กลยุทธ์การบริหารสู่ความสำเร็จ
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง ความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาบุคคลให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การศึกษายังมีความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น การที่จะพัฒนาประเทศชาติ ต้องพัฒนาประชาชนโดยให้การศึกษาเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพตามที่ต้องการ จึงมีความจำเป็นที่การจัดการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้สูงขึ้น ดังนั้นองค์กรหลักที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จคือคุณภาพของการศึกษา ทั้งนี้คุณภาพ (Quality) หมายถึงสิ่งที่ปราศจากข้อบกพร่อง (Freedom from deficiency) รวมถึง การดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องการโดยสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง
คุณภาพการศึกษาเป็นผลผลิตที่เกิดจากการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุณภาพประกอบด้วยผลผลิตประสิทธิภาพ ความพึงพอใจ การพัฒนา การปรับตัวและการอยู่รอดขององค์กร ทั้งนี้มีแนวคิดของนักการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาหลากหลายแนวคิด เช่น คุณภาพการศึกษาประกอบด้วย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และการสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้อง คุณภาพการศึกษา คือ การที่สถานศึกษาสามารถผลิตผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพัฒนาผู้เรียนให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายใน ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจในการทำงาน คุณภาพการศึกษามีความสัมพันธ์กับปัจจัยที่สนับสนุนการจัดการศึกษา ได้แก่ ทรัพยากรบุคคล ความเป็นสากลของการจัดการศึกษา การพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาวิชาชีพครู ประสิทธิผลและการพัฒนาโรงเรียน คุณภาพการศึกษาประกอบด้วย พันธกิจของสถานศึกษา การจัดการทรัพยากร หลักสูตรการเรียนการสอน การสนับสนุนและการการพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนผู้เรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแต่คุณภาพการศึกษาตามเจตนารมณ์และเป้าหมายในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 หมายถึง การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คือการเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และมีความสุข
จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบที่สำคัญของคุณภาพการศึกษา ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1. คุณภาพคน (Human Quality)2. คุณภาพงาน (Work Quality)3. คุณภาพผู้เรียน (Student Quality)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้าง บทบาท ภาระหน้าที่ของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา จะเห็นได้ว่า คนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนและปฏิบัติงาน นำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งก็คือคุณภาพของผู้เรียน ถ้าคนที่ทำงานมีคุณภาพ ก็จะส่งผลต่อคุณภาพงาน และคุณภาพของผู้เรียนในที่สุด
กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
จากองค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาทั้ง 3 ส่วน สามารถนำไปกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน ได้ดังนี้ คือ การพัฒนาคน การพัฒนางาน และการพัฒนาผู้เรียน
กลยุทธ์ในการพัฒนาคน
เพื่อให้คนซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการบริหารจัดการศึกษาเป็นคนที่มีคุณภาพ หน่วยงานที่ใช้คนต้องมีกลยุทธ์ในการในการพัฒนาคน ซึ่งแนวทางในการพัฒนาคน ได้แก่
1. การพัฒนาจิตสำนึก (จิตวิญญาณ) ของครูในองค์กร หรือหน่วยงานให้เป็นผู้มีความคิดในการทำงานอย่างมีอุดมการณ์ มีเป้าหมายและทุ่มเท เสียสละ เพื่อให้งานสัมฤทธิ์ผลโดยคำนึงถึงเรื่องส่วนรวมมากกว่าเรื่องส่วนตัวและตระหนักถึงหน้าที่ในการทำงาน ทั้งนี้จิตวิญญาณของครูและผู้ที่ประกอบวิชาชีพอื่น หมายถึง จิตสำนึก ความคิด ทัศนคติ พฤติกรรม การแสดงออกที่ดี ลุ่มลึกสงบเย็น ตามกรอบของจริยธรรม ค่านิยม จารีตประเพณี วัฒนธรรม ความคาดหวังของสังคม ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของบุคคล เป็นแก่นแท้ขององค์กรรวมที่เป็นสิ่งดีงามภายใน จิตใต้สำนึกเป็นศูนย์กลางแรงขับของการแสดงออกทางพฤติกรรมภายนอก จิตวิญญาณเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเกิดพฤติกรรมในการทำงานและการพัฒนาตนเององค์รวมของบุคคลประกอบด้วยร่างกาย (Body) จิตใจ (Heart) ความคิด (Mind) และจิตวิญญาณ (Spirit) และเมื่อบุคคลได้รับการปฏิบัติที่พึงพอใจ ก็จะทุ่มเทความพยายามและพลังงานสูงสุดออกมาอย่างเต็มใจ และส่งผลต่อเป้าหมายสำคัญสูงสุดขององค์กร ซึ่งมีผู้เสนอว่าควรได้มีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีจิตวิญญาณในการทำงาน และมีรายงานการวิจัยพบว่า สถานศึกษาต้นแบบและหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จ ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาจะมีระดับจิตวิญญาณสูงกว่า ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ในสถานศึกษาและหน่วยงานทั่วไป2. การพัฒนาค่านิยม อุดมการณ์และสร้างวัฒนธรรมในการทำงาน เพื่อให้คนในองค์กรหรือหน่วยงานทางการศึกษา มีหลักยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน สิ่งที่ต้องพัฒนาและสร้างให้เกิดขึ้นในองค์กร คือ ค่านิยม อุดมการณ์ และวัฒนธรรมร่วมกันของคนในองค์กร เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ มุ่งหวังให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนถาวร โดยคนในองค์กรมองเห็นถึงเป้าหมายความสำเร็จและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่จะพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง มีความผูกพันกับงาน ผูกพันกับองค์กร ทำงานโดยไม่ต้องรอคำสั่ง กล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักในการตัดสินใจโดยการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในองค์กรหรือสถานศึกษานั้นเป็นผู้ร่วมกันคิดร่วมกันกำหนดและถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาให้คนปฏิบัติงานเป็นคนที่มีคุณภาพ3. การพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติงาน สมรรถนะเป็นคุณลักษณะความสามารถของบุคคลที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะและคุณลักษณะอื่นๆ ที่ทำให้บุคคลแสดงออกมา และสร้างผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดในกรอบงานที่ตัวเองรับผิดชอบ ซึ่งการพัฒนาสมรรถนะเป็นการมุ่งเสริมสร้างความสามารถให้ทรัพยากรบุคคล โดยพัฒนาคนให้มีความสามารถคนก็จะใช้ความสามารถที่มีอยู่ไปผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย และสำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้กำหนดสมรรถนะของคนทำงานออกเป็น 2 ประเภท คือ สมรรถนะหลักและสมรรถนะประจำสายงาน ซึ่งสมรรถนะหลักประกอบด้วย การมุ่งผลสัมฤทธิ์ การบริการที่ดี การพัฒนาตนเอง และการทำงานเป็นทีม ส่วนสมรรถนะประจำสายงานประกอบด้วย การวิเคราะห์และสังเคราะห์การสื่อสารและการจูงใจ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การมีวิสัยทัศน์ การออกแบบการเรียนรู้ และการบริหารจัดการชั้นเรียน
กลยุทธ์ในการพัฒนางาน
แนวทางในการจะทำให้การทำงานมีคุณภาพงาน อาจดำเนินการได้ คือ
1. การสร้างและพัฒนานวัตกรรมในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นแนวคิดเทคนิค วิธีการที่จะทำให้งานขององค์กรบรรลุเป้าหมาย2. กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา3. การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การดำเนินการใช้ทรัพยากรทางการบริหารอย่างประหยัด คุ้มค่า และการเพิ่มผลผลิต4. การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงาน5. การปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ของหน่วยงานและการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด ตามข้อตกลงหรือคำรับรองในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน (MOU)6. การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)
กลยุทธ์ในการพัฒนาผู้เรียน
แนวทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสามารถดำเนินการได้ ดังนี้ เช่น
1. การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เช่น การสอบ 0 - Net และ NT (National Test)2. การพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถตามสมรรถนะของหลักสูตร3. การพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาและมีความสามารถในการวางแผนการเรียนรู้4. การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบ5. การเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะพึงประสงค์ตามหลักสูตร6. การพัฒนาเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีสุขภาพกาย สมบูรณ์ แข็งแรง มีสุขอนามัย7. การพัฒนาเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีสุขภาพจิตดี มีจิตใจ อารมณ์ร่าเริงแจ่มใส
จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของคุณภาพการศึกษา ประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญทั้ง 3 ส่วน คือ คุณภาพคน (Human Quality) คุณภาพงาน (Work Quality) และคุณภาพผู้เรียน (Student Quality) ซึ่งสถานศึกษา หน่วยงาน หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา จะต้องดำเนินการให้องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนมีคุณภาพที่ดี โดยอาจมีแนวทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพของคน คุณภาพของงาน และคุณภาพของผู้เรียนได้ตามบริบทความพร้อมความเหมาะสมของแต่ละแห่ง แตกต่างกันไป โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพการศึกษาในที่สุด
ที่มาข้อมูล
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. (2555). หลักบริหารการศึกษา. หน้า 203-208.