ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา
ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้แต่ง: รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ คงเที่ยง
ที่มาบทความ: วิทยาจารย์ ปีที่ 118 ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม 2561, หน้า 68-70.
การที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะสามารถดำเนินการบริหารจัดการศึกษาให้ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้นั้น นอกจากจะปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาแล้ว ยังต้องแสดงบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้นำด้วย คือ มีความรู้ความสามารถในการใช้ปัญญาชี้นำ เพื่อปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่อองค์กรและต่อตนเอง โดยอาศัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่พึงประสงค์ ผู้นำต้องแสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความมีภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นผลรวมของบุคลิกภาพ เช่น ลักษณะทางกาย ทางอารมณ์ ทางสังคมและมนุษย์สัมพันธ์ในฐานะของผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถใช้ปัญญาชี้นำ และเป็นต้นแบบที่ดีด้านการศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องแสดงบทบาทในฐานะผู้นำทางการศึกษา ซึ่งจะต้องเป็นการแสดงออก โดยอิสระที่มีผลดีต่อผู้อื่น หรือสังคม เช่น การตัดสินใจ การจูงใจให้คนทำงาน การแสดงออกทางความคิด การพูด พฤติกรรมทางอารมณ์ การอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม เป็นต้น
เมื่อพิจารณาบริบทของความเป็นผู้นำทางการศึกษา จะพบว่า บทบาทของผู้นำทางการศึกษาของผู้บริหารสถานฦศึกษาจะเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้นำให้คำปรึกษาหารือในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม การเป็นผู้จูงใจให้ผู้อื่นปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องตามตัวแบบหรือตัวอย่างที่ดีได้ การเป็นผู้พัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พึงประสงค์ขององค์การหรือสังคม และเมื่อตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเรียนการสอน ดังนั้นจุดมุ่งเน้นและเป้าหมายของการบริหารสถานศึกษา คือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษา ต้องแสดงบทบาทสำคัญในเชิงวิชาการ ต้องเข้าใจและรับผิดชอบการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการที่เป็นวิชาชีพของตนอย่างลุ่มลึก จนสามารถใช้ในการให้คำแนะนำให้ข้อเสนอแนะเพื่อใช้ความรู้ในสาขาของตน เพื่อการอธิบายเหตุการณ์และจัดสถานการณ์ เพื่อให้เกิดผลดีต่อภารกิจ/องค์การเพื่อป้องกันปัญกาที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด ถึงสามารถให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้สำเร็จในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ยอมรับ มีการพัฒนานวัตกรรมเชิงวิชาชีพและมีผลงานเผยแพร่ ซึ่งการที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะมีความสามารถด้านวิชาการนั้น จะต้องเป็นเหตุผลที่มีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด อารมณ์มั่นคง มีอารมณ์ดี และมีคุณธรรมและจริยธรรมสูง มีมนุษยสัมพันธ์สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นทีมงานที่เข้มแข็ง มีบุคลิกภาพทั้งภายนอกและภายในงดงาม ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาต้องตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีภาวะผู้นำทางวิชาการ
ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง การแสดงบทบาทหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ของผู้บริหารสถานศึกษาที่สามารถโน้มน้าว จูงใจหรือชี้นำให้บุคลากรในสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจ และตระหนักในจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา รวมพลังและประสานสัมพันธ์กันเพื่อให้งานวิชาการ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของการวัดการเรียนการสอน และคุณภาพของผู้เรียนอันเป็นภารกิจหลักของสถานศึกษาบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
คุณลักษณะภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีประสิทธิผล มีองค์ประกอบ ดังนี้
1. ด้านความรู้ ต้องมีความรู้ที่จำเป็นสำหรับภาวะผู้นำทางวิชาการ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนที่มีประสิทธิผล ความรู้เกี่ยวกับการสอนที่มีประสิทธิผล ความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับปรัชญาในการจัดการศึกษา ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทางการบริหาร ความรู้เกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีหลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร2. ด้านภาระหน้าที่ เป็นภาระหน้าที่ที่สัมพันธ์กับด้านความรู้ประกอบด้วยการนิเทศและประเมินผลการสอน การพัฒนาบุคลากรและทีมงาน การพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้การพัฒนากระบวนการกลุ่ม การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการและการวิจัยในชั้นเรียน การสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน3. ด้านทักษะ เป็นการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผล ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีทักษะภาวะผู้นำที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ทักษะความเป็นผู้นำ ได้แก่ ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะการติดต่อสื่อสาร ทักษะการนิเทศ ทักษะการแนะแนวทางการตัดสินใจร่วมกันของกลุ่ม ทักษะด้านเทคนิค ได้แก่ ทักษะการกำหนดเป้าหมายหรือการกำหนดวิสัยทัศน์ ทักษะการประเมินผล และการวางแผน ทักษะการสังเกตและทักษะการวิจัย และการประเมิน
พฤติกรรมของการเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาต้องได้รับการฝึกทักษะการเป็นผู้นำของวิชาการให้มีพฤติกรรม หรือภาวะผู้นำทางวิชาการ ดังนี้
1. สนับสนุนวิธีการสอนและการบริหารการเปลี่ยนแปลง2. ให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสอนแก่ครู3. ให้ความสนใจเยี่ยมห้องเรียน เพื่อความมุ่งหมายต่อพัฒนาการสอน4. สร้างแรงจูงใจและบรรยากาศการมีส่วนร่วม การกำหนดเงื่อนไขและให้ผลสะท้อนกลับ5. ใช้ข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตร และการสอนเพื่อความสำเร็จของนักเรียน6. ใช้ข้อมูลของบุคลากรเพื่อกำหนดกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาวิชาชีพ
องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการ
องค์ประกอบของภาวะผู้นำทางวิชาการที่สำคัญ มีดังนี้
1. องค์ประกอบด้านคุณลักษณะ ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาด้านคุณลักษณะ ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษาด้านคุณลักษณะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะการพูด มีบุคลิกลักษณะที่ดี2. องค์ประกอบด้านพฤติกรรม คือ มีลักษณะเด่นชัดทางพฤติกรรม เช่น การพูดดี มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เป็นต้น3. องค์ประกอบด้านสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดภาวะผู้นำได้ เช่น ปัญหาพลังงาน ปัญหาความแตกแยกในองค์การจะส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง4. องค์ประกอบด้านความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมผู้กำกับสถานการณ์5. องค์ประกอบด้านประสิทธิผล ความพึงพอใจ ผลการจูงใจ และผลผลิตที่เกิดขึ้นในกลุ่มหรือในองค์กร
เป้าหมายสำคัญของการบริหารสถานศึกษา คือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาต้องแสดงบทบาทสำคัญในเชิงวิชาการ ต้องเข้าใจ และรับผิดชอบการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งจะต้องมีความรู้ความสามารถด้านวิชาการที่เป็นวิชาชีพของตนเองอย่างลุ่มลึก จนสามารถใช้ในการให้คำแนะนำให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ร่วมงานได้ ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาต้องตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่มีภาวะผู้นำเชิงวิชาการ
------------------------------------------