การศึกษาแบบเรียนรวมเพื่อความเป็นธรรมในสังคม Inclusive Education for Social Justica

-------------------------------------------------------------------ดารณี อุทัยรัตนกิจ. (2562). การประชุมทางวิชาการของคุรุสภา ประจำปี 2562 เรื่อง "ครูแห่งอนาคตเพื่อผู้เรียนแห่งอนาคต. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.
การศึกษาแบบเรียนรวม เป็นปรัชญาบนพื้นฐานของค่านิยมที่มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคมและในการศึกษา โดยลดการเลือกปฏิบัติและการแบ่งแยก (Booth, 2005)
การศึกษาแบบเรียนรวม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมสำหรับทุกคน (Inclusive society) การศึกษาแบบเรียนรวม ไม่ได้หมายความถึงการนำผู้เรียนพิการเข้ามาเรียนรวมกับผู้เรียนทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรวมของทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ ความพิการ เพศ เพศสภาพ ภาษา ศานา วัฒนธรรม สถานะเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเอกลักษณ์ของบุคคลที่อาจถูกมองว่าแตกต่างกัน
การศึกษาเพื่อทุกคน (Education For All : EFA) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายสังคมสำหรับทุกคนและสังคมเสมอภาค จำเป็นต้องพิจารณาความหลากหลายของผู้เรียนนอกเหนือจากความพิการ พันธกิจของการศึกษาเพื่อทุกคน คือ การนำเสนอประเด็นความเป็นธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำ และสิทธิมนุษยชน
การศึกษาที่ครอบคลุมความเป็นธรรมในสังคมมาจากมโนทัศน์หลัก 3 ประการ คือ ชุมชนประชาธิปไตย (democratic community) ความเท่าเทียมทางศีลธรรม (moral equality) และรูปแบบทางสังคมของความบกพร่อง (social model of disabilities)
มุมมองของจอห์น ดิวอี (John Dewey) เกี่ยวกับชุมชนประชาธิปไตย เกี่ยวข้องกับความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับชุมชน ชุมชนที่มีความเป็นอยู่ที่ดี และบุคคลในชุมชนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกัน เป้าหมายของชุมชนประชาธิปไตย คือ การสร้างชุมชนของความเสมอภาคและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อการแสดงออกที่เสรีภาพและการพัฒนาเต็มศักยภาพของพลเมืองแต่ละบุคคล
ดิวอีได้นำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางศีลธรรม ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เป็นประชาธิปไตยเกี่ยวกับความแตกต่างของมนุษย์ ด้วยความจริงที่ว่า คนทุกคนไม่เหมือนกัน คนเราแตกต่างกันในหลายเรื่อง ทั้งด้านขนาดของร่างกาย ลักษณะ รูปร่างหน้าตา ความสนใจ บุคลิกลักษณะ ความต้องการจำเป็น จุดเด่น และจุดด้อย ดิวอีกระตุ้นให้ไม่มองความแตกต่างในแง่ของความเหนือกว่าหรือด้อยกว่า สูงกว่าหรือต่ำกว่า และดีกว่าหรือแย่กว่า แต่ให้มองความแตกต่างของมนุษย์ผ่านมุมมองของการไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ความเท่าเทียมทางศีลธรรม จึงหมายถึงการเปรียบเทียบกันไม่ได้ และไม่สามารถนำมาตรฐานทั่วไปหรือมาตรฐานเชิงปริมาณมาประยุกต์ใช้ได้ การนำหลักคิดของความเท่าเทียมทางศีลธรรมมาปฏิบัติ เริ่มต้นที่การไม่ยอมรับการเปรียบเทียบผู้เรียนคนหนึ่งกับเพื่อนคนอื่นในห้อง หรือการคิดค่าเฉลี่ยทางสถิติ
รูปแบบทางสังคมของความบกพร่อง พัฒนาขึ้นมาจากประสบการณ์ของคนพิการ ได้นิยามความบกพร่องว่าเป็นกำแพงที่กีดขวางการเข้าไปมีส่วนร่วม ความสำเร็จ และความสุข ที่เป็นผลจากการถูกโดดเดี่ยวและถูกกดขี่ ซึ่งทั้งสภาพร่างกายและจิตใจไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์และหน้าที่ตามมาตรฐานของสังคม ในรูปแบบทางสังคมบุคคลที่มีความบกพร่อง เป็นชนกลุ่มน้อยที่แสวงหาสิทธิมนุษยชน พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชน รูปแบบทางสังคมของความบกพร่อง มองความแตกต่างระหว่างบุคคลว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการและเหตุผล และความบกพร่องเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า
นิยามการศึกษาแบบเรียนรวม
ราชบัณฑิตยสภา (2558) ได้กำหนดนิยามการศึกษาแบบเรียนรวม ดังนี้ “การจัดการการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้บรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งตนในโรงเรียนเดียวกันกับเด็กปรกติ ในชุมชนใกล้บ้าน เป็นการนำความช่วยเหลือ สนับสนุนเข้ามาในโรงเรียนหรือในห้องเรียน เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนทุกคน เป็นการจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความหลากหลายเพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนในชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เปิดทางให้มีการสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่หลากหลาย สนองความต้องการของเด็กและเยาวชนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ที่ต่างวัฒนธรรม บนฐานการมีส่วนร่วมจัดการของชุมชนท้องถิ่นด้วย” การศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นการศึกษาสำหรับผู้เรียนระดับความสามารถ ทุกเชื้อชาติ ภาษา และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และจัดให้มีบริการเสริมตามความต้องการของแต่ละบุคคล
ความสำคัญของการศึกษาแบบเรียนรวม
การประชุมการศึกษาโลก (World Education Forum) ของยูเนสโกที่จัดขึ้นที่จอมเทียน จังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2533 นั้น ได้มีการประกาศปฏิญญาโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน (The World Declaration of Education for All) โดยเป้าหมายของการศึกษาเพื่อปวงชน คือ การที่ทุกคนทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ได้ประโยชน์จากการได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน (UNESCO, 1990) จากนั้น พ.ศ. 2537 ได้มีการประชุมระดับโลกเรื่องการเข้าถึงและคุณภาพของการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (Special Needs Education: Access and Quality) ที่เมืองซาลามังกา ประเทศสเปน ตามแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการ นโยบาย และการปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษา สำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีสาระสำคัญที่กล่าวถึงการศึกษาเพื่อปวงชนว่า
1. เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาตามสิทธิขั้นพื้นฐาน2. เด็กทุกคนมีคุณลักษณะเฉพาะบุคคล ความสนใจ ความสามารถ และความต้องการการเรียนรู้3. เด็กได้รับการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับคุณลักษณะที่หลากหลายและแตกต่างเป็นรายบุคคล4. เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเข้าถึงการศึกษาแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ในสถานศึกษาปรกติทั่วไป5. เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้เรียนรวมในสถานศึกษาปรกติทั่วไปร่วมกับเด็กทั่วไป เพื่อสร้างสังคมแห่งการดำรงชีวิตร่วมกัน (UNESCO,1994)
รัฐบาลของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้นำหลักการสำคัญดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนตามแถลงการณ์นี้มาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏข้อมูลดังรายงานการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2560) เริ่มต้นจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวดที่ 1 บททั่วไป กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการที่ต้องจัดการศึกษาสำหรับคนไทยทุกคนให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหมวด 2 เป็นส่วนที่ว่าด้วยคนพิการทุกประเภทโดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุสภาพทางกายหรือสุขภาพ รวมทั้งให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา คือ การจัดการศึกษาของคนพิการอาจจัดในสถานศึกษาเฉพาะหรือในสถานศึกษาทั่วไป หรือการศึกษาทางเลือก หรือการศึกษานอกระบบ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามความเหมะสม (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124, 2550)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีหลากมาตราที่ส่งผลต่อการดำเนินงานการจัดการศึกษาเรียนรวม กล่าวคือ ในมาตรา 4 ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยขยายความในมาตรา 27 ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดกระทำมิได้ ในมาตรา 54 ระบุว่า รัฐต้องจัดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วย รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและมีมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และดำเนินการและตรวจสอบให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 134, 2560)
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ระยะ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องจัดให้แก่ผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าเป็นผู้เรียนกลุ่มปรกติ กลุ่มด้อยโอกาสที่มีความยากลำบากและขาดโอกาสเนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและภูมิสังคม และกลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 - 2564 กำหนดยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพ และความเข้มแข็ง (Empowerment)ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการขจัดการเลือกปฏิบัติเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง (Quality Management)ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความเข้าใจในเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ (Understanding)ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและให้ประโยชน์ได้ (Accessibility)ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมบูรณาการเครือข่ายและการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน (Linkage)
เห็นได้ว่าแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับนี้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม รวมถึงมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 - 2564 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การดำเนินการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทย
จากความสำคัญและหลักการดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้เรียนทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเสมอภาค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการโรงเรียนแกนนำจัดการเรียนรวม เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบ วิธีการ และการบริหารจัดการศึกษาเรียนรวมในโรงเรียนที่มีเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวมกับเด็กทั่วไป
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รายงานข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนรวม ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2561 ว่ามีโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบเรียนรวม สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 23,488 โรงเรียน มีนักเรียนพิการทุกประเภทรวมจำนวน 287,678 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ จำนวน 328,823 คน คิดเป็นร้อยละ 84.82 ของนักเรียนพิการทุกประเทภ (สำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ, 2561)
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายและนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่ชัดเจน รวมทั้งมีความพยายามที่จะดำเนินการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่ทำให้การดำเนินงานการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังปรากฏชัดเจนว่ามีผู้เรียนจำนวนมากที่ยังอยู่ในระบบโรงเรียนก็ยังถูกกีดกันหรือแบ่งแยกทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา พื้นฐานทางสังคมหรือวัฒนธรรม เพศ ความสามารถ หรือภาวะการดำรงชีวิต รวมทั้งไม่สามารถเรียนรู้ได้เนื่องจากได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ
ปัญหาและอุปสรรคการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
จากรายงานการวิจัยเรื่อง ความทั่วถึงและเท่าเทียมของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2560) พบว่า ประเทศไทยยังมีอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานการจัดการศึกษาเรียนรวมไม่ประสบความสำเร็จเท่าทีควร ดังนี้
1. ด้านการเงินและงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาเรียนรวมที่ไม่คุ้มค่า2. ด้านสถิติ ข้อมูล และการวิจัยที่ไม่ครอบคลุม3. ด้านบุคลากรของสถานศึกษาตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับผู้ปฏิบัติการที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบเรียนรวม4. ด้านการวินิจฉัยเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ5. ด้านผู้ปกครองที่ขาดความพร้อมทั้งในด้านความรู้และความเข้าใจในการให้การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือนักเรียน6. ด้านอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรวม
นอกจากนี้ ผลการวิจัยเกี่ยวกับ “การติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” ยังพบอีกว่า ประเทศไทยมีปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมของสถานศึกษาเรียนรวม ดังนี้
1. นโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของสถานศึกษาบางสังกัดขาดความชัดเจนทั้งในด้านผู้รับผิดชอบและวิธีการนำไปปฏิบัติ2. ความแตกต่างของสังกัดสถานศึกษาที่ขาดความร่วมมือและความช่วยเหลือจากศูนย์การศึกษาพิเศษ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ3. งบประมาณที่ไม่เพียงพอ4. ความแตกต่างของการได้รับเงินเพิ่มของครูการศึกษาพิเศษและครูผู้สอนในห้องเรียนรวม5. บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษาไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางส่วนกลางเพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษาพิเศษในการจัดการเรียนรวม6. การขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทาง เช่น ครูล่าภาษามือ จิตแพทย์เด็ก7. ภาวะเครียดสะสม ท้อแท้ และหมดกำลังใจของครูผู้สอนห้องเรียนรวมที่ต้องสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในระดับรุนแรง8. การขาดช่วงเชื่อมต่อหรือเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาในแต่ละช่วงชั้นของนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิฌศษที่มีประสิทธิภาพ9. ขาดสื่อที่เหมาะสมในการสอนและสนับสนุนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ10. ผู้ปกครองขาดความรู้และความเข้าใจ ทำให้มีเจตคติเชิงลบและมีผลต่อการให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน
ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการศึกษาแบบเรียนรวม
ผลการศึกษาของต่างประเทศและประเทศไทย ได้บ่งชี้ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการศึกษาแบบเรียนรวม ดังนี้
1. ด้านนโยบาย หน่วยงานระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับสถานศึกษา ต้องมีนโยบายการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่ชัดเจน มีการจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรอย่างเพียงพอ รวมทั้งมีการกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง2. ด้านบุคลากร ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทั้งโรงเรียน มีการปฏิบัติงานเชิงรุก ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีเจตคติเชิงบวกต่อความหลากหลายของผู้เรียน มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม และเทคนิคการสอนเฉะพาะ นอกเหนือจากการสอนปรกติ ผู้บริหารสนับสนุนด้วยการเปิดโอกาสให้ครูได้ศึกษาเพิ่มเติม อำนวยความสะดวกให้ครูทำงานร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็น3. ด้านหลักสูตร มีการปรับหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงบทเรียน และทำความเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น รวมทั้งปรับวิธีการสอน สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงเนื้อหาวิชาอย่างเท่าเทียมกัน4. ด้านการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนมีกระบวนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การระบุความต้องการจำเป็นพิเศษ การประเมินผู้เรียน การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง การจัดชั้นเรียน การสร้างความเข้าใจที่ตรงกันของผู้เกี่ยวข้อง มีการใช้กลยุทธ์การเรียนรการสอนที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้ที่เป็นสากล (Universal Design for Learning) การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) การเรียนรู้แบบสืบเสาะและหาความรู้ (Inquiry Learning) การสอนแบบมุ่งเน้นเฉพาะทักษะที่บกพร่อง (Embedded Instruction) หรือการสอนร่วมกันระหว่างครูรายวิชากับครูการศึกษาพิเศษ (Co-Teaching)5. ด้านการสนับสนุนจากเพื่อน เพื่อนผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน มีความเข้าใจเพื่อนที่แตกต่าง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งด้านวิชาการและด้านสังคม เช่น การช่วยเหลือกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อนหรือเพื่อนช่วยสอน6. ด้านการสนับสนุนจากผู้ปกครองและชุมชน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวมของผู้ปกครองและชุมชน ทำให้โรงเรียนได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม เพื่อการดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้นักเรียนทั่วไป มีความเข้าใจ และยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล7. ด้านการเชื่อมต่อหรือเปลี่ยนผ่านทางศึกษา การจัดทำแผนการเชื่อมต่อหรือการเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาจากระดับชั้นหนึ่งไปอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่า หรือจากการศึกษาสู่การประกอบอาชีพที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผู้เรียนมีการพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น8. ด้านการสร้างวัฒนธรรมการศึกษาแบบเรียนรวมของโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และบุคลากร ร่วมกันกำหนดนโยบาย กระบวนการ และแผนงานการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ผู้บริหาร สนับสนุนงบประมาณ จัดสภาพแวดล้อม แหล่งการเรียนรู้ และห้องเรียนที่เหมาะสม ส่งเสริมให้ครู บุคลากร และผู้เรียนทุกคนมีเจตคติที่ดีต่อกันยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย และชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จของผู้เรียนทุกคน9. ด้านการเตรียมครูที่มีคุณภาพ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูทุกคน ต้องได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรวมอย่างน้อย 1 ปี เพื่อฝึกฝน บ่มเพาะ และพัฒนาสมรรถนะของการเป็นครูที่สอนในห้องเรียนรวม
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ดังนี้
1. ด้านเครื่องมือและกลไกสนับสนุนจากภาครัฐและส่วนต่างๆ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาตร์ และแผนการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จัดทำกฎหมายระบบสารสนเทศ และหลักสูตรที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม2. ด้านบทบาทและแนวทางการดำเนินงาน ทั้งระดับนโยบาย ระดับสถานศึกษา และระดับผู้เรียน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและเจตคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้องและของสังคม ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการศึกษาของสถานศึกษา บทบาทการทำงานของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม3. ด้านการจัดการภายในสถานศึกษา โดยมีการปรับหลักสูตร การจัดชั้นเรียน การให้บริการทางการศึกษา และมียบุคลากรที่สามารถจัดการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาพ นอกจากนี้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจและมีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม4. ด้านการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร โดยมีการจัดอบรมให้แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาวิชาชีพการศึกษาพิเศษ5. ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
สรุป
การศึกษาแบบเรียนรวมเพื่อความเป็นธรรมในสังคม มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้สังคมแน่ใจว่าผู้เรียนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและไม่ถูกแบ่งแยก การศึกษาแบบเรียนรวมเป็นการส่งเสริม สนับสนุนสังคมประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพครู รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง สถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาแบบเรียนรวม นั่นคือ เป็นสถานศึกษาสำหรับทุกคน ผู้เรียนทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความหลากหลาย และทุกคนสามารถประสบความสำเร็จตามศักยภาพแห่งตน ความต้องการของผู้เรียนถูกระบุเป็นรายบุคคลและได้รับการสนับสนุนด้วยการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมและแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกับครู สถานศึกษา ผู้เรียน ผู้ปกครอง นักวิจัย นักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมทั้งองค์การทางสังคมการเรียนรวมไม่ใช่อุดมการณ์แต่เป็นความคาดหวัง และเป็นนโยบายของประเทศที่มาจากการศึกษาวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งมีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการตระหนักรู้ของทุกคนในสังคมว่าการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพจะนำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคม
------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. 2561. นโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานเกี่ยวข้องกับจุดเน้นนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์). สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2561, จาก http://www.moe.go.th/moe/upload/news20/FileUplode/49146-9526.pdf.ราชกิจจานุเบกษา. 2542. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. เล่มที่ 116.ราชกิจจานุเบกษา. 2550. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 1. เล่มที่ 124.ราชกิจจานุเบกษา. 2551. พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551. เล่มที่ 125.ราชกิจจานุเบกษา. 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. เล่ม 134.สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ. 2561. รายงานจำนวนข้อมูลนักเรียนพิการเรียนรวม แยกเขตพื้นที่ประเภทความพิการข้อมูล 10 มิ.ย. 61. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2561, จาก http://specialbasic.specialset.bopp.go.th/specialbasic/download/studentall_deform_2561_1.pdfสำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2558. พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2560. รายงานการวิจัย เรื่อง ความทั่วถึงและเท่าเทียมของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ: บริษัท 21 เซ็นจูรี่ จำกัด.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. 2560. (ร่าง) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ. กรุงเทพฯ.Booth, T., Ainscow, M., Black-Hawkins, K., Vaughan, M., & Shaw, L. 2002. Index for inclusion. Developing learning and participation in schools. CISE, Bristol.Danforth, S. 2016. Social justice and technocracy: Tracing the narratives of inclusive education in the USA. Discourse: Studies in the cultural politics of education, 37(4), 582-599.Dewey, J. 1976a. Individuality, equality, and superiority. In J. A. Boydston (Ed.), John Dewey: The middle works, 1899-1924 (Vol. 13, pp. 295-300). Carbondale, IL: Southern Illinois University Press.Dewey, J. 1976b. Mediocrity and individuality. In J. A. Boydston (Ed.), John Dewey: The middle works, 1899-1924 (Vol. 13, pp. 289-294). Carbondale, IL: Southern Illinois University Press.Dyson, A. 1999. Inclusion and inclusions: Theories and discourses in inclusive education. In: Daniels, H., Garner. P. (Eds.), World Yearbook of Education. Kogan Page, London. pp. 36-53.UNESCO. 1990. The world Declaration on Education for All.UNESCO. 1994. The Salamanca Statement and Framework for Action on Special Needs Education. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2561, จาก http://www.unesco.org/education/pdf/SALAMA_E.pdf