>>
> องค์ความรู้วิชาชีพ
> การอุดมศึกษา
ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์
ครู คือ ปัจจัยสำคัญยิ่งในกระบวนการจัดการศึกษา หรือกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตั้งแต่ปฐมวัย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา คิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม สามารถทำงานเป็นกลุ่ม เป็นทีมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร มีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม มีจิตสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทย ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รังเกียจการทุจริตและต่อต้านการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง สามารถก้าวทันโลกทันการเปลี่ยนแปลง มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่สมบูรณ์ แข็งแรง เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะความรู้พื้นฐานที่จำเป็น มีสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียมเสมอภาค (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๓) โดยกำหนดแนวทางคือ (๑) พัฒนาคุณภาพการศึกษาและเรียนรู้ และ (๒) ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ ความรู้ และความสามารถ (ทักษะ) ทั้งนี้จะดำเนินการปฏิรูปใน ๒ แนวทางให้สำเร็จได้จะต้อง “พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่” ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผลิตครูและพัฒนาครูเป็นสิ่งแรก โดยเน้นครูยุคใหม่ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า มีระบบ กระบวนการผลิต และพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง สามารถดึงดูดคนเก่ง คนดี ให้มีใจรักในวิชาชีพครูมาเป็นครู คณาจารย์ มีปริมาณครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเพียงพอตามเกณฑ์ และสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันสามารถพัฒนาตนเอง และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มีสภาวิชาชีพที่เข้มแข็ง บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพ มีขวัญกำลังใจ อยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยกำหนดแนวทางพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ คือ
จากเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา จะเห็นว่า “ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์” ซึ่งเป็นชื่อของคณะวิชาในสถาบันผลิตครู พัฒนาครูในสถาบันอุดมศึกษา จึงเป็นคำหรือชื่อที่สำคัญยิ่ง และจำเป็นยิ่งในกระบวนการผลิตครู และพัฒนาครูยุคใหม่ ควรที่จะมาทำความเข้าใจ ดังนี้๑. การพัฒนาระบบผลิตครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีมาตรการหลัก คือ ปรับระบบการผลิตและให้มีสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ที่เน้นความเป็นเลิศด้านการผลิตครู วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวิชาชีพครู รวมทั้งมีระบบประกันและรับรองคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครูและสถาบันผลิตครู (คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์)๒. การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่เน้นการใช้โรงเรียนเป็นฐานให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาครูประจำการ ทั้งนี้ให้สถาบันการผลิตครู คือ “คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์” ร่วมเป็นเครือข่ายการพัฒนาและเป็นผู้นำการพัฒนา หน่วยงานต่าง ๆ นี้ สภาวิชาชีพครู คือ คุรุสภารับรอง
ครุศาสตร์ (Science of Education)
ความหมายของคำว่า “ครุศาสตร์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คะรุสาด] น. วิชาว่าด้วยการสร้างพื้นฐานและความรู้ของการเป็นครู ประกอบด้วยวิชาการศึกษา เป็นต้น
เป็นที่เข้าใจและรับรู้กันมานานจากการบอกกล่าวมาว่า “ครู” มาจากภาษาบาลีว่า “ครุ” แปลว่า “หนัก” ซึ่งหมายถึง ผู้เป็นครูจะต้องหนักแน่น หรือความเป็นครูเป็นงานหนัก มิใช่งานที่โครทำได้ง่าย ๆ เมื่อ "ครุ" แปลว่าหนัก ดังนั้นจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะเรียกผู้ซึ่งจะมาทำหน้าที่รับเรื่องราวหนัก ๆ นี้ว่า “ครู” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดที่บรรพบุรุษกำหนดให้บุคคลที่เป็น “ครู” มาทำหน้าที่ในการสืบทอดและถ่ายทอดองค์ความรู้จากภายนอกที่มองเห็น คือความรู้และทักษะ กับคุณลักษณะภายในตัวคนซึ่งคือลักษณะนิสัย (trait) แรงจูงใจ (motivation) ภาพลักษณะแห่งตน (Self - image) บุคลิกภาพซึ่งนำไปสู่บทบาทที่แสดงออกทางสังคม (Social roles) อีกทั้งทำความรู้ให้กระจ่าง และที่สำคัญที่สุดเป็นผู้มีหน้าที่สร้างบุคคลให้มีคุณภาพทั้งวิชาการ วิชาชีพ คุณธรรม จริยธรรม สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุขและเป็นกัลยาณมิตร ดังนั้น งานครู ความเป็นครูจึงเป็นงานหนัก ภาระหนัก ซึ่งผู้จะเป็นครูจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ ฝึกฝน อบรม บ่มเพาะ เพื่อจะได้รับหน้าที่ครู ซึ่งเป็นงานหนักต่อไปได้
นอกจากกล่าวแล้ว คำว่า “ครุ” นั้นมาจากรากศัพท์ว่า “คร” แปลว่า “อุคฺคเม” (ไปสูง) หมายถึง ผู้ที่อยู่สูงเป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา ผู้อยู่เหนือเรา หรือผู้ที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดพื้นฐานของเราไว้ได้ นอกจากความหมายเบื้องต้นแล้ว “ครุ” ยังแปลว่า “ปีกนก” เพราะเป็นอวัยวะที่พานกไปสู่ที่สูงได้ จึงสอดคล้องกับความหมายของ “ครุ” ที่ว่า “ผู้ควรแก่การเชิดชูไว้ที่สูง” ซึ่งในคัมภีร์ได้อธิบายว่ามี อาจารย์ มารดา บิดา เป็นต้น ดังพุทธสุภาษิต ที่ว่า “ปุพฺพาจริยาติมาตาปิตูน เมตํ อธิวจนํ” ซึ่งคำว่าบูรพาจารย์เป็นชื่อเรียกมารดาและบิดา ตามนัยนี้พระพุทธเจ้ายกย่องว่าครูคนแรกของเราก็คือ พ่อ แม่ ดังนั้น “ครุ” เมื่อเป็นคำทั่วไปก็มีความหมาย 3 อย่าง คือ ความมีมาก (มหัตตะ) มั่นคง (ทุชชระ) ของหนัก (อลหุกะ)
ศึกษาศาสตร์ (Education Science)
ความหมายของคำว่า “ศึกษาศาสตร์” คือ “การศึกษาที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของ “ศึกษาศาสตร์” กับความหมายของ “ครุศาสตร์" ดังกล่าวแล้วก็พบว่าสอดคล้องตรงกัน ไม่มีความแตกต่างกันในความหมายตามนัยที่นำมาเสนอนี้ ดังนั้นในสถาบันผลิตครูและพัฒนาครูของประเทศไทย จึงนิยมใช้คำ ๒ คำนี้ เป็นชื่อของคณะวิชาในการผลิตครูและพัฒนาครูดังกล่าวแล้ว
แต่ความแตกต่างระหว่างคณะครุศาสตร์ กับคณะศึกษาศาสตร์ อยู่ตรงที่สถาบันผลิตครู หรือ มหาวิทยาลัยนำไปตั้งชื่อคณะวิชาที่ใช้ผลิตครู เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งใช้ “คณะครุศาสตร์” ส่วนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ “คณะศึกษาศาสตร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเรียกชื่อหรือใช้คำว่า “ครุศาสตร์” หรือ “ศึกษาศาสตร์” แต่ในทางการบริหารจัดการของทั้งสองคณะวิชานี้มี “สภาคณบดีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทย” เป็นองค์การประสานแบบคอนซอเทียม (Consortium) คือการรวมกลุ่มกันแบบหลวม ๆ เพื่อร่วมกันผลิตและพัฒนาครูให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามนโยบายยุทธศาสตร์ของประเทศ มีการวางแผนบริหารจัดการ ดำเนินการร่วมกันและร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้การผลิตครู พัฒนาครูของประเทศเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต ของสภาวิชาชีพครู คือ “คุรุสภา” และได้คุณภาพตามที่สังคมประเทศชาติต้องการ
ในการปฏิรูปการศึกษาทั้งรอบที่ ๑ (๒๕๔๒ - ๒๕๕๒) และทศวรรษที่ ๒ (รอบที่ ๒) (๒๕๕๒ - ๒๕๖๑) ที่เน้นความต้องการผลิตและพัฒนาครูยุคใหม่เพื่อพัฒนาคนไทยยุคใหม่ ในสถานศึกษายุคใหม่ และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่รวมถึงการบริหารจัดการใหม่ดังทราบแล้วนั้น ทั้ง “คณะครุศาสตร์” และ “คณะศึกษาศาสตร์” ต่างเห็นสอดคล้องกันไปในทิศทางเดียวกันว่า หลักการสำคัญในการผลิตครูและพัฒนาครูยุคใหม่ ต้องประกอบด้วยหลักการดังต่อไปนี้
๑. หลักสูตรการผลิตครูพัฒนาครูยุคใหม่ต้องเน้นที่ผู้ศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การประเมินสมรรถนะครู (Certificate by competencies performance) มากกว่าการเรียนครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนด (certificate by credits)๒. วิธีการเรียนรู้และฝึกอบรมพัฒนาครูยุคใหม่จะเน้นที่การเรียนรู้ (learning) และฝึกอบรม (training) จนเกิดประสบการณ์ (experiential learning) หรือเรียกว่ากระบวนการปลูกปัญญา ซึ่งประกอบด้วย ๔ กระบวนการ คือ
๒.๑ การเก็บรวบรวม การรับข้อมูล ข่าวสารสนเทศ ความรู้ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ จากภายนอกเข้ามาสู่ตัวผู้เรียนโดยผ่านตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นแตะรส และใช้อวัยวะสัมผัส เพื่อรับเข้ามาสู่ตนให้ได้มากที่สุด เรียกว่า “สุตตะมายะปัญญา"๒.๒ การนำเอาข้อมูล ข่าวสารสนเทศ ความรู้ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ ที่รับเข้ามาสู่ตัวผู้เรียนรู้ไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้อยู่ในรูปแบบที่จะนำไปใช้ปฏิรูปให้เกิดประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อใช้พัฒนาต่อยอด ไปใช้ในการดำเนินการ การบริหารจัดการ เรียกว่า “จินตะมายะปัญญา” ในรูปของกรอบความคิด แผนงานโครงการ เป็นต้น๒.๓ การนำเอาข้อมูล ข่าวสารสนเทศ ความรู้ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ ที่อยู่ในรูปแบบกรอบความคิด แผนงานโครงการ และอื่น ๆ ไปสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดผลลัพธ์ที่สัมผัสได้ ตรวจสอบและประเมินได้ เรียกว่า “ภาวนามายะปัญญา”๒.๔ นำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาพิจารณาตรวจสือบ ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และประเมินผลว่า ข้อมูลข่าวสารสนเทศ ความรู้ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ ที่รับเข้ามาสู่ตัวจนนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลลัพธ์นั้น เป็นข้อมูล ข่าวสารสนเทศ ความรู้ ยุทธศาสตร์ ฯลฯ ที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เหมาะสม สอดคล้องและเป็นไปได้ ก็นำไปเป็นความรู้ที่ดี เป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ที่จะนำไปใช้ได้อีกต่อไป แต่ถ้าไม่ตรง ไม่เป็นประโยชน์ ใช้ไม่ได้ ก็บันทึกไว้เป็นบทเรียนที่จะไม่นำไปใช้ เรียกว่า “วิมังสามายะปัญญา”
๓. ต้องดำเนินการผลิตครูและพัฒนาครู โดยใช้สถานการณ์ที่เป็นจริง (authentic setting) นั่นคือ สร้างและพัฒนาสมรรถนะครู โดยยึดโรงเรียนเป็นฐานสำคัญ (School Based Competencies Development) เฉกเช่นการผลิตแพทย์ต้องมีโรงพยาบาลเป็นฐานสำคัญ๔. ต้องร่วมมือ ร่วมใจและรวมพลังอย่างจริงจัง จริงใจและสร้างสรรค์ ของทุกฝ่ายในการดำเนินการผลิตครู และการพัฒนาครู (active collaboration) โดยต้องระดมพลังทั้งสถาบันผลิตครู และพัฒนาครู หน่วยงานผู้ใช้ครูสภาวิชาชีพครู (คุรุสภา) องค์การกลางในการบริหารจัดการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์การทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย สร้างแผนงานโครงการ ดำเนินการและประเมินผล เพื่อรวมพลังสร้างครูดี ครูเก่ง ครูที่มีความเชี่ยวชาญให้กับประเทศ๕. ร่วมกันตรวจสอบ และประเมินผลการผลิตครูและพัฒนาครู โดยยึดหลักสมรรถนะครูที่พึงประสงค์ (Teachers” competencies performance evaluation) โดยประเมินสมรรถนะของครูที่รวมกันกำหนดไว้ก่อนการผลิตและพัฒนาว่าผู้เข้ารับการประเมินได้ผ่านสมรรถนะต่าง ๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้แล้วหรือยัง โดยไม่ต้องไปยึดจำนวนหน่วยกิตที่เรียนครบเกณฑ์เป็นหลักเช่นในอดีต
จากหลักการดังกล่าวก็คาดหวังได้ว่าการผลิตครูใหม่ และการพัฒนาครูประจำการ ของคณะครุศาสตร์ หรือ คณะศึกษาศาสตร์ จะประสบผลสำเร็จ และเป็นไปตามความหมายของ “ครุศาสตร์” และ “ศึกษาศาสตร์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยทั้งในรอบแรก (พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๕๒) และ ในทศวรรษที่สอง หรือรอบสอง (พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๖๑)
อ้างอิง: จากหนังสือสารานุกรมวิชาชีพครูเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554,193-196