พลังการสื่อสารของครู
บทความ เรื่อง พลังการสื่อสารของครู
ผู้เขียน : ผศ.ดร.ศุภศิริ บุญประเวศ
ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาภาษาและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
--------------------------------------------------------
“เคยไหม อยากเรียนกับครูคนนี้จัง เพราะเรียนกี่ครั้ง ก็รู้สึกดี มีพลัง”
“เคยไหม อยากปรึกษากับครูคนนี้จัง เพราะทุกครั้งที่ปรึกษา รู้สึกเหมือนได้รับพลังบวกมา”
ครูที่มีลักษณะข้างต้น อาจไม่ใช่ ครูที่ได้รับรางวัลมากมาย หรือไม่ใช่ครูที่จบเกียรตินิยม หากแต่เป็น “ครูที่มีความสามารถในการสื่อสาร” สามารถที่จะสื่อสารวิชาการให้เข้าใจได้ง่าย สามารถที่จะอธิบายเรื่องยากให้สนุก สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสงสัย ใคร่รู้ และที่สำคัญสามารถรับฟัง และให้คำปรึกษาให้กับผู้เรียนได้
ทักษะการสื่อสารของครู ไม่ใช่ทักษะที่ได้มาจากการเรียนเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นทักษะทางสังคมที่เกิดจากการฝึกฝนเพื่อให้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของครูท่านนั้น ครูบางท่านจากเป็นคนที่พูดไม่เก่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถสื่อสารได้ เพราะการสื่อสารให้เกิดพลังนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดเก่งเสมอไป หากแต่สามารถสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจ เกิดความผูกพัน ตลอดจนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนได้ต่างหาก ด้วยผู้เรียนคือ ผลผลิตที่สำคัญที่จะเติบโตและเป็นกำลังใจสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้นการสื่อสารของครูต่อผู้เรียนจึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากการสื่อสารที่ดีของครูจะสร้างประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านต่อผู้เรียน ดังนี้
• สร้างความเข้าใจต่อผู้เรียน ความรับผิดชอบหลักของครู คือ การนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเข้าใจโดยง่าย และสนใจในเนื้อหาเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าครูจะสอนวิชาใดก็ตามจึงจำเป็นที่จะต้องแนะนำและอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ที่ยากให้ผู้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย แม้ว่าครูจะมีสื่อการจัดการเรียนรู้มากมายแต่ถ้าไม่สามารถที่จะสื่อสาร เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้แล้วนั้น ก็ย่อมทำให้การจัดการเรียนรู้นั้นไม่ประสบความสำเร็จ• สร้างความผูกพันในชั้นเรียน ครูที่มีความสามารถในการสื่อสาร จะช่วยทำให้ผู้เรียนรู้สึกเข้าใจและรู้สึกดีตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาที่ครูสอนแล้วเข้าใจได้โดยง่าย ความสนใจของผู้เรียนก็จะมีมากขึ้น อันนำไปสู่ความรู้สึกสนใจและผูกพันต่อครูและต่อวิชานั้นในที่สุด• สร้างแรงบันดาลใจ ครูเป็นผู้ที่มีอิทธพลต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก โดยครูเป็นต้นแบบของนักเรียน ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เรียนหลายคน อยากที่จะเป็นแบบครู หรือเลือกที่จะเรียนครูเพราะมีครูบางท่านเป็นต้นแบบ ดังนั้นการที่ครูสามารถสื่อสารและพูดได้อย่างดี ทำให้พวกเขาเข้าใจจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเสริมความมั่นใจและทำให้ผู้เรียนมีพลังที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้
ผู้เขียนเคยให้ผู้เรียนระดับอุดมศึกษาที่กำลังเรียนในสาขาวิชาชีพครูทำแบบสอบถาม โดยให้ระบุเหตุการณ์ที่จำฝังใจเกี่ยวกับครู ทั้งในด้านดีและด้านที่ไม่ดี ปรากฎว่า ผลจากแบบสอบถามสะท้อนให้เห็นว่า “สิ่งที่ฝังใจในด้านดีและด้านไม่ดีล้วนเกิดจาก คำพูดของครู” ผู้เรียนคนหนึ่งระบุว่า “ครูชอบเปรียบเทียบหนูกับเพื่อนว่า เพื่อนเรียนเก่งกว่า ดีกว่า ส่วนหนูไปไม่รอดหรอก เดี๋ยวก็ท้องก่อน” ซึ่งผู้เรียนคนนี้ได้เสริมว่า “สิ่งที่ครูพูดออกมาทำให้หนูจำฝังใจ และคิดว่าต้องเอาชนะคำนี้ให้ได้”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้เรียนคนนี้คิดในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ครูพูก จึงมุ่งมั่นจนสามารถเข้าศึกษาในสาขาวิชาชีพครูได้ แต่ถ้าหากผู้เรียนคนนี้คิดประชดและทำแบบที่ครูคนนั้นกล่าว จะเกิดอะไรขึ้น!!!
คำพูด หรือการสื่อสารบางอย่างของครูอาจไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเจ็บปวด หรือความฝังใจให้กับผู้เรียน แต่ด้วยความไม่ระวังบางอย่างจึงทำให้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในใจของผู้เรียนได้
นอกจากนี้การใช้ภาษาในการสื่อสารแล้ว คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ครูสามารถสื่อสารได้ทรงพลัง และสามารถสร้างคุณภาพคนไทยสู่สากลได้ คือ “การเปิดใจ” เนื่องจากผู้เรียนในปัจจุบันมีความหลากหลายทั้งด้านความรู้และความคิดต่าง ๆ การรับสื่อที่หลากหลายมีผลต่อความคิดของผู้เรียน ดังนั้นครูจึงควรที่จะเป็นผู้ที่รับสารอย่างเปิดใจ และเป็นผู้ส่งสารด้วยความระมัดระวัง เพื่อทำให้ผู้เรียนสามารถที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป
ที่มาบทความ
ศุภศิริ บุญประเวศ. (2565) พลังการสื่อสารของครู. ใน ที่ระลึกวันครู ครั้งที่ 66 พ.ศ. 2565 “พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล” (หน้า 61-63). กรุงเทพฯ: บริษัท ออนป้า จำกัด.