การนิเทศการศึกษา

การนิเทศการศึกษาในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นมาพร้อมๆ กับการจัดการศึกษาอย่างมีแบบแผน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น การดูแล การควบคุม การตรวจตราการศึกษาในปี พ.ศ. 2430 ได้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น มีเสนาบดีกรมเป็นหัวหน้าเพื่อรับผิดชอบงานทางด้านการศึกษาทั้งหมด การควบคุมการศึกษานั้นพระมหากษัตริย์ยังคงควบคุมร่วมกับเสนาบดี
ในระหว่างปี พ.ศ. 2469-2475 ได้ตั้งกรมวิชาการขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่สอนวิชาครูและอบรมครูทั้งที่มีวุฒิและไม่มีวุฒิ เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของครู ตลอดจนส่งเสริมการแต่งแบบเรียนให้ดีและได้มาตรฐาน
พ.ศ. 2495 กรมวิสามัญศึกษา ได้จัดการอบรมครูเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เรียกว่า การอบรมศึกษานิเทศก์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้รับการกำหนดและแต่งตั้งเป็นทางการขึ้นประจำกรมวิสามัญศึกษา
ปี พ.ศ. 2497 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา มีสำนักงานชั่วคราวที่โรงเรียนพญาไท งานส่วนใหญ่เป็นงานค้นคว้า อบรมครู แนะนำการทำอุปกรณ์การสอน สาธิตการสอน ทำคู่มือและให้ความช่วยเหลือไปยังภูมิภาคมากขึ้น
ในปี พ.ศ. 2523 ศึกษานิเทศก์ฝ่ายสามัญประจำจังหวัดได้โอนมาขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ช่วยเหลืองานวิชาการของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัด และต่อมาได้จัดตั้งศึกษานิเทศก์สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ กิ่งอำเภอขึ้นทุกแห่ง
พ.ศ. 2546 ได้โอนศึกษานิเทศก์จังหวัดและศึกษานิเทศก์อำเภอ/กิ่งอำเภอมาอยู่กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ปฏิบัติงานในกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาและกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
การนิเทศการศึกษามีมาพร้อมๆ กับการจัดการศึกษาในประเทศไทย เพียงแต่ความมุ่งหมายของการนิเทศเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของการจัดการศึกษา การนิเทศการศึกษาในยุคแรกเป็นการนิเทศโดยอิสระเสรีตามสถานภาพของวัดหรือสำนักแต่ละแห่ง ยุคต่อมาเป็นการนิเทศแบบตรวจตรา และยุคปัจจุบันเป็นการนิเทศที่มีการพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมมาใช้ ทั้งผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศใช้วิธีการประชุม ปรึกษาหารือระดมความคิดร่วมกัน เป็นการนิเทศในลักษณะของกัลยาณมิตร
ความสำคัญ
การจัดการศึกษาทุกระดับ จะต้องรับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนแนวคิดทางการสอนใหม่ได้รับการค้นพบจากการค้นคว้าวิจัยตลอดเวลา การนิเทศการศึกษาย่อมจะช่วยให้มีการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู ให้มีความรู้ความเข้าใจที่จะจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง
วิชาชีพทางการสอนเป็นวิชาชีพชั้นสูง จำต้องได้รับการพัฒนาวิชาชีพให้ก้าวหน้างานการสอนแตกต่างกว่างานอื่นๆ ทั้งรูปแบบการสอน เทคนิคการสอนของครูแต่ละคน ตลอดจนประสบการณ์ในการสอนที่แตกต่างกัน การนิเทศการศึกษาจะช่วยพัฒนาวิชาชีพทางการสอนให้มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นการนิเทศการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นการให้ได้มาซึ่งคุณภาพของนักเรียน โดยที่การนิเทศการศึกษาเป็นการทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเรื่อง การนิเทศการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารและครูควรจะได้ศึกษาให้เกิดความเข้าใจเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน
ความหมาย
การนิเทศการศึกษา หมายถึง กระบวนการทำงานร่วมกันของผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงการสอน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
การนิเทศการศึกษา มีความมุ่งหมายที่จะช่วยครูให้เป็นครูที่สอนดียิ่งขึ้น ช่วยผู้เรียนได้เรียนดีขึ้นและช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการนิเทศการศึกษา มี 4 ประการ ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาคน การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้ครูและบุคลากรนั้นได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น2. เพื่อพัฒนางาน การนิเทศการศึกษามีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนางานสอนให้ดีขึ้น3. เพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์ การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน ผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำและผู้ตาม ไม่ได้เป็นการทำงานภายใต้การถูกบังคับ และคอยตรวจตราหรือจับผิด4. เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ เพราะว่าขวัญและกำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลมีความตั้งใจทำงาน หากการนิเทศการศึกษาไม่ได้สร้างขวัญและให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานแล้วย่อมจะประสบผลสำเร็จได้ยาก
การนิเทศการศึกษา มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนาครู ให้มีความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพ มีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ให้ได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับการสอนเพิ่มขึ้น เพื่อการปรับปรุงการสอนของครู รวมทั้งเพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น
พื้นฐานแนวความคิด
การนิเทศการศึกษามีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
หลักการที่ 1 การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ซึ่งกระบวนการนี้มีความหมายครอบคลุมถึงการทำงานเพิ่มขั้นตอนมีความต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่งและมีความเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานหลักการที่ 2 การนิเทศการศึกษามีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของนักเรียน แต่การดำเนินงานนั้น จะกระทำโดยผ่านตัวกลางคือ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งบุคคลเหล่านี้เมื่อได้พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติงานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนให้ดีขึ้นด้วยหลักการที่ 3 การนิเทศการศึกษาเน้นบรรยากาศประชาธิปไตย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนิเทศมีการยอมรับซึ่งกันและกัน รับผิดชอบร่วมกัน การเปลี่ยนบทบาทในฐานะผู้นำและผู้ตาม บรรยากาศของการทำงานจะมุ่งสร้างความร่วมมือกัน ผู้นิเทศการศึกษาจะต้องมีลักษณะพิเศษบางประการที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่องานการให้ความช่วยเหลือแก่ครูเพื่อปรับปรุงการสอนให้มีคุณภาพ ลักษณะพื้นฐานที่ผู้นิเทศควรมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. พื้นฐานความรู้ (Knowledge Based) ผู้นิเทศจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของครูผู้สอน เข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนร่วมในงานนิเทศการศึกษารวมทั้งพื้นฐานของความรู้ในเรื่องของการพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นครู2. ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills) ผู้นิเทศจะต้องทราบว่า มีพฤติกรรมของการนิเทศในลักษณะใดบ้าง ที่จะมีผลต่อครูผู้สอนแต่ละคน หรือเป็นกลุ่มมากที่สุด3. ทักษะเฉพาะ (Technical Skills) ผู้นิเทศจะต้องมีทักษะเฉพาะในด้านการสังเกต การวางแผน การประเมินผล และการประเมินผลภายหลังการปรับปรุงการสอน
บุคลากรที่ทำหน้าที่ในการนิเทศการศึกษา อาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญในการเรียนการสอนวิชาเฉพาะ เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถพิเศษ มีทักษะประสบผลสำเร็จในวิชาชีพเฉพาะนั้น เช่น ทางศิลปะ ดนตรี การเกษตร เป็นต้นกลุ่มที่ 2 ศึกษานิเทศก์ เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการสอนมาแล้ว ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์กลุ่มที่ 3 ผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีหน้าที่บริหารการศึกษา ทำหน้าที่นิเทศ แนะนำ ช่วยเหลือ สนับสนุนส่งเสริมการปฏิบัติงานของครูกลุ่มที่ 4 ครู เป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถด้านการสอน ทำหน้าที่เป็นผู้นิเทศภายในโรงเรียนบทบาทและหน้าที่ผู้นิเทศในแต่ละกลุ่ม ย่อมมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน หน้าที่พื้นฐานของการนิเทศ คือ ช่วยเหลือครูปรับปรุงการสอน การพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงหลักสูตร พัฒนาการทำงานกลุ่มและวิจัยเชิงปฏิบัติการ
การประยุกต์
เทคนิคการจัดกิจกรรมนิเทศการศึกษา
กิจกรรมสำหรับการนิเทศ หมายถึง การกระทำหรือการปฏิบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศการศึกษา เพื่อก่อให้เกิดความรู้ ความสามารถแก่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งรับการนิเทศที่จัดขึ้นในขณะนั้น กิจกรรมการนิเทศการศึกษาจัดออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กิจกรรมที่ผู้นิเทศเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นกิจกรรมหลักที่ผู้นิเทศใช้สำหรับการให้ความรู้แก่ผู้รับการนิเทศ หรือทำการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการนิเทศ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้รับการนิเทศให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการนิเทศที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการบรรยาย การสาธิต การสังเกตการสอนในชั้นเรียน การสัมภาษณ์ การบันทึกข้อมูล การจัดทำเครื่องมือและข้อทดสอบ2. กิจกรรมที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศทำร่วมกัน เป็นกิจกรรมการนิเทศที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งสองฝ่าย ได้แก่ การประชุม การระดมสมอง การอภิปราย3. กิจกรรมสำหรับผู้รับการนิเทศ เป็นกิจกรรมที่เน้นบทบาทของผู้รับการนิเทศ ซึ่งผู้รับการนิเทศจะต้องเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้ปฏิบัติตามสถานการณ์ต่างๆ ตามที่ผู้ให้การนิเทศเป็นผู้จัดขึ้น กิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ การฟัง การดู การอ่าน การเยี่ยมเยือน การไปทัศนศึกษา บทบาทสมมติ และการปฏิบัติตามคำแนะนำ
การที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร ครูผู้สอนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีทันสมัยเพียงใดก็ตาม ครูยังมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการเรียนการสอน แม้แต่แนวความคิดใหม่ที่ให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูก็ยังมีบทบาทที่สำคัญ แต่รูปแบบการทำงานของครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไป การนิเทศการศึกษาจะช่วยให้ครูเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง สนับสนุนให้ครูสามารถประเมินผลการทำงานได้ด้วยตนเอง ให้ครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน กระตุ้นให้ครูวางแผน กำหนดจุดมุ่งหมาย และแนวปฏิบัติการสอนไปพร้อมๆ กัน และท้าทายความสามารถของครูให้มีความคิดเชิงนามธรรมสูงขึ้นในขณะปฏิบัติงาน ดังนั้นงานนิเทศการศึกษาจึงเป็นภารกิจของผู้นิเทศที่เน้นงานบริการทางวิชาการที่ช่วยให้ครูพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, หน้า 55-60.