วยภาษาแม่ของตนต่อมาเมื่อผู้เรียนมีพื้นฐานทางภาษาของตนมากเพียงพอแล้ว ครูก็สามารถถ่ายทอดภาษาที่สองให้กับผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอนต่อไป โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด เพื่อความเข้าใจด้วยการใช้แนวคิดการตอบสนองด้วยท่าทาง (Total Physical Response) หรือแนวคิดการสื่อสารภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) โดยให้ความสำคัญกับความคล่องแคล่ว (Fluency) ในการใช้ภาษามากกว่าความถูกต้อง (Accuracy) ของภาษา และพัฒนาความสามารถด้านการอ่านและการเขียนภาษาไทยด้วยแบบเรียนหรือแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านเขียนภาษาไทยแบบบูรณาการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนระดับที่สูงขึ้น และการประกอบอาชีพที่มั่นคง อันจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
พลังของครูจึงเป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาราชการของประเทศไทยเพื่อความเข้าใจและการอาศัยอยู่ร่วมกัน และในขณะเดียวกันก็ยังไม่หลงลืมหรือละทิ้งภาษาแม่ของตน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว ยังสอดรับกับการเข้าสู่การเป็นทศวรรษสากลของภาษาพื้นเมือง (International Decade of Indigenous Languages 2022 – 2032) ระหว่างปี 2565 – 2575 เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภาษาพื้นเมือง ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
------------------------------------------
บรรณานุกรม
Cummins, J. (2001). Bilingual children’s mother tongue: Why is it important foe education?. Retrieved December 11, 2022, from http://www.lavplu.eu/central/bibliografie/cummins_eng.pdf.ยูเนียนสาสมีต้า สาเมาะ. (2561). การจัดการเรียนการสอนภาษามลายูปาตานี (ภาษาแม่) และการเชื่อมโยงในสู่ภาษามลายูกลาง (ภาษามาเลเซีย) ในการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้. ในศิริรัตน์ นีละคุปต์ และอุบลวรรณ เปรมศรีรัตน์ (บ.ก.), หนังสือรวมบทความการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาในจังหวัดชายแดนใต้ (หน้า 27 – 37). ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.