การศึกษาในยุคใหม่ ต้องใส่ใจทักษะด้านอารมณ์และสังคมของผู้เรียน SOFT SKILLS ARE NEEDED TO BE DEVELOPED IN SCHOOL

SOFT SKILLS ARE NEEDED TO BE DEVELOPED IN SCHOOL
ผู้เขียน: วราภา ไทยประเสริฐ
ที่มา: วิทยาจารย์ ปีที่ 120 ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน 2564, หน้า 52-55.
-------------------------------------------
แม้ว่า Soft Skills จะสำคัญไม่น้อยไปกว่า Hard Skills แต่ก็ไม่ใช่ทักษะที่ถูกพัฒนาได้ง่ายมากนัก สถาบันการศึกษาและครูผู้สอนจะบ่มเพาะทักษะ Soft Skills ของผู้เรียนได้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบได้ในบทความนี้
-------------------------------------------
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงทักษะของบุคลากรที่องค์กรต้องการในอนาคตก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การคำนึงถึงเพียงแค่ “Hard Skills” หรือองค์ความรู้และทักษะทางวิชาชีพในการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาและครูผู้สอนอาจไม่เพียงพออีกต่อไป หากแต่จำเป็นต้องคำนึงถึงการเสริมสร้าง “Soft Skills” หรือทักษะด้านอารมณ์และสังคมของผู้เรียนด้วยเช่นกัน
“Hard Skills” เป็นกลุ่มทักษะและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงาน โดยอาจเป็นได้ทั้งทักษะเฉพาะด้านของบุคลากรในแต่ละสาขาวิชาชีพ หรือทักษะที่บุคลากรในหลากหลายสาขาอาชีพมีร่วมกัน เช่น ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลความสามารถเชิงเทคนิค ทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ในขณะที่ “Soft Skills” เป็นกลุ่มทักษะและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะทางสังคม และทักษะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความสามารถเชิงเทคนิคหรือเกี่ยวข้องกับอาชีพการงานโดยตรง แต่ส่งผลเชิงบวกต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ตลอดจนประสิทธิภาพในการทำงานและความก้าวหน้าในอาชีพ ตัวอย่างเช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทักษะการตัดสินใจ ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสารและการรับฟัง ทักษะการแก้ไขข้อขัดแย้ง และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ แม้ว่า Hard Skills จะเป็นทักษะและคุณสมบัติหลักที่แต่ละองค์กรกำหนดไว้ว่าบุคลากรในแต่ละสายงานต้องมีทักษะใดบ้าง แต่ Soft Skills ก็เป็นทักษะสำคัญที่องค์กรมองหาในบุคลากรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรือในบางกรณีอาจสำคัญมากกว่าเสียด้วยซ้ำ อ้างอิงจากผลสำรวจ “Future of Jobs Survey 2020” โดย World Economic Forum พบว่า ทักษะสำคัญ 10 อันดับแรกของบุคลากรที่ผู้ประกอบการมองว่ามีความสำคัญและเป็นที่ต้องการอย่างมากมายภายในปี 2025 ส่วนใหญ่แล้วเป็น Soft Skills มิใช่ Hard Skills โดยเป็นกลุ่มทักษะด้านการคิดและแก้ปัญหามากถึง 5 ทักษะ กลุ่มทักษะด้านการบริหารจัดการตัวเอง 2 ทักษะ และทักษะด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกหนึ่งทักษะ ในขณะที่ Hard Skills มีเพียง 2 ทักษะเท่านั้นที่ติดอันดับทักษะสำคัญ 10 อันดับแรก โดยเป็นกลุ่มทักษะด้านการใช้งานและพัฒนาเทคโนโลยี
การพัฒนา Hard Skills อาจไม่ใช่สิ่งที่ยากนักหากได้รับการอบรมและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง หากแต่การเรียนรู้และพัฒนา Soft Skills เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่าฝึกฝนพัฒนา Hard Skills เนื่องจากทักษะด้านอารมณ์และสังคมไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการฝึกอบรมแบบดั้งเดิม แต่เกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัย ปฏิสัมพันธ์ และบุคลิกภาพ ผู้คนสามารถพัฒนา Soft Skills ได้ผ่านทางการขัดเกลาทางสังคม การเรียนรู้ค่านิยม ทัศนคติ และพฤติกรรมผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะเหตุนี้ โรงเรียนจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในการบ่มเพาะและเสริมสร้าง Soft Skills เนื่องจากการขัดเกลาทางสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้เพื่อเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของชีวิตในวัยเรียน
ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า แล้วสถาบันการศึกษาและครูผู้สอนจะสามารถพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคมให้แก่นักเรียนได้อย่างไร ในบทความนี้เราได้นำแนวทางจาก Association for Middle Level Education (AMLE) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยครูผู้สอนในการเตรียมความพร้อมของนักเรียนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากชีวิตในวัยเรียนไปสู่ชีวิตวัยทำงานมาเป็นแนวทางเพื่อให้สถาบันการศึกษาครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้และสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างและพัฒนา Soft Skills ของนักเรียน โดย AMLE มุ่งเน้นทักษะหรือคุณสมบัติสำคัญ 7 อย่าง พร้อมทั้งตัวอย่างแนวทางในการพัฒนาแต่ละคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมคุณสมบัตินี้ผ่านการมอบหมายงานกลุ่มในชั้นเรียน โดยสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มควรมีหน้าที่รับผิดชอบที่เฉพาะเจาะจงและแตกต่างกันออกไป ในช่วงท้ายของการส่งมอบงาน ครูผู้สอนอาจให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขามีส่วนสนับสนุนงานกลุ่มอย่างไร และเหตุใดพวกเราจึงสมควรได้รับคะแนนในส่วนนั้น
- การสื่อสาร ครูผู้สอนสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารของนักเรียนผ่านการมอบหมายให้นักเรียนเขียนบทความ และนำบทความนั้นมาอภิปรายในกลุ่ม พร้อมทั้งนำเสนอให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มได้รับฟัง วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความมีมารยาทและอ่อนน้อมถ่อมตน ครูผู้สอนควรสร้างแนวปฏิบัติให้นักเรียนมีความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในชั้นเรียน รวมถึงหากต้องสื่อสารหรือทำงานร่วมกันผ่านทางออนไลน์ ส่งเสริมให้นักเรียนมีมารยาทในการสื่อสาร พูดคุยกันอย่างสุภาพ ตลอดจนมีความรับผิดชอบในคำพูดและสิ่งที่ตนพูดออกไป
- ความรับผิดชอบ ในการสอนและส่งเสริมความรับผิดชอบของนักเรียน ครูผู้สอนไม่ควรใช้วิธีการตัดคะแนนนักเรียนในกรณีที่ไม่ส่งงานหรือส่งงานล่าช้า แต่ควรถามถึงเหตุผลและให้อธิบายว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ และจะทำอย่างไรหากเกิดสถานการณ์ขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ครูผู้สอนไม่ควรเป็นฝ่ายเสนอขยายระยะเวลาการส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด
- ความเป็นมืออาชีพ ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมความเป็นมืออาชีพผ่านความคาดหวังที่มีต่อนักเรียนในชั้นเรียน เช่น ความตรงต่อเวลา การเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน การเคารพผู้อื่น การทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ เป็นต้น
- ความยืดหยุ่น ครูผู้สอนสามารถมอบหมายโครงงานระยะยาวโดยอิงโจทย์ปัญหา (Problem-based Project) ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายตามตัวแปรและกรอบเวลาที่เห็นว่ามีความเหมาะสม กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการจัดการและจัดระเบียบวิธีการทำงานของนักเรียน การจดจ่ออยู่กับเป้าหมาย การแก้ไขปัญหา และการกำกับติดตามตนเอง
- การทำงานเป็นทีม ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมการทำงานเป็นทีมของนักเรียนผ่านการมอบหมายงานกลุ่ม โดยจัดกลุ่มให้นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนต่างกลุ่มกันมาทำงานร่วมกัน และมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยสื่อสารและความไว้วางใจระหว่างกัน การมีจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และการทำงานร่วมกันภายในทีม
การสอดแทรกคุณสมบัติ 7 ประการข้างต้นลงในหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากจะช่วยส่งเสริมการพัฒนา Soft Skills หรือทักษะด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียนแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่พวกเขาอาจประสบพบเจอได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ผ่านทางหลักสูตรการเรียนการสอนข้างต้น อาจยังไม่เพียงพอสำหรับการบ่มเพาะทักษะดังกล่าวของนักเรียนอีกหนึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดและอาจได้ผลมากที่สุดในการปลูกฝังทักษะเหล่านี้ คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนเห็นผู้ใหญ่รวมถึงครูผู้สอนแสดงทักษะด้านอารมณ์และสังคมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การทำงานเป็นทีม การให้เกียรตินักเรียนและครูผู้สอนท่านอื่น การสื่อสารที่ชัดเจน การตรงต่อเวลา ฯลฯ พวกเราจะไม่เพียงแต่เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นว่าพวกเขาจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น วัฒนธรรมการทำงาน หรือการใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างไร
-------------------------------------------
Soft Skills กับ AI ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ไม่เพียงแต่พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาพรวมตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน ส่งผลให้แรงงานจำเป็นต้องตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI จะสามารถทำงานอัตโนมัติแทนที่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด แต่เครื่องจักรเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ Soft Skills ของมนุษย์ได้ อย่างก็ไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้นี้
10 ทักษะสำคัญที่ควรเตรียมพร้อม ทักษะที่ผู้ประกอบการมองว่ามีความสำคัญและเป็นที่ต้องการอย่างมากภายในปี 2025 จากผลสำรวจ “Future of Jobs Survey 2020” โดย World Economic Forum ได้แก่
1. ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านนวัตกรรม2. ทักษะการเรียนรู้เชิงรุกและการมีกลยุทธ์ทางการเรียนรู้3. ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน4. ทักษะการคิดและวิเคราะห์เชิงวิพากย์5. ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่6. ทักษะความเป็นผู้นำและการมีอิทธิพลทางสังคม7. ทักษะการใช้งาน ควบคุมดูแล และจัดการเทคโนโลยี8. ทักษะการออกแบบเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม9. ทักษะการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ การจัดการความเครียด และการมีความยืดหยุ่น10. ทักษะการใช้เหตุผล การแก้ไขปัญหา และการระดมความคิด
-------------------------------------------
อ้างอิง
• https://www.weforum.org/agenda/2020/10/top-10-work-skills-of-tomorrow-how-long-it-takes-to-learn-them/• https://raybwilliams.medium.com/the-importance-of-soft-skills-in-todays-workplace-e8f6c67118db• https://www.amle.org/soft-skills-preparing-kids-for-life-after-school/