การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของไทย มีความมุ่งหมายที่จะสนองเจตนารมณ์ของแนวความคิดในการพัฒนาคนให้สมบูรณ์เป็นองค์รวม ที่เน้นความสัมพันธ์ด้านสติปัญญา จิตใจ ร่างกายและสังคมที่ประสานสอดคล้องกันนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) จัดเป็นแนวทางการศึกษาอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนที่มีสถานะต่างกันทางสังคมเศรษฐกิจ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาโดยไม่มีข้อจำกัดด้านผู้สอน วัน เวลา และสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยระบบการศึกษาทางไกล (distance education) ที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสาร ได้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตสังคมในปัจจุบันและอนาคต เพราะช่วยให้ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและช่วยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถสื่อสารเพื่อการเรียนรู้กับบุคคลอื่นได้ทั่วทุกมุมโลก การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ความสำคัญและความหมายของคำ
การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีความสำคัญต่อกระบวนการให้บริการทางการศึกษาแก่ผู้เรียนและประชาชนทั่วไป เพราะเทคโนโลยีการศึกษาชนิดนี้สามารถสร้างบทเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบทเรียนได้ในทุกส่วนของโลก โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในการเข้าถึงความรู้ ความสำคัญของระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือ ความเป็นนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างบทเรียนที่ได้คุณภาพ และเหมาะสมที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากชุดการเรียน (Courseware) และระบบการจัดการเรียนรู้ (Learning Management Systems = LMS) ที่ได้มาตรฐาน ทำให้สถาบันการศึกษาสามารถจัดบริการการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาค้นคว้าอิสระ การเรียนเสริม การเรียนเพื่อประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรก็สามารถทำได้ ทุกรูปแบบ ระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะแก่ผู้เรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเข้ารับบริการทางการศึกษา ในขณะเดียวกันผู้เรียนก็สามารถเรียนรู้และมีโอกาสทบทวนความรู้ได้มากยิ่งขึ้น เลือกที่จะเรียนได้เร็วหรือช้าตามความสามารถและความสนใจของตนเอง เพราะผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกสถานที่ ทุกเวลาดังกล่าวมาแล้ว ระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จึงเหมาะสำหรับผู้เรียนทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งผู้ทำงานมืออาชีพ ซึ่งมีภารกิจเต็มมือก็สามารถเลือกเรียนได้ตามเวลาที่มี
การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง การศึกษาทางคอมพิวเตอร์ที่นำระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีอยู่มาช่วยเพิ่มความสะดวกในการศึกษา การจัดการเรียนการสอนและการวัดผล โดยนำเนื้อหาหรือบทเรียน (content) มาเสนอในรูปของสื่อประสม (multimedia) แบบต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ผู้เรียนสามารถศึกษาและทำแบบฝึกปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่กำหนดให้สามารถสอบถามข้อสงสัย หรือแสดงความคิดเห็นโต้ตอบระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน หรือระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง เสมือนเรียนในชั้นเรียน จากการใช้ซอฟแวร์และระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออยู่กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยการอาศัยหลักการระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Systems) เป็นเครื่องมือในการสร้างฐานความรู้ (Knowledge base) เพื่อรวบรวมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาไว้ในฐานข้อมูลที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และสามารถค้นคว้าความรู้ต่าง ๆ ออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายของการพัฒนากำลังคน ที่ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะเรื่องใด ๆ เวลาใดได้ตามความเหมาะสมการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีผลให้เกิดความอิสระความคล่องตัว ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความรู้ของผู้สนใจใคร่เรียนที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลก
พื้นฐานและแนวคิดเกี่ยวข้องกับคำ
กระบวนการเรียนรู้แบบชั้นเรียน ผู้สอนและผู้เรียนต้องอยู่พร้อมหน้ากันผู้เรียนจะถูกกระตุ้นให้สนใจและตั้งใจเรียนบทเรียน โดยผู้สอนอาจตั้งคำถาม หรือยั่วยุให้ผู้เรียนถาม หรือให้ผู้เรียนทำกิจกรรมประกอบการเรียน นอกจากนี้ความพยายามที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการและจดจำความรู้สำคัญ ผู้สอนอาจต้องใช้เทคนิควิธีการหลากหลายมานำเสนอให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้
ส่วนแนวคิดสำคัญของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือ ผู้สอนจะสอนผู้เรียนเรียนรู้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบทเรียนได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีความตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะเรียน โดยผู้สอนและผู้เรียนไม่ต้องเผชิญหน้ากัน ประสบการณ์การเรียนรู้ จะเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกับบทเรียนออนไลน์ หรือบทเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บทเรียนจึงไม่ใช่ที่เก็บองค์ความรู้เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่ได้ผล มีเทคนิคซอฟแวร์ที่ฝังอยู่ในตัวบทเรียน ที่ทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียน กับกระบวนการเรียน กับผู้สอนที่มีพรสวรรค์ในการสอน การออกแบบบทเรียนที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด (สุชาย ธนวเสถียรและชูเกียรติ ศักดิ์จิรพาพงษ์ 2549:3) การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเป็นการนำการศึกษาไปสู่ผู้เรียน มิใช่นำผู้เรียนมาสู่การศึกษา (bring learning to people instead of bring people to learning) จัดเป็นการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner Center) ที่ศึกษาในห้องเรียนเสมือนจริง (virtual classroom) คือห้องเรียนบนอินเทอร์เน็ต โดยหน้าจอแสดงเนื้อหาคือกระดาน บทเรียนคือผู้สอนหรืออาจารย์จริง ๆ แต่อยู่อีกที่หนึ่ง ผู้เรียนมีเครื่องมือที่ช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนผู้เรียนเข้าหน้าจอและออกจากหน้าจอได้เสมือนเข้าชั้นเรียนและออกจากชั้นเรียน ผู้เรียนสามารถทดสอบและเก็บคะแนนบนหน้าจอ ห้องเรียนเสมือนจริงเช่นนี้สามารถรับนักศึกษาได้เป็นพัน เป็นหมื่นหรือเป็นแสนคน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่มีข้อจำกัดที่ขนาดช่องสัญญาณ หัวใจของห้องเรียนเสมือนจริงก็คือ บทเรียน e-Learning ที่มีการออกแบบมาเป็นอย่างดี
สำหรับองค์ประกอบสำคัญของระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
(1) ซอฟแวร์ระบบการจัดการเรียนรู้ หรือ LMS(2) เครื่องคอมพิวเตอร์ที่แสดงหน้าเรียนของบทเรียน(3) เครื่องแม่ข่ายที่วิ่งซอฟแวร์และระบบการจัดการเรียนรู้และการจัดเก็บบทเรียน(4) เครือข่ายที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ก็มีเจ้าหน้าที่บริหารระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ดูแลบทเรียน ผู้สอนที่ดูแลเนื้อหาสาระการเรียนรู้และผู้เรียน
การประยุกต์ใช้คำ
การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่ใช้กันทั่วไป คือ คำ e-Learning นี้ ได้รับการนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2537 ที่ประเทศแคนาดา เมื่อโรงเรียนในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ (LMS) ขึ้นมาใช้บริหารจัดการบทเรียน e-Learning เป็นครั้งแรก หลังจากนั้น ซอฟแวร์ LMS ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย ส่วนบทเรียน e-Learning ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาใช้สำหรับจัดบริการการศึกษาผ่านเว็บ ซึ่งก็มีรูปแบบที่หลากหลาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 หน่วยงาน Advanced Distributed Learning (ADL) สังกัดกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศใช้มาตรฐานบทเรียน e-Learning ที่เรียกว่า Sharable Content Object Reference Model (SCURM) ก็จัดว่าได้มี แบบแผนมาตรฐานการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ปัจจุบัน ADL ได้กลายเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดและรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเรียนรู้ และมาตรฐานการออกแบบบทเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบทเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไปถึงขั้นให้ผู้เรียน มีปฏิสัมพันธ์กับบทเรียนด้วยเทคนิคหลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนมีการค้นหา ทบทวน และทดสอบ ตลอดเส้นทางการเรียน มีการนำเสนอบทเรียนในรูปแบบกรณีศึกษา สถานการณ์จำลองและอื่น ๆ บทเรียนที่ดีจะสามารถใช้กับซอฟแวร์ระบบการจัดการเรียนรู้ใด ๆ ก็ได้ สามารถนำบทเรียนไปใช้ซ้ำได้ ติดตามผลการเรียนได้อัตโนมัติ ผู้เรียนจะเลือกหน้าเรียนใดก็ได้ มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเรียนได้ตามผลการเรียนที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างเรียน
โดยสรุป การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นแนวทางการจัดการศึกษาทางไกลอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง โดยมีบทเรียน e-Learning ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี และมีระบบการจัดการเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน มาช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้ ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเสมือนการจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน เป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือการเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศตามยุคสมัย
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา, หน้า 107-110.