การคิด
การคิดเป็นกระบวนการทางสมองของมนุษย์ซึ่งมีศักยภาพสูงมาก และเป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่น ๆ ผู้มีความสามารถสูงในการคิด สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้และมีการพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้มีความสามารถในการคิดจึงมักได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในองค์กรหรือกลุ่มต่าง ๆ การคิดมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการคิดเป็นปัจจัยภายในที่มีอิทธิพลต่อการกระทำและการแสดงออกของบุคคล ดังนั้น การพัฒนาความสามารถในการคิดจึงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตลอดมา แต่จะทำได้มากน้อยหรือดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ และปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวย
ที่มาช้อมูล
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2552). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 80 พรรษา. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.
ความหมาย
การคิดเป็นกระบวนการทางสมองในการนำข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่ได้รับไปเชื่อมโยงกับข้อมูลหรือประสบการณ์เดิม เพื่อสร้างความหมายให้แก่ตน เกิดเป็นความรู้ความเข้าใจที่สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ การคิดเป็นงานเฉพาะตนเป็นกระบวนการภายในที่แต่ละบุคคลต้องดำเนินการเอง ไม่มีผู้ใดทำแทนได้ แต่บุคคลอื่นรวมทั้งสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ต่าง ๆ สามารถกระตุ้นให้บุคคลเกิดการคิดได้
อันที่จริงคนเราทุกคนมีปกติวิสัยที่จะคิดอยู่แล้ว แต่การคิดที่กระบวนการศึกษามุ่งพัฒนานี้ หมายถึง การคิดที่มีจุดมุ่งหมาย มีคุณภาพ มิใช่การคิดไปเรื่อย ๆ แต่เป็นการคิดที่กระทำอย่างจงใจ เพื่อให้ได้บทสรุปหรือคำตอบที่ดี ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
เนื่องจากจุดมุ่งหมายในการคิดมีหลากหลาย เช่น การคิดเพื่อแก้ปัญหา การคิดเพื่อการปฏิบัติ หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ถูกต้องและเกิดผลดี การคิดเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม การคิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องหรือสถานการณ์ต่าง ๆ กระบวนการคิดที่จะทำให้จุดมุ่งหมายของการคิดนั้น ๆ บรรลุผลจึงแตกต่างกันทำให้เกิดคำหรือศัพท์ที่ใช้เรียกการคิดที่มีลักษณะแตกต่างกันจำนวนมากดังตัวอย่างคำที่ผู้ใหญ่มักชอบสอนเด็ก ๆ หรือพ่อแม่สอนลูกหลานที่มักได้ยินบ่อย ๆ เช่น “คิดให้รอบคอบ” “อย่าคิดสั้น คิดให้ยาว ๆ” “อย่าเป็นคนคิดแคบ คิดให้กว้าง ๆ “ให้รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ”“อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ ควรคิดวิเคราะห์ให้ดี” “จะทำงานให้ดีต้องรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ” ดังนั้น การพัฒนาการคิดของบุคคล จึงเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก เพราะการคิดมีลักษณะหลากหลายและมีจำนวนมาก
องค์ประกอบของการคิด
การคิดเกิดขึ้นโดยอาศัยองค์ประกอบที่จำเป็นต่าง ๆ ได้แก่
1. ผู้คิด คุณลักษณะทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสังคม รวมทั้งบุคลิกภาพของผู้คิด ล้วนมีผลต่อการคิด
2. สิ่งเร้า หรือข้อมูล เนื้อหา ที่กระตุ้นให้เกิดการคิด และใช้ในการคิด การมีข้อมูลในการคิดอย่างเพียงพอ ช่วยให้การคิดมีความรอบคอบขึ้น
3. การรับรู้สิ่งเร้าหรือข้อมูลการคิดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีการรับรู้สิ่งเร้าหรือข้อมูลที่ผ่านมา โดยปกติคนเราจะเลือกรับรู้สิ่งเร้าที่มีความหมายต่อตน ทำให้การรับรู้สิ่งเร้าของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
4. จุดมุ่งหมายของการคิด เมื่อสิ่งเร้ากระตุ้นให้บุคคลเกิดการคิดแล้ว การคิดจึงเริ่มต้น โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คิดเพื่อหาคำตอบในประเด็นที่สงสัย คิดเพื่อให้ได้ความคิดแปลกใหม่ คิดเพื่อแก้ปัญหา ฯลฯ
5. กระบวนการคิดหรือวิธีการคิด หมายถึง กระบวนการทางสมองของบุคคลในการจัดกระทำกับข้อมูล หรือสิ่งเร้าที่รับเข้ามา ซึ่งก็คือการใช้กระบวนการคิดต่าง ๆ นั่นเอง กระบวนการคิด (cognitive process) ของบุคคล พัฒนามาจากประสบการณ์การรับรู้ และการจัดกระทำต่อสิ่งเร้า ต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับมาตั้งแต่เกิด สั่งสมเป็นประสบการณ์ ความรู้ และทักษะการคิดของบุคคลนั้น ทักษะทางการคิด จำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ เรียกว่า ทักษะการคิด (thinking skills) และกระบวนการคิด (thinking process)
5.1 ทักษะการคิด หมายถึง ทักษะย่อย ๆ ในการดำเนินการคิดลักษณะต่าง ๆ ที่บุคคลใช้ในการสร้างความหมายของข้อมูล ประสบการณ์ หรือสิ่งเร้าต่าง ๆ ประกอบด้วย (ก) ทักษะการคิดพื้นฐาน (basic thinking skills) เช่น ทักษะการสื่อสาร (ฟัง พูด อ่าน เขียน การแสดงออก) ทักษะการสังเกต สำรวจเปรียบเทียบ เชื่อมโยง จัดหมวดหมู่ การแปลความ ตีความ ใช้เหตุผล และ (ข) ทักษะการคิดขั้นสูง (higher - order thinking skills) เช่น ทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า จัดระบบ จัดโครงสร้าง
5.2 กระบวนการคิด หมายถึง การคิดที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่อง อันนำไปสู่จุดมุ่งหมายของกระบวนการคิดนั้น ๆ เช่น กระบวนการคิดแก้ปัญหา [problem solving) คือ ลำดับขั้นตอนในการดำเนินการคิด เพื่อให้ได้แนวทางแก้ปัญหา และสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) คือ ลำดับขั้นตอนในการดำเนินการคิด เพื่อให้ได้คำตอบที่สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ และกระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative thinking) คือ ลำดับขั้นตอนในการดำเนินการคิด เพื่อให้ได้สิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม และใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม
6. ผลของการคิด เมื่อดำเนินการคิดจนสำเร็จตามจุดมุ่งหมายแล้ว จะเกิดผลของการคิดนั้น ๆ ซึ่งจำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่ (ก) ผลลัพธ์ของการคิด หมายถึง คำตอบที่เป็นผลของการคิด เรื่องนั้น ๆ ถือเป็นการแสดงออกของความสามารถในการคิดของบุคคลนั้น (ข) ทักษะกระบวนการคิด หมายถึง ความชำนาญในการใช้ทักษะหรือกระบวนการคิดต่าง ๆ ในการคิด โดยปกติแล้ว หากผู้คิดมีทักษะกระบวนการคิดที่ดีก็มักจะได้ผลของการคิดที่ดีตามมาด้วย
องค์ประกอบข้างต้น แสดงให้เห็นขอบเขตที่กว้างขวางของเรื่องการคิด การคิดแต่ละลักษณะมีรายละเอียดจำนวนมาก จึงปรากฏว่า มีผู้สนใจเฉพาะเรื่องที่ได้พยายามศึกษา และให้ข้อความรู้ ในแต่ละเรื่องขึ้น เช่น สาโรช บัวศรี (2526) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “กระบวนการคิดแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4” โกวิท วรพิพัฒน์ (อุ่นตา นพคุณ, 2528) เสนอแนวคิด “การคิดเป็น” พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) (2543) อรรถาธิบายวิธีคิดตามแนวพุทธศาสนา 10 วิธี คือ “โยนิโสมนสิการ” เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546) ได้ผลิตหนังสือชุด “ผู้ชนะ 10 คิด” ประกอบด้วย การคิดเชิงวิเคราะห์ เชิงสังเคราะห์ เชิงวิพากษ์ เชิงเปรียบเทียบ เชิงมโนทัศน์ เชิงประยุกต์ เชิงกลยุทธ์ เชิงสร้างสรรค์ เชิงบูรณาการ และเชิงอนาคต นอกจากนั้น ทิศนา แขมมณี และคณะ (2544] ยังได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ลักษณะการคิด 9 ประการ เพื่อการจัดการเรียนรู้ ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การคิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดอย่างมีเหตุผล คิดถูกทาง คิดกว้าง คิดลึกซึ้ง และคิดไกล
แนวคิดสำคัญ
นักคิด นักทฤษฎี และนักวิชาการ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ได้พยายามคิดค้น แสวงหาคำอธิบายต่าง ๆ เพื่อช่วยทำให้เรื่องการคิดเกิดความกระจ่างขึ้น ข้อความรู้และคำอธิบายที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนแล้ว ยังช่วยให้แนวทางในการพัฒนาความสามารถในการคิดของบุคคลอีกด้วย
ทฤษฎีการเรียนรู้สำคัญที่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการคิด คือ ทฤษฎีการรู้คิด หรือทฤษฎี กลุ่มพุทธิปัญญา (cognitive theories) ทางจิตวิทยาใช้คำว่า “พุทธิปัญญา” แทนการรู้ - คิด ทุกชนิด เช่น การรับรู้ (perception) การคิดอย่างมีเหตุผล (reasoning) การจินตนาการ [imagining การตัดสินใจ (Deciding) และการแก้ปัญหา (problem solving) ทฤษฎีทางพุทธิปัญญามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สืบทอดแนวความคิดของพีอาเจต์ (Piagetian view) ซึ่งอธิบายถึงโครงสร้างทางปัญญา และกระบวนการทางปัญญา หรือกระบวนการคิดของสมองในการปรับเปลี่ยน ลด ตัด ทอน ขยาย จัดเก็บ และใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่รับเข้ามาทางประสาทสัมผัส ส่วนกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางสมองในการประมวลข้อมูล (The Information Processing View) ซึ่งอธิบายการเรียนรู้ของมนุษย์ และการทำงานของสมองโดยเปรียบเทียบกับการทำงานของคอมพิวเตอร์นักทฤษฎีที่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการคิด และได้รับความนิยมและการอ้างอิงอย่างกว้างขวางมีจำนวนมาก ในที่นี้จะนำเสนอแนวคิดของนักทฤษฎีจำนวน 3 แนวคิด เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่มีผู้สนใจในการนำไปใช้มาก
แนวคิดเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์
1. แนวคิดพื้นฐาน โรเบิร์ต เจ. เสติร์นเบิร์ก (Robert J. Stermberg, 1985) อธิบายว่า ความฉลาดที่นำบุคคลไปสู่ความสำเร็จ (successful intelligence) ประกอบด้วยความฉลาด 3 ลักษณะ ได้แก่ ความฉลาดในการสร้างสรรค์ (Creative intelligence) ความฉลาดในการวิเคราะห์ (analytical intelligence) และความฉลาดในการปฏิบัติจริง (practical intelligence) การคิดวิเคราะห์ หมายถึง การจำแนกแยกแยะข้อมูล หรือส่วนประกอบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง/ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ออกเป็นส่วนย่อย ๆ และหาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริง รู้เหตุผลเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง หรือสถานการณ์นั้น ส่งผลให้สามารถประเมิน ตัดสินใจ และแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง การคิดวิเคราะห์อาศัยความสามารถในการรวบรวมและจำแนกข้อมูล การตีความข้อมูลและการใช้เหตุผล ทั้งแบบนิรนัย (deduction) และอุปนัย (Induction) ในขณะเดียวกัน การคิดวิเคราะห์ก็เป็นทักษะพื้นฐานของการคิดลักษณะอื่น ๆ ซึ่งมักจำเป็นต้องใช้การคิดวิเคราะห์เป็นส่วนหนึ่ง
2. กระบวนการคิดวิเคราะห์ โดยทั่วไป การดำเนินการคิดวิเคราะห์ มีลำดับขั้นตอน ดังนี้ (ทิศนา แขมมณี และคณะ, 2549)
1) รวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องหรือสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์
2) กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์
3) กำหนดเกณฑ์ในการวิเคราะห์
4) แยกแยะองค์ประกอบของเรื่อง หรือสิ่งนั้น ทั้งองค์ประกอบหลักและองค์ประกอบย่อยตามเกณฑ์ที่กำหนด
5) หาหรือจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมด
6) นำเสนอผลการวิเคราะห์
7) นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
แนวคิดเกี่ยวกับการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)
1. แนวคิดพื้นฐาน
เอลลิส พี. ทอร์แรนซ์ (Ellis P. Torrance, 1964) ได้อธิบายว่า การคิดสร้างสรรค์ เป็นกระบวนการในการคิดริเริ่มสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นความคิดต้นแบบ (original ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าเดิมองค์ประกอบสำคัญในการคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย การคิดคล่อง (fluency) การคิดยืดหยุ่น (flexibility) การคิดริเริ่ม (originality) และการคิดละเอียด (Elaboration)
เอ็ดเวิร์ด เดอโบโน (Edward De Bono, 1982) ผู้พัฒนาแนวคิด “การคิดแนวกว้าง” หรือ “การคิดนอกกรอบ” (lateral thinking) ซึ่งหมายถึง การคิดที่ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ และมโนทัศน์ออกนอกกรอบความคิดเดิมเพื่อให้ได้ทางเลือกใหม่ ๆ ที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และมีความเป็นไปได้
โดยทั่วไป ความคิดสร้างสรรค์แบ่งเป็น 2 สายใหญ่ ๆ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ ซึ่งแสดงออกให้เห็นในผลงานศิลปะด้านต่าง ๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี และนาฏกรรม และความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก่อให้เกิดผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล รถยนต์ ยารักษาโรค และสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษยชาติ
2. กระบวนการคิดสร้างสรรค์
นักวิชาการคนสำคัญที่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสมองที่ก่อให้เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ และได้รับความนิยมโดยทั่วไปก็คือ ไมเคิล เอ. วอลลาซ และ นาทาน โคแกน (Michael A. Wallach and Nathan kogan,1965) และเอลลิส พี. ทอร์แรนซ์ และโรเบิร์ต อี. ไมเออร์ส (Elis P. Torrance and Robert E. Myers, 1972) ขั้นตอนในการคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิด ของนักวิชาการดังกล่าวแสดงไว้ในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 : กระบวนการคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดของ Wallach and Kogan และ Torrance and Myers
กระบวนการคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดของวอลลาซและโคแกน
(Wallach and Kogan) |
กระบวนการคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดของทอร์แรนและไมเออร์ส
(Torrance and Myers) |
1. การเตรียมตัว (preparation) การรวบรวมข้อมูล ทำความเข้าใจปัญหา 2. การครุ่นคิด (incubation) การคิดเชื่อมโยงข้อมูลเก่ากับใหม่ 3. การเปิดประกายความคิด (Illumination/insight) การคิดออก หยั่งเห็นคำตอบ
4. การพิสูจน์ทดสอบความคิด (verification) การตรวจสอบความคิดโดยพิจารณาทบทวนหรือทดลองซ้ำหลายครั้ง |
1. การแสวงหาความจริง (fact-finding) การเกิดปัญหาและพยายามแสวงหาคำตอบ 2. การทำความเข้าใจปัญหา (problem-finding) การวิเคราะห์ปัญหา และรวบรวมข้อมูล 3. การแสวงหาแนวคิด (idea-finding) การพิจารณาข้อมูล ให้ได้ความคิดสำหรับการแก้ปัญหา หรือตั้งสมมติฐานในการแก้ปัญหา 4. การค้นพบคำตอบ (solution-finding) การดำเนินการ เพื่อให้ได้คำตอบ
5. การยอมรับผลการค้นพบ (acceptance-finding) การนำข้อค้นพบไปใช้ประโยชน์
|
จากข้อมูลในตารางที่ 1 แสดงให้เห็นว่ากระบวนการคิดสร้างสรรค์ช่วยให้บุคคลได้แนวคิดแนวทางในการแก้ปัญหา นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
แนวคิดเกี่ยวกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)
1. แนวคิดพื้นฐาน
โรเบิร์ต เอช. เอนนิส (Robert H. Ennis,1985) กล่าวถึงการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ว่าเป็นการคิดอย่างไตร่ตรองมีเหตุผล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่จะเชื่อหรือกระทำการใด ๆ โดยมีการพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูล การค้นหาข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) และการใช้เหตุผล ทั้งแบบนิรนัย (deduction) และอุปนัย (induction)
ริชาร์ด พอล (Richard Paul, 1996) กล่าวว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณมีความสัมพันธ์กับการแก้ปัญหา การดำเนินการคิดจะต้องมีการพิจารณาองค์ประกอบ 7 ประการ ได้แก่ จุดมุ่งหมายของการคิด ประเด็นการคิด ข้อมูลสารสนเทศที่ใช้ในการคิด ข้อมูลเชิงประจักษ์ แนวคิดที่เกี่ยวข้อง ข้อสันนิษฐาน และผลที่ตามมา
จากการศึกษาค้นคว้าแนวคิดต่าง ๆ ทิศนา แขมมณี (ทิศนา แขมมณี และคณะ, 2544) ได้สังเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอนิยาม และกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณไว้ว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นการคิดที่เน้นการพิจารณาและประเมินข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งปัจจัยรอบด้านอย่างรอบคอบ โดยใช้หลักเหตุผลและการไตร่ตรองคุณ-โทษและคุณค่าที่แท้จริงของเรื่องหรือสิ่งนั้น จนกระทั่งได้คำตอบที่เหมาะสมหรือดีที่สุด เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ ประเมินหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ
2. กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีลำดับขั้นตอนดังนี้ (ทิศนา แขมมณี และคณะ, 2544)
1) ตั้งเป้าหมายในการคิดและระบุประเด็นในการคิด
2) ประมวลข้อมูลทั้งทางด้านข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่คิดทั้งทางกว้าง ลึกและไกล
3) วิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ จัดหมวดหมู่และเลือกข้อมูลที่จะนำมาใช้
4) ประเมินข้อมูลที่จะใช้ในแง่ความถูกต้อง ความเพียงพอ และความน่าเชื่อถือ
5) ใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาข้อมูล เพื่อแสวงหาทางเลือก/คำตอบ ที่สมเหตุสมผลตามข้อมูลที่มี
6) เลือกทางเลือกที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงผลที่จะตามมา และพิจารณาถึงคุณค่า หรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้น
7) ชั่งน้ำหนักผลได้-ผลเสีย คุณ-โทษ ในระยะสั้นและระยะยาว
8) ไตร่ตรอง ทบทวนกลับไปมาให้รอบคอบ
9) ประเมินทางเลือกและลงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด
จะเห็นได้ว่า ทักษะการคิดและกระบวนการคิดเป็นเรื่องที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นในทุกคน เนื่องจากเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ครู อาจารย์ จึงควรพัฒนาตนเองในเรื่องนี้ เพื่อจะได้สามารถส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศสืบไป
----------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2546). ลายแทงนักคิด. กรุงเทพฯ: ซัคเซคมีเดีย.
ทิศนา แขมมณี และคณะ. (2549). การนำเสนอรูปแบบเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูงของนิสิตนักศึกษาครูระดับปริญญาตรี สำหรับหลักสูตรครุศึกษา. รายงานการวิจัย. คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทิศนา แขมมณี และคณะ. (2544). วิทยาการด้านการคิด. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ บริษัท เดอะมาสเตอร์กรุ๊ปแมเนจเม้นท์ จำกัด.
ธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พระ. (2543). ความคิด: แหล่งสำคัญของการศึกษา. กรุงเทพฯ: บริษัทสหธรรมมิต จำกัด.
สาโรช บัวศรี. (2526). วิธีสอนตามขั้นทั้งสี่ของอริยสัจ ในสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ศึกษาศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์, ภาคที่ 2 ระบบการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ: กราฟิคอาร์ต.
อุ่นตา นพคุณ. (2528). คิดเป็น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
De Bono, E. (1982). Lateral Thinking: A Textbook of Creativity. New York: Penguin Books.
Ennis, R.H. (1985). A Logical Basic for Measuring Critical Thinking Skill. Education Leadership, 10: 45-48.
Paul, R. (1993). Teaching Critical Thinking. California: Center for Critical Thinking and Moral Critique.
Sternberg, R.J. (1964). Beyond IQ: A Triarchic Theory of Human Intelligence. New York: Cambridge University Press.
Torrance, E.P. (1964). The Minnesota Studies of Creative Thinking in Widening Horizon in Creativity, Calvin W. Tayler (ed.), New York: John Wiley and Sons, Inc.
Torrance, E.P. and Myers, R.E. (1972). Creative Learning and Teaching. New York: Dood. Mead and Company.
Wallach, M.A. and Kogan, N. (1965). Modes of Thinking in Young Children. New York: Holt, Rinehart and Winston.