BLENDED LEARNING การเรียนแบบผสมผสานเพื่อก้าวผ่านความท้าทายแห่งการเรียนรู้
BLENDED LEARNING
การเรียนแบบผสมผสานเพื่อก้าวผ่านความท้าทายแห่งการเรียนรู้
ผู้เขียน ปรารถนา สำราญสุข
ที่มาบทความ วารสารวิทยาจารย์ ปีที่ 121 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม 2565, หน้า 51-53.
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาผู้คนในแวดวงการศึกษาต่างตระหนักดีว่ารูปแบบของห้องเรียนถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปตามสถานการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีและปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ ค่านิยมที่ต่างเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยปรากฎการณ์สำคัญที่เราเห็นผลอย่างชัดเจนและรวดเร็วที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้ผลให้เกิดพลวัตการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของห้องเรียนแบบดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง
การศึกษาแบบผสมผสาน หรือ BLENDED LEARNING เป็นวิธีการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่สามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ตามปกติ ดังนั้น การเรียนการสอนจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน ทั้งยังช่วยให้ผู้สอนพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียนในยามที่ไม่สามารถดำเนินการสอนในห้องเรียนตามปกติได้
BLENDED LEARNING คืออะไร
BLENDED LEARNING หรือการเรียนรู้แบบผสมผสาน หมายถึงการใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของการเรียนควบคู่ไปกับวิธีการสอนตามปกติ หรือการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม BLENDED LEARNING เป็นการเรียนการสอนที่เป็นพลวัต โดยมีการใช้ห้องเรียนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน
แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวอาจฟังดูแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่และในทางปฏิบัติการเรียนการสอนในปัจจุบันแทบจะเป็น BLENDED LEARNING ทั้งหมดอยู่แล้ว เช่น การเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาที่ต้องการให้นักศึกษาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการค้นคว้าหาข้อมูล อย่างไรก็ตามก็เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่าการที่นักเรียนพึ่งพาเทคโนโลยีในการศึกษาเพียงเท่านั้นหรือคือการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งหมดของ BLENDED LEARNING อย่างแท้จริงแล้ว
คำถามดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการศึกษา นักวิชาการ และครูผู้สอนเริ่มต้นทบทวนถึงประโยชน์ของการเรียนรู้แบบผสมผสานนี้ ความเห็นที่น่าสนใจมีอยู่ว่า การให้เทคโนโลยีออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้นั้น เป็นเพียงการผสมผสานในเชิงปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งอาจจะยังไม่อาจบรรลุผลเชิงปริชญาของการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวได้ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะนำรูปแบบการเรียนแบบผสมผสานมาใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรและเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาเมื่อเผชิญกับความท้าทายในบริบทที่แตกต่างกันได้
หลากหลายโมเดล BLENDED LEARNING ที่ช่วยในการเรียนรู้
โมเดล BLENDED LEARNING ที่มีอยู่นั้นเกิดขึ้นจากการผสมผสานองค์ประกอบต่าง ๆ ระหว่างการเรียนแบบดั้งเดิมและการใช้เทคโนโลยีในยุคออนไลน์ ซึ่งการเรียนทั้งสองรูปแบบจะต้องเติมเต็มหรืออุดช่องโหว่กันและกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทั้งนักเรียนและครู เช่น ในยามที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดได้เพราะการระบาดของโรค หรือการเผชิญภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสอนได้ตามปกติ ครูผู้สอนจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมได้มากเท่าห้องเรียนเดิมหรือมากกว่าเดิม
BLENDED LEARNING นั้นมีโมเดลที่หลากหลายและถูกนำมาใช้โดยนักการศึกษาอย่างแพร่หลายทั่วโลก นอกจากนี้ในแต่ละโมเดลยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของการเรียนได้อย่างยืดหยุ่น โดยโมเดลที่ได้รับความนิยม เช่ย
การเปลี่ยนสถานี (Station Rotation) โดยในการเรียนจะมีหลากสถานีให้นักเรียนได้เรียนรู้และหนึ่งในสถานีการเรียนรู้เป็นรูปแบบออนไลน์ โดยจะผสมผสานห้องเรียนที่มีคุณครูเป็นศูนย์กลางการจับกลุ่มของนักเรียนเพื่อเรียนรู้ และการใช้สถานีออนไลน์เพื่อช่วยให้เกิดรูปแบบการเรียนที่หลากหลายและยืดหยุ่น การหมุนสถานียังใช้ได้กับการเรียนหลากหลายวิชา เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเปลี่ยนแล็บ (Lab Rotation) ซึ่งจะทำให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์หรือในระหว่างการอยู่ในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกิดโอกาสให้สามารถใช้เครื่องมือได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อมากเกินไปอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนได้เช่นกัน ดังนั้น คุณครูจึงยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะคอยเป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในระหว่างการเรียนการเรียนแบบยืดหยุ่น (Flex Learning) หรือการใช้คอร์สการเรียนออนไลน์เป็นศูนย์กลางที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถมีอิสระในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสะดวกและข้อจำกัดของแต่ละบุคคล โดยครูผู้สอนทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงคอยชี้แนะแนวทางระหว่างการเรียนรู้ โดยการเรียนรู้อาจมีการผสมผสานการเรียนแบบดั้งเดิมหากจำเป็นแบบจำลองการเรียนรู้เสมือนจริง (Enriched Virtual Learning) ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบออนไลน์ทั้งหมด โดยที่จะมีการเรียนแบบดั้งเดิมตามสมควรเท่านั้น
ประโยชน์ของ BLENDED LEARNING
ด้วยโมเดลที่หลากหลาย การนำรูปแบบการเรียนแบบผสมผสานมาปรับให้เหมาะสมกับห้องเรียนได้เปิดโอกาสให้คุณครูและนักเรียนได้เข้าถึงสื่อการสอนออนไลน์ที่เหมาะสม น่าสนใจและเท่าทันต่อสถานการณ์ เช่น การใช้สื่อวิดีโอ สไลด์การบรรยาย พอตคาสต์ หรือสื่อการเรียนการสอน รูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์และตัวผู้เรียน เช่น การเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียนในพื้นที่ที่ยากลำบาก การสื่อสารทางเดียวที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเมื่อมีครูเป็นศูนย์กลาง หรือการที่นักเรียนบางคนเรียนเร็วหรือเรียนช้านั้นก็จะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป
นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในชั้นเรียนนั้น ทำให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนของตนเองได้ล่วงหน้า เพราะสามารถรู้ว่าบทเรียนสำคัญที่ต้องรัยนรู้มีเรื่องอะไรบ้าง และสามารถเตรียมตัวได้มากกว่าชั้นเรียนแบบดั้งเดิม นักเรียนสามารถค้นคว้าและเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยตนเอง ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการค้นหาคำตอบ การแก้ปัญหา และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการเอาตัวรอดในปัจจุบันที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ต้องการวิจารณญาณ การคิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจเชื่อ
หัวใจของการเรียนรู้แบบผสมผสานไม่ใช่เพียงแค่นำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาใช้การเรียนรู้เท่านั้น
แต่หมายถึงการที่ครูผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบท
และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนให้ได้มากที่สุด
ประโยชน์สำหรับผู้สอน
BLENDED LEARNING นั้น เปิดโอกาสให้ผู้สอนสามารถรวบรวมสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายมาใช้ในการสอนผ่านโลกดิจิทัลได้พรมแดน ดังนั้นครูจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนได้อย่างรวดเร็วหากสังเกตได้ว่าสื่อการสอนนั้นไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียน แม้กระทั่งการเปลี่ยนครูผู้สอน ซึ่งในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีคุณครูมากมายที่อาจไม่ได้มีอาชีพครูแต่เป็นผู้รู้จริงในเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งหากนักเรียนได้เรียนรู้กับผู้คนเหล่านั้นก็อาจเป็นผลดีมากกว่าการเรียนปกติได้ นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีสามารถทำให้คุณครูเกิดการเรียนการสอนแบบเชิงรุกที่สามารถนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาเป็นตัวอย่างในชั้นเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเห็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้บทเรียนกับบริบทสังคมขณะนั้นได้อย่างชัดเจน
ข้อจำกัดของ BLENDED LEARNING
BLENDED LEARNING นั้นมีข้อจำกัดอยู่ เช่น การเข้าถึงทรัพยากรของผู้เรียนแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากการเรียนแบบผสมผสานนั้นต้องการใช้ทรัพยากรอย่างมาก เช่น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ทำให้ในบางพื้นที่ห้องเรียนการผสมผสานไม่สามารถจัดได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ ผู้เรียนที่ขาดประสบการณ์การใช้เครื่องมือ หรือใช้สื่อการสอนแบบออนไลน์ก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้หากผู้สอนไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ดังนั้นการดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบ BLENDED LEARNING นั้น ยังต้องการระยะเวลาในการตระเตรียมความพร้อมทั้งของผู้เรียนและผู้สอนอย่างมาก โดยอาจจะต้องปรับตัวพร้อมรับกับรูปแบบของชั้นเรียนแบบใหม่ ซึ่งหากทำได้จริงจะสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้เรียนในยุคดิจิทัลอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
อ้างอิง
- https://www.blendedlearning.org/
- https://www.futurelearn.com/info/blog/everything-about-blended-learning