NEW ECO SYSTEM OF LEARNING บทเริ่มต้นของระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้
NEW ECO SYSTEM OF LEARNING บทเริ่มต้นของระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้
เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สร้างความเสียหายให้กับทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการศึกษาสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนการสอนแบบใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น
วรรณากร ทองเสริม เรียบเรียง
ที่มาบทความ: วิทยาจารย์ ปีที่ 119 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2563, หน้า 20-23.
การระบาดของไวรัส “โควิด-19” ไม่เพียงทำลายชีวิตและสุขภาพของคนทั่วโลก หากรวมไปถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกเขตแดน คนมากมายต้องตกงานอย่างกะทันหัน คนที่ยังมีงานทำก็ต้องปรับวิธีทำงานและต้องลำบากในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคไปด้วยสภาพเช่นนี้ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเด่นชัดขึ้น
จากบทความจากนิตยสาร Forbes ระบุว่าในขณะที่คนต้องการทักษะใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับวิถีใหม่ของโลก ก็เริ่มมีคำถามว่า สถานศึกษาในปัจจุบันทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา จะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไรในเมื่อการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมไม่อาจตอบสนองความต้องการของสังคมโลกหลังยุคโควิด-19 ได้ และนั่นได้นำมาซึ่งแนวคิดของระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้ (NEW ECO SYSTEM OF LEARNING)
ระบบใหม่นี้จะเน้นที่ประสบการณ์และความจำเป็นของผู้เรียนที่เป็น WORKING LEARNING หรือผู้ที่ต้องทำงานไปด้วยและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปด้วย ปัญหาก็คือ คนในกลุ่มนี้จำนวนมากมีข้อจำกัดหลายประการ อย่างเช่น ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือข้อมูลที่ตนเองต้องใช้ในการศึกษาทักษะที่จำเป็น ต้องมีเพื่อความก้าวหน้าในสายอาชีพ ระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้นี้จึงต้องช่วยเสริมสิ่งที่คนกลุ่มนี้ขาดไป โดยมีหลักการเบื้องต้น คือ
ให้การนำทางที่ลึกและกว้าง (NAVIGABLE)ผู้เรียนต้องการรู้ภาพรวมของกระแสแห่งอนาคตของตลาดแรงงานว่าไปทิศทางไหน รวมถึงจะมีหนทางใดที่เปิดให้พวกเขาได้เข้าสู่อาชีพที่ต้องการ จากพื้นฐานของความสนใจ ทักษะ การฝึกฝนและประสบการณ์ของพวกเขา ฝ่ายที่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้สอนหรือแนะแนวทางจะต้องช่วยให้นักเรียนรุ่นใหม่เหล่านี้มีข้อมูลที่มีคุณภาพและนำทางพวกเขาผ่านความยุ่งยากซับซ้อนต่าง ๆ ในระบบ สอนให้ผู้เรียนรู้จักใช้ประโยชน์จากทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่ ทำให้ตัวเองเพิ่มมูลค่าและมองให้ออกว่าจะใช้ความสามารถของตนนำไปสู่งานที่ดีกว่าได้อย่างไรให้การสนับสนุน (SUPPORTIVE)ระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้ จะต้องให้การสนับสนุนอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อให้ผู้เรียนรู้มุ่งมั่นกับการศึกษาเพื่อเป้าหมายทางอาชีพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแบบตัวต่อตัวหรือสนับสนุนในเชิงเทคโนโลยี ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้เรียนก้าวข้ามอุปสรรคและจัดการเรื่องสำคัญ ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลกับภาระในการเรียน ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ในจุดเริ่มต้นของการทำงาน หรืออยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่งานใหม่ให้การศึกษาที่มีเป้าหมายเฉพาะ (TARGETED)ผู้เรียนรู้กลุ่มนี้ต้องการการศึกษาที่ปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของตัวเอง พวกเขายังอยากมั่นใจด้วยว่า การลงทุนเพื่อเรียนรู้ของตัวเองจะคุ้มค่าและช่วยเสริมให้ตัวเองเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นในสายตาของผู้ว่าจ้าง สถาบันการศึกษาไม่เพียงพอต้องสอนวิชาความรู้ แต่ต้องสอนทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ช่วยสร้างเครือข่ายทางอาชีพ และช่วยฝึกฝนผู้เรียนเพื่อให้พร้อมทำงานได้ในทันทีรูปแบบการศึกษาที่เข้ากับการทำงานและต่อยอดได้ (INTEGRATED)คนที่เรียนและทำงานไปด้วยจะต้องการทั้งเวลา เงินทุน และตัวช่วยอื่นๆ ที่ทำให้การสลับเวลาระหว่างเรียนและทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะพวกเขามีหน้าที่และความรับผิดชอบมากอยู่แล้ว สถาบันการศึกษาในระบบใหม่ต้องอำนวยความสะดวกในด้านนี้ ยิ่งผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนไปต่อยอดหารายได้เสริมได้ด้วยแล้วยิ่งช่วยลดความกดดันในการเรียนได้ความโปร่งใส (TRANSPARENT)หลักการข้อนี้จะเกี่ยวข้องส่วนของนายจ้างมากกว่าสถานศึกษา นั่นคือ กระบวนการว่าจ้างงานจะต้องมีความโปร่งใสและยุติธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครงานได้พิสูจน์ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ มีแนวโน้มว่าการมีทักษะที่เหมาะกับงานกำลังจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในตลาดแรงงาน ไม่ใช้คุณสมบัติด้านการศึกษาสูง ๆ หรือมีจดหมายรับรองที่น่าเชื่อถือ กระบวนการว่าจ้างที่โปร่งใสยังช่วยให้บริษัทได้พบผู้สมัครที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้นผู้ที่ควรมีส่วนร่วมในระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้ ไม่ได้มีเพียงแต่กลุ่มสถาบันการศึกษา หากรวมถึงกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบ อย่างเช่น กลุ่มนายจ้าง และแม้ว่าระบบนิเวศใหม่นี้จะเน้นที่กลุ่มคนทำงาน แต่สามารถนำหลักการไปปรับใช้กับชั้นเรียนอื่น ๆ ได้ ยิ่งเมื่อคิดว่ารูปแบบการศึกษาของโลกเริ่มคลี่คลายจากระบบเก่าที่กำหนดช่วงวัยของการเรียนรู้ไว้ตายตัวมาเป็นการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต ก็ยิ่งชัดเจนว่าระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้นี้ คือ ระบบที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนยุคใหม่ได้ดีกว่า
เชื่อมโยงทั้งหมด
ใน “ระบบนิเวศ” ทุกอบ่างสัมพันธ์กันและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขแบบองค์รวม ดังนั้น หัวใจสำคัญของระบบนิเวศใหม่แห่งการเรียนรู้ก็คือการเชื่อมโยงข้อมูลการติดต่อสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้เรียน ผู้สอน ผู้ว่าจ้าง และผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลแบบดิจิทัลเป็นหลัก แปลว่ายิ่งมีโครงข่ายโทรศัพท์และโครงข่ายออนไลน์ที่ดีเท่าไหร่ ระบบนิเวศใหม่นี้ ก็ยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น