ภาษาไทยกับการเรียนรู้...สู่ยุคดิจิตอล
ภาษาไทยกับการเรียนรู้...สู่ยุคดิจิตอล
ผู้เขียน ครูมาลัย ทัศนกุลวงศ์
ที่มาบทความ หนังสือที่ระลึกพิธีประกาศเกียรติคุณครูภาษาไทยดีเด่น 2560, หน้า 41-43.
-------------------------------------
การใช้ภาษาไทยในสังคมไทย นับวันแต่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากขึ้น ทุกเวลาและทุกวัน เนื่องจากภาษาไทยเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารของคนไทย โดยเฉพาะเมื่อเยาวชน ประชาชนไทยรุ่นใหม่ทวีจำนวนมากขึ้น ก็ย่อมก่อให้เกิดระบบสังคมย่อยหลายภูมิภาคมีวิวัฒนาการทางสังคมทั้งสิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อกลางในการติดต่อ การสื่อสาร การเรียนรู้ และการกำหนดทิศทางของสังคม
ความเปลี่ยนแปลงย่อมก่อให้เกิดประโยชน์และโทษควบคู่กันเสมอเป็นปกติสามัญของสรรพสิ่งในโลก ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในมุมมองของผู้ใหญ่ หรือผู้สืบทอดที่มีอายุมาก จึงแตกต่างไปจากมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ เป็นต้นว่า แม้การสื่อสารด้วยภาษาไทยในปัจจุบันจะมีความกระชับ สั้น รวดเร็ว ง่ายต่อความเข้าใจ แต่ก็เกิดความเสียหายต่อรูปแบบทางขนบทางภาษา อันสืบทอดมาแต่โบราณกาล และผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยอาจต้องคล้อยตามกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยเอกลักษณ์ของการพูด การเขียน การอ่าน และการฟังในภาษาไทยจึงเกิดจากการจัดการด้วยระบบกลไกของการสืบทอดทางสังคม ด้วยเหตุนี้จึงยังมีกลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ หลายองค์กร หน่วยงาน ต่างแสดงความห่วงใย โดยดำเนินการแก้ไขและและเผยแพร่รูปแบบการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์กันอยู่เนือง ๆ อาทิ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.๒๕๕๘ ว่า “กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทย มิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฎเด่นชัดขึ้น” (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๙ : ๓) ดังนั้น เราจึงได้เห็นหนังสือ กิจกรรม รายการโทรทัศน์ การจัดงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ร่วมดำเนินการในวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกันอีกมากมาย โดยมากมักเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คือ มหาวิทยาลัย โรงเรียน องค์กร สถาบันทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งส่วนมากเหล่านักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ทางด้านภาษาไทยต่างก็เรียบเรียงหนังสือ ตำรา สิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้ หรือส่งเสริม สนับสนุนการแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีผลการศึกษาวิจัยทางด้านการใช้ภาษาไทยหลากหลายกรณีศึกษา ซึ่งนับเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และเผยแพร่หลักการทางภาษาศาสตร์ให้ถูกต้องอย่างยั่งยืนต่อไป แต่กระนั้นก็ดีพบว่าความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่เพียงพอ ต่อการให้ความรู้แก่สังคมในวงกว้างและทั่วถึง
เนื่องจากยังพบว่า กลุ่มเยาวชน ตลอดถึงปัญญาชนในระดับอุดมศึกษายังมีปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจในภาษาประจำชาติประปราย อาทิ จากผลการวิจัยการใช้ภาษาไทยในรูปแบบการพูด การเขียน การอ่าน และการฟังในภาษาไทย พบว่า คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปหลายกรณี ดังเช่น จอมขวัญ สุทธินนท์และคณะ (๒๕๕๙) ซึ่งวิจัยหัวข้อเรื่องความสามารถในการอ่านคำภาษาไทยของนักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาและภาษาไทยประยุกต์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลการวิจัยดังกล่าวพบว่า นักศึกษาส่วนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างการเก็บข้อมูล ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการออกเสียงคำ ที่มีจำนวนพยางค์ ตั้งแต่ ๒ - ๖ พยางค์ ในหลาย ๆ คำซึ่งเป็นตัวอย่างหรือตัวแทนคำที่สุ่มเพื่อเก็บข้อมูล ดังมีคำที่อ่านผิดมากที่สุดในกลุ่มคำที่มี ๒ พยางค์ คือ คำว่า “ซอมซ่อ” กลุ่มคำที่มี ๔ พยางค์ คือ คำว่า “ธารกำนัน” และในจำนวนกลุ่มคำ ๖ พยางค์ คือ คำว่า “จักรพรรดิมาลา” เป็นต้น (จอมขวัญ สุทธินนท์และคณะ, ๒๕๕๙ : ๓๐-๓๓) นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยด้านปัญหาความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าการทำงานด้านการส่งเสริมสนับสนุนด้านความรู้และความเข้าใจ ในการใช้ภาษาไทย เพื่อการสื่อสารหรือการดำเนินงานต่าง ๆ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิวัฒน์ สุธรรมดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้อภิปรายลักษณะการแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าวว่า
“...เด็ก เยาวชน และวัยรุ่น แม้กระทั่งผู้ใหญ่ ในสมัยนี้ ล้วนใช้ชีวิต อยู่กับสังคมออนไลน์ อินเตอร์เน็ต สังคมในกลุ่มของสื่อความเร็วสูง ดังนั้น พวกเขาก็ย่อมต้องใช้ภาษาสแลง ศัพท์ใหม่ ๆ ที่ต้องใช้สื่อความกันอย่างกระชับ รวดเร็ว โดยมักมีความแปลกใหม่ ขบขัน หรือมีนัยแฝง ตลอดจนใช้ตามกระแสนิยมการเขียนหรือสื่อความด้วยคำไทยตามหลักภาษาที่ถูกต้องจึงต้องแปรเปลี่ยนไป เช่น คำว่า “ก็” เขียนว่า “ก้อ” คำว่า “เขา” เขียนว่า “เค้า” ฯลฯ ซึ่งเมื่อใช้สื่อสารระหว่างบุคคลกันก็ไม่นับว่าผิด แต่ปัญหาที่พบคือ ความเคยชินทำให้เด็ก ๆ ไม่ทราบว่าคำไทย หรือแม้กระทั่งคำในภาษาอื่น เขียนถูกต้องอย่างไร เมื่อนำมาใช้สื่อสารโดยทางการ หรือเผยแพร่ต่อผู้อื่นจำนวนมากขึ้น เช่น งานวิชาการ เรียงความ รายงาน ฯลฯนอกจากนี้ยังพบว่า รูปประโยคที่สื่อสารมีปัญหาในการใช้ภาษาแบบทางการ โดยพบประโยคที่ไม่สมบูรณ์จำนวนมากที่ใช้อย่างเคยชิน และไม่ทราบประโยคที่ถูกต้อง ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคำที่ไม่มีส่วนประกอบสมบูรณ์ ไม่มีประธาน หรือไม่มีกริยา บางครั้งมีแต่ส่วนขยายของกริยา หรือคำนาม ทั้งยังมีประโยคความซ้อนที่ไม่สมบูรณ์ในรูปแบบประโยค ทำให้การสื่อสารมีความสับสน ทำให้เรียบเรียงความคิดยังไม่เป็นระบบ แม้กระทั่งในบางครั้งอาจมีความเข้าใจคำหรือวลี เพื่อสื่อความว่าคำใดหมายถึงสิ่งใด แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง คำหรือวลี ให้ถูกต้องดังนั้น สามารถแก้ปัญหาโดยวิธีหนามยอก เอาหนามบ่ง หรือแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบสื่อด้วยกันช่วยเหลือ เช่น นำคำ วลี และประโยคที่ผิดเหล่านั้นมาอภิปรายในชั้นเรียน หรือทดสอบหลักการใช้ภาษาอยู่เนือง ๆ ...”(อภิวัฒน์ สุธรรมดี, สัมภาษณ์ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐)
จากประเด็นดังกล่าว พบว่า ปัญหาด้านภาษาเกิดขึ้นในวงกว้าง ทุกภูมิภาค เมื่อนักวิชาการหรือครูต้องการแก้ปัญหาอาจมีแนวคิดที่แปลก แตกต่างกันไปมากมาย แต่หากจะใช้ระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คให้เป็นประโยชน์ ก็จะเข้าถึงตัวของเด็ก เยาวชนหรือผู้ใหญ่ได้โดยตรง โดยใช้ระบบการเสนอแนะแนวทาง ระบบการสอนหรือการใช้สัญลักษณ์ เพื่อให้เกิดความรู้ไว้ในแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ของโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารพกพาแบบต่าง ๆ ซึ่งทำขึ้นอย่างเป็นรูปแบบสมบูรณ์และกึ่งสมบูรณ์เพื่อแทรกแซงไว้ในระบบการสื่อสาร ทั้งในระบบสังคมสื่อในเฟสบุ๊ค ไลน์ เกมส์ หรือสร้าง Learning Application สำหรับให้ความรู้ทางปรัชญา ทฤษฎี หลักการ ขั้นตอน โดยนำความรู้ที่ถูกต้องมาจากราชบัณฑิตยสภา นักปราชญ์ คณาจารย์ที่เป็นที่ยอมรับซึ่งเผยแพร่ผลงานมาแล้วมากมาย มาออกแบบเพื่อทดลองให้ความรู้ ความหมาย ไวยากรณ์ ทักษะการใช้ภาษาทุกด้าน ฯลฯ
โดยในการสร้างควรมีเป้าหมายในการพัฒนาการเรียนการสอน หรือแก้ปัญหาการใช้ภาษาในทักษะต่าง ๆ ด้วยการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งแม้ว่าเมื่อนำมาเผยแพร่ในวงการศึกษารแล้วอาจจะมีการนิยมใช้ในส่วนหนึ่ง จึงควรสร้างระบบแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองการใช้งานด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนด้วย เช่น แทรกอยู่ในข้อมูลพจนานุกรม การตรวจสอบการอ้างอิง งานวิจัย เกมส์ ตลอดจนข้อมูลของหน่วยงานของรัฐบาลหรือเอกชนที่ให้ความสำคัญ หรือขอความร่วมมือให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากรูปแบบการให้ความรู้ในลักษณะนี้เป็นการช่วยเหลืออย่างทันทีทันใด และส่งเสริมให้เกิดความรู้ที่ยั่งยืน ส่งเสริมการศึกษาได้ตลอดชีวิต ทั้งควรให้ความรู้หรือช่วยเหลือได้ทุกกลุ่มอายุ ทั้งมีความเป็นธรรมชาติ โดยในปัจจุบันพบว่าได้เริ่มมีการวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศ จึงควรนำผลวิจัยมาต่อยอดดีกว่าการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ซึ่งผลการพัฒนาการเรียนรู้ที่ใหม่ย่อมเป็นการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้สังคมไทย และประเทศชาติพัฒนาสืบไป
---------------------------------
อ้างอิงชลลดา พงษ์พัฒนโยธินและคณะ. ๒๕๕๙. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม - ธันวาคม).กรุงเทพมหานคร: บริษัท สหธรรมิก จำกัด.สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ๒๕๕๙. ภาษาไทย ภาษาสื่อ ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับริชชิ่ง จำกัด (มหาชน).อภิวัฒน์ สุธรรมดี. ๒๕๖๐. สัมภาษณ์, ๑๙ ตุลาคม. มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.