EdTech จะเดินหน้าได้ เมื่อสะท้อนความต้องการผู้สอน
EdTech จะเดินหน้าได้ เมื่อสะท้อนความต้องการผู้สอน
เรื่อง: ปรีดา ชัยนาจิตร
ที่มา: วิทยาจารย์ ปีที่ 121 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน 2565, หน้า 27-29.
----------------
การตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนจำเป็นต้องรับฟังบริบทและมุมมองความคิดเห็นของบรรดาครูผู้สอน สนับสนุน บทบาทครูในการกำหนดแนวทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
การประชุมสุดยอดเทคโนโลยีสำหรับครูจากทั่วโลก หรือ Teacher Tech Summit 2022 ที่มีบรรดาครูและนักการศึกษากว่า 36,000 ราย เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์ จัดโดย T4 Education แพลตฟอร์มสำหรับนักการศึกษาและโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งมีธนาคารโลก (World Bank) และ Owl Ventures บริษัทบริหารกองทุน (Venture Capital) ที่มุ่งผลักดันเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) เป็นเจ้าภาพร่วม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอแนวความคิดสำคัญที่ว่าครูจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่เดิม เนื่องจากครูเป็นด่านหน้าในการจัดทำเนื้อหาการเรียนการสอน จึงมีความเข้าใจในเครื่องมือที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในห้องเรียนมากที่สุด
Vikas Pota ผู้ก่อตั้ง 14 Education และ Teacher Tech Summit ตั้งข้อสังเกตว่าจากงานสัมมนาทั่วโลกที่ได้ไปเข้าร่วมมา เขาไม่เคยพบเห็นครูได้รับเชิญให้ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการใช้ EdTech แม้แต่ครั้งเดียวจะพบแต่นักนโยบาย ผู้บริหารบริษัท ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านเทคโนโลยีเท่านั้น เขาจึงมีความเห็นว่าครูที่เป็นผู้มีหน้าที่จัดแผนการเรียนการสอนให้คนรุ่นใหม่โดยตรง ควรเป็นเสียงที่นักพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาจำเป็นต้องรับฟังมากกว่าใคร
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ภาครัฐและบริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องฟังความเห็นของเหล่าครูอาจารย์มากขึ้น เพื่อทราบถึงเครื่องมือที่ใช้ได้ผลและไม่ได้ผลในห้องเรียน และจะทำให้สามารถเลือกใช้ EdTech ที่เหมาะสม ยกระดับการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ Pota กล่าวว่า นักนโยบายและนักวิจัยไม่ควรคำนึงถึงเฉพาะบริบทของตนเองเท่านั้น เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกใช้เทคโนโลยีการศึกษายังประกอบด้วย กลุ่มผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม สตาร์ทอัพ นักลงทุน อีกทั้งยังมีครูในโรงเรียนต่าง ๆ ที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีไม่ควรจะฟังเพียงนักออกแบบ ผู้ผลิต พันธมิตร หรือผู้เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
ผู้ก่อตั้งการประชุมสุดยอดด้านเทคโนโลยีสำหรับครูจากทั่วโลก ระบุว่า แวดวงการศึกษาจะอุดช่องว่างนี้ได้ต่อเมื่อมีการพูดคุยหารือกัน ซึ่งมุมมองของครูและนักนโยบายจะมีนัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายรองรับเทคโนโลยีการศึกษา พร้อมย้ำว่าการฝึกอบรมครูและการพัฒนาเส้นทางอาชีพครูถือเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการศึกษา ควรกำหนดเป็นวาระสำคัญและนำมาพิจารณาในแผนการลงทุน
โอกาสที่หลุดลอยไป
Karen Giles หัวหน้าคณะครูของโรงเรียน Barham Primary School ในสหราชอาณาจักร อธิบายว่าในบริบทของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ความคิดเห็นของครูไม่ได้ถูกรับฟังบ่อยครั้งมากพอ เนื่องจากมีการเปิดรับฟังมุมมองต่าง ๆ เพียงเล็กน้อย อีกทั้งหลายครั้งมีการลงความเห็นคลุมเป็นนัยทั่วไป ทำให้มองข้ามความต้องการเฉพาะเจาะจงในบริบทของครูแต่ละรายและไม่สามารถตอบสนองความต้องการในราคาที่เข้าถึงได้
เธอระบุว่า นักพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา ควรถามให้ตรงประเด็นและรับฟังความคิดเห็นของบรรดาครู เพื่อทราบถึงความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากครูแต่ละคนล้วนเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอธิบายว่าแม้เด็ก ๆ ได้รับการบริจาคแล็ปท๊อป และอุปกรณ์จากบริษัทต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเล่าเรียน แต่เด็กบางคนอาจเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้บ้างหรือไม่สามารถเชื่อมต่อได้เลยในช่วงเกิดโรคระบาด ตัวอย่างเช่น ในห้องเรียนห้องหนึ่ง เด็กนักเรียนต้องใช้โทรศัพท์และแพ็คเกจการใช้ข้อมูลของพ่อแม่ เพื่อเข้าถึงการเรียนออนไลน์ ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงต้องพานักเรียนกลับมาโรงเรียน เพื่อจัดทำสำเนาแบบฝึกหัดและส่งมอบด้วยมือแทน ซึ่งเธอเชื่อว่า EdTech จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้ เมื่อพวกเขาฟังเรื่องราวประสบการณ์จริง จากผู้ฟังในการประชุมสุดยอดนี้และผู้มีบทบาทในชุมชนและการประชุมนี้ พวกเขาจะทราบถึงการขาดพัฒนาการด้านทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Skills) ขาดการพัฒนาความมั่นใจ ความเป็นอิสระ การจดจำการอ่านเขียนและการคำนวณพื้นฐาน ไปจนถึงขาดความสามารถในการเขียนในหลักสูตรการเรียนการสอน
Mayank Dhingra ผู้นำธุรกิจการศึกษาอาวุโสของ HP ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก ให้มุมมองว่าครูเผชิญความกดดันอย่างหนักที่ต้องปรับแนวทางการเรียนการสอน เพื่อรองรับโมเดลการเรียนแบบไฮบริดและออนไลน์ โดยชี้ว่าครูจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในทุกแง่มุม เพื่อปรับตัวสู่ยุคการเรียนรู้แบบดิจิทัล และเทคโนโลยีการศึกษามีศักยภาพที่จะยกระดับผลลัพธ์การเรียน ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และช่วยให้ครูมีเวลาเตรียมการเรียนการสอนมากขึ้น
อ้างอิง
https://www.thenationalnews.com/uae/2022/03/26/teachers-need-to-be-at-the-heart-of-decision-making-over-classroom-technology/
https://t4.education/events/teacher-tech-summit/teacher-tech-summit-2022/
----------------------------------------
