>>
> องค์ความรู้วิชาชีพ
> การอาชีวศึกษา
ครูอาชีวศึกษายกกำลังสอง ครูผู้พัฒนาสมรรถนะเยาวชนไทยให้พร้อมสู่โลกของการทำงาน
ผู้เขียน ดร.นิติ นาชิต (รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)
ที่มาข้อมูล: นิติ นาชิต. (2564). ครูอาชีวศึกษายกกำลัง2 ครูผู้พัฒนาสมรรถนะเยาวชนไทยให้พร้อมสู่โลกของการทำงาน. ใน ที่ระลึกงานวันครู พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 65 : พลังครูไทย วิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล. (หน้า 50-54). กรุงเทพฯ: บริษัท ออนป้า จำกัด.
----------------------------------------------------------
กระทรวงศึกษาธิการมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการศึกษาไทยด้วย “การศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco-System: TE2S)" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้มี “คุณภาพมากกว่าปริมาณ” สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็มีนโยบายขับเคลื่อนการอาชีวศึกษา โดยเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน “อาชีวศึกษายกกำลังสอง” ซึ่งเป็นการสร้างคุณภาพอาชีวศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพื่อรองรับผู้เรียนที่จบการศึกษาของอาชีวศึกษา มีงานทำ 100% สร้างอาชีพใหม่ให้ประชาชนและผู้ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพตนเองให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอาชีพด้วยการ Up-skill Re-skill โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างเข้มข้น ในการยกระดับความสามารถของผู้เรียน และผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาอาชีวศึกษา ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้ง Hard Skills ทักษะความเชี่ยวชาญที่ทำงานได้ทันที และมี Soft Skills ทักษะด้านความคิดและอารมณ์ ที่สอดคล้องกับโลกของการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต แต่การที่จะทำให้กำลังคนอาชีวศึกษามีคุณลักษณะที่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง บุคคลสำคัญที่สุดก็คือ “ครูอาชีวศึกษา” นั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันนี้วิทยาการสมัยใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสังคมก็มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็น Digital Disruption มากยิ่งขึ้น ครูอาชีวศึกษาจึงต้องมีการปรับตัว (Transform) ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มต้นจากการยกกำลังสองตนเองเป็นลำดับแรกในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ยกระดับและพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพที่จำเป็น ในหัวข้อที่มีความทันสมัยและจำเป็นต้องนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนนักศึกษาตามหลักสูตร โดยต้องลดช่องว่าง (Skill Gap) ให้มากที่สุด ระหว่างสมรรถนะวิชาชีพของตนเองกับสมรรถนะในโลกของอาชีพปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร และพัฒนาความสามารถในการใช้ดิจิทัล (Digital Literacy) ตลอดจนมีการเก็บสะสมความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของตนเองผ่านระบบดิจิทัล (Experience Logbook) เพื่อประโยชน์สำหรับความก้าวหน้าทางวิชาชีพด้วย2. พัฒนาประสบการณ์วิชาชีพ โดยเข้ารับการฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพในสถานประกอบการ เพื่อให้ครูได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จนนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ3. เข้ารับการทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรฐานอาชีพที่กำหนด จากหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรฐานอาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและได้รับการยอมรับในการจัดการเรียนรู้สู่ความเป็นมืออาชีพ
เมื่อครูอาชีวศึกษาพัฒนาตนเองให้พร้อมกับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว ก็ต้องใช้ความเป็นครูมืออาชีพในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนกับนักเรียนนักศึกษาให้มีความรู้ (Head on) ทักษะ (Hand on) และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (Hearth on) หรือที่เรียกว่า “สมรรถนะ” ตามที่หลักสูตรกำหนดและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ในสถานประกอบการหรือตลาดแรงงานตามองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบยกกำลังสอง ดังนี้
1. เนื้อหายกกำลังสอง : ครูต้องวิเคราะห์สมรรถนะตามหลักสูตรฯ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากับสมรรถนะที่สถานประกอบการคาดหวัง เพื่อหาทักษะที่ต้องเพิ่มเติมให้กับนักเรียน นักศึกษา โดยนำมาเพิ่มเติมในคำอธิบายรายวิชาในรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ เพื่อให้เนื้อหารายวิชามีความทันสมัยและมีสมรรถนะที่ตรงกับมาตรฐานอาชีพและที่สถานประกอบการต้องการ นอกจากนี้อาจจะจัดกลุ่มเนื้อหาและสร้างเป็นบทเรียนโมดูล เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดและนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลายต่อไป กล่าวคือครูต้องไม่สอนแต่เนื้อหาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรอย่างเดียว ต้องสอนเนื้อหาที่ทันสมัยเพิ่มเติมไปด้วยนั่นเอง2. เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ยกกำลังสอง : ครูต้องจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะวิชาชีพและมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยจะต้องเปลี่ยนจากการเรียนเพื่อสอบ ไปสู่การเรียนเพื่อรู้และเข้าใจให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ มีการฝึกฝนลงมือทำ สร้างทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการสื่อสาร ทักษะดิจิทัล และยกระดับทักษะชีวิต ปลูกฝังทัศนคติการเรียนรู้เพื่อทำประโยชน์ให้ส่วนรวม และการทำงานเป็นทีม
2.1 ทักษะความเชี่ยวชาญ (Hard Skills) เป็นทักษะที่ครูอาชีวศึกษาต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาต้องนำไปใช้ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ดังนั้น ต้องมีการเลือกใช้เทคนิควิธีต่างที่หลากหลายที่จะสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษามีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill) อาทิ การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Active Learning) การทำโครงงาน (Project) การสะท้อนจากการลงมือปฏิบัติ (Reflective Practice) การติดตามและสังเกตบุคคลอื่น (Shadowing) เป็นต้น โดยให้สถานประกอบการเข้ามาร่วมพัฒนาทักษะการทำงานของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฝึกงานและฝึกอาชีพ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ จนนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพอย่างมีคุณภาพต่อไป กล่าวคือครูจะสอนโดยลำพังไม่ได้แล้ว เพื่อลดข้อจำกัดด้านทักษะการทำงาน (Skill Gap) ลงให้มากที่สุด และผู้สำเร็จการศึกษาพร้อมทำงานทันที2.2 ทักษะด้านความคิดและอารมณ์ (Soft Skills) เป็นทักษะที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และการทำงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ครูต้องจำลองห้องเรียนให้เป็นสังคมในภาคประกอบการ โดยการใช้เทคนิควิธีที่สอดแทรกจนทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว อาทิ การสื่อสารกับคนอื่น การทำงานเป็นทีม การเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาแบบคิดวิเคราะห์ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และการลงมือทำทั้งในและนอกห้องเรียนเป็นหลักและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
3. สื่อการเรียนรู้ยกกำลังสอง : ครูต้องมีความสามารถในการผลิตและใช้สื่อในการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ด้วยวิธีการแบบผสมผสาน (Blended Learning) ตามลักษณะของเนื้อหา ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลที่สามารถเสาะแสวงหา เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลได้แบบ Real Time ทั้งแบบ On site, Online, On-Air, On Demand ซึ่งครูอาชีวศึกษาต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควร แต่หัวใจของการจัดเรียนการสอนอาชีวศึกษานั้น ก็ยังมุ่งเน้นไปที่การฝึกปฏิบัติการหรือโรงฝึกงาน โดยผ่านสื่อของจริง เครื่องมือ เครื่องจักร รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้มีความชำนาญในงาน (Job/Task) ตามที่หลักสูตรกำหนดและสามารถนำไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือการประกอบอาชีพในฐานะผู้ประกอบการได้4. การประเมินผลยกกำลังสอง : ครูต้องใช้รูปแบบประเมินผลที่หลากหลายให้สอดคล้องกับบริบทของการจัดการเรียนรู้ที่ครูเลือกนำมาใช้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาต้องมุ่งเน้นการประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) และต้องมีการประเมินความชำนาญงานตามมาตรฐานอาชีพหรือระดับคุณวุฒิวิชาชีพ โดยควรนำผู้เชี่ยวชาญตามสาขาอาชีพในสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียนด้วย นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตหรือใบรับรองตามที่มาตรฐานอาชีพกำหนดจากหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานหลังสำเร็จการศึกษาต่อไป เพราะมีความเชื่อมันว่าหากผู้สำเร็จการศึกษามีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สถานประกอบการก็ต้องรับเข้าทำงาน 100% อย่างแน่นอน
แต่ทั้งนี้การที่จะทำให้ครูกลายเป็นครูอาชีวศึกษายกกำลังสองได้นั้นคงไม่ได้โยนภาระทั้งหมดข้างต้นให้กับครูทำโดยลำพัง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาอาชีวศึกษาก็มีการกำหนด นโยบายและเตรียมงบประมาณเพื่อการพัฒนาครูอาชีวศึกษาอย่างมีคุณภาพ ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพในการแข่งขันและตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย (อาชีวศึกษายกกำลังสอง) ที่จะดำเนินการพัฒนาการอาชีวศึกษาแบบองค์รวม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมีคุณภาพต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ครูอาชีวศึกษาจะกลายเป็น “ครูอาชีวศึกษายกกำลังสอง” พร้อมที่จะพัฒนาสมรรถนะเยาวชนไทยให้พร้อมสู่โลกของการทำงาน จนกลายเป็นเฟืองตัวสำคัญที่จะช่วบขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศตามลำดับต่อไป