การเรียนการสอนด้วยการตกผลึกทางปัญญา
การเรียนการสอนด้วยการตกผลึกทางปัญญา
ผู้เขียน: ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ l รศ.ดร.ทวีศักดิ์ จินดานุรักษ์
ที่มาบทความ: วิทยาจารย์ ปีที่ 118 ฉบับที่ 11 เดือนกันยายน 2562, หน้า 24-28.
---------------------------------------------
ความหมายแลกความสำคัญ
การตกผลึกทางปัญญา เป็นความสามารถของผู้เรียนที่จะประเมินค่างานวิชาการหรือองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาหรือสร้างขึ้นใหม่ แล้วนำมาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ครบถ้วน และรอบด้าน รู้ถึงเหตุผลเบื้องหลัง ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจสังคม ตลอดจนนานาชาติ จนประจักษ์อย่างชัดแจ้งในความรู้นั้น พร้อมทั้งสามารถบูรณาการเข้ากับสังคมได้อย่างสมบูรณ์เพื่อเป็นฐานสำหรับแนวคิดใหม่ได้ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2547)
การเรียนการสอนโดยการตกผลึกทางปัญญา จึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อผู้เรียนในระดับปริญญาบัณฑิต หรือบัณฑิตศึกษาในระดับหนึ่งแล้ว และเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยแท้จริง เนื่องด้วยเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สรรค์สร้าง ความรู้ความคิดด้วยตนเอง โดยการรวบรวม ทำความเข้าใจ สรุป วิเคราะห์และสังเคราะห์จากการศึกษาด้วยตนเองแล้วสร้างเป็นผลงานเขียนขึ้นเป็นสำคัญ
การสร้างผลงานที่จะสะท้อนการตกผลึกทางปัญญาได้ดีที่สุด คือ การเขียน เพราะการเขียนเป็นเครื่องมือในการสื่อความคิด ประสบการณ์และสื่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนได้อย่างดี ผู้สอนมีบทบาทในการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดและมีมุมมองที่กว้างขึ้น การเรียนการสอนโดยการสร้างผลงานการเขียนจะเกิดผลสมบูรณ์ได้ หากผู้สอนและผู้เรียนได้วิเคราะห์ผลงานร่วมกัน ผู้สอนควรสอดแทรกการสอน การคิด คำนิยม และจริยธรรมรวมทั้งสื่อสารกับผู้เรียน เพื่อประเมินว่ากระบวนการถ่ายทอดการคิดของผู้เรียนออกมาเป็นผลงานนั้นเขียนสอดคล้องกันหรือไม่
เหตุที่การสอนและผลจากการสอนอันเกิดจากการตกผลึกทางปัญญามีความสำคัญ เพราะนอกจากผลงานจากการศึกษาที่เกิดจากกระบวนทางปัญญาแล้ว จะต้องมีความชัดเจนว่าเป็นผลผลิต (Product) ที่เหมาะสม แต่ความชัดเจนที่เราเห็น อาจจะเป็นภาพลวงอยู่ก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นจนกว่าผลงานที่เราศึกษาจากความรู้ที่เราพบนั้นมีความเหมาะสมจริง ปราศจากเหตุผลหรือสิ่งซ่อนเร้นในการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม เนื่องจากความรู้ทางวิชาการอาจจะมีเหตุผลซ่อนเร้นทางการเมือง นานาชาติ และวัฒนธรรมอยู่เสมอ (อุรวดี รุจิเกียรติกำจร, 2550)
กระบวนการและขั้นตอน
กระบวนการเรียนรู้จากการตกผลึกทางปัญญา ประกอบไปด้วยกระบวนการพื้นฐานหลัก 5 ประการ คือ การคิดวิจารณญาณ (Criticalization) หมายถึง การทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งในเรื่องที่ศึกษาก่อนว่ามีเหตุผลที่มาซ้อนเร้นอยู่บ้างหรือไม่ หมายถึงไม่เชื่อหรือไม่ยอมรับอะไรง่าย ๆ หลังจากนั้น จึงเป็นการสร้างองค์ความรู้ขึ้นใหม่ (Creation) ซึ่งอาจจะได้มาจากการคิด การสอน การวิจัย การสร้างขึ้นเอง เพื่อให้มีความรู้และผลงานใหม่ขึ้นมา ขั้นตอนที่ 3 คือ การประเมินในเชิงคุณค่า (Valuation) เมื่อได้งานขึ้นมาแล้ว ต้องดำเนินการวิพากษ์วิจารณ์ก่อนว่าเหมาะสมเพียงใด แล้วจึงให้คุณค่าว่ามีความหมายมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นจึงนำไปสู่การบูรณาการ (Integration) ว่าสิ่งที่ได้ศึกษา และพัฒนาจนมีผลงานนั้นสามารถเชื่อมโยงเข้ากับบุคคลและสังคมได้มากน้อยเพียงใด อธิบายความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสังคมสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ขั้นตอนสุดท้าย คือ การสื่อสาร (Communication) กับบุคคลต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ งานเขียนจึงเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่สำคัญของ การตกผลึกทางปัญญา (Crystallization) 

การดำเนินการสอนในแนวนี้ ควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการสอนในแนวนี้ก่อนว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร ต้องการให้ผู้เรียนแสดงออกอย่างไร และจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนในลักษณะใดได้บ้าง แล้วจึงให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะพื้นฐานทั้ง 5 ประการก่อน ต่อจากนั้นจึงให้เรียนเข้าสู่เนื้อหาตามลำดับ การดำเนินการเรียนรู้แนวนี้ มีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
ขั้นการพัฒนางาน1. หลังจากบอกจุดประสงค์แล้ว จึงทำความเข้าใจในเนื้อหาและประเด็นหลัก ๆ ของรายวิชา ว่าครอบคลุมประเด็นสำคัญอะไรบ้าง แล้วจัดแบ่งประเด็นหลักประมาณ 4 - 5 ประเด็น แล้วให้นักเรียนไปศึกษาวิเคราะห์เอกสารแนวคิดตามประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่กว้างได้ โดยอาจศึกษาจากงานวิจัยต่าง ๆ ประกอบด้วยก็ได้ เมื่อได้ประเด็นแล้ว ผู้เรียนต้องวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อน เป็นกระบวนการวิเคราะห์เนื้อหาอย่างเข้มข้น (Criticallization the Knowledge)หลังจากนั้นให้ผู้เรียนพัฒนาแนวคิดในประเด็นต่าง ๆ แยกทีละประเด็น แล้วให้เขียนประเนต่าง ๆ เหล่านั้นออกมาเป็นผลงานในลักษณะที่เป็นแนวคิดของตนเองที่ได้ผ่านการกลั่นกรอง วิเคราะห์เจาะลึก จนตกผลึกทางความคิดของตนเองในชั้นแรกแล้วขั้นการทดสอบ2. เมื่อผู้เรียนเขียนและแก้ไขจนแน่ใจว่า เป็นความคิดตกผลึกของผู้เรียนแล้ว ให้ผู้เรียนแต่ละคนนำเสนอในกลุ่ม เพื่อให้เพื่อนผู้เรียนในกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ดำเนินการในลักษณะนี้ไปแต่ละประเด็นจนครบ 4 - 5 ประเด็นที่วางไว้แต่ต้นเมื่อจบแต่ละประเด็นของผู้เรียนแล้ว ผู้สอนควรจะประเมินเชิงให้คุณค่า และชี้แนะในเชิงเนื้อหาและกระบวนการเขียนของแต่ละคนให้ชัดเจน ให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคนเพื่อการเรียนรู้และการปรับแก้ไขในครั้งต่อ ๆ ไปการเขียนประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะเป็นประเด็นใหญ่หรือเล็กก็ได้แล้วแต่ตามความเหมาะสมและการตกลงกันของผู้เรียนและผู้สอน แต่ควรจะต้องให้ครอบคลุมประเด็นที่เป็นเนื้อหาของรายวิชา ๆ นั้น อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ด้วย (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2549)ขั้นการปรับแก้3. เมื่อวิเคราะห์วิจารณ์จนเพียงพอแล้ว ผู้เรียนจะต้องนำงานชิ้นนั้นไปปรับแก้ ด้วยการทบทวนทำความเข้าใจจนชัดเจนให้มีความเข้มข้น มีความคมคายมากยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น4. เมื่อปรับแก้แล้ว จะต้องนำผลงานนั้นมาเสนอในชั้นเรียนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เพื่อนและผู้สอนสะท้อนความชัดเจน ความเข้มข้นและความจริงจังอีกครั้งหนึ่ง โดยประเด็นวิจารณ์จะต้องระบุเหตุผล ความรู้ ข้อมูลเบื้องหลังของเรื่องนั้นอย่างชัดเจน และมองเห็นแนวทางของการประยุกต์ใช้ขั้นการตกผลึก5. เป็นการปรับแก้ให้เป็นงานที่ตกผลึกของตนเอง ถ้ายังไม่แน่ใจอาจนำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์ในชั้นเรียนได้อีก
บทบาทของผู้สอนและผู้เรียน
การสอนในแนวนี้ ผู้สอนจะต้องกำหนดเป้าหมายและทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์และจุดหมาย จากนั้นจึงชี้แนะแนวทางการสร้างผลงานการเขียนในรูปแบบต่าง ๆ แล้วตกลงกันก่อนว่า ผู้เรียนต้องการสร้างผลงานการเรียนแนวไหน ต่อจากนั้นสิ่งที่เขียนมีจุดมุ่งหมายอย่างไร ควรมีความชัดเจนว่า มีเบื้องหลังของเนื้อหาในประเด็นใดบ้างเป็นต้น
ในส่วนของผู้เรียนเอง ต้องแสวงหาแนวคิด และพัฒนาความคิดของตนซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนเป็นภาพรวมของตนเองอย่างเด่นชัด แล้วจึงถ่ายทอดความคิดนั้นออกมาให้ชัดเจน รวมทั้งพร้อมที่จะรับความคิดของตนอื่น ๆ มาเพื่อปรับแก้ความคิดของตนเองด้วย
หลักใหญ่ของการสอนแนวนี้ คือ การทดสอบตนเองแล้วอธิบายความคิดของตนเองด้วยงานเขียนว่าตนเองมีความชัดเจนเพียงใด (Crystallizations) และมองแง่มุมต่าง ๆ จนครบแล้วหรือไม่
บรรณานุกรม
ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2549). การศึกษาเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ. กรุงเทพฯ: สาขาวิชาอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2549). สัตตศิลา: หลักเจ็ดประการสำหรับการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้. กรุงเทพ: คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.อุรวดี รุจิเกียรติกำจร. (2550). โพสต์โมเดิร์น: ปรัชญาและกระบวนทัศน์แม่แบบการศึกษา. ขอนแก่น: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
