การบ้าน
การบ้าน (Homework) เป็นแบบฝึกหัดที่เด็กนำกลับไปทำที่บ้าน เพื่อเป็นการทบทวนความจำ แบบฝึกหัดลักษณะนี้ได้รับความนิยมมากมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ด้วยเชื่อว่าการบ้านจะยกระดับการเรียนรู้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 นักการศึกษากับผู้ปกครองมองการบ้านว่า เป็นการยัดเยียดงานการเรียนให้กับเด็กทำให้เด็กขาดโอกาสทำกิจกรรมอื่น เช่น กิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมสร้างสรรค์ การให้การบ้านเด็กจึงซบเซาลง จนถึงปี ค.ศ. 1980 การบ้านได้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญ
การบ้านเป็นกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งเด็กและ/หรือผู้ปกครองบางคนชอบแต่บางคนไม่ชอบ ทั้งที่การบ้านคืองานที่แสดงความรับผิดชอบและสนองตอบความต้องการของสังคมในแง่คุณภาพการศึกษา คุณค่าของการบ้านเกิดทั้งผู้เรียน ครู และผู้ปกครอง
ด้านผู้เรียน การบ้านเป็นแบบฝึกที่สำคัญสำหรับเด็กดังนี้
1. ฝึกการจำ2. ฝึกความเป็นเอกเทศและความรับผิดชอบ3. ฝึกการบริหารเวลา4. ฝึกนิสัยการเรียน5. สร้างเจตคติการเรียนว่าเกิด ณ ที่ใดก็ได้ไม่ใช่เฉพาะที่โรงเรียน6. เพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก7. พัฒนาทักษะการเรียนรู้
ด้านผู้ปกครอง การบ้านเป็นงานหนึ่งที่ผู้ปกครองสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกล่าวคือ
1. ผู้ปกครองสามารถใช้การบ้านเป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนได้ โดยพิจารณาจากความยากง่ายของการบ้าน ความเหมาะสมและคุณภาพการบ้าน2. การทำการบ้านทำให้ผู้ปกครองได้ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง3. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน การบ้านที่มีคุณค่าจะสร้างให้ผู้ปกครองมีเจตคติที่ดีต่อโรงเรียนและการเรียนการสอนที่โรงเรียน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับครูดีขึ้น (No Child Left Behind,2003 : Website, home 3)
ด้านครู แท้จริงการบ้านไม่ใช่งานของเด็ก แต่เป็นงานของครู ที่ครูจะต้องออกแบบและวางแผนให้สอดคล้องกับบทเรียนที่ครูสอน การบ้านสำคัญกับครูดังนี้
1. ครูสามารถติดตามประสิทธิภาพการสอนของครูจากความสามารถในการทำการบ้านของเด็ก2. การบ้านจะเป็นเครื่องมือของครูในการวินิจฉัยจุดอ่อนจุดแข็งของเด็กในวิชาที่ครูสอน3. การบ้านเป็นการทบทวนความรู้ที่ครูสอน หรือเป็นการย้ำบทเรียนที่จะทำให้เด็กมีความเข้าใจบทเรียนที่เรียนมากขึ้น4. การบ้านทำให้เด็กมีขอบเขตการเรียนรู้ที่กว้างขวาง สร้างนิสัยการค้นคว้าและหาความสนใจของตนในวิชาที่เรียน
ความหมาย
การบ้าน หมายถึง งานที่นักเรียนได้รับมอบหมายให้ไปทำนอกชั้นเรียน เพื่อขยาย และศึกษารายละเอียดของสาระที่เรียนในชั้นเรียน (ERIC, 2001 : Website) โดยกิจกรรมที่ครูมอบหมายนั้นเป็นการให้ทำนอกเวลาเรียน สาระการบ้านนอกจากจะเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่โรงเรียนแล้ว อาจสัมพันธ์กับงานบ้าน งานอาชีพ ผู้ปกครอง และงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะที่โรงเรียน ชุมชน และที่อื่นๆ (สุภวัฒน์ อุนารัตน์, 2541 : 16) การบ้านเป็นงานลักษณะใดก็ได้ แต่เป็นงานที่ครูมอบหมายให้ไปทำที่บ้านหลังจากเลิกเรียน ทั้งนี้สาระงานที่มอบหมายต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาสาระวิชาที่เรียนเรื่องนั้นๆ ในชั้นเรียน จำแนกตามจุดประสงค์และการมอบหมายงานได้ดังนี้ (No Child Left Behind, 2003 : Website,ERIC, 2001 : Website)
1. การบ้านแบบฝึกหัด เป็นการบ้านที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะให้เกิดความรู้ความเข้าใจแจ่มชัดขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เช่น สูตรคณิตศาสตร์ใหม่ที่นักเรียนต้องฝึกทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น2. การบ้านเตรียมเรียน เป็นการบ้านที่มอบหมายให้ไปศึกษา เพื่อเตรียมตัวในการเรียนในบทต่อๆ ไป งานที่มอบหมายจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสาระที่ต้องเรียนในชั้นเรียนเป็นกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมในกิจกรรมที่จะต้องทำในชั้นเรียน3. การบ้านขยายการเรียนรู้ เป็นการบ้านที่มอบหมายให้เด็กประยุกต์ทักษะสู่สถานการณ์ใหม่ๆ มักเป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่อง แต่สัมพันธ์คู่ขนานไปกับงานในชั้นเรียน ตัวอย่างเช่น โครงการงานวิทยาศาสตร์ภาคนิพนธ์ เป็นต้น4. การบ้านบูรณาการ เป็นการบ้านที่เด็กจะต้องประยุกต์ทักษะต่างๆ เข้าด้วยกันในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ตัวอย่างเช่น โครงการวิทยาศาสตร์ การเขียนสร้างสรรค์ การรายงานหนังสือ เป็นต้น
พื้นฐานแนวคิด
การบ้านเป็นการมอบหมายงานให้เด็กไปทำที่บ้าน ซึ่งสำหรับเด็กปฐมวัยต้องการความร่วมมือจากผู้ปกครองมาก ความร่วมมือของผู้ปกครองจะช่วยแสดงให้เด็กเห็นว่าบ้านและโรงเรียนเป็นทีมที่มีทิศทางเดียวกัน พ่อแม่ต้องแสดงบทบาทที่ดีในการทำการบ้าน ในการทำการบ้านกับเด็กปฐมวัยจะพบว่าเด็กปฐมวัยต้องการความช่วยเหลือจากผู้ปกครองมากกว่าเด็กโต ผู้ปกครองต้องทำการบ้านร่วมกับเด็ก แก้ปัญหาหรือตอบคำถามร่วมกัน และสังเกตการทำงานของเด็ก และที่สำคัญโรงเรียนควรจะมีนโยบายของการออกแบบการบ้านที่เหมาะสมกับระดับชั้นเรียน (ERIC, 2001 : Websit) ซึ่งปกติแล้วเด็กที่เรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษามักจะมีการบ้าน ส่วนเด็กปฐมวัย ซึ่งอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องมีการบ้าน จากงานวิจัยของคเปอร์ (Harris Cooper) พบว่าการทำการบ้านเหมาะกับเด็กระดับมัธยมศึกษามากกว่าเด็กเล็ก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบ้านแต่ละขั้นเรียนมีความหมายแตกต่างกัน นอกจากการสร้างผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการแล้วยังมีส่วนในการสร้างเจตคติ นิสัยและบุคลิกลักษณะด้วย ดังนั้นลักษณะการบ้านจึงควรสั้น ง่าย เด็กสามารถทำได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้การบ้านที่ให้กับเด็กแต่ละขั้นเรียนต้องมีความหมายและเป็นแรงจูงใจเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กระดับประถมศึกษาต้องคำนึงถึงเจตคติของเด็กต่อโรงเรียน ระดับการศึกษาของผู้ปกครองในครอบครัวด้วย (Steinberg, 1990 : 7 - 8)
การทำการบ้านจะช่วยให้เด็กโตรู้ระดับความรู้ความสามารถของตนเองจากการบ้านว่าเรียนเข้าใจหรือไม่อย่างไร แต่เด็กปฐมวัยการบ้านไม่ใช่สิ่งที่บอกให้เด็กรู้ตนเอง แต่การบ้านสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นแต่เพียง “สื่อ” หรือตัวกลางเสริมทักษะการเรียนรู้ และถ้าการบ้านนั้นผู้ปกครองมีส่วนร่วม การบ้านของเด็กปฐมวัยจะเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ “เด็กกับผู้ปกครอง” ในข้อนี้ เบคเลย์ (Begley in Paciorek and Merro, 1999 : 87) ให้ข้อสังเกตว่าการบ้านสำหรับเด็กอนุบาลอย่าให้เป็นการบ้านที่เด็กต้องทำเพื่อการสร้างงาน เพราะจะทำให้เด็กเกิดอาการเบื่อหน่ายและเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนการบ้านสำหรับเด็กอนุบาลควรเป็นการสร้างให้เด็กรักการเรียนรู้ และสร้างทักษะการเรียนรู้โดยจุดประสงค์ของการบ้านแล้วเพื่อให้ครูและผู้ปกครองสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือข้อบกพร่องต่างๆ ของเด็กที่เกิดจากการเรียนการสอน ซึ่งสำหรับผู้ปกครองแล้วการมีส่วนร่วมในการทำการบ้านกับเด็กจะทำให้ผู้ปกครองทราบพัฒนาการ ข้อบกพร่องการเรียนของเด็กเกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ปกครอง ครู และนักเรียน (สุภวัฒน์ อุนารัตน์, 2541 : 17)
องค์ประกอบของการบ้าน
การบ้านทุกวิชาจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการคือ
1. ชื่อวิชา เรื่องที่ให้ศึกษา และจุดประสงค์ของการบ้านที่ให้ทำครั้งนั้น2. คำสั่งหรือคำชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนวิธีการของการบ้าน ระยะเวลากำหนดส่ง3. โจทย์การบ้านที่ชัดเจน4. มีสมุดบันทึกการบ้าน และแผนทำการบ้าน5. ลักษณะของการบ้าน การบ้านเป็นงานนอกเวลา ดังนั้นปริมาณการบ้านต้องไม่มากเกินไปเด็กจะเบื่อ อีกทั้งยังไปกินเวลาที่เด็กควรได้พักผ่อนหรือมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สำคัญ
การบ้านมากๆ อาจทำให้เด็กเป็นคนขี้โกง เช่น แอบลอก ให้คนอื่นทำให้ โกหก ให้โทษพ้นตัว สมาคมครูผู้ปกครองเห็นว่า ขนาดของการบ้านที่เหมาะสม สำหรับอนุบาลถึงขั้น ป.2 ในแต่ละวันควรใช้เวลาทำประมาณ 10-20 นาที ไม่เกิน 20 นาที ถ้าเป็นชั้น ป.3 ถึง ป.5 วันละ 20-60 นาที ระดับมัธยมศึกษาอาจใช้เวลามากกว่าแต่ดูให้เหมาะสม แต่มักจะมากกว่าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในแง่งานให้มากขึ้น (No Child Left Behind, 2003 :Website, home 3, ERIC, 2001 : Website)
การบ้านที่ดีต้องไม่เป็นงานที่ใช้เวลาของเด็กมากเกินไป ต้องเป็นงานที่ให้ความรู้แก่เด็ก โดยเด็กไม่เครียด เด็กสามารถเรียนรู้และทำการบ้านนั้นสำเร็จได้ด้วยตนเองในเวลาที่เหมาะสม
การประยุกต์ใช้การบ้าน
ปัจจุบันการบ้านไม่ใช่แบบฝึกหัดอย่างเดียวแต่ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ดังนี้
ใช้ทางการบริหาร ประเทศแคนาดาได้นำไปใช้ในการปฏิรูปการศึกษาระดับมัธยมศึกษาด้วยการเน้นการบ้านอย่างเป็นระบบใช้เพิ่มความรู้และฝึกทักษะเด็ก ประเทศอังกฤษส่งเสริมการบ้านโดยรัฐสนับสนุนให้โรงเรียนมีการบ้านอย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดทำเป็นการบ้านที่พ่อแม่ลูกได้ใกล้ชิดกันในรูปหนังสือการบ้านทุกสัปดาห์ โดยให้ผู้ปกครองชักชวนเด็กทำการบ้านและชี้ให้เห็นเป็นเรื่องสนุกใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเด็กปฐมวัยกับผู้ปกครอง เป็นผลงานวิจัยรูปแบบการบ้านที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับเด็ก ที่ผู้วิจัยออกแบบการบ้านหน้าเดียวสำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ผลทั้งผู้ปกครองและเด็กเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
สรุป
การบ้านเป็นงานมอบหมายนอกเวลาที่นักเรียนต้องนำไปทำที่บ้าน โดยงานนั้นจะสัมพันธ์กับเรื่องที่เรียน เพื่อเป็นการสร้างเสริมความจำ ฝึกทักษะ พัฒนาการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง มีการประยุกต์ใช้ได้ในหลายรูปแบบที่ยังประโยชน์ทั้งตัวผู้เรียน ผู้ปกครอง ครูและโรงเรียน
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี,61-65.