การคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม (Innovation Thinking)
“การคิดนั้นอาจคิดได้หลายอย่าง จะคิดให้วัฒนะ คือ คิดแล้วทำให้เจริญงอกงามก็ได้ จะคิดให้หายนะ คือ คิดแล้วทำให้พินาศฉิบหายก็ได้ การคิดให้เจริญ จึงต้องมีหลักอาศัย หมายความว่า เมื่อคิดเรื่องใด สิ่งใด ต้องตั้งใจให้มั่นคงในความเป็นกลาง ไม่ปล่อยให้อคติอย่างหนึ่งอย่างใดครอบงำ ให้มีแต่ความจริงใจตรงตามเหตุตามผลที่ถูกแท้และเป็นธรรม”
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ
บทนำ
ช่วงศตวรรษที่ 21 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลก คือ การเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเป็นระบบใหม่ ที่เรียกว่า สังคมสารสนเทศ (Information Society) หรือ สังคมแห่งความรู้ (Knowledge Society) หรือ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Society Economy) รวมทั้งการจัดการความรู้ ซึ่งได้รับการตอบขานอย่างสูงทั้งภาครัฐและเอกชนเนื่องจากเป็นระบบที่ต้องอาศัยการแพร่กระจายและการใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดการเติบโต สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง สร้างงานในทุกภาคของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ ภาคเกษตร ภาคอตสาหกรรม ภาคบริการและไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายที่ทำให้เกิดความเจริญทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อองค์การ ต่อวิธีคิด และต่อกระบวนการทำงานของคนที่อยู่ในองค์การ ตลอดจนแรงขับขององค์การที่มุ่งการแข่งขันและความเป็นเลิศที่มีการใช้ความรู้เป็นฐาน องค์การต่างๆ จึงได้มีการปรับตัวไปสู่การสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายและมากมายในองค์การได้ใช้ประโยชน์ และส่งเสริมให้บุคลากรในองค์การเกิดการเรียนรู้จากการใช้ความรู้เป็นฐานมากขึ้นจนเป็นปกตินิสัย ซึ่งก็คือความสามารถในการคิดได้ คิดเป็นของมนุษย์ นั่นเอง แล้วก็นำเอาความคิดได้ คิดเป็นนั้นๆ มาทำให้เป็นจริง เกิดผลในทางปฏิบัติ ใช้ได้ผลดีมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าคนคนหนึ่งมีนิสัยไม่ชอบอ่านเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ชอบค้นคว้า ใช้แต่ความรู้สึก เอาแต่พูด เอาแต่คิด แต่ไม่ลงมือทำ ที่เรียกกันเล่นๆ ว่าพวก NATO คือ NO ACTION TALK ONLY พวกนี้มักจะทำงานเป็นทีมไม่เป็น และทนฟังคนอื่นนานๆ ไม่ได้ ชอบคิดข้าม step จะเอาแต่ผลงาน ซึ่งถ้าในองค์การมีแบบนี้อยู่หลายคน และกระจายปะปนอยู่ทั่วไปในองค์การเรื่องที่ยาก แต่ก็ท้าทายมาก ที่จะปรับพฤติกรรมทางการคิด และถ้าทายเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการที่ทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาและสะสมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านนวัตกรรมได้ตามกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์การย่อมสามารถที่จะนำแนวความคิดใหม่ๆ ไปประยุกต์ให้เกิดเป็นแผนงาน หรือแผนปฏิบัติการต่างๆ ได้ ซึ่งวิธีที่จะทำได้แนบเนียนที่สุดก็คงจะเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์การ เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ส่งเสริม และเสริมสร้างให้คนในองค์กรมีความคิดและพฤติกรรมที่องค์การพึงปรารถนา โดยจะต้องนำความคิดนั้นๆ สื่อสารไปยังคนอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมี Innovative Thinking มากๆ แต่ต้องให้ความสำคัญอยู่เสมอว่า ไม่มีความคิดเห็นของคนใดที่ผิด ถึงแม้ว่าบางความคิดเห็นอาจจะดูขัดกับความรู้สึกก็ตามแต่ความคิดเห็นของทุกคนล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมทั้งสิ้นเพียงแต่เราต้องนำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ได้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น ถึงจะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะการคิดการแสดงออกให้ดียิ่งขึ้น เพราะผลที่จะได้คือ ความคิดใหม่ๆที่จะนำไปสู่นวัตกรรม
ความหมาย
Innovation หรือ นวัตกรรม มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมามาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation มาจากคำกริยาว่า innovate แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ปัจจุบันเป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาของไทย ซึ่งเดิมเราใช้คำว่า “นวกรรม” ต่อมาพบว่าคำนี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 564 นวกรรม หมายถึง การก่อสร้าง) จึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า นวัตกรรม (อ่านว่า นะ วัด ตะ กำ) หมายถึง ความสามารถในการใช้ความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะและการปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น หรือ พัฒนาจนเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการการผลิตใหม่ หรือบริการใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ การลงทุนใหม่ ผู้ประกอบการใหม่ ตลาดใหม่ รายได้แหล่งใหม่ และการจ้างงานใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ไม่ว่าวงการหรือกิจการใดๆ ก็ตาม เมื่อมีการนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิมช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย ก็เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 565 ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม ว่าหมายถึง น. สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Innovation
นอกจากนี้ ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ ยังหมายถึง คือ การนำแนวความคิดใหม่ หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นั่นเอง
คำว่า นวัตกรรม จึงมีผู้ให้นิยามไว้มากมาย ส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกันใกล้เคียงกันซึ่งพอสรุปได้ว่านวัตกรรม หมายถึง ความสามารถที่จะใช้ความรู้ ความคิด ทักษะและการปฏิบัติ มาปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม สามารถนำไปใช้อย่างได้ผลจริง เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สูงขึ้นกว่าเดิมและมีความแตกต่างจากเดิม ซึ่งครอบคลุมไปถึงสิ่งใหม่ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย คือ สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อนเลย สิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีตแต่ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ และสิ่งใหม่ที่มีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิม หรือพูดง่ายๆว่า “นวัตกรรม” หมายถึง “เป็นของใหม่” “รื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่” “มีคุณค่า” และ“มีมูลค่าเพิ่ม” จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ส่วนคำว่า “การคิด หรือ ความคิด” เป็นคุณสมบัติพิเศษที่มนุษย์ได้พัฒนามาอย่างยาวนานจนกล่าวได้ว่า มนุษย์สามารถครอบครองโลกปัจจุบันก็เพราะสามารถคิดได้ดีกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 231 นิยามไว้ว่า ความคิด หมายถึง น. สิ่งที่นึกรู้ขึ้นในใจ,ความรู้ที่เกิดขึ้นภายในใจก่อให้เกิดการแสวงหาความรู้ต่อไป เช่น เครื่องบิน เกิดขึ้นได้เพราะความคิดของมนุษย์, สติปัญญาที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างถูกต้องและสมควร เช่น คนทำลายของสาธารณะเป็นพวกไม่มีความคิด
การคิด (Thinking) คืออะไร การคิด ก็คือ การที่คนคนหนึ่งพยายามที่ใช้พลังทางสมองของตนในการนำเอาข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด มาจัดวางอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ถ้าจะอุปมาอปมัย “การคิด” แล้วละก็ การคิด ก็เหมือนกับการที่เราเอาสิ่งของที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ นำมาจัด มาวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยนำมารวมกัน ประกอบกันในแต่ละที่ แต่ละทางอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องมีความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญด้วยว่า สิ่งของอะไรที่จะต้องจัดวางเป็นหมวดหมู่อย่างไรคราวนี้พอจะหยิบจะจับอะไร ก็สะดวกรวดเร็ว ถ้าจะเปรียบก็เปรียบได้กับการจัดระเบียบข้อมูล” นั่นเอง
การคิดจึงเป็นความสามารถของสมองที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์อันเป็นผลมาจากประสบการณ์เดิม สิ่งเร้าและสภาพแวดล้อมที่เข้ามากระทบส่งผลให้เกิดความคิดในการที่จะแก้ไข ปรับตัวเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น การคิดเป็นนามธรรม เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องและเป็นขั้นตอนประสิทธิภาพของความคิดจะช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขและประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันความล้มเหลวและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากความคิดด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การที่เราได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบ ลึกซึ้ง และมีระบบระเบียบก็จะทำให้เราคิดเป็น คิดได้ คนที่ “คิดเป็น คิดได้” จะสามารถจัดข้อมูลให้เรียงกันได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เกิดความคิดที่ดีที่สุดได้ ในขณะเดียวกันคนที่ “คิดไม่เป็น คิดไม่ได้” ก็เหมือนกับการเอาสิ่งของมากองๆ รวมกันอย่างสะเปะสะปะ และไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน เมื่อจะนำออกมาใช้จึงหายาก ก็เลยไม่มาใช้เสียเลย เพราะไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่ ความคิดก็เหมือนกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะดึงความคิดออกมายาก หรือไม่กล้าที่จะใช้ความคิด เพราะกลัวว่าจะหยิบมาใช้ไม่ถูกที่ ไม่ถูกทาง เมื่อคิดไม่ได้ คิดไม่เป็น หยิบมาใช้ก็ไม่ถูกก็อาจจะไม่คิด หรือบางทีความคิดที่ออกมา อาจไม่เป็นความคิดที่มีระบบ ระเบียบ และไม่มีความคมชัด
เมื่อรวมเอาคำว่า นวัตกรรม (Innovation) และการคิด (Thinking) เข้าด้วยกัน ก็จะเป็นคำว่า Innovative Thinking ผู้เขียนแปลความเอาว่าคือ การคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม การจะคิดได้นั้น ถ้าหากมีนิสัยไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบค้นคว้า ชอบใช้แต่ความรู้สึก เอาแต่พูด ไม่ลงมือทำ ทำงานเป็นทีมไม่เป็น ทนฟังคนอื่นนานๆ ไม่ได้ ชอบคิดข้าม step จะเอาแต่ผลงาน ลืมไปว่าทุกอย่างมันอยู่ในหัวสมองและเริ่มต้นจากตัวเอง แล้วถ้าคนอย่างคนหนึ่งนี้ หรือมีอยู่หลายคน และกระจายปะปนอยู่ทั่วไปในองค์กรต่างๆ จะพัฒนาคนเหล่านั้นไปพร้อมกับคนอื่นๆในองค์กรให้มี Innovative Thinking ได้อย่างไรคงจะต้องทำให้แทรกซึมเข้าไปในจิตใจ จนเกิดพฤติกรรมที่ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ มันคงดูยากแต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย และก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าทำได้สำเร็จ เพราะการที่ทรัพยากรมนุษย์ได้รับการพัฒนาและสะสมองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งด้านนวัตกรรมได้ตามกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร ย่อมสามารถที่จะนำแนวความคิดใหม่ๆ ไปประยุกต์ให้เกิดเป็นโครงการ แผนงานหรือแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ได้ ซึ่งวิธีที่จะทำได้แนบเนียนที่สุดก็คงจะเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ส่งเสริมและเสริมสร้างให้คนในองค์กรมีความคิดและพฤติกรรมที่องค์กรพึงปรารถนา จนเป็นInnovation Culture
Innovative Thinking ในหน่วยงาน
สองตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของบุคคลและหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะพบว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะความฉลาด แต่เพราะพวกเขานำความคิดที่มาสร้างสรรค์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนสามารถสร้างเป็นนวัตกรรมได้
MR. DANNY LEE เป็นนักธุรกิจชาวเนเธอร์แลนด์ เชื้อชาติฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร รวมทั้งธุรกิจสินค้าอาหารสำเร็จรูปเพื่อการส่งออกภายใต้ความสำเร็จในธุรกิจของ MR. DANNY LEE เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของการคิดมาก เขาจะให้อิสระในการคิดกับทีมงานทุกๆ ระดับ ฟังอย่างตั้งใจและคิดตามไปด้วย ไม่ฟังเฉยๆ หรือฟังแล้วก็ผ่านไป หลายครั้ง หลายความเห็นที่ถูกปฏิเสธ ในที่ประชุมทั้งทางบวกและทางลบ LEE ไม่เคยละเลยความคิดเหล่านั้น และชอบที่จะฟังทุกๆคนคิด รวมทั้งให้ความสำคัญกับวิธีคิดของแต่ละคนด้วย เขาย้ำว่าความคิดของพนักงาน คือ ต้นทุนที่บริษัท ไม่ต้องลงทุน “ให้เขาคิดไปเถิดไม่เสียตังค์สักหน่อย” ลูกน้องยิ่งฉลาด แต่ต้องช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ จึงจะดี และต้องมีส่วนสนับสนุนในความคิด รวมทั้งต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เปิดโอกาสให้ทีมงานได้คิดอย่างเสรีด้วย ไม่โกรธกัน เพราะความคิด ไม่มีถูก ไม่มีผิด
วิธีการที่ LEE ใช้ได้ผลดีและเน้นมาตลอด คือการมีความเชื่อว่า ในการทำงานเพื่อให้เกิดนวัตกรรมในที่ทำงานมากๆ นั้นต้องมุ่งในเรื่องของคนมากที่สุด เพราะ “คนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในองค์กร” ถ้าให้อิสระกับความคิดของคนทำงานมากขึ้นเท่าไร ยิ่งถ้าเป็นความคิดใหม่ๆ ก็มักจะเป็นโอกาสนำมา ซึ่งความสำเร็จอยู่เสมอ ทำให้องค์กรนั้นเกิดมีนวัตกรรมมาก ในขณะเดียวกันองค์กรใดที่ปิดกั้นทางความคิด ก็จะเกิดนวัตกรรมที่เกิดจากการได้คิดขึ้นมาไม่ได้มาก ดังนั้น การปล่อยให้มีการ “ชี้แนะ” คนในองค์กร จะทำให้เกิดความคิดเชิงนวัตกรรมมากกว่าการ “ชี้นำ” เพราะเราจะไม่ได้อะไรใหม่ๆ จากเขาเลยด้วยความเชื่อนี้ ที่ว่า ความคิดใหม่ๆทำให้เกิดนวัตกรรมทำให้เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันรายได้ของ LEE เพิ่มมากขึ้นกว่า 100 เท่าจากปี 2001 ที่มีจำนวนเพียงไม่กี่ล้านบาทที่เริ่มก่อตั้งบริษัท และเขาเรียกมันว่า Innovative Thinking สิ่งนี้ได้กลายมาเป็น Innovation Culture ในบริษัทของ LEE ไปแล้ว
เครือซีเมนต์ไทยเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีการใช้ความคิดเป็นฐานในการพัฒนาจนเกิดนวัตกรรม และในที่สุดได้กลายมาเป็น Innovation Culture ในช่วงแรกมีการจัดงาน Kick Off เพื่อสร้างAwareness แล้วพยายามหาคำจำกัดความให้ได้ว่า Innovation ในความหมายของเครือซีเมนต์ไทย ว่าคืออะไร ซึ่งอาจจะเป็น New Business Model หรือเป็น Incremental คือการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ปัจจุบัน ดัดแปลง หรือปรับปรุง process ให้ดีขึ้น ถ้าในแง่วัฒนธรรมองค์กรมี 4 เรื่องที่เขาพยายามสร้าง คือ Think Out of the Box (การคิดนอกกรอบ) Open-minded (การเปิดใจรับฟังคนอื่น ให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา) Risk Taker (ความกล้าตัดสินใจ กล้าลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้) และ Personal Mastery (นิสัยหมั่นค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตนเอง) มีทีมรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ Innovation รวบรวม Best Practice ขององค์กรต่างๆ รวมทั้งหนังสือดีๆ ก็จะถูกจัดเป็น Book Briefing ไว้ในเว็บเป็น e-learning สำหรับพนักงานทุกคน นอกเหนือจากการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน Innovation มาบรรยายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้มีการจัด Communication Package ใช้สื่อภายในองค์กรแบบดั้งเดิม คือการทำหนังสือพิมพ์ขนาดแท็บลอยด์ “Inno News” ส่งถึงพนักงานทุกคน ส่วนกระบวนการสร้าง Recognition กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ คือการตั้งเงินรางวัลสำหรับผลงานวัตกรรมใหม่ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือทีม ส่วนในการรับคน ได้มีโครงการ CCC (Cement Thai Career Choice) คัดเลือกนิสิตนักศึกษาปีที่ 4 ซึ่งถือเป็น Group Selection และมีการรับสมัครพนักงานระดับ Mid career ซึ่งจะมีความคิดสร้างสรรค์เพราะได้ผ่านประสบการณ์การทำงานจากที่อื่นมาแล้ว ย่อมมองอะไรในมุมที่กว้าง มีความคิดที่แตกต่างและหลากหลายซึ่งสามารถช่วยองค์กรในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ e-HR ที่ช่วยในการฝึกอบรมความรู้ในงานเพื่อให้มี Competency ต่างๆ เพื่อยกระดับตัวเองขึ้นมาตามสายงานได้ เป็นการพัฒนาบุคคลในรายละเอียดปลีกย่อยมากขึ้น มีการสร้างบรรยากาศที่จะกระตุ้นให้คนอยากที่จะเรียนรู้ และสนับสนุนการสร้าง Change Agent ขึ้นมามากๆ เพื่อมาทำหน้าที่เป็น Facilitator ซึ่งควรจะต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้เกิดการคิด และต้องอยู่ในประเด็นที่ต้องการ จะคอยเป็นผู้สังเกต คอยแทรกแซงเมื่อจำเป็นเท่านั้น สามารถแนะนำและช่วยแก้ไข หรือชี้แนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ทุกกระบวนการก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร เพราะการที่นวัตกรรมจะกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ได้ ทุกคนจะต้องเข้าใจมันอย่างถ่องแท้และยอมรับปฏิบัติกันด้วยความเต็มใจ จึงจะประสบผลสำเร็จ
นี่คือบทหนึ่งของความสำเร็จไม่เพียงแต่ในธุรกิจของ LEE และเครือซีเมนต์ไทยเท่านั้น มันน่าจะเป็นเกือบทุกองค์กรที่ประสบความสำเร็จด้วย การให้โอกาสคิดเพื่อการก้าวไปหาสิ่งใหม่ๆ หรือ Innovation นั้น นอกจากได้ความคิดใหม่แล้ว ยังเป็นที่มาของความสำเร็จใหม่ๆด้วยเช่นกัน การเสริมสร้างให้เกิด Innovative Thinking จึงควรได้เริ่มต้น เริ่มส่งเสริมกันตั้งแต่ในโรงเรียน หรือตั้งแต่ในบ้านก็ยิ่งดี
ครูกับการพัฒนา Innovative Thinking ในโรงเรียน
ในการประชุมที่ The Wingspread Conference Center in Racing,Wisconsin State เมื่อปี 1984 มีนักวิชาการและนักการศึกษาจากต่างประเทศมาเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ในการประชุมครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมาถึง 18 ปี แล้วก็ตาม แต่ยังทันสมัยอยู่ไม่ใช่น้อย ผลการประชุม ได้พบว่า ครูสามารถพัฒนาทักษะการคิดและสอนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีคิด ได้ถึง 3 วิธี คือ
1. การสอนเพื่อให้คิด (Teaching for thinking) เป็นการสอนเนื้อหาวิชาการ โดยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการคิดของผู้เรียน โดยครูต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ยั่วยุให้ผู้เรียนรู้จักใช้ความคิด เช่น
- การถกเถียงเรื่องการโต้วาที ในหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องเกี่ยวกับจริยธรรม ความดี ความชั่ว เป็นต้น- การแก้ปัญหา โดยสร้างตัวอย่างปัญหาขึ้นมาให้ช่วยกันแก้ เช่น การหนีโรงเรียน การไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ยาเสพติด การพนัน เป็นต้น- การเขียนรายงาน อาจเขียนเป็นใบปลิวโฆษณา ข่าวสั้นประจำวัน จดหมาย ข้อเสนอแนะเพื่อการขอรับทุนช่วยเหลือ เป็นต้น- การทดลอง เพื่อดูผลของวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาพฤติกรรมต่างๆ- การเผชิญสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ได้ประสบการณ์ใกล้เคียงกับประสบการณ์จริง เป็นต้น
2. การสอนการคิด (Teaching of thinking) เป็นการสอนที่เน้นเกี่ยวกับกระบวนการทางสมองที่มาใช้ในการคิด โดยเฉพาะเป็นการ ปลูกฝังทักษะการคิดโดยตรง ลักษณะของงานที่นำมาใช้สอน จะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการที่เรียนในโรงเรียน แนวทางการสอนก็จะแตกต่างกันไปตามทฤษฎีและความเชื่อพื้นฐานของแต่ละคนที่นำมาพัฒนา สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาความสามารถทางการคิดของผู้เรียนไปในตัว นอกจากนี้ ครูยังสามารถนำรูปแบบการสอนต่างๆ ที่เน้นกระบวนการคิดมาใช้เป็นกระบวนการสอนได้เป็นอย่างดีวิธีนี้จะช่วยให้ครู สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ทั้งทางด้านเนื้อหาสาระและการคิดไปพร้อมๆกัน3. การสอนเกี่ยวกับการคิด (Teaching about thinking) เป็นการสอนที่เน้นการใช้ทักษะการคิดเป็นเนื้อหาสาระของการสอนโดยการช่วยเหลือให้ผู้เรียนได้รู้และเข้าใจกระบวนการคิดของตนเองเพื่อให้เกิดทักษะการคิดที่เรียกว่า metacognition คือ รู้ว่าตนเองรู้อะไร ต้องการรู้อะไร และยังไม่รู้อะไร ตลอดจนสามารถควบคุมและตรวจสอบการคิดของตนเองได้ ครูจึงต้องพยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาลักษณะการคิดแบบต่างๆ รวมทั้งทักษะการคิดทั้งทักษะย่อย และทักษะผสมผสานในกิจกรรมการเรียน
การพัฒนาทักษะการคิดและสอนเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักวิธีคิดทั้ง 3 วิธีนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ครูสามารถทำได้มากที่สุดและสะดวกที่สุด เนื่องจากครูมีการสอนเนื้อหาสาระที่จะสอนและมีกิจกรรมที่จะใช้สอนอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าครูนำความเข้าใจเหล่านี้มาใช้ในการปรับกิจกรรมการสอนที่มีอยู่แล้ว โดยการให้โอกาสแก่ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิด ลักษณะการคิด และกระบวนการคิดที่หลากหลาย ก็จะทำให้ผู้เรียนได้มีการฝึกการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้โดยการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนอย่างต่อยอดทุกระดับชั้น คือตั้งแต่อนุบาลถึงขั้นอุดมศึกษา โดยการกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนการใช้ความคิด รวมทั้งต้องสร้างบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้ได้คิดอย่างเสรีด้วย ต้องไม่โกรธกัน เพื่อให้ได้นวัตกรรมทางความคิดที่ดีที่สุด ถ้าปิดกั้นความคิด นวัตกรรมที่จะเกิดจากการคิด หรือ Innovative Thinking ก็จะน้อยตามไปด้วยแต่เราก็มักจะพบว่าเด็กไทยของเรามักจะประสบปัญหาเรื่องการคิด เนื่องจากเราสอนให้เด็กไทยคิดน้อย อันนี้สังเกตได้จากการที่เด็กไทยไปเรียนต่างประเทศ จะคิดไม่ค่อยออกหรือไม่กล้าแสดงออกว่ากำลังคิดอะไร เพราะกลัวจะผิด ซึ่งต่างจากเด็กฝรั่ง ที่มักกล้าแสดงออก และยังชอบที่จะแสดงความเห็นด้วย โดยไม่กังวลว่า ความคิดนั้นจะถูกหรือไม่ นี่เป็นเพราะกระบวนการจัดการเรียนการสอนของเขามุ่งให้ผู้เรียนได้คิด คิดและคิด โดยครูจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้แนะ เด็กฝรั่งจึงมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาได้มากกว่าเด็กไทย และบางครั้งสามารถคิดแตกต่างได้อย่างอัศจรรย์ที่เดียว
มิติแห่งกระบวนการ Innovative Thinking
กระบวนการคิดที่เป็น Innovative Thinking มีหลายมิติและเป็นของความสามารถที่จะใช้ความรู้ ความคิด ทักษะและการปฏิบัติ มาปรับหรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ฯลฯ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะยกตัวอย่างมิติด้านกระบวนการคิด 12 กระบวนการ ดังภาพ
ถ้าเรานำ Innovative Thinking ทั้ง 12 กระบวนการ มาจัดกลุ่มเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการเลือกใช้ในสภาวการณ์ต่างๆ ที่ต้องการจะสามารถจำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
บทสรุป
ความต้องการให้เกิด Innovative Thinking ทั้งในบุคลและองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะต้องอาศัยการนำปัจจัยเกื้อหนุนแห่งความสำเร็จ 5 ประการ คือ ตัวบุคลากรเอง กระบวนการทำให้เกิด ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมจากผู้นำ ดังตัวอย่างของ LEE ที่มีความเชื่อว่า ความคิดสร้างนวัตกรรม มีเครื่องมือหรือจัดให้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กลยุทธ์และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม เช่นกรณีของเครือซีเมนต์ไทย เป็นต้น และถ้ายังสงสัยอยู่ให้กลับไปอ่านพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่จั่วหัวเรื่องไว้ข้างต้น
ที่มาข้อมูล
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. (2555). หลักบริหารการศึกษา. หน้า 163-175.