ครู คือบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาษาไทยมีวิวัฒนาการ
ผู้เขียน : มาลัย
ทัศนกุลวงศ์
ข้าราชการบำนาญ
ตำแหน่งครูเชี่ยวชาญ สพป. สระบุรี เขต 1
----------------------------------
ที่มาข้อมูล มาลัย ทัศนกุลวงศ์.
(2561). ครูคือบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาษาไทยมีวิวัฒนาการ. ใน ที่ระลึกพิธีประกาศเกียรติคุณครูภาษาไทยดีเด่น
ประจำปีพุทธศักราช 2561 (หน้า 65-68). กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ สกสค.
ภาษาเป็นการสื่อสารที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของเรา
แม้ในอดีตที่สื่อสารกันด้วยความยากลำบาก ทั้งมีผู้เรียนอ่านออกเขียนได้อย่างจำกัด
มีการคิดค้นการสื่อสารที่ยากลำบากหลายขั้นตอน ใช้ลิขิตน้อยห้อยปลายเท้านก
ซึ่งก็ต้องฝึกนกให้ส่งสารทางไกล หรือการลดความเสี่ยงสูญหาย
ด้วยการใช้สาสน์จำนวนมากผ่านกระทง กระบอกล่องลอยน้ำ จารึกจากกระดูกมนุษย์
ทว่าในปัจจุบันการสื่อสารด้วยภาษานั้นกระทำได้ง่ายดายเพียงสื่อสารผ่านจอ
ใช้ระยะเวลาเพียงชั่วลัดนิ้วมือ เช่น LINE Application, Messenger Application ทำให้การสื่อสารกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นทราบวัตถุประสงค์ของผู้ถ่ายทอดในทันทีทันใด
การสื่อสารด้วยภาษาที่รวดเร็วนี้ยังผลให้มีการเชื่อมไมตรี ความรัก ความสามัคคี
ซึ่งนำมาซึ่งความเจริญใหญ่น้อยทั้งปวงหรืออาจบังเกิดผลพวงสัมฤทธิ์เป็นสงคราม
เกิดความเกลียดชังไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เฉกเช่นประวัติศาสตร์ในอดีตได้สอนพวกเราให้เรียนรู้คุณและโทษของการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในทุก
ๆ กลุ่มวัฒนธรรม
ปัจจุบันมีสถาบันสอนภาษาต่าง ๆ
มากมายในเมืองหลวงและตามเมืองใหญ่ ล้วนทำการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาละติน ภาษาจีน
ภาษาตะวันออกกลาง ภาษารัสเซีย ภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้ใช้สื่อสารติดตามทางอาชีพ ศาสนา
ธุรกรรมนานาประการ กล่าวได้ว่า มีการเรียนการสอนภาษาไทยเฉพาะในกลุ่ม ซึ่งเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบในอัตราส่วนต่างกับการเรียนการสอนภาษาที่มีชื่อเสียง
ภาษาไทยศึกษาในหมู่คนไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
ทำให้บทบาทของภาษาไทยเป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารในกลุ่มคนไทย
หรือบางเชื้อชาติที่สนใจเท่านั้น อีกทั้งการบริหาร การเมือง การเงิน
การลงทุนของคนไทยยังเป็นรองชาติอื่นที่มีความสามารถและฉลาดในตลาดโลก
เหตุนี้ทำให้แรงจูงใจให้ศึกษาในภาษาไทยจึงมีน้อยกว่าภาษาที่ทรงอิทธิพล
จำนวนผู้ที่รักหวงแหนภาษาไทยจึงมีน้อยลงไปด้วย ภาษาไทยจึงถูกบิดเบือน เพี้ยน
และมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ
เยาวชนหรือประชาชนชาวไทยจึงไม่ควรประมาทหรือส่งเสริม ติดตาม ดัดแปลง เลียนแบบ
การใช้ภาษาไทยหรือในทุก ๆ
วิชาจึงควรมีความเข้าใจแตกฉานในการใช้ภาษาไทยระดับทางการหรือทั่วไป
เพื่อถ่ายทอดภาษาไทยในบริบทต่าง ๆ ทักท้วง ชี้แจง
ทำความเข้าใจให้ผู้เรียนได้เข้าใจ เลือกใช้ได้ถูกต้องและมีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน
การเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ
ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
ครูผู้สอนต้องมุ่งเน้นการตรวจตราการสื่อสาร การใช้ภาษาของผู้เรียน
ให้มีลักษณะเฉพาะทางกับวัตถุประสงค์การใช้ไม่ปะปนหรือผิดเพี้ยน
ทั้งควรวิเคราะห์สาร ถ่ายทอดข้อมูลจากการสื่อสาร หรือเรียนรู้จากการอ่าน ฟัง
นำมาพูดหรือเขียน ได้อย่างชำนาญและถูกต้อง
ไม่นำภาษาเพื่อสื่อสารมาใช้ถ่ายทอดในการสันทนาการ
การบันเทิงหรือนำภาษาเพื่อการบันเทิงมาใช้ในลักษณะที่ผิดจากระดับทางการที่ควรเป็น
ในกรณีนี้เห็นได้ว่าภาษาไทยก็เป็นศาสตร์เพื่อการสื่อสาร
ที่มีผลต่อจิตวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดีหรือทรามได้
ประชาชนทุกคนจึงควรศึกษาศาสตร์การศึกษาให้ถูกต้อง
เพื่อกระตุ้นหรือมีส่วนสร้างให้แนวโน้มจิตวิทยาประชาชนในวัฒนธรรม มีคุณค่า “ดี”
ที่สูงขึ้น พัฒนาสู่สันติภาพ หรือความสุขมวลชนมากขึ้น
สมควร กวียะ (2547)
ได้เสนอทัศนะที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้สารและนำมาสู่การถ่ายทอดต่อผู้อื่นได้ชัดเจนว่า
การได้รับการสื่อสารของบุคคลในสังคมจะสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดด้วยตนเองตามลำดับ
คือ การเรียนรู้ (รับข่าวสาร) การเก็บ (ความจำ) การประเมินข่าวสาร (วิเคราะห์,
วิตก, วิจารณ์) การปรับตัว การมีจิตนาการ การครุ่นคิดไตร่ตรอง การแปลความหมาย
จากนั้นจึงถ่ายทอดสู่บุคคลอื่น ซึ่งในที่นี้ วิเคราะห์ได้ว่าพื้นฐานกระบวนการต่าง
ๆ เหล่านี้ ต้องมีความแตกต่างและขัดแย้ง
หรือประเมินค่าเพื่อถ่ายทอดแตกต่างกันตามปัจเจกบุคคล (สมควร กวียะ, 2547: 26-27)
เห็นได้ว่าครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา
มัธยมศึกษา ซึ่งทำหน้าที่ในการปูพื้นฐานของเยาวชนให้เรียนรู้เพื่อการตีความ
การแปรรูปสาส์น การถ่ายทอด เป็นขั้นตอนการปลูกฝังการสำนึกที่ดี การมีระบบระเบียบ
การวิเคราะห์รอบทาง การสังเคราะห์ที่จะมีประโยชน์ต่อเยาวชน ประชาชน
ทำให้เกิดการถ่ายโอนความรู้ที่มีจริยธรรมและวิวัฒนาการในอารยธรรมย่อยได้ดี
ผู้ที่เรียนครูฝึกฝนความเป็นครูจึงควรตระหนัก และพัฒนาสัมมาทิฏฐิ พรหมวิหารธรรม
หิริโอตัปปะ ให้เจริญควบคู่ไปด้วยการเกื้อกูลทางสังคม
จึงจะมีผลต่อการเผยแพร่ความรู้ข่าวสารที่มีอรรถประโยชน์ต่อชาติและสาขาวิชานั้น
โดม สว่างอารมณ์ (2559)
มีทักษะในการสร้างสรรค์บทร้อยกรองใหม่ ๆ โดยการศึกษาจากฉันทลักษณ์เก่า ๆ จำนวน 2
หรือ 3 รูปแบบในประเภทงานเขียนเดียวกัน จากนั้น
จึงประดิษฐ์ร้อยกรองในฉันทลักษณ์ที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ กาพย์สิรภางค์ 35
พัฒนามาจากกาพย์สุรางคนางค์และกาพย์ปพิชยางค์ ตัวอย่างดังต่อไปนี้


แนวคิดการสร้างสรรค์งนใหม่เช่นนี้
นับว่าเกิดขึ้นจากพื้นฐานทฤษฎีเก่ากระตุ้นให้เกิดทฤษฎีใหม่
ซึ่งล้วนมีประโยชน์ในการอนุรักษ์ อนุวัตร ให้ภาษาไทยมีการขยับขยาย
เผยแพร่องค์ความรู้เก่าใหม่ให้กว้างขวางมากขึ้นและควรใช้สื่อ Application ผ่านไลน์ Facebook Mail สื่อต่าง ๆ
ที่ประชิดตัวได้ดีขึ้นในลักษณะหนามหยอกเอาหนามบ่ง
เพื่อให้เป็นการส่งเสริมความรักวัฒนธรรมไทยให้เกิดมากขึ้น ทั้งยังอนุเคราะห์แก้ไขความปริวิตกของครูภาษาไทยที่เกิดจากศัพท์ไทยแสลงเพิ่มมากขึ้นทุกที
ดังนั้นการเผยแพร่ในเชิงรุกการใช้สื่อเป็นอุปกรณ์การกระตุ้น การแต่งกลอนร้อยแก้ว
กาพย์ โคลง ผ่านอุปกรณ์สื่อที่เยาวชนชื่นชอบ
อย่างน้อยก็เป็นการตรวจสอบการทำงานที่ทันเวลา ทันสมัย
และอยู่ในกระแสความนิยมที่ครูต้องตามให้ทัน
มิใช่การตั้งรับและแก้ไขความเข้าใจผิดจนเยาวชนมองว่า “ครูอยู่อีกโลกหนึ่ง” หรือ
“ครูตกขอบโลกไปแล้ว”
ประเด็นสุดท้ายสำหรับการรักษาภาษาอย่างเข้าใจควบคู่กับการพัฒนา
คือ การสอนและทำความเข้าใจองค์ประกอบของประโยค (sentence) อนุประโยค (clauses) วลี (phrases) กลุ่มคำ (fragments) ซึ่งแม้ว่าครูทุกท่านหรือคนไทยล้วนบอกว่าทราบดี รู้จักดี
แต่ก็มีจำนวนน้อยที่จะถ่ายทอดด้วยการเขียน การพูดที่เป็นประโยค
อนุประโยคได้อย่างสละสลวย แม้จะเป็นคนไทย ตัวอย่าง บทความ ข่าว งานเขียน งานวิจัย
อนุประโยคที่ดี ยกตัวอย่างเช่น “ภาพสะท้อนของการคิดดังกล่าว
ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ปัจจัยการผลิตที่ต้องอาศัยวัตถุประสงค์ การจูงใจ
ทุนการคมนาคม การสื่อสาร วัสดุชิ้นงาน การขยายแผนการตลาดที่ดี
ซึ่งการอาศัยแนวคิดพวกนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคการผลิต ฐานลูกค้า เครดิต
และบริบทอื่น ๆ”
จะเห็นได้ว่าไม่มีประโยคที่สมบูรณ์และแม้จะเป็นภาษาระดับทางการ
ก็ยังนับว่าผ่านการศึกษาด้านการเรียบเรียงประโยคมาน้อยมาก ควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็น “ภาพสะท้อนของแนวคิดของประชากรในสังคมด้านอันตรายของอาหาร
ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในภาคการค้าและภาคการผลิต
ซึ่งแยกแยะกลั่นกรองตรวจสอบการเผยแพร่ข่าวสารของการผลิตแต่ละแหล่งการผลิต
โดยหน่วยงานตรวจสอบของราชการเอกชนที่ชัดเจนสม่ำเสมอข่าวสารของการผลิตแต่ละแหล่งการผลิต
โดยหน่วยงานตรวจสอบของราชการเอกชนที่ชัดเจนสม่ำเสมอร่วมกับทรัพยากรประเภทมนุษย์
ซึ่งจะสามารถขยายแผนการตลาด ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
การเรียบเรียงภาษาไทยเพื่อสื่อสารที่ใช้กลุ่มคำสับสน
การใช้วลี อนุประโยค และประโยคเชิงซ้อนมากเกินจำเป็น จะลดจำนวนลง ทำให้การเขียน
การพูดมีความชัดเจน กระจ่าง สื่อความได้ตรงประเด้นมากขึ้น อันจะทำให้ประโยคมีความกระชับ
กะทัดรัด สร้างความเข้าใจที่ดีต่อวงวิชาชีพแต่ละวิชาชีพ
ดังนั้นผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การสื่อสารภาษาไทยมิใช่การศึกษาแค่ผิวเผิน เขียนได้
พูดดี แต่เป็นศาสตร์แห่งการสื่อสารของคนไทยที่มีองค์ประกอบชัดเจน
สามารถส่งผลให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง มีระบบทางวัฒนธรรม
มีกระบวนการคิดที่มีขั้นตอน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากผลงานอื่น ๆ
ในด้านวิชาการในประเทศ ยังพบว่า การสื่อสารภาษาไทยตามระดับวัยวุฒิ คุณวุฒิ
ก็มิใช่บรรทัดฐานตัดสินว่าผู้ศึกษา ผู้วิจัย ผู้เรียน
นักวิชาการมีความเข้าใจการเรียบเรียงภาษา กล่าวได้แต่เพียงว่า
ในบทความนี้ขอวิงวอนให้ครูไทยตระหนักว่า การเรียนการสอนภาษาไทยในระดับต่าง ๆ
มีบทบาทสร้างทรัพยากรบุคคล กระบวนการคิดของเยาวชนจนถึงผู้ใหญ่ อาจสรุปได้ว่า
ครูคือบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาษาไทยมีวัฒนาการที่ดีต่อไป
----------------------------------------
รายการอ้างอิง
โดม สว่างอารมณ์. (2559). หลายรสบทกวี. ม.ป.ท.: พิมพ์คอมพิวเตอร์อัดสำเนา.
สมควร
กวียะ. (2547). การสื่อสารมวลชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โกสินทร์.