ยกระดับการเป็นผู้บริหารสถานศึกษา

ยกระดับการเป็นผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้เขียน: ปรารถนา สำราญสุข
ที่มาบทความ: วารสารวิทยาจารย์ ปีที่ 122 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2566, หน้า 52-55.
--------------------------------------------------------------------------
งานของผู้บริหารสถานศึกษาเป็นหน้าที่ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการเพื่อให้ครูดำเนินการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และบรรยากาศที่ดีในโรงเรียน ผู้บริหารจึงต้องมีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถานศึกษาจำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มีทักษะหลากหลาย เพราะภายใต้องค์กรอย่างโรงเรียนนั้น มีกลุ่มคนที่มีความต้องการ มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ และมีหน้าที่แตกต่างกัน อีกทั้งโรงเรียนยังประกอบไปด้วยบุคลากรหลากหลายด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิ การต้องบริหารผู้คนในองค์กรหนึ่งที่มีความสลับซับซ้อนขนาดนี้ ผู้บริหารจำเป็นต้องมีทั้งความรู้ในเชิงเทคนิค มีทักษะและศิลปะในการบริหารในเชิงระบบและบริหารคนเป็นอย่างมาก
บทความนี้จะกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้บริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ การหาสมดุลระหว่างการบริหารระบบและการบริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการบริหารจัดการจิตใจตนเองภายใต้ระบบที่ยิ่งใหญ่นี้
คุณสมบัติและทักษะในการเป็นผู้บริหาร
การมีภาวะผู้นำ (Leadership) ของผู้บริหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดทิศทางขององค์กรได้อย่างดีทั้งในยามปกติและยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา การมีภาวะผู้นำนั้นมักจะสังเกตได้จากในยามวิกฤติที่ผู้บริหารสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ด้วยวิธีการและทำให้เกิดผลเช่นไรต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น เมื่อเกิดความขัดแย้งของครู ผู้ปกครองร้องเรียน หรือเด็กนักเรียนไม่พอใจ ผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่ในการลดการปะทะและหาทางแก้ปัญหาให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อโรงเรียนหรือเด็กนักเรียนมีทักษะในการสื่อสาร (Communication) การมีทักษะในการสื่อสารที่ดีทำให้สามารถสื่อสารไปถึงปฏิบัติงานหรือกลุ่มคนต่าง ๆ ที่อยู่ภายในองค์กรได้อย่างดี โดยการมีทักษะการสื่อสารที่ดีนั้น คือ ความถูกต้องของสารที่ต้องการจะสื่อ รวมถึงวิธีการที่สารจะไปถึงคนที่ต้องการอย่างครบถ้วนทั่วถึง นอกจากนี้การสื่อสารที่ยังหมายถึงการเป็นผู้รับสารหรือการเป็นผู้ฟังที่ดี หรือมีการเปิดให้ผู้ที่เราต้องการสื่อสารได้มีความคิดเห็นหรือคำแนะนำกลับมา ไม่เช่นนั้นการสื่อสารจะกลายเป็นการสั่ง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการปฏิบัติงานในภาพรวมได้มีทักษะในการแก้ปัญหา (Problem Solving) ผู้บริหารโรงเรียนที่มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีทำให้การดำเนินการของดรงเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารโรงเรียนนั้นจะต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าและทำให้ปัญหามีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นหากการแก้ปัญหาภายในอาจต้องการการแก้ไขที่รวดเร็ว ผู้บริหารจะต้องมีทักษะในการบรรเทาปัญหา (Mitigating Step) หรือในบางครั้งการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าทำให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อนักเรียน ต่อครู และต่อโรงเรียนที่รุนแรงได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี (Digital Literacy) การบริหารโรงเรียนในสมัยใหม่นั้น มีเครื่องมือที่พัฒนาเพื่อช่วยในการบริหารจัดการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แทนที่โรงเรียนจะมีการจัดการในรูปแบบเดิม ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทั้งที่นำมาใช้ช่วยนการเรียนของเด็ก ๆ โดยตรง เช่น การเรียนรู้แบบไฮบริด (Hybrid Learning) ที่ใช้ทั้งการสอนในห้องเรียนและการใช้สื่อดิจิทัลควบคู่กัน การส่งเสริมให้เด็กมีการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Maker Education and STEM System) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีสำหรับช่วยผู้บริหารและคุณครู เช่น การใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารภายในโรงเรียน การเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนของโรงเรียนผ่านเทคโนโลยี เป็นต้น
คุณสมบัติของการเป็นหัวหน้าองค์กร
การเป็นหัวหน้าองค์กรหรือผู้บริหารโรงเรียนต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมและบรรยากาศที่สงบสุขภายในโรงเรียน โดยมี 5 คุณสมบัติที่ควรมุ่งมั่น คือ
ความมุ่งมั่นและการเปิดกว้าง (Honesty and Openness) การเป็นผู้บริหารและหัวหน้า หมายถึง การที่ต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมายของโรงเรียนโดยเปิดกว้างทางความคิด การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการระดมความคิดของคุณครูและเด็กนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการไปสู่ความสำเร็จที่คาดหวังไว้ ผู้บริหารที่เปิดรับความคิดเห็นของคนรุ่นเก่าและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีนั้นก็จะตกไปสู่นักเรียนนั่นเองยอมรับความเสมอภาคและความยุติธรรม (Equity and Social Justice) คุณสมบัติของผู้บริหารที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคาดหวัง คือ การให้ความเสมอภาคและความยุติธรรม เนื่องจากผู้บริหารถือเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจและแก้ปัญหา ต้องอาศัยความมีเหตุผลและไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากขาดคุณสมบัติข้อนี้ก็อาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหมดกำลังใจ หมดไฟในการทำงานต่อไปได้ การมีความเสมอภาคและยุติธรรมนั้นไม่เพียงพอแต่เป็นคุณธรรมที่สำคัญในยามที่เจอกับปัญหาแต่ในแง่หนึ่งคือการเสริมกำลังใจ (Empower) ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยเช่นกันมีความยืดหยุ่นและฟื้นคืน (Flexibility and Resilience) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของโรงเรียนนั้นมีหลากหลายทั้งภายนอกและภายใน ดังนั้น การมีความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นคืนจากปัญหาของผู้บริหารทำให้โรงเรียนดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารสมัยใหม่บางคนอาจพบว่า การมีความยืดหยุ่นนั้นทำให้เกิดบรรยากาศของการทำงานที่ดี หรือเมื่อประสบปัญหา การทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างรวดเร็ว และใช้บทเรียนในการพัฒนาต่อก็จะเป็นผลดีกับเด็กนักเรียนอีกด้วยมุ่งมั่นและมีความหลงใหล (Commitment and Passion) ผู้บริการโรงเรียนนั้น นอกจากจะต้องมีทักษะการบริหารที่รอบคอบ เฉียบขาด และมีประสิทธิภาพแล้ว การมีความมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนและมีความหลงใหลในการหาวิธีการ เพื่อนำมาพัฒนาสถานศึกษาซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุด เพราะหากไร้ความมุ่งมั่นแล้ว ไอเดียหรือการพัฒนางานต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นมีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะพบว่าการเป็นผู้บริหารนั้นช่างยาก แถมยังต้องมีจิตใจที่มั่นคงมากเหลือเกินในการเป็นผู้บริหารที่ดี แต่บทความนี้อยากเน้นย้ำถึงความสำคัญของคุณสมบัติ ข้อสุดท้ายที่ผู้บริหารควรมี นั้นคือ การมีความเข้าอกเข้าใจต่อผู้อื่นและต่อตนเอง เพราะภาระที่หนักหนาและการบริหารความต้องการของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน ต้องใช้พลังงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น ท่านผู้ที่มีหน้าที่บริหารหลายท่านไม่ควรลืมที่จะมีเวลาได้หยุดพักผ่อนและได้ผ่อนคลาย เพื่อสร้างพลังให้กับตนเองด้วย
อ้างอิง
- 10 ทักษะสำคัญ ของผู้บริหารโรงเรียนที่ดี โดย Starfish Academy (https://www.starfishlabz.com/blog/817-10-ทักษะสำคัญ-ของผู้บริหารโรงเรียนที่ดี)
- 4 สิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนควรทำ (และ ไม่ควรทำ) ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียน (https://www.educathai.com/knowledge/articles/64)
- 5 เทคโนโลยีการศึกษาที่น่าจับตามอง (https://www.tot.co.th/blogs/ดิจิทัลทิปส์/digital-updates/SME-tips/2020/06/09/5-เทคโนโลยีการศึกษาที่น่าจับตาตามอง)
- David Gurr, Lawrie Drysdale & Bill Mulford (2006) Models of successful principal leadership, School Leadership & Management, 26:4, 371-395, DOI: 10.1080/13632430600886921
- Tony Bush & Derek Glover (2014) School leadership models: what do we know?, School Leadership & Management, 34:5, 553-571, DOI: 10.1080/13632434.2014.928680
-------------------------------------------
วารสารวิทยาจารย์
ปีที่ 122 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2566 (ฉบับเต็ม)
