กฎหมายว่าด้วยสภาวิชาชีพครู
ความหมายและความสำคัญ
กฎหมายสภาวิชาชีพครู เป็นกฎหมายสาระบัญญัติที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสภาวิชาชีพครูของไทยโดยได้ตราเป็นพระราชบัญญัติและใช้บังคับมาแล้ว ประกอบด้วย
๑) พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ รวมทั้งพระราชบัญญัติครู ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ได้แก่
(๑) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕
(๒) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๙
(๓) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๙
(๔) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑
(๕) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๓
๒) พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖
พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งคุรุสภาให้เป็นสภาวิชาชีพของครู มีความสำคัญต่อครูและวิชาชีพครู รวมทั้งการจัดการศึกษาของชาติเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากคำชี้แจงของนายทวี บุณยเกต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น โดยได้กล่าวถึงหัวใจการกำเนิดคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ที่มีเป้าหมายให้ครูปกครองครู ซึ่งมีหลักการสำคัญ ๓ ประการ คือ
(๑) เพื่อให้ความคิดเห็น เป็นสภาที่ปรึกษาและรักษานโยบายการศึกษาของชาติ
(๒) เพื่อช่วยฐานะครู โดยการดูแล ควบคุม ในเรื่องจรรยามารยาท วินัย การส่งเสริมแนะนำครูในด้านต่าง ๆ เช่น ฐานะทางวิชาการหรือทางวิชาชีพให้ได้ครูที่มีความสามารถในการสอนเด็ก ทั้งในทางวิชาการ และการอบรมจิตใจรวมทั้งให้เป็นครูที่รัก และฝักใฝ่ในวิชาชีพของตน
(๓) เพื่อทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของข้าราชการครูแทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
สำหรับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีความสำคัญ โดยเป็นกฎหมายจัดตั้งคุรุสภาให้เป็นสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา นับเป็นการยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง
ความเป็นมา
ช่วงก่อนที่จะมีการตราพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ เพื่อจัดตั้งคุรุสภานั้น ได้มีประกาศจัดตั้งกรมศึกษาธิการในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษา โดยเฉพาะทำให้การศึกษาเจริญก้าวหน้าขยายตัวทั้งในกรุงเทพและหัวเมือง ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ มีครูและผู้รับผิดชอบงานการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการปรับปรุงแก้ไขการสอบไล่หนังสือไทย ทำให้มีความจำเป็นต้องประสิทธิประสาทความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่ครู รวมทั้งอบรมครูให้มีความรู้วิชาครูและวิธีสอน จึงมีการจัดตั้งองค์กรของผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษา เพื่อทำหน้าที่ ประชุม อบรม เผยแพร่ความรู้ให้ครูมีความรู้ดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีคนแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งให้มีการชุมนุมเชิญผู้มีความรู้มาบรรยายเรื่องต่าง ๆ ได้เปิดอบรมครูขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ในขณะที่ยังเป็นนายสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓ นายตรวจแขวง (ศึกษา) แขวงบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรีได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสภาสำหรับอบรมและประชุมครูขึ้นที่วัดใหม่วินัยชำนาญ (วัตเทพพลู) ตั้งชื่อว่า “สภาไทยาจารย์” ทำการเปิดสอนครูทุกวันพระ อันเป็นวันหยุดราชการ โดยนายตรวจแขวงเป็นผู้สอนเอง พิมพ์หนังสือวิทยาจารย์เล่มแรกออกมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ กรมศึกษาธิการได้ตั้งสถานที่ประชุม อบรม และสอนครูขึ้นที่โรงเรียนทวีธาภิเษกในบริเวณวัดอรุณราชวราราม จังหวัดธนบุรี ให้ชื่อว่า สามัคยาจารย์สโมสรสถาน มีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (มรว.เปีย มาลากุล) เมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธิ์สุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ เป็นสภานายกคนแรก เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้ย้ายที่ตั้งไปตั้งอยู่ในโรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗) กรมศึกษาธิการได้จัดตั้งสถานที่อบรมและประชุมครูแห่งนี้เป็นรูปสมาคม ชื่อว่า สามัคยาจารย์สมาคม เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) สามัคยาจารย์สมาคมได้รับเกียรติอย่างสูงจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับสามัคยาจารย์สมาคมอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็นต้นมา จนกระทั่งเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๔๘ จัดตั้งคุรุสภาขึ้นจึงได้รวมกิจการของสามัคยาจารย์สมาคมเข้ากับกิจการของคุรุสภาตามมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘
พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘
พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นกฎหมายสภาวิชาชีพครู ฉบับแรกของไทย ตราเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในสมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายทวี บุณยเกตุ
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคมพ.ศ. ๒๔๘๘ เหตุผลในการตราพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ นายทวี บุณยเกตุ ได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์วิทยาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ตอนหนึ่งว่า
“...การที่รัฐบาลได้ดำริให้มีพระราชบัญญัติครูขึ้น ก็ด้วยพิจารณาเห็นว่าการศึกษาของชาติเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของประเทศ เพราะเป็นเครื่องวัดความเจริญและยังเห็นว่าการศึกษาของประเทศยังเดินล้าสมัยอยู่มาก จำนวนพลเมืองที่มีความรู้ แม้แต่ชั้นอ่านออกเขียนได้ยังมีเปอร์เซ็นต์ต่ำอยู่มาก...ฉะนั้นรัฐบาสครั้งกระนั้นจึงคิดที่จะปรับปรุงการศึกษาของชาติให้เป็นไปอย่างถาวร
แต่เนื่องจากเป็นระหว่างสงครามจึงไม่สามารถจะปรับปรุงได้ ประกอบกับทั้งยังมีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์อื่นที่จะต้องปรับโดยรีบด่วนก่อนอะไรหมด ทั้งนี้ก็คือ ครู
การศึกษาของชาติหาได้อยู่ที่มีโครงการดีเท่านั้นไม่ แต่เราต้องมีครูดีด้วย คือ ต้องได้ครูที่มีความสามารถในอันที่จะสอนเด็กทั้งในด้านวิชาการและในทางอบรมจิตใจ ซึ่งประการหลังนี้ถือว่าสำคัญที่สุด นอกจากนั้นครูยังต้องรักอาชีพและฝักใฝ่วิชาชีพของตนด้วยการนี้รัฐบาลครั้งกระนั้นจึงจับงานครูก่อน...” (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, ๒๕๓๘ : ๕๐ - ๕๑)
กล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสภาครูฉบับแรกได้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาไว้อย่างกว้างขวางทั้งในด้านการจัดการศึกษา และการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การดูแลจรรยา มารยาท และวินัย การส่งเสริมฐานะของครูในเรื่องต่าง ๆ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ซึ่งมาจากผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนจากผู้มีอาชีพครู จึงเป็นไปตามหลักการสำคัญที่จะให้ “ครูปกครองครู” เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการศึกษาของชาตินั่นเอง
ในระหว่างการบังคับใช้พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ได้มีการเปลี่ยนแปสงโครงสร้างการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ รวม ๕ ครั้ง ดังนี้
๑. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยแก้ไขจำนวนกรรมการคุรุสภาให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ
๒. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยเพิ่มเติมให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด แทน กจ. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการส่วนจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สอนในสถานศึกษาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
๓. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาใหม่ทั้งหมดให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น
๔. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัดแทน ก.จ. และแต่งตั้งอนุกรรมการให้มีอำนาจหน้าที่และปฏิบัติการแทนได้ในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการครูส่วนจังหวัด
๕. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู มีสาระสำคัญให้แยกการบริหารงานบุคคล ออกจาก ก.พ. และคุรุสภาจึงแก้ไขปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาในส่วนที่ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว
พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้ใช้บังคับมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีแนวคิดในการพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริง โดยกำหนดให้มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพครูและปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคุรุสภาให้มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และได้มีการปรับโครงสร้างของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ให้มีแผนกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ รวมทั้งมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติครูฉบับใหม่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ แต่ต้องตกไปเนื่องจากมีการยุบสภา
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๖
พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นกฎหมายว่าด้วยสภาวิชาชีพครู ฉบับที่สอง ได้ประกาศใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ นับเป็นกฎหมายปฏิรูปวิชาชีพครูและครูอย่างขนานใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีเหตุผลและกระบวนการดำเนินงานที่สมควรกล่าวถึง ดังนี้
สาเหตุสำคัญ
สาเหตุอันเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การตราพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาจากกฎหมายสำคัญ ๒ ฉบับ
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
รัฐรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ในมาตรา ๘๑ มีสาระสำคัญ กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษา อบรม และสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งทำให้ต้องตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารจัดการศึกษาอบรมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธีรรมนูญดังกล่าว
๒. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ในกฎหมายฉบับนี้ กำหนดสาระสำคัญโดยให้มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (มาตรา ๙) และในหมวด ๗ มาตรา ๕๓ กำหนดให้มีองค์กรวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา มีฐานะเป็นองค์กรอิสระภายใต้การบริหารของสภาวิชาชีพในการกำกับของกระทรวง มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับ ดูแล การปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๗๓ กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกมิให้นำบทบัญญัติในหมวด ๗ มาใช้บังคับ จนกว่าจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๕๘๘
เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงเป็นไปเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา และสืบทอดประวัติศาสตร์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งคุรุสภาให้เป็นสภาวิชาชีพครูต่อไป
กระบวนการตรากฎหมาย
การจัดทำร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำร่าง ๒ หน่วยงาน คือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุรุสภาเป็นผู้รับผิดชอบ และสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ซึ่งได้เสนอร่างกฎหมายสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... เป็นนโยบายการศึกษาต่อจากด้านนโยบายของรัฐบาลด้วย
ในการพิจารณาขั้นต้นก่อนเสนอรัฐสภา กำหนดให้เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ แล้วจึงเสนอรัฐสภาต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ ได้พิจารณาตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ขณะเดียวกัน สำนักงานปฏิรูปการศึกษาก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... มาให้พิจารณาด้วย โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ มีสาระสำคัญที่แตกต่างกันหลายประเด็น จึงมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติรับไปจัดประชุมคณะทำงานจากผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ และสำนักงานปฏิรูปการศึกษา เพื่อพิจารณาหาข้อยุติในประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันหรือเสนอทางเลือกเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งคณะทำงานปรับปรุงแก้ร่างกฎหมายตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี
คณะที่ ๔ ซึ่งมี นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เป็นประธาน ได้พิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ แล้วมีมติมอบให้คณะทำงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช ๒๔๘๘ ให้เป็นกฎหมายจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีคุรุสภาเป็นนิติบุคคล
ทำหน้าที่เป็นสภาวิชาชีพ และให้มีอีกนิติบุคคลหนึ่งทำหน้าที่ด้านสวัสดิการและดูแลองค์การค้าของคุรุสภา (เดิม) โดยในส่วนของบทบัญญัติเกี่ยวกับคุรุสภาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสภาวิชาชีพนั้น ได้ใช้ร่างของสำนักงานปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก
เมื่อคณะทำงานดำเนินการแล้ว ได้นำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ พิจารณาในการประชุม เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ซึ่งมีมติเห็นควรอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่คณะทำงานได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ต่อจากนั้นได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในการประชุม เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕ มีมติตามคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔ และครั้งที่ ๒ ในคราวประชุม เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมพิจารณา เมื่อวันที่ ๑ และวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๕ แล้วมีมติเห็นชอบให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๕ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๒ ครั้งที่ ๔ (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) ได้พิจารณาแล้วลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... (ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน กับคณะเป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... (นายพงษ์พิช รุ่งเป้า และนายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ เป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... (นายนิสิต สินธุไพร กับคณะเป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... (นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติครู พ.ศ. .... (นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายประแสง มงคลสิริ เป็นผู้เสนอ) ร่างพระราชบัญญัติครู (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (นายอำนวย คลังผา เป็นผู้เสนอ) และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง จำนวน ๓๕ คน เพื่อพิจารณากำหนดการแปรญัตติภายใน ๑๕ วัน โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรีเป็นหลักในการพิจารณา
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายจำลอง ครุฑขุนทด เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และนายยุทธชัย อุตมา เป็นเลขานุการฯ ได้พิจารณาทุกวันพุธ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ สิ่งหาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๑๖ ตุสาคม ๒๕๔๕ และประธานฯ ได้นำร่างพระราชบัญญัติที่พิจารณาเสร็จแล้วเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เพื่อนำเสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ในวาระที่ ๒ และวาระที่ ๓ ต่อไป วุฒิสภาได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๖ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมมายังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการต่อไป วันพุธที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๖ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๑ ปีที่ ๓ ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญทั่วไป) ได้พิจารณา กรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... แล้ว มีมติให้ความเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๖ ส่งร่างพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... ไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตามความในมาตรา ๙๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นปีที่ ๕๘ ในรัชกาลปัจจุบัน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๒๐ ตอนที่ ๕๒ ก วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๖ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ถือว่าเป็น “วันครู”
--------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๖). พระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
จักรพรรดิ วะทา. (๒๕๕๐). “กฎหมายการศึกษา” ใน สารานุกรมวิชาชีพครูเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ สกสค.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๓๘). ๕๐ ปีคุรุสภา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๔๕). รายงานข้อเท็จจริง : แนวคิดและหลักการการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพครู. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๔๖). พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.