นิเวศการเรียนรู้ : เรื่องเก่าบนวิถีใหม่
นิเวศการเรียนรู้ : เรื่องเก่าบนวิถีใหม่
ผู้เขียน : นริศนา ใจคง l สิริกานต์ แก้วคงทอง (สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา)
ที่มาข้อมูล: วารสารการศึกษาไทย (OBEC JOURNAL) ปีที่ 18 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2564, หน้า 64-69.
-----------------------------
ประเทศไทยประสบปัญหาการศึกษาหลายด้าน ทั้งวิธีการจัดการศึกษา การเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงตามบริบทของพื้นที่ ผู้เรียนที่จบการศึกษาประสบปัญหาในการทำงาน ประเทศไทยขาดนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ ลงทุนกับด้านการศึกษาสูงแต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ พิจารณาได้จากผลคะแนนการทดสอบระดับชาติและนานาชาติ อาทิ คะแนน PISA คะแนน O-Net การทดสอบภาษาอังกฤษระดับชาติ โดยเทียบกับ CEFR ซึ่งล้วนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และกว่าสามทศวรรษมาแล้วที่เรายังหาทางแก้ไขกับปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้น
จากสภาพดังกล่าว ในฐานะนักการศึกษา มีหน้าที่ในการหาคำตอบของปัญหาการศึกษา โดยมุ่งไปที่การวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการพัฒนาคนในทุกระดับ ทุกมิติ ทุกช่วงวัย ที่ผ่านมาแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศทุกแผน ล้วนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ให้พัฒนาผู้เรียนตามความถนัดของตน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ให้ความสำคัญและมีข้อความที่อ้างถึง “ระบบนิเวศการเรียนรู้” เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาและยกระดับเต็มศักยภาพ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างครอบคลุม ในขณะที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เน้นส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยี เพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
โดยรวมแล้วแผนและนโยบายพัฒนาชาติทุกระดับ เน้นให้สร้างระบบ วิธีการที่สนับสนุนให้บุคคลได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพวิถีการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล (Learning Style) สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของ “การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้” (Learning Ecosystem) อันเป็นแนวทางสำคัญที่เป็นทางเลือกต่อการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยยุคใหม่เพื่อเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงดำเนินการศึกษารูปแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของคนไทย 4.0 เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยและนำข้อค้นพบไปพัฒนา “รูปแบบนิเวศการจัดการเรียนรู้” เป็นต้นแบบในการเสริมสร้างการจัดการนิเวศการเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) คือ 1) การวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) 2) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และ 3) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการวิจัยเชิงเอกสารสืบค้นข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ และแหล่งข้อมูลออนไลน์ทั้งไทยและต่างประเทศ การวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ ประชากร คือ ผู้บริการ ครู และนักเรียน ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 4,000 แห่งทั่วประเทศ สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ผู้แทนชุมชน 3 ลักษณะ ได้แก่ ชุมชนเกษตรกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม และชุมชนท่องเที่ยว โดยเลือกพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ศึกษา ขณะนี้การวิจัยเชิงเอกสารดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล (จะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564) ผลจากการศึกษาสภาพการจัดนิเวศการเรียนรู้ในประเทศไทย พบประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ ดังนี้
ความหมายของระบบนิเวศการเรียนรู้
คำว่า “ระบบนิเวศการเรียนรู้” มาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Learning Ecosystem โดยต้นกำเนิดของคำว่า Ecosystem มาจากคำศัพท์ Ecology แปลว่า นิเวศวิทยา ตามนิยามหมายถึงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับถิ่นที่อยู่และสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทท้าทายความสามารถ สติปัญญา และเข้ามาผูกพันกับชีวิตของมนุษย์มากขึ้น สมรรถนะและขุดความรู้เดิมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเติมสมรรถนะที่จำเป็นอย่างทันท่วงที และใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบย้อนศร คือ การกลับไปขยายศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวให้ได้ฉายแววออกมา (วิจารณ์ พานิช, 2562) หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาศักยภาพของประชาชน จึงต้องทบทวนมโนทัศน์ของนิเวศการเรียนรู้ใหม่ โดยศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของนิเวศการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาความรู้ตามบริบทหรือสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นักวิชาการและนักการศึกษาหลายคนได้ทบทวนมโนทัศน์เกี่ยวกับ “นิเวศการเรียนรู้” ใหม่ ได้กำหนดนิยามความหมายของระบบนิเวศการเรียนรู้ให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัย ดังนี้
Kondratova, et al. (2017) กล่าวว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้ เป็นเรื่องของการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการออกแบบและพัฒนาบรรยากาศในชั้นเรียน ซึ่งครอบคลุมทั้งพื้นที่ในห้องเรียนและพื้นที่นอกสถานศึกษา ทั้งที่บ้านและสถานที่อื่น ให้สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบHolgado & Penalvo (2017) กำหนดองค์ประกอบของนิเวศการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ เวลา คน เนื้อหา กิจกรรม กลยุทธ์ วัฒนธรรม และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้หรือสนับสนุนการเรียนรู้ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการRose Benedicts (2018) ให้ความหมายคำว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้ หมายถึง การรวมตัวกันเป็นกลุ่มของบุคคล กระบวนการ และเครื่องมือที่ใช้ถ่ายทอดบูรณาการและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เรียนรู้และพัฒนาทั่วทั้งองค์กร ทุกองค์กรมีระบบนิเวศการเรียนรู้ของตน เช่นเดียวกับที่ทุกธุรกิจมีวัฒนธรรมของตนHarrell. T.S. (2020) กล่าวว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้ คือ แนวทางแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่น แตกต่างไปจากระบบบริหารจัดการความรู้ (Learning Management System: LMS) แบบเดิม คือช่วยเพิ่มการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) ของผู้เรียนได้มากขึ้นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความหมายว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้เป็นระบบที่จะเกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้เพื่อให้สมาชิกทุกส่วนได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพร่วมกัน ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ดังนี้ 1) นักเรียน 2) ครอบครัว 3) โรงเรียน 4) ครู/อาจารย์ และ 5) สังคม/ชุมชน
โดยสรุป ความหมายของ ระบบนิเวศการเรียนรู้ หมายถึง ระบบที่ประกอบด้วย กลุ่มบุคคล เนื้อหาสาระ กระบวนการ เทคโนโลยี วัฒนธรรมการเรียนรู้ และยุทธศาสตร์การทำงาน รวมตัวกันเพื่อจัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนตามบริบทหรือสิ่งแวดล้อมขององค์กร/พื้นที่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยืดหยุ่นและเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน เน้นการเรียนรู้แบบองค์รวม การเรียนรู้ตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
องค์ประกอบของนิเวศการเรียนรู้
การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบของนิเวศการเรียนรู้ ทั้งในและต่างประเทศ กล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ คุณลักษณะขององค์ประกอบ และการรวมตัวขององค์ประกอบของระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างหลากหลาย อาทิ Jackson, NJ. (2013) กล่าวถึงองค์ประกอบของนิเวศการเรียนรู้ผ่านแนวคิดนิเวศการเรียนรู้รายบุคคล ซึ่งแต่ละบุคคลมีองค์ประกอบหลักที่แตกต่างกัน แต่คล้ายคลึงกันบางส่วน โดยมีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาเพื่อพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น บริบทของบุคคล ได้แก่ ครอบครัว การศึกษา การทำงาน งานอดิเรก และความสนใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับวิธีการในการเรียนรู้ ทรัพยากรบุคคล ทั้งองค์ความรู้และเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ความสัมพันธ์ของบุคคลกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต กระบวนการเรียนรู้ของบุคคล ที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละบุคคล ทั้งวัตถุประสงค์ ช่วงเวลา และแนวทางในการปฏิบัติ ความตั้งใจ ความสามารถ แรงจูงใจของบุคคลในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของ Eudy, R” (2018) ต่างกันที่ Eudy กำหนดให้เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน
จากการศึกษาพบว่า การจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานและพัฒนาคุณลักษณะของคนไทย 4.0 ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้ 1) ความร่วมมือกับพันธมิตรและเครือข่าย ถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุดในการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยองค์กรหลักจะประสานงานกับพันธมิตรหรือเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือในการวางแผนและปฏิบัติการเพื่อจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนตามเป้าหมายขององค์กร 2) การใช้เทคโนโลยี ในอนาคตจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีช่วยเชื่อมต่อผู้เรียนกับแหล่งความรู้ แอปพลิเคชั่น นวัตกรรมใหม่ รวมถึงบุคคลต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลักสูตร E-Learning คลังความรู้ในรูปคลิปวีดิโอ และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ 3) การจัดทำหลักสูตรและกิจกรรมใหม่ เป็นทางเลือกในการเรียนนอกห้องเรียน ออกแบบเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามแนวโน้มใหม่ของการจัดการศึกษาในอนาคต ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคแรงงานและการตลาดในอนาคต ปรับวิธีการประเมินให้สอดคล้องกับหลักสูตรผ่านการมีประสบการณ์การเรียนรู้ตามทักษะนั้น โดยไม่เน้นผลการเรียนเพื่อการแข่งขัน 4) วิธีจัดการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน 5) ทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือ และอื่น ๆ ในการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ 6) ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ควรกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน พร้อมจัดทำวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย วิธีการ และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กร เพื่อให้บุคลากรในองค์กรรักการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายหรือพันธมิตรเพื่อจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จ
ต้นแบบการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่ดี
จากแนวคิดระบบนิเวศการเรียนรู้ดังกล่าว หน่วยงานและองค์กรทางการศึกษา เห็นถึงความสำคัญและดำเนินาการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจนประสบความสำเร็จ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ประเทศไทย หน่วยงานที่ให้ความสนใจและพัฒนาแนวคิดระบบนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC: South East Asia Center) โดยโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มจากการพบปัญหาของระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำมากกว่าทำความเข้าใจ บรรยากาศของการศึกษาเป็นไปเพื่อการแข่งขันสู่ความสำเร็จ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนขาดความสุขในการเรียนรู้ จึงเริ่มก่อตั้งโรงเรียน ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) หลักสูตร 2) ครูและบุคลากรในโรงเรียน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และ 3) ปัจจัยอื่น ๆ ที่ล้อมรอบตัวผู้เรียน เน้นการให้ความสำคัญกับการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยรูปแบบกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Areas) แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์เรียนรู้ ได้แก่ 1) กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 2) กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้มนุษย์และสังคม 3) กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้สุขภาพและสุขภาวะ 4) กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้การสื่อสารและภาษา และ 5) กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้สุนทรียะทางศิลปะ ซึ่งผู้เรียนในแต่ละชั้นจะได้เรียนรู้ครบทั้ง 5 กลุ่มประสบการณ์ แต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัยและพัฒนาการการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ การประเมินผล และการรายงานผลการเรียนรู้ให้มีความสอดคล้องกับหลักสูตรดังกล่าวในส่วนของศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC: South East Asia Center) ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Ecosystem) ให้แก่ประชาชนไทยทุกเพศทุกวัยที่สนใจ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย คือ การนำเนื้อหาความรู้ที่ดีและมีคุณภาพจากต่างประเทศมาจัดทำหลักสูตรภาษาไทยให้คนไทยสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย สามารถเลือกเรียนได้หลากหลายรูปแบบ SEAC ใช้กลยุทธ์แบบ 4 Line Learning เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ชื่อว่า YourNextU ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามรูปแบบที่ต้องการ สอดคล้องกับความถนัดในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย 1) รูปแบบออนไลน์ (Online) เน้นการเรียนรู้ผ่านหลักสูตร ด้วยวิดีโอคลิป 2) รูปแบบอินไลน์ (In-Line) เน้นการเข้าห้องเรียนเพื่ออบรมหลักสูตรต่าง ๆ 3) รูปแบบบีไลน์ (Bee-Line) เน้นการเรียนรู้ในรูปแบบแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล หรือเรื่องราวจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 4) ฟรอนท์ไลน์ (Front-Line) ผู้เรียนสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลการเรียนรู้สำเร็จรูป ดาวน์โหลดเอกสารเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับโลก อาทิ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดย Stanford Center for Professional Development, The Abridger Institute, Tirian, The Ken Blanchard Companies เพื่อนำหลักสูตรที่ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบรรจุไว้แพลตฟอร์มการเรียนรู้และเมื่อสำเร็จหลักสูตรจะมีการมอบประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรโดยสถาบันเจ้าของหลักสูตรจากการถอดบทเรียน การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ พบว่า มีหลักการเบื้องต้น 3 ประการ คือ 1) หลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบท 2) ช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถรองรับได้ทุกเพศทุกวัย และ 3) ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกันต่างประเทศ ตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ได้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ สเปน สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย รัสเซีย และอังกฤษ โดยสรุปรวมแล้วมีจุดเน้นคล้าย ๆ กับหลายประการ เช่น เน้นการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ท้องถิ่น (Local Learning Ecosystem Emerging Model) ให้เกิดขึ้น ซึ่งระบบนิเวศการเรียนรู้ท้องถิ่นมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่ 1) ผ็เรียนสามารถเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย 2) กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจใฝ่เรียนรู้แลกเปลี่ยนทรัพยากรการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 3) ระบบการเรียนรู้มีความเป็นพลวัตและเชื่อมโยงถึงกัน 4) โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาทิ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต 5) สถาบันการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เป็นหนึ่งในเครือข่ายสำคัญ 6) มีการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ 7) เป้าหมายและหัวใจสำคัญของระบบนิเวศการเรียนรู้ คือการพัฒนาผู้เรียน 8) มีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายแห่งศตวรรษที่ 21 ร่วมกันจากการศึกษาพบว่า รูปแบบการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ในต่างประเทศ มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบททรัพยากรและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยหลักการเบื้องต้น 3 ประการที่ควรพิจารณาเพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น คือ 1) เริ่มดำเนินการได้จากหลายภาคส่วน โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากต้องการเริ่มต้นในโรงเรียนควรมีการปรับเป้าหมาย เครือข่าย และพื้นที่ให้แคบลง เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดบริบทของโรงเรียน 2) ให้ความสำคัญกับเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับเยาวชนทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายในระดับกว้างขึ้น และ 3) ระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
แนวโน้มและแนวทางการจัดนิเวศการเรียนรู้
การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ในอนาคต มีแนวโน้มเป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดทิศทางของประเทศได้ให้ความสำคัญและระบุคำว่า “ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ไว้ เน้นการยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกมิติไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่ขับเคลื่อนโดยภูมิปัญญาและนวัตกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้าระบบนิเวศการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ด้วยการใช้สิ่งรอบตัวอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุดตามบริบทและความเหมาะสม การมีกรอบและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนทำให้หน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนต้องทำตาม และหันมาให้ความสำคัญกับการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพคนไทย ร่วมสร้างพื้นที่ที่เป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่สมาชิก อาทิ ผู้เรียน ครอบครัว สถานศึกษา ครู/อาจาร์ สังคม/ชุมชน และสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพร่วมกัน นำไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ 3 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็งได้อย่างแท้จริง
จากการศึกษา การจัดนิเวศการเรียนรู้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ผ่านมา พบว่า มีหลากหลายปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของตน การจัดระบบนิเวศการเรียนรู้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ มีข้อเสนอที่ควรดำเนินการ ดังนี้
1. หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ควรศึกษาและให้ความสำคัญกับ “นิเวศการเรียนรู้” มากขึ้น โดยอาจเริ่มต้นจากการผลักดันให้คำว่า “นิเวศการเรียนรู้” เป็นวาระแห่งชาติ มีการระบุคำนี้ไว้ในกฎหมายสำคัญ ๆ ของประเทศ อาทิ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติการศึกษา เพื่อให้การขับเคลื่อนงานที่สนับสนุนนิเวศการเรียนรู้ดำเนินการได้สะดวก และเป็นระบบมากขึ้น2. หน่วยงานต้นสังกัดระดับกระทรวง ระดับพื้นที่ และสถานศึกษา ต้องให้ความสำคัญต่อการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนทุกองค์ประกอบนิเวศการเรียนรู้ เริ่มจากการคำนึงถึงบริบทที่มีความแตกต่างหลากหลาย จากนั้นวิเคราะห์เป้าหมาย ความต้องการ ความพร้อม และองค์ประกอบของนิเวศการเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่ และสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของตน3. การจัดทำหลักสูตร กิจกรรรม และวิธีการเรียนรู้ ควรตระหนักถึงความสำคัญของนิเวศการเรียนรู้และปรับให้มีความสอดคล้องกับแนวคิดระบบการเรียนรู้ เน้นกระบวนการ แนวคิด วิธีการต่าง ๆ และต้องไม่ละเลยต่อ “เป้าหมาย” ของการจัดนิเวศการเรียนรู้ โดยเริ่มจากหน่วยงานหรือองค์กรที่ได้ดำเนินการไว้ดีแล้ว นำมาเป็นต้นแบบ สนับสนุน พัฒนาต่อยอดให้กว้างขวางออกไปอย่างเป็นระบบ4. ทุกภาคส่วนทั้งองค์กรรัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันจัดให้มี “Co-Learning Space” ไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีการจัดนิเวศการเรียนรู้ที่ดี มีเทคโนโลยี อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บรรยากาศ และความสะดวกสบายไว้บริการคนทุกช่วงวัย ให้สามารถมาใช้บริการได้ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามศักยภาพและความสนใจของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง
จากการศึกษาข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมาผู้ศึกษาพบว่า “นิเวศการเรียนรู้” ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากมองให้ลึกลงไปแล้ว คำว่า “นิเวศการเรียนรู้” แทรกอยู่ในระบบการศึกษาในรูปแบบและชื่อต่าง ๆ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและยังไม่สำเร็จ แต่ไม่มีการใช้คำนี้โดยตรง ส่งผลให้องค์ความรู้เกี่ยวกับ “นิเวศการเรียนรู้” กระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ ขาดการใช้ข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง และยังไม่มีหน่วยงานที่ตระหนักถึงความสำคัญพอ ควรมีการผลักดันประเด็น “นิเวศการเรียนรู้” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อการขับเคลื่อนดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนิเวศการเรียนรู้แท้จริงแล้วคือ เรื่องเก่าในวิถีใหม่ที่นักการศึกษาควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ทำให้เป็นระบบและเหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยในยุค 4.0 อย่างแท้จริง
----------------------------------------
รายการอ้างอิง
- ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน. (2561). SEAC Reframe ระบบการเรียนรู้ใหม่ “Lifelong Learning Ecosystem” - เปิดตัว “4 Line Learning โมเดลแรก “YourNextU” สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2018/12/seac-lifelong-learning-ecosystem-asean/
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2564). รายงานการศึกษาสภาพการจัดนิเวศการเรียนรู้ในประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา.
- Global Education Futures. (2564). Learning Ecosystems. Retrieved from https://learningecosystems2020.globaledufutures.org/
- Harrell, T.S. (2020). 3 Key Elements in Learning Ecosystems and Why L&D Professionals Should Care. Retrieved from https://www.bizlibrary.com/blog/learning-methods/key-elements-in-learning-ecosystems/
- Idaho Public Television. (2564). Learning Ecosystem. Retrieved from https://www.idahoptv.org/learn/