10 สมรรถนะหลักปั้นเด็กไทยฉลาดรู้ : อยู่ดีมีสุข มีความสามารถสูง และใส่ใจสังคม
ผู้เขียน : รองศาสตราจารย์ ดร.ทิศนา แขมณี
ที่มาข้อมูล : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2562). ที่ระลึกงานวันครู ครั้งที่ 63 พ.ศ. 2562. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, หน้า 48-51.
--------------------------------------
การปฏิรูปการศึกษานับเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการกันอย่างจริงจังในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในองค์ประกอบที่ส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์และคุณภาพของผู้เรียน คือ ครู หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดผลและประเมินผล จากการศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการเอกสาร ผลงานวิจัย การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้เรียนในทุกระดับการศึกษา ด้อยคุณภาพทั้งทางด้านการนำความรู้และทักษะที่ตนได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือ “ความสามารถเชิงสมรรถนะ” นั่นเอง
“สมรรถนะ” เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสามารถของบุคคลในการประยุกต์ใช้ความรู้ และทักษะต่างๆ ในการทำงาน การใช้ชีวิตและการแก้ปัญหา ศาสตราจารย์ Davis McCelland แห่งมหาวิทยาลัย Harvard พบว่า สมรรถนะเป็นคุณสมบัติที่สามารถทำนายความสำเร็จในการทำงานได้ดีกว่าเชาว์ปัญญา (Intelligence) สมรรถนะจึงควรจะเป็นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการเรียนรู้ เพราะเป็นความสามารถในระดับใช้การได้ในชีวิต ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต
ในเมื่อ “สมรรถนะ” มีความสำคัญและประโยชน์ต่อชีวิต การศึกษาจึงต้องทำหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่จำเป็น แต่สมรรถนะอะไรที่เป็นความจำเป็นที่ผู้เรียนทุกคนจะต้องมีเมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1 – ม.6) ประเด็นนี้จึงเป็นคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้เป็นอันดับแรก
คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาหาคำตอบ คณะทำงานดังกล่าวจึงจัดทำขึ้นเป็นการนำร่อง โดยคณะวิจัยได้พัฒนากรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียน ซึ่งเป็นสมรรถนะของผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อให้เห็นกรอบสมรรถนะในภาพรวมปลายทาง และใช้กรอบดังกล่าวเป็นหลักในการนำสู่กรอบสมรรถนะหลักระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1 – ป.3) ซึ่งมีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องปรับเปลี่ยนก่อนระดับชั้นอื่นๆ
กรอบสมรรถนะหลักที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยสมรรถนะสำคัญ 10 สมรรถนะ ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการสำคัญ 6 ประการ คือ เป็นสมรรถนะที่สามารถตอบสนอง 1) ความต้องการของประเทศตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนการศึกษา และมาตรฐานการศึกษา 2) สอดคล้องกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันและอนาคต 3) ส่งเสริมการใช้ศาสตร์พระราชา พระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 4) ให้ความสำคัญกับความเป็นไทย ความเป็นชาติไทย เพื่อดำรงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้ถาวรสืบไป 5) สอดคล้องกับหลักพัฒนาตามวัยของมนุษย์และตอบสนองต่อความแตกต่างที่หลากหลายทั้งของผู้เรียน บริบท และภูมิสังคม และ 6) สามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานสากลได้
สมรรถนะทั้ง 10 ประการ เป็นสมรรถนะหลักที่เด็กและเยาวชนไทยจะต้องได้รับการพัฒนาในช่วงเวลา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ สมรรถนะทั้ง 10 ประการ ได้แก่
1. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร2. คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน3. กระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์4. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร5. ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน6. อาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ7. ทักษะการคิดชั้นสูงและนวัตกรรม8. การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล9. การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ10. การเป็นพลเมืองตื่นรู้และมีจิตสำนึกสากล
คณะทำงานได้พัฒนารายการสมรรถนะย่อยของแต่ละสมรรถนะหลัก ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น รวมทั้งได้พัฒนาแนวทางการนำสมรรถนะไปใช้การพัฒนาผู้เรียนได้ 6 แนวทาง และนำไปทดลองใช้ในโรงเรียนสังกัดต่างๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ กระบวนการนำไปใช้ ผลที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียน รวมทั้งปัจจัยที่เอื้อและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของครูและการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งผลจากการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการปรับ/พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล รวมทั้งการพัฒนาครูให้สามารถเพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างนิ่งสมรรถนะภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ทักษะกระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสมรรถนะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร สมรรถนะทั้งสี่นี้ เป็นสมรรถนะที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนไทย เป็นคนไทยฉลาดรู้ (Literate Thais) คือ มีความรู้และเครื่องมือพื้นฐานที่จะใช้ในการแสวงหาความรู้และเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนสมรรถนะทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน และทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ จะช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข (Happy Thais) สำหรับทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม รวมทั้งการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล จะช่วยเพิ่มพูนความสามารถ ความเก่งให้เด็กและเยาวชนไทยคิดเก่ง และรู้ทันโลก ทำให้เด็กและเยาวชนไทย เก่งขึ้น มีความสามารถสูงขึ้น (Smart Thais) ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกด้วย ส่วนสองสมรรถนะสุดท้าย คือ สมรรถนะการทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ และสมรรถนะการเป็นพลเมืองตื่นรู้และมีสำนึกสังคม จะช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นผู้ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้นำที่ดีและเป็นพลเมืองไทยที่ใส่ใจสังคมและมีสำนึกสากล (Active Thais Citizen with Global Mindedness) มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในกิจการของสังคมและผดุงความเป็นธรรมในสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป