การจัดการชั้นเรียน
ในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ6 พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 24 ได้ระบุถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 5 ประการ โดยที่สาระทั้ง 5 ประการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการชั้นเรียน (Classroom Management)
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูเลื่อนวิทยฐานะ โดยจะต้องผ่านการประเมินใน 3 ด้าน ด้านสอง คือ ด้านคุณภาพการปฏิบัติงาน พิจารณาจากสมรรถนะหลักและสมรรถนะประจำสายงาน ครูทุกคนที่จะเข้าสู่วิทยฐานะชำนาญการ (คศ. 2) ชำนาญการพิเศษ (คศ. 3) เชี่ยวชาญ (คศ. 4) และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ (คศ. 5) จะต้องผ่านการประเมินรายการสมรรถนะ “การบริหารจัดการชั้นเรียน” โดยที่การจัดการชั้นเรียนและการบริหารจัดการชั้นเรียนนั้น มีความหมายคล้ายกันนอกจากการจัดการชั้นเรียนจะมีความสำคัญดังได้กล่าวมาแล้ว มาร์ซาโน(Marzano 2000, cited in Sergiovanni et al 2004) ได้สังเคราะห์งานวิจัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ พบว่าตัวแปรระดับชั้นเรียนที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ได้แก่ คุณภาพการสอนของครู การออกแบบหลักสูตรและการจัดการชั้นเรียน
ชั้นเรียนเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมของนักเรียน ชั้นเรียนแต่ละชั้นมีระดับของความซับซ้อนที่แตกต่างกัน การจัดการชั้นเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ยาก เป็นสิ่งท้าทายในการสอนและเป็นงานสำคัญที่ครูจะต้องเรียนรู้ ถ้าปรารถนาจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพครู (Good and Brophy 2000)
ความหมาย
ได้มีผู้ให้ความหมายของการจัดการชั้นเรียนในมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การกระทำของครูและกลยุทธ์ของครูที่มุ่งให้ชั้นเรียน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (order) หมายรวมถึงกิจการที่นักเรียนประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมส่งผลให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยมิได้หมายถึงนักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดจนกระทั่งเป็นคนเฉื่อยชา (Burden 1995)2. การจัดการชั้นเรียน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ครูปฏิบัติต่อนักเรียนสถานที่ เวลา และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอน เนื้อหาสาระ และนักเรียนเกิดการเรียนรู้ (Wong and Wong 1998)3. การบริหารจัดการขั้นเรียน หมายถึง การจัดบรรยากาศการจัดการเรียนการสอน การจัดข้อมูลสารสนเทศ เอกสารประจำชั้นประจำวิชา การกำกับดูแลขั้นเรียนประจำวิชาต่างๆ (สำนักงาน ก.ค.ศ. 2554)
จะเห็นได้ว่าการจัดการขั้นเรียนเป็นการจัดหาและวิธีการที่จำเป็น เพื่อสร้างและคงสภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอน วัตถุประสงค์หลักของการจัดการชั้นเรียน ไม่ใช่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การจัดการชั้นเรียนมิใช่มุ่งแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ปรารถนาของนักเรียนแต่เป็นการเสริมสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม
ส่วนประกอบและแนวคิด การจัดการชั้นเรียนมีองค์ประกอบ สมรรถนะและแผนดังต่อไปนี้
องค์ประกอบ (Components)การจัดการขั้นเรียนที่ดีมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้ (Nakamura 2000)1. แรงจูงใจ แรงจูงใจที่สำคัญ ได้แก่
ก. การแสดงการยอมรับนักเรียนและแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความสำคัญข. การยอมรับว่านักเรียนมีความสามารถค. การแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนและชั้นเรียน คือ สถานที่ที่มีความปลอดภัย
2. การติดต่อสื่อสาร ครูจำเป็นจะต้องมีทักษะในการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนโดยมีความสามารถในการฟัง ความสามารถในการแสดงออก การส่งเสริมและการยกย่อง ตลอดจนความสามารถในการเจรจา เพื่อแก้ปัญหา3. วินัย ครูจำเป็นจะต้องเข้าใจปัญหาและสาเหตุของวินัย ทำให้นักเรียนทราบและเข้าใจกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนผลของการไม่ปฏิบัติตามระเบียบจอห์นสันและคณะ (Johnson et al 2005) ได้เสนอแนะว่าองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการชั้นเรียน ได้แก่ วิธีดำเนินการและการจัดการพฤติกรรม ซึ่งมีสาระโดยสรุป ดังนี้
1. วิธีดำเนินการ (Procedures)วิธีดำเนินการเป็นแนวปฏิบัติที่แตกต่างจากกฎระเบียบ วิธีดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย
1) วิธีดำเนินการทางวิชาการ (Academic Procedures) กิจกรรมที่สำคัญ เช่น การทดสอบ การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้2) วิธีดำเนินการในกิจวัตรหรืองานประจำ (Routine Procedures) เป็นกิจกรรมที่จัดนับตั้งแต่นักเรียนเข้าชั้นเรียนจนกระทั่งออกจากชั้นเรียน เช่น การบันทึกเวลามาเรียน การส่งการบ้าน การส่งงานที่มอบให้ทำ การขออนุญาตออกนอกห้องเรียน การลาหยุดเรียน3) วิธีดำเนินการพิเศษ (Special Procedures) สำหรับสถานศึกษาขนาดใหญ่กิจกรรมสำคัญ เช่น การซ้อมหนีไฟด้วยวิธีที่ปลอดภัย มีตัวอย่างและฝึกปฏิบัติ
2. การจัดการพฤติกรรม (Behavior Management)การจัดการพฤติกรรมมิได้หมายความว่าครูลงโทษนักเรียนเมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ครูจะต้องมีมาตรการในการป้องกันมากกว่าจะแก้ไขการจัดการพฤติกรรมของนักเรียนนั้น ครูจะต้องได้รับการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติการจัดการพฤติกรรมมีขั้นตอนสำคัญ 3 ประการ คือ
1) สื่อสารให้นักเรียนเข้าใจอย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมที่คาดหวัง หรือที่พึงประสงค์ คืออะไร2) สาธิตตัวแบบของพฤติกรรมที่พึงประสงค์3) เสริมแรงเมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์
สมรรถนะ (Competencies)ครูจำเป็นจะต้องมีสมรรถนะในการจัดการชั้นเรียน ในการนี้ครูจำเป็นจะต้องมีความสามารถในการจัดสิ่งแวดล้อมในชั้นเรียน และมีความสามารถในการประเมินพฤติกรรมของนักเรียน สมรรถนะ ในการจัดการชั้นเรียนแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบย่อย ดังนี้ (Gilberts and Lignugaris - Kraft 1997)
1. ความสามารถในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของชั้นเรียน2. ความสามารถในการกำหนดมาตรฐานพฤติกรรมของนักเรียน3. ความสามารถในการใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการเสริมสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา4. ความสามารถในการประเมินประสิทธิผลของกลยุทธ์ที่ใช้ในการเสริมสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาแผนในการจัดการชั้นเรียน
แผน (Plan)ในการจัดการชั้นเรียนจำเป็นจะต้องมีแผน แผนในการจัดการชั้นเรียนมีองค์ประกอบดังนี้ (Bosch 1999)
1. การจัดการชั้นเรียนการจัดการชั้นเรียน เป็นการสนับสนุนการสอนของครูและการเรียนของนักเรียน การจัดชั้นเรียน ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนและการปฏิบัติการในชั้นเรียน
1) สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียน สิ่งแวดล้อมทางกายภาพจะทำให้นักเรียนสนุกกับการมาเรียน ความเหมาะสมของแสง สีและอุณหภูมิ การจัดทางเดิน การจัดที่นั่ง เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมในชั้นเรียน2) การปฏิบัติการในชั้นเรียน สิ่งสำคัญในการปฏิบัติการในชั้นเรียน ได้แก่ การกำหนดนโยบาย การออกกฎระเบียบงานประจำและวิธีดำเนินงาน ชั้นเรียนเป็นสถานที่บ่มเพาะประชาธิปไตย ดังนั้น ระเบียบต่างๆ จะต้องส่งเสริมประชาธิปไตยด้วย
งานประจำเป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการปฏิบัติการในชั้นเรียน เช่น การบันทึกเวลามาเรียน การส่งการบ้าน การลาหยุด นอกจากนั้น การสร้างแรงจูงใจและการให้กำลังใจนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง2. การสอนองค์ประกอบที่สองของแผนการจัดการชั้นเรียน คือ การสอน ซึ่งประกอบด้วยแผนการสอนและการปฏิบัติการสอน
1) แผนการสอน ครูจำเป็นต้องจัดทำแผนการสอน ซึ่งควรระบุถึงวัตถุประสงค์ของการสอน การนำเสนอเนื้อหา การให้นักเรียนมีส่วนร่วม การถามคำถาม กิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการสอน การประเมินความเข้าใจของนักเรียนตลอดจนกลยุทธ์ที่ใช้ในการสอนนักเรียนเป็นรายบุคคล2) การปฏิบัติการสอน พฤติกรรมของครู วิธีการสอนของครูและคุณภาพการสอนของครู นอกจากจะส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนแล้วยังลดปัญหาทางวินัยอีกด้วย ในการปฏิบัติการสอน ครูจะต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจ การมีเจตคติที่ดีต่อนักเรียน การสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนักเรียนกับครู การพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถควบคุมตนเองได้
3. การประเมินผลองค์ประกอบที่สามของแผนการจัดการชั้นเรียน คือการประเมินผลที่ทั้งครูและนักเรียน มีความเห็นสอดคล้องกัน ควรให้การประเมินผลมีความเป็นปรนัยและเป็นธรรมแก่นักเรียน นักเรียนควรเข้าใจระบบการให้คะแนน และครูควรตระหนักว่าจุดเน้นของการประเมินผล คือ เพื่อการพัฒนา4. การไตร่ตรองของครูการไตร่ตรองของครู เป็นองค์ประกอบที่สี่ของแผนการจัดการชั้นเรียน ครูควรหาโอกาสที่จะทบทวนการสอนของตนเอง ทบทวนการสอนในบางบทเรียน ศึกษาหาทางที่จะช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูควรหาโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูการไตร่ตรองของครูเป็นการประเมินผลการสอนของตนเอง และเป็นการพัฒนาการสอนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
การนำไปใช้การจัดการชั้นเรียนนอกจากจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของครูแล้ว การจัดการชั้นเรียนยังส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนอีกด้วย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้กำหนดสมรรถนะการบริหารจัดการชั้นเรียน และกำหนดตัวบ่งชี้ 3 ตัว ดังนี้
ตัวบ่งชี้ที่ 1 การจัดบรรยากาศการจัดการเรียนการสอน
เกณฑ์การให้คะแนนระดับดีมาก คือ มีความยืดหยุ่นในการจัดห้องเรียนมีป้ายนิเทศหรือสื่อการเรียนการสอนหรือมุมวิชาการ สำหรับศึกษาค้นคว้าที่เป็นปัจจุบันส่งเสริมให้นักเรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนและผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนและผู้เรียนมีความสุขตัวบ่งชี้ที่ 2 การจัดทำข้อมูลสารสนเทศและเอกสารประจำชั้นเรียน /ประจำวิชาเกณฑ์การให้คะแนนระดับดีมาก คือ จำแนกข้อมูลที่จำเป็นและเอกสารประจำชั้นเรียน ประจำวิชา ให้มีความถูกต้องครบถ้วน เป็นปัจจุบันและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพตัวบ่งชี้ที่ 3 การกำกับชั้นเรียน/ประจำวิชา
เกณฑ์การให้คะแนนระดับดีมาก คือ มีการสร้างข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน /ประจำวิชา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ กำกับ ดูแล การปฏิบัติของผู้เรียนให้เป็นไปตามข้อตกลง และสามารถปรับพฤติกรรมผู้เรียนให้เรียนร่วมกันได้อย่างราบรื่นครูควรตระหนักถึงตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินข้างต้น แล้วปฏิบัติงานจนกระทั่งเกิดผลตามเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนั้นในการจัดการชั้นเรียนนั้น ครูควรตระหนักถึง
1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพในห้องเรียน2. การเตรียมการสอนของครูและการจัดทำแผนการสอนที่ดี3. ความเหมาะสมในการนำเสนอบทเรียนที่สอดคล้องกับอายุ วุฒิภาวะและบริบทของสังคม
ที่มาข้อมูล
สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, 39-45.