DIGITAL LITERACY ทักษะของโลกยุคดิจิทัล
ผู้เขียน: ปรารถนา สำราญสุข
ที่มาข้อมูล: ปรารถนา สำราญสุข. (2565). DIGITAL LITERACY ทักษะของโลกยุคดิจิทัล. วิทยาจารย์ , 121 (1), 42-45. สืบค้นจาก http://withayajarn.com/Flipbook/K29/index.html.
-----------------------------------------------------------------
Digital Literacy หรือความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นทักษะที่สำคัญกับผู้คนทุก ๆ ช่วงวัย เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในแทบจะทุกจังหวะของการดำเนินชีวิต ทั้งในด้านการเรียน ทำงาน การสื่อสาร และการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน
เด็กที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลนี้ หากใครสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาดและเต็มประสิทธิภาพ ก็จะได้เปรียบมากกว่าเด็กที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้ในบทความนี้ เราจึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจและเรียนรู้ว่า เหตุใดทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลจึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับประชากรตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงเราจะสามารถสร้างแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมและเพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เด็กได้อย่างไร
Digital Literacy สำคัญอย่างไร
ทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล หมายถึง ทักษะในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต การใช้โปรแกรมพื้นฐานในคอมพิวเตอร์ หรือการใช้สื่อออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อการเรียนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามการมีทักษะ Digital Literacy ที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงการเก่งใช้เครื่องมือหรือเข้าใจระบบที่ซับซ้อนได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง ความสามารถในการใช้งาน (Use) คือ ความรู้ทางเทคนิคในการใช้โปรแกรมและการสืบค้นข้อมูล ความเข้าใจ (Understand) คือ การประเมินบริบทและเนื้อหาที่เกี่ยวกับข้องเมื่อได้รับสื่อที่จะทำให้เราสามารถตระหนักได้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับหรือความเสี่ยงที่เราอาจได้รับจากข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนโลกออนไลน์ การสร้างสรรค์ (Create) คือการใช้สื่อหรือโปรแกรมเพื่อสื่อสารหรือสร้างสิ่งใหม่โดยคำนึงถึงบริบทและคุณค่าของคนในสังคม และการเข้าถึง (Access) คือ การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
6 ทักษะที่สำคัญภายใต้การเรียนรู้ดิจิทัล
- การรู้สื่อ (Media Literacy) หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับสื่อ และเข้าใจจุดประสงค์ของการผลิตสื่อที่ได้รับ ซึ่งหมายรวมถึงความเข้าใจในด้านสัญญา ศิลปะ และความหมายรวมถึงความเข้าใจในด้านสัญญะ ศิลปะ และความหมายที่สื่อนั้น ๆ พยายามจะสื่อสารตามบริบทของสังคม
- การรู้เทคโนโลยี (Technology Literacy) หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการมีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากโปรแกรมการตัดต่อภาพวิดีโอ การเขียนรหัสคอมพิวเตอร์ (Coding) ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าจากการใช้งานเทคโนโลยีได้มากขึ้นอีกด้วย
- การรู้สารสนเทศ (Information Literacy) คือ ความสามารถในการประเมินว่าสารสนเทศชนิดใดเหมาะสมกับการนำมาใช้งานในบริบทที่แตกต่างกันหรือความสามารถในการค้นหาความรู้จากสื่อสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- การรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เห็น (Visual Literacy) หมายถึง ความสามารถในการทำความเข้าใจ การแปลความหมายจากสิ่งที่ตาเห็น โดยสามารถวิเคราะห์ และสามารถแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ได้ เช่น การใช้ Stickers ในแอปพลิเคชั่น Line การส่ง Emoji ผ่านโปรแกรมแชท ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นทักษะพื้นฐานแต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งต่อการสื่อสารในสังคมสมัยใหม่ที่มีผู้คนหลากหลาย
- การรู้การสื่อสาร (Communication Literacy) หรือรากฐานสำหรับการคิด การจัดการ และการมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมต่อกับผู้อื่นในสังคมในโลกออนไลน์ที่ต้องการความชัดเจนและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นในสังคมได้ แม้ว่าจะไม่มีการสื่อสารแบบตัวต่อตัวก็ตาม
- การรู้สังคม (Social Literacy) หมายถึง ความเข้าใจในสภาวะที่ซับซ้อนและความหลากหลายของผู้คนในสังคม ผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจำเป็นต้องมีทักษะในการเรียนรู้ และการยอมรับความแตกต่างของผู้คนในสังคม โดยมีความสำนึกรู้ในฐานะสมาชิกของสังคมที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม
ทักษะเพื่อการสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้
เด็กเป็นวัยที่ต้องการการกำกับดูแลการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก เพราะหากใช้ผิดวิธี อาจส่งผลเสียทั้งต่อร่างกาย การพัฒนาทางอารมณ์ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ การส่งเสริมให้เด็กมีเครื่องมือเพื่อค้นคว้าหาความรู้ แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลสำหรับเด็กในปัจจุบันยังค่อนข้างขาดแบบแผนที่ชัดเจน นอกจากนี้ความท้าทายในเรื่องดังกล่าว คือ การจัดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการเรียนรู้ในเท่าทันสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ แต่ก็ไม่เป็นการปิดกั้นการเปิดโลกของเด็กอีกด้วย
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านเด็กได้ศึกษาความสำคัญของทักษะการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ควรส่งเสริมให้เด็กเพราะเล็งเห็นว่าความรู้ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อพัฒนาการและการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตของเด็กในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีการประเมินสถานการณ์การส่งเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัลของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นของเด็กได้ตามประเด็นดังต่อไปนี้
- ส่งเสริมทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นความรู้ที่มากกว่าเทคนิค กล่าวคือ นอกจากความรู้ทางเทคนิคแล้ว ในการใช้งานยังต้องการทักษะด้านต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะด้านสังคม ดังนั้น เด็ก ๆ ควรมีทักษะและทัศนคติที่ดี เพื่อป้องกันพวกเขาให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมถึงทักษะการเล่น การมีส่วนร่วม การเข้าสังคม การค้นหาและการเรียนรู้ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามวัย และบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้ เด็ก ๆ จำเป็นต้องมีทักษะทางดิจิทัลแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์แล้วก็ตาม เช่น ความสามารถในการเข้าใจเทคโนโลยีรูปแบบอื่น เช่น ความสามารถในการเข้าใจเทคโนโลยีรูปแบบอื่น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ที่จะส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ มากขึ้นในอนาคต ดังนั้น โอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการสังคม และโอกาสในการทำงานในอนาคตของเด็กคนหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจโลกดิจิทัลรอบตัวของเขา
- ทักษะที่ไม่ใช่เพียงแค่การใช้คอมพิวเตอร์เก่ง
ในปัจจุบันการประเมินความรู้ทางดิจิทัลนั้น ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรต่าง ๆ เพราะทักษะทางดิจิทัลนั้นได้ถูกนำมาเป็นหนึ่งในชุดความสามารถที่บุคคลจะถูกประเมินความรู้ นอกเหนือจากความสามารถในการสื่อสารและการแก้ปัญหา แม้ว่าเครื่องมือส่วนใหญ่ตอนนี้จะเน้นการประเมินทักษะด้านดิจิทัลในวัยผู้ใหญ่และวัยทำงานมากกว่า แต่ถ้าหากมีการส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กอย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัย ใช้การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ โดยไม่จำกัดการเรียนรู้ก็จะเกิดประโยชน์กับเด็กอย่างมากในอนาคต นอกจากนี้ การส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีทักษะในการรู้หนังสือและการคำนวณ (Literacy and Numeracy) การมีทักษะการใช้ชีวิตและการมีลักษณะอุปนิสัยที่ดี (Life Skills and Soft Skills) รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการต่อยอดทางเทคนิคและวิชาชีพ (Technical and Vocational Skills) นั้น เป็นทักษะที่ควรส่งเสริมควบคู่กันไปโดยไม่สามารถจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้
- สถานการณ์การส่งเสริม Digital Literacy
ในปัจจุบันมีองค์กรเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่กำลังผลักดันการพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัลในเยาวชน และส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการประเมินผลกระทบ (Impact) ที่หน่วยงานเหล่านี้ทำให้เกิดเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่ทำงานด้านสนับสนุนแนวทางส่งเสริมความรู้ดิจิทัลในระดับนโยบาย (Policy) นั้น ยังไม่เป็นรูปธรรมมากพอ จนรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถกำหนดแนวทางที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นในระดับประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนานอกจากนี้ การทำงานด้านนี้ยังขาดการบูรณาการและขาดเจ้าภาพในการขับเคลื่อน ดังนั้น จึงยังไม่มีองค์กรที่มีประสบการณ์มากพอในการส่งเสริมเรื่องทักษะทางดิจิทัลของเด็กโดยตรง ทั้งนี้ การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Implementation) นั้นยังทำได้ยาก เนื่องจากขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความชำนาญในด้านการปรับใช้ความรู้ความสามารถในด้านดิจิทัลให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นที่ที่แตกต่างกันจะเห็นได้ว่าสถานการณ์การพัฒนาทักษะทางดิจิทัลของเด็กนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งต่อองค์กรในระดับระหว่างประเทศและในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม หากโรงเรียนหรือหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้และพยายามส่งเสริมให้เด็กมีความรู้และทักษะทางดิจิทัลเท่าที่สามารถทำได้ตามความรู้และความสามารถที่มีอยู่ ประโยชน์ก็จะเกิดกับเด็กและอนาคตของพวกเขาอย่างแน่นอน
อ้างอิง
- http://www.unicef.org/globalinsight/documents/digital-literacy-children-10-things-know
- https://www.ocsc.go.th/DLProject/mean-dlp
- https://www.logiscool.com/be-en/blog/2021-01/the-3-main-pillars-of-digital-literacy-and-why-they-are-so-important-for-lids-today