LIFELONG LEARNING เพราะโลกเปลี่ยนเราจึงไม่อาจหยุดเรียนรู้
การเรียนรู้เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดที่องค์กรในยุคปัจจุบันมองหา ซึ่งหมายความว่าทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต “LIFELONG LEARNING” มีความสำคัญมากกว่าที่เคยท่ามกลางความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ในทุก ๆ วัน และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดต้องทำอย่างไร?
เพราะโลกหมุนไปอย่างรวดเร็วและวิกฤติอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ในปี 2015 World Economic Forum ได้รายงานผลการวิเคราะห์ของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง Deep Shift: Technology Tipping Points and Societal Impact แสดงผลการสำรวจเหตุการณ์สำคัญที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ (Mega Trend) ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกล่าวโดยรวมได้ว่าลักษณะของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงจากชีวิตอนาล็อกสู่ชีวิตดิจิทัล ยิ่งมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาก็ยิ่งทำให้เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว เพราะต้องตอบสนองความต้องการและช่องว่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คนสิ่งที่ทำให้เราตระหนักมากขึ้น คือ ทักษะและการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพาเราออกจากวิกฤตโรคระบาด และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้
เมื่อความท้าทายที่สำคัญของโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว คือ “กระบวนทัศน์” ของคน
ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ทุกวันความท้าทายขั้นแรกที่ต้องข้ามผ่านเพื่อให้สามารถก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคโลกใหม่ได้อย่างเหมาะสม “กระบวนทัศน์” ที่ยึดติดกับวิธีคิดเดิม เราจำเป็นต้องหมั่นเสริมสร้างศักยภาพเพื่อความสามารถในการประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์กลยุทธ์ต่าง ๆ ผ่าน (1) การเรียนรู้ใหม่ (Learn) (2) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาหรือกล้าลบสิ่งเดิม ๆ ทิ้งไป (Unlearn) (3) การเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ ๆ (Relearn) รูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะมีเพื่อที่จะสามารถก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไปอีกในอนาคตและที่สำคัญ คือ การเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคมจะช่วยให้รับมือและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านในลักษณะ Disruption อย่างเป็นระบบและมีทิศทาง
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คืออะไร?
Lifelong Learning คือ รูปแบบหนึ่งของการศึกษาที่เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง (Self-initiated Study) ซึ่งเน้นการพัฒนาของปัจเจกบุคคล โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ในวัยไหน เพราะหัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด และถึงแม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความที่เป็นมาตรฐานของ Lifelong Learning แต่โดยทั่วไปมักถูกนำไปอ้างถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนอกสถาบันการศึกษาในระบบ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือการฝึกอบรมขององค์กร อย่างไรก็ตาม Lifelong Learning ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองไว้ที่การเรียนรู้นอกระบบเท่านั้น ซึ่งคำอธิบายที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นความสมัครใจในการเรียนรู้เพื่อบรรลุ เติมเต็มเป้าหมายของตัวเอง และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราทุกคนคือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
ความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตใน 3 ระดับ
สำหรับผู้เรียนหรือระดับปัจเจกบุคคล การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นการเพิ่มความรู้และทักษะ และเพิ่มโอกาสในการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งตอบสนองความต้องการที่จะเรียนรู้และพัฒนาของแต่ละคน สำหรับองค์กรถือเป็นต้นกำเนิดนวัตกรรมที่สำคัญและช่วยให้องค์กรสามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และเป็นที่ทำงานที่ดึงดูดทรัพยากรที่มีศักยภาพและสำหรับสังคม การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหาความท้าทายสำคัญ ๆ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวอย่างยั่งยืน
World Economic Forum ได้กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับ “การปฏิวัติทักษะใหม่ทั่วโลก” (Global Reskilling Revolution) เนื่องจากทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยภายในปี 2030 ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคน จะต้องมีการปรับทักษะ (Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ ภายในปี 2022 ร้อยละ 42 ของทักษะหลักที่จำเป็นในการทำงานจะเปลี่ยนไป ซึ่งนอกจากทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์เฉพาะด้านยังเป็นที่ต้องการสูง ซึ่งครอบคลุมทักษะที่เกี่ยวข้องกับการขายทรัพยากรบุคคล การดูแล และการศึกษา
เทคนิคสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับตัวเอง
การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะต้องเริ่มจากการมี Growth Mindset คือ พร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวในทุกสถานการณ์ และคิดอยู่เสมอว่าตัวเองยังพัฒนาต่อ ๆ ไปได้อีก ผ่านการทำงาน การเรียนรู้ การลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในทางตรงกันข้าม หากเราเป็นคนที่มี Fixed Mindset เชื่อในพรสวรรค์ของตัวเองที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เชื่อว่าตนเก่งอยู่แล้วหรือแม้แต่เชื่อว่าตัวเองไม่เก่ง จะให้พัฒนาตัวเองต่อไปก็ไม่เก่งขึ้นไปกว่านี้ สิ่งเหล่านี้จะปิดกั้นโอกาสในการออกไปลองทำสิ่งใหม่ ๆ การเรียนรู้จากการลองมือทำ หรือ Active Learning จะช่วยให้ได้ฝึกทั้งกระบวนการคิดและลงมือทำ สามารถเชื่อมโยงความรู้เข้ากับการทำงานจริง และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นเพื่อให้ได้เห็นในมุมมองที่แตกต่าง เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้และหาคำตอบ
สิ่งที่ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตต่างการเรียนรู้ในห้องเรียนทั่วไป คือ เราสามารถออกแบบการเรียนรู้ในแบบของตัวเอง (Self-directed Learning) เพื่อทำให้ตอบโจทย์ชีวิตของเรามากที่สุด โดยกำหนดลำดับ วิธีการ เวลา และเป้าหมายการเรียนรู้ของตัวเองได้ เช่น บางคนเรียนรู้ด้วยตนเองและหาหนังสืออ่านเอง บางคนชอบที่จะมีคนมาอธิบายให้ฟัง อิสระในการออกแบบการเรียนรู้ช่วยให้เราพัฒนาศักยภาพได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการสร้าง Motivation ให้กับตัวเอง เพราะไม่มีคุณครูและเพื่อเป็นแรงกระตุ้นอีกต่อไป การเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงต้องสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ที่ดี คือนำตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้ ปัจจุบันมีพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงความรู้มากมาย เช่น งานเสวนา กิจกรรมการสร้างเครือข่าย และพลังของเทคโนโลยี ยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงออนไลน์คอมมูนิตี้ตามความสนใจของเราได้ทุกที่ทุกเวลา
โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญของการเรียนรู้ออนไลน์ตลอดชีวิต (Lifelong e-learning)
วิกฤติดังกล่าวพลิกโฉมรูปแบบการเรียนรู้ที่เราคุ้นชิน ข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหลักของการเข้าสู่การเรียนรู้ออนไลน์ และการเปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กระตุ้นให้เกิดค่านิยมของการเรียนรู้ออนไลน์ตลอดชีวิต (Lifelong e-learning) โรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะยังคงเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้หลัก ด้วยจุดเด่นในเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคมที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่มีความมุ่งมั่นเหมือนกันและช่วยในการสร้างเครือข่ายที่มีคุณภาพ แต่สิ่งที่เป็นข้อดีของการเรียนรู้ออนไลน์ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น ผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อการสอนได้ทุกเวลาที่ต้องการ มีความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับนักเรียนในเรื่องเวลาและวิธีการเรียน ต้นทุนที่อาจถูกลงสำหรับผู้เรียนปละประหยัดเวลาในการเดินทาง เพิ่มทางเลือกที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง อย่างไรก็ตาม Lifelong e-learning จะเกิดขึ้นได้จริงบนเงื่อนไขเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งการสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์เคยเป็นเรื่องยากและลำบาก จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่มีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่พร้อมให้ใช้งาน ซึ่งรวมทุกอย่างที่จำเป็น ตัวอย่างเช่น Learnworlds Kajabi Teachable และ Thinkific แม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็นำเสนอโซลูชั่นแบบบูรณาการที่ช่วยให้การเรียนรู้ออนไลน์ตลอดชีวิตเกิดขึ้นได้จริง
เมื่อเรากำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มตัว
แนวโน้มเรื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้กลายเป็นอีกแนวนโยบายสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในระดับองค์กร ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ เพื่อให้พัฒนาทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีนโยบายจากองค์กรเอกชนหรือนโยบายระดับประเทศในการสนับสนุนการเรียนรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการศึกษาหรือปริญญาแบบปกติ เช่น การอ่านหนังสือ การเรียนออนไลน์แบบ MOOC การเรียนหรืออบรมนอกเวลา การเข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ต่าง ๆ
รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ถือเป็นรัฐบาลต้นแบบในการวางนโยบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะของประชากร โดยการให้เงินสนับสนุนแก่ประชากรในการเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ผ่านทางองค์กร Skill Future Singapore หรือ SSG มีบริษัทด้านการศึกษาที่ร่วมมือพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลาย เช่น การใช้โปรแกรม Microsoft Office ทักษะของผู้ประกอบการ เช่น การตลาดแบบดิจิทัล ความปลอดภัยในการทำงาน ทักษะในชีวิตประจำวัน เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาด ทักษะด้านการให้บริการ เช่น การสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า หรือทักษะด้านอาชีพ เช่น พยาบาล เป็นต้น โดยแนวโน้มของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นเป็นแนวโน้มที่ดูจะสอดรับกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังที่มีการเตรียมประชากรให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้บุคคลมีความรู้และทักษะเพื่อรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุให้สามารถทำงานได้นานขึ้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณสามารถพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถอยู่ในตลาดแรงงานโดยที่นังมีคุณภาพและศักยภาพในการทำงานแม้ว่าจะมีอายุมาก จึงเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ภาครัฐสนับสนุน โดยการแบบนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงอายุ ภาคธุรกิจอาจมีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการศึฏษาเพื่อรองรับแนวโน้มด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งองค์กรด้านเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาอาจมีส่วนร่วม โดยการสนับสนุนบุคลากรในองค์กรให้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
การเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต “Lifelong Learning” เป็นวิธีคิดที่ไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญคือการสร้างเป้าหมายและตั้งมั่นอยากจะพัฒนาตนเองและองค์กรที่เราอยู่ ด้วยความเชื่อที่ว่า “ตัวเราเองมีศักยภาพในการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ” เพราะการเรียนรู้เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา ดังที่หนังสือ Oxford Handbook of Lifelong Learning ได้กล่าวไว้ว่า “Learning is all about change, and change drives learning”
หลักสูตรการศึกษาออนไลน์แบบเปิด (MOOC) ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย
o Innovating Solutions for Aging Populations (Coursera)o Rethinking Ageing: Are we prepared to live longer? (Coursera)o Internet of Things for Active Aging (Future Learn)o Falling Down: Problematic Substance Use in Later Life (Future Learn)o ศาสตร์แห่งการชะลอวัย (Science of active aging) (Thai MOOC)o การดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม (Holistic Approach on Ageing Care) (Thai MOOC)
--------------------
อ้างอิง
• http://www.weforum.org/agenda/2020/10/what-you-need-to-know-about-education-skills-and-life-long-learning/
• http://thegrowthmaster.com/growth-mindset/lifelong-learning
• http://www.krungsri.com/th/plearn-plaern/life-long-learning
• http://www.tpso.moc.go.th/th/node/10839
• http://www.forbes.com
------------------------------
ที่มาข้อมูล: บวรลักษณ์ ทองมาก. (2564). LIFELONG LEARNING เพราะโลกเปลี่ยนเราจึงไม่อาจหยุดเรียนรู้. วิทยาจารย์, 120 (2), 4-9. สืบค้นจาก http://withayajarn.com/Flipbook/K28/index.html